“ออฟชั่นเสริม” เติมสภาพคล่องทางการคลังรับมือวิกฤติโควิด 19

การแพร่ระบาดของโควิด 19 โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ได้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับโลก ไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจหรือสังคม

การควบคุมโรคระบาดที่ยังไม่มีวิธีการรักษาจำเป็นจะต้องใช้มาตรการ “งดกิจกรรมทางสังคม” ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจในทุกระดับ ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า ในขณะที่ปราการด่านหน้าอย่างระบบสาธารณสุขไทยก็ต้องทำงานอย่างหนัก ภายใต้ข้อจำกัดทั้งบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือในการต่อกรกับโรคระบาด

ด้วยเหตุนี้ การรับมือสภาวะดังกล่าวจึงสัมพันธ์กับการบริหารจัดการงบประมาณของภาครัฐในการอัดฉีดเงินงบประมาณเข้าไปช่วยเหลือทุกภาคส่วน ให้ประเทศยังประคองตัวต่อไปได้ แต่เนื่องจากการใช้จ่ายงบประมาณจำเป็นจะต้องตราเป็นกฎหมายไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจทำให้วงเงินที่ขอมาใช้ไม่สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น หรือไม่สามารถอนุมัติเงินไปใช้อย่างอื่นได้

49716600857_e3d45267e7_o

ดังนั้น รัฐธรรมนูญ ปี 2560 และกฎหมายงบประมาณ ปี 2561 จึงต้องมี “ออฟชั่นเสริม” เติมสภาพคล่องให้รัฐบาลได้อย่างน้อย 3 วิธี ดังนี้

1. โอนงบประมาณภายใน หรือ ตรา พ.ร.บ.โอนงบประมาณ

อย่างที่กล่าวไป พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นเพียงการคาดเดาล่วงหน้าว่ารัฐจะนำเงินดังกล่าวไปใช้กับการบริหารประเทศหรือนโยบายของรัฐบาลอย่างไร ดังนั้น การวางแผนการเงินดังกล่าวจึงไม่อาจครอบคลุมกับความเป็นจริงในสถานการณ์เร่งด่วนฉุกเฉิน

ดังนั้น รัฐธรรมนูญ ปี 2560 และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ปี 2561 จึงอนุญาตให้รัฐบาลทำในสิ่งที่เรียกว่า “โอนงบประมาณ” หรือ การโยกย้ายเงินงบประมาณจากกระทรวง หน่วยงาน หรือแผนงาน อย่างใดอย่างหนึ่ง มาเติมให้กับแผนงานหรือหน่วยงานที่จำเป็นจะต้องใช้เงิน

โดยการโอนงบประมาณ แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ โอนภายในไม่ต้องตรากฎหมาย กับ โอนภายนอกที่จำเป็นจะต้องตรากฎหมายขึ้นมาใหม่

ในการโอนงบประมาณภายใน มีเงื่อนไขอยู่ว่า ต้องเป็นกรณีควบรวมหรือโอนส่วนราชการเข้าด้วยกันก็สามารถรวมงบประมาณเข้าด้วยกันได้ หรือการโอนงบประมาณภายใต้แผนบูรณาการหรือแผนบุคลากรอันเดียวกัน

ส่วนการโอนงบประมาณที่ไม่เข้าข่ายจะสามารถโอนภายในได้ จะต้องมีการตราเป็นกฎหมายชื่อว่า พ.ร.บ.โอนงบประมาณ ซึ่งวิธีการพิจารณากฎหมายดังกล่าวก็จะคล้ายกับการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่จะต้องผ่านรัฐสภา

2. ตรา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม

โดยปกติทั่วไป กระเป๋าตังค์หลักของรัฐบาลคือ “พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี” และในกรณีฉุกเฉินที่รัฐบาลเห็นว่า การโยกย้ายงบประมาณไม่เพียงพอต่อการรับมือสถานการณ์วิกฤติ รัฐบาลสามารถเสนอ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้สภาพิจารณาเพิมเติ่มงบประมาณในปีงบประมาณนั้นๆ ได้

โดยขั้นตอนในการตรากฎหมาย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ก็ไม่ได้แตกต่างไปจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และ พ.ร.บ.โอนงบประมาณ กล่าวคือ ต้องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทั้งสามวาระ ไม่เกิน 105 วัน หลังจากนั้นจึงส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไม่เกิน 20 วัน

3. ตรา พ.ร.บ.กู้เงิน หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน

อีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งเป็นทางเลือกที่รัฐบาลกำลังพิจารณาใช้อยู่คือ การตรากฎหมายเพื่อให้รัฐบาลสามารถกู้เงินได้ ส่วนจะออกมาในรูปแบบ พ.ร.บ. หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ยังไม่เป็นที่ยุติ แต่ทั้งนี้ หากเป็นการตราเป็น พ.ร.ก. จะต้องเป็นกรณีเร่งด่วนจำเป็นหรือฉุกเฉิน เพราะ พ.ร.ก. เป็นอำนาจของรัฐบาลในการออกกฎหมาย แต่ต้องนำมาให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติภายหลังประกาศใช้ไปแล้ว เพื่อให้ยังบังคับใช้ต่อไปได้