เปิดเหตุผลตุลาการเสียงข้างน้อย เมื่อยุบพรรคแล้วให้ตัดสิทธิตลอดชีวิต

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ) มาตรา 92 วรรคสอง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองที่ทำผิดกฎหมายนี้ โดยกำหนดว่า “ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย” โดยกฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้

การไม่กำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนว่า จะตัดสิทธิเลือกตั้งได้นานเท่าใดทำให้เกิดการตีความ จนกระทั่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิตก็เป็นได้ ประเด็นนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในปัจจุบันเห็นได้จากแนวทางการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ที่ยังไม่เป็นเอกฉันท์

 

ยุบพรรคสองคดี วางโทษตัดสิทธิ “สิบปี” เท่ากัน

พรรคการเมืองแรกที่ได้รับผลจากบทบัญญัติของการเพิกถอนสิทธิตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ 2560 คือ พรรคไทยรักษาชาติ วันที่ 7 มีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ จากการยื่นรายชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ให้อยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรค ศาลเห็นว่า เข้าข่ายเป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลาสิบปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง

ตามมาด้วยพรรคอนาคตใหม่ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่จากการที่พรรคกู้เงินธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคจำนวน 191.2 ล้านบาท ทั้งคิดดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามปกติการค้าถือเป็นการให้ “ผลประโยชน์อื่นใด” เป็นราคารวมเกินสิบล้านบาทต่อปี จึงสั่งให้ยุบพรรค และสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลาสิบปี

แม้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ จะไม่ได้กำหนดระยะเวลาตายตัวที่จะสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเอาไว้ แต่จากคดียุบพรรคทั้งสองคดีที่ผ่านมา ตุลาการเสียงข้างมากได้วางแนวคำวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวไว้ให้เพิกถอนสิทธิเป็นเวลาสิบปี ระยะเวลาดังกล่าวจึงกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมือง จากเหตุผลในคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการ พอเห็นหลักคิดในการกำหนดโทษระยะเวลาตัดสิทธิแบ่งได้เป็นสามประเด็นหลักดังนี้

หนึ่ง ระยะเวลากำหนดโทษต้องชัดเจน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสองคนให้ความเห็นไว้ถึงความสำคัญของการกำหนดระยะเวลาที่ต้องชัดเจน คนแรกคือ อุดมศักดิ์ นิติมนตรี ระบุไว้ในคำวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักษาชาติว่า ตามหลักแล้วการลงโทษจะต้องมีกำหนดเวลาในการลงโทษเสมอ มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดสภาวะความไม่แน่นอนและคาดหมายไม่ได้แห่งกฎหมาย ประกอบกับสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสิทธิของพลเมืองแห่งรัฐ หากถูกเพิกถอนไปโดยไม่มีกำหนดเวลา ย่อมมีผลเท่ากับบุคคลนั้นถูกพรากความเป็นพลเมืองของรัฐไปอย่างถาวร ลักษณะเช่นนี้ยังไม่สอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วนในการจำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26

สอดคล้องกับบุญส่ง กุลบุปผา ที่วินิจฉัยไว้ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติว่า หลักการลงโทษต้องมีระยะเวลาในการลงโทษที่แน่นอน หากถูกเพิกถอนสิทธิไปโดยไม่มีกำหนดจะมีผลเท่ากับบุคคลดังกล่าวถูกตัดสิทธิความเป็นพลเมืองของรัฐไปอย่างถาวร

สอง ความได้สัดส่วนสมควรแก่เหตุ

การกำหนดโทษที่ชัดเจนมีความสัมพันธ์กับหลักความได้สัดส่วนสมควรแก่เหตุ โดยส่วนใหญ่แล้วตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีความเห็นให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสิบปี อ้างหลักความได้สัดส่วนประกอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 ที่บัญญัติรับรองเรื่องการจำกัดสิทธิเท่าที่จำเป็นเท่านั้นหรือกระทบสิทธิของบุคคลให้น้อยที่สุด เช่น วรวิทย์ กังศศิเทียม ระบุไว้ในคำวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักษาชาติและพรรคอนาคตใหม่ว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26 บัญญัติรับรองสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิในการเลือกตั้งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการเป็นพลเมืองของรัฐ การตรากฎหมายที่มีมาตรการจำกัดสิทธิทางการเมืองใดต้องอยู่ภายใต้หลักความได้สัดส่วน กระทบสิทธิบุคคลให้น้อยที่สุดและสมควรแก่เหตุ

ขณะที่จรัญ ภักดีธนากุล และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ไม่ได้อ้างกฎหมายใด แต่ก็วินิจฉัยชัดเจนไว้ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติและอนาคตใหม่ว่า ระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะต้องให้เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนที่พอเหมาะระหว่างพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำกับโทษในการจำกัดสิทธิ

สาม เปิดโอกาสให้กลับตัว

วรวิทย์ กังศศิเทียม และบุญส่ง กุลบุปผา มองไปในทิศทางเดียวกันว่า บุคคลจะต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนไปตามระยะเวลา เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่กระทำความผิดกลับเข้าสู่สังคมและใช้ความรู้ความสามารถพัฒนาประเทศชาติ ดังนั้นจึงเห็นควรให้กำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาสิบปี

ขณะที่ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ได้เคยวินิจฉัยในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติว่า พิจารณาการกระทำของพรรคไทยรักษาชาตินั้นยังไม่ร้ายแรงถึงขนาดเกิดผลเสียหายต่อระบอบการปกครองของประเทศชาติ และที่ผ่านมากรรมการบริหารพรรคยังได้แสดงความสำนึกในการกระทำ อาศัยหลักการที่ว่า กฎหมายที่เป็นธรรม คือ กฎหมายที่ให้โอกาสคน จึงเห็นควรกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิดังกล่าวให้เหมาะสมได้สัดส่วนเป็นระยะเวลาสิบปี

 

สุดขอบเสรีภาพทางการเมือง: เสียงส่วนน้อยฟันโทษตัดสิทธิตลอดชีวิต

การที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ บัญญัติเรื่องการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้ นำไปสู่ความกังวลว่า จะเปิดช่องให้ตีความอย่างกว้างขวางไปในทางจำกัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นแล้วเมื่อปัญญา อุดชาชน ได้มีคำวินิจฉัยส่วนตนให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติตลอดชีวิตอย่างชัดเจน ก่อนจะกลับคำวินิจฉัยให้ยืนโทษที่สิบปีตามตุลาการเสียงข้างมากในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ขณะที่นุรักษ์ มาประณีต วินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิดังกล่าวโดยไม่กำหนดระยะเวลา โดยในคำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่ นุรักษ์ยังคงยืนกรานเช่นนั้น

ปัญญามีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตอย่างชัดเจนในครั้งวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญ 2560 หมวดเจ็ด ว่าด้วยรัฐสภา ส่วนที่สอง เรื่อง สภาผู้แทนราษฎร และหมวดที่ 12 ว่าด้วยองค์กรอิสระ ส่วนที่สี่ เรื่อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

คำวินิจฉัยพอสรุปได้ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 98 บัญญัติว่า บุคคลผู้ที่อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประกอบกับรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคสี่ที่บัญญัติว่า ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่ากรณีใดผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ด้วย พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสองไม่ได้กำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากฐานความผิดของพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งมีลักษณะร้ายแรงเช่นเดียวกัน ดังนั้นกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติจึงไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไปและไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ อีกด้วย

ต่อมาในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ปัญญาวินิจฉัยให้ยืนโทษตัดสิทธิสิบปีตามตุลาการเสียงข้างมากที่ได้เคยวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักษาชาติไว้ สรุปความได้ว่า พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่งได้กำหนดมูลเหตุของการกระทำที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมือง ประกอบด้วยสี่อนุมาตรา อนุมาตราสองบัญญัติว่า กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีแนววินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 คดียุบพรรคไทยรักษาชาติที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เห็นควรให้เพิกถอนสิทธิเป็นเวลาสิบปี ตามคำร้องนี้เห็นว่า มูลเหตุของการกระทำเป็นมูลเหตุตามอนุมาตราสาม ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมืองในมาตรา 92 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกับคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ จึงเห็นควรให้เพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาสิบปี

ขณะที่นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยชัดเจนว่า ให้เพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต เพียงแต่ระบุว่า พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสองไม่ได้กำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้เหมือนเช่นมาตราอื่นๆ จึงน่าจะมีเจตนารมณ์เพิกถอนสิทธิโดยไม่มีกำหนดเวลา การที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนเสียเองเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจะกลายเป็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติเพิ่มเติมกฎหมายเสียเอง ซึ่งเขายังคงยืนกรานเช่นนี้ในคำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่

อย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยส่วนตนที่ให้เพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตของปัญญาและการตีความปลายเปิดของนุรักษ์ยังถือเป็นเสียงส่วนน้อยเท่านั้น

 

เหตุผลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีระยะเวลาเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง คดีไทยรักษาชาติ-อนาคตใหม่

กลุ่มที่หนึ่ง โทษตลอดชีวิตและโทษปลายเปิดไม่กำหนดระยะเวลา

นุรักษ์ มาประณีต  ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่กำหนดระยะเวลา

คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ

พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสองไม่ได้กำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้เหมือนเช่นมาตราอื่นๆ จึงน่าจะมีเจตนารมณ์เพิกถอนสิทธิโดยไม่มีกำหนดเวลา การที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนเสียเองเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจะกลายเป็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติเพิ่มเติมกฎหมายเสียเอง

คดียุบพรรคอนาคตใหม่

พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสองไม่ได้กำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้เหมือนเช่นมาตราอื่นๆ จึงน่าจะมีเจตนารมณ์เพิกถอนสิทธิโดยไม่มีกำหนดเวลา การที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนเสียเองเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจะกลายเป็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติเพิ่มเติมกฎหมายเสียเอง

ชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ – ไม่กำหนดระยะเวลา

คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสอง จึงให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคด้วย ส่วนที่มีการกล่าวอ้างว่า กรรมการบริหารพรรคบางคนไม่ได้ร่วมลงมติเรื่องการเสนอบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคด้วยนั้น ไม่ปรากฏรายงานการประชุมเพื่อลงมติของพรรคในเรื่องการเสนอบัญชีรายชื่อหรือการคัดค้านในรายงานการประชุมหรือมีหนังสือคัดค้านไม่เห็นด้วยต่อการเสนอบัญชีรายชื่อ จึงไม่มีเหตุให้พิจารณา

ปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพิกถอนสิทธิตลอดชีวิต

คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ

รัฐธรรมนูญมาตรา 98 บัญญัติว่า บุคคลผู้ที่อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประกอบกับรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคสี่ที่บัญญัติว่า ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่ากรณีใดผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไปและไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ บทบัญญัติดังกล่าวอยู่ในหมวด 12 องค์กรอิสระว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเกี่ยวกับการมีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ด้วย พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสองไม่ได้กำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากฐานความผิดของพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งมีลักษณะร้ายแรงเช่นเดียวกัน ดังนั้นกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติจึงไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไปและไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ อีกด้วย

กลุ่มที่สอง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสิบปี

จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ

กำหนดเวลาการตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง แม้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสองจะไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ แต่เมื่อพิจารณาถึงลักษณะของการกระทำที่เป็นเพียง “อาจเป็นปฏิปักษ์” ต่อระบอบการปกครองไม่ถึงขนาดเป็นการกระทำที่มีเจตนาล้มล้างระบอบการปกครอง ทั้งยังไม่ถึงกับก่อให้เกิดผลร้ายแรง เมื่อพิเคราะห์ลักษณะ พฤติการณ์ และความร้ายแรงของการกระทำแล้วจึงเห็นสมควรให้ตัดสิทธิเพียงสิบปีตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณี

คดียุบพรรคอนาคตใหม่

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคแล้วจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค การกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งอันเป็นสิทธิทางการเมืองที่มีความสำคัญต่อผู้ที่อาสาเข้ามาทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จึงต้องพิจารณาให้เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนที่พอเหมาะระหว่างพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำกับโทษในการจำกัดสิทธิที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 3/2562 คดียุบพรรคไทยรักษาชาติเป็นบรรทัดฐานไว้

พิจารณาลักษณะของการกระทำของพรรคอนาคตใหม่แล้วถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 72 โดยปรากฏพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่า พรรคอนาคตใหม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงมาตรา 66 เรื่องการบริจาคทรัพย์สินให้พรรคการเมืองไม่เกินสิบล้านบาทต่อปี ซึ่งขัดต่อกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคสอง แต่ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สมาชิกพรรคถูกครอบงำหรือชี้นำโดยสิ้นเชิงหรือสูญเสียซึ่งประชาธิปไตยภายในพรรค จึงเห็นว่า ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่เป็นเวลาสิบปี ซึ่งสอดคล้องกับระยะเวลาตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 94 วรรคสอง

อุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ

พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสองไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการลงโทษไว้ชัดเจน ตามหลักแล้วการลงโทษจะต้องมีกำหนดเวลาในการลงโทษเสมอ มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดสภาวะความไม่แน่นอนและคาดหมายไม่ได้แห่งกฎหมาย ประกอบกับสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสิทธิของพลเมืองแห่งรัฐ หากถูกเพิกถอนไปโดยไม่มีกำหนดเวลา ย่อมมีผลเท่ากับบุคคลนั้นถูกพรากความเป็นพลเมืองของรัฐไปอย่างถาวร ทั้งที่ในความเป็นจริงบุคคลดังกล่าวยังเป็นพลเมืองของรัฐและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายต่อรัฐ แต่ไม่มีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง ลักษณะเช่นนี้ยังไม่สอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วนในการจำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26

สิทธิในการรับเลือกตั้งเป็นสิทธิพลเมือง รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวของพลเมืองให้เป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ไทยให้การรับรอง ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตีความกฎหมายไปในทางคุ้มครองให้สอดคล้องไปกับปฏิญญาดังกล่าวด้วยการกำหนดระยะเวลาให้เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรระหว่างพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำ พิจารณาแล้วการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติยังไม่ถึงขนาดที่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อการปกครองของประเทศชาติ ทั้งเมื่อพิจารณาประกอบการน้อมรับพระราชโองการ จึงเห็นว่า มีสำนึกรับผิดชอบ สั่งเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งสิบปี

คดียุบพรรคอนาคตใหม่

การกระทำของพรรคอนาคตใหม่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ 2560 มาตรา 72 โดยปรากฏพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่า พรรคอนาคตใหม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงมาตรา 66 เรื่องการบริจาคทรัพย์สินให้พรรคการเมืองไม่เกินสิบล้านบาทต่อปี ซึ่งขัดต่อกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคสอง แต่ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สมาชิกพรรคถูกครอบงำหรือชี้นำโดยสิ้นเชิงหรือสูญเสียซึ่งประชาธิปไตยภายในพรรค จึงเห็นว่า ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่เป็นเวลาสิบปี ซึ่งสอดคล้องกับระยะเวลาตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ 2560 มาตรา 94 วรรคสอง

วรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ

พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสองบัญญัติไว้ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการลงโทษไว้ พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 45 บัญญัติเรื่องเสรีภาพในการรวมตัวจัดตั้งพรรคการเมือง ในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26 บัญญัติรับรองสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิในการเลือกตั้งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการเป็นพลเมืองของรัฐ การตรากฎหมายที่มีมาตรการจำกัดสิทธิทางการเมืองใดต้องอยู่ภายใต้หลักความได้สัดส่วน กระทบสิทธิบุคคลให้น้อยที่สุดและสมควรแก่เหตุ

ทัศนคติของบุคคลย่อมมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้ได้ใช้ความรู้ความสามารถพัฒนาสังคมร่วมกับบุคคลอื่นๆ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง ประกอบกับมาตรา 94 ที่กำหนดเวลาในการห้ามบุคคลที่เคยเป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ถูกยุบ  

กำหนดระยะเวลาตามมาตรา 94 เป็นระยะเวลาที่องค์กรนิติบัญญัติเห็นว่า เป็นกำหนดเวลาในการจำกัดสิทธิทางการเมืองที่เหมาะสมแล้ว ดังนั้น เมื่อสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิในการมีส่วนร่วมในพรรคการเมืองเป็นสิทธิพื้นฐานทางการเมืองในลักษณะเดียวกันก็ควรเป็นกำหนดเวลาเดียวกันคือสิบปี

คดียุบพรรคอนาคตใหม่

พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสองบัญญัติไว้ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการลงโทษไว้ พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 45 บัญญัติเรื่องเสรีภาพในการรวมตัวจัดตั้งพรรคการเมือง ในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26 บัญญัติรับรองสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิในการเลือกตั้งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการเป็นพลเมืองของรัฐ การตรากฎหมายที่มีมาตรการจำกัดสิทธิทางการเมืองใดต้องอยู่ภายใต้หลักความได้สัดส่วน กระทบสิทธิบุคคลให้น้อยที่สุดและสมควรแก่เหตุ

ทัศนคติของบุคคลย่อมมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้ได้ใช้ความรู้ความสามารถพัฒนาสังคมร่วมกับบุคคลอื่นๆ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง ประกอบกับมาตรา 94 ที่กำหนดเวลาในการห้ามบุคคลที่เคยเป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ถูกยุบ  

กำหนดระยะเวลาตามมาตรา 94 เป็นระยะเวลาที่องค์กรนิติบัญญัติเห็นว่า เป็นกำหนดเวลาในการจำกัดสิทธิทางการเมืองที่เหมาะสมแล้ว ดังนั้นเมื่อสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิในการมีส่วนร่วมในพรรคการเมืองเป็นสิทธิพื้นฐานทางการเมืองในลักษณะเดียวกันก็ควรเป็นกำหนดเวลาเดียวกันคือสิบปี

พิจารณาประกอบกับ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ 2560 มาตรา 125 ที่กำหนดโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง กรณีที่พรรคการเมืองดังกล่าวรับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่มูลค่าสิบล้านบาท ห้าปีคือระยะเวลาในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เทียบเคียงกันแล้วสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานทางการเมืองในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้กำหนดระยะเวลาในการเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งสอดคล้องกับกำหนดระยะเวลาในการห้ามกรรมการบริหารพรรคการเมืองจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมือง จึงเห็นควรให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลาสิบปี

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ

เมื่อพรรคไทยรักษาชาติได้กระทำการอันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ 2560 มาตรา 62 วรรหนึ่ง (3) และวรรคสอง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคแล้วจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค การกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งอันเป็นสิทธิทางการเมืองที่มีความสำคัญต่อผู้ที่อาสาเข้ามาทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จึงต้องพิจารณาให้เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนที่พอเหมาะระหว่างพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำกับโทษในการจำกัดสิทธิ

พิจารณาการกระทำของพรรคที่อาจเป็นเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรียังไม่ถึงขนาดเป็นการล้มล้างการปกครอง จึงเห็นควรเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลาสิบปี ซึ่งสอดคล้องกับโทษไม่ให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองไปมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่

คดียุบพรรคอนาคตใหม่

เมื่อพรรคอนาคตใหม่ได้กระทำการอันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 62 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคแล้วจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค การกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งอันเป็นสิทธิทางการเมืองที่มีความสำคัญต่อผู้ที่อาสาเข้ามาทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จึงต้องพิจารณาให้เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนที่พอเหมาะระหว่างพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำกับโทษในการจำกัดสิทธิ

พรรคอนาคตใหม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมาย แต่ไม่ถึงขนาดเป็นการจงใจฝ่าฝืนกฎหมายไว้โดยชัดแจ้ง จึงเห็นควรให้กำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลาสิบปี

ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ

พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ 2560 มาตรา 92 วรรคสองไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งอันเป็นสิทธิพลเมืองของรัฐต้องถูกเพิกถอนไปอย่างถาวร จึงควรกำหนดเวลาที่แน่นอนโดยพิจรณาหลักความได้สัดส่วนในการจำกัดสิทธิเพื่อมิให้มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุที่อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26

พิจารณาการกระทำของพรรคไทยรักษาชาตินั้นยังไม่ร้ายแรงถึงขนาดเกิดผลเสียหายต่อระบอบการปกครองของประเทศชาติ และที่ผ่านมากรรมการบริหารพรรคยังได้แสดงความสำนึกในการกระทำ อาศัยหลักการที่ว่า กฎหมายที่เป็นธรรมคือกฎหมายที่ให้โอกาสคน จึงเห็นควรกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิดังกล่าวให้เหมาะสมได้สัดส่วนเป็นระยะเวลาสิบปี สอดคล้องกับระยะเวลาในการมีส่วนร่วมจดจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ 2560 มาตรา 94 วรรคสอง

บุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ

พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการลงโทษไว้อย่างชัดเจน เห็นว่า หลักการลงโทษต้องมีระยะเวลาในการลงโทษที่แน่นอน หากถูกเพิกถอนสิทธิไปโดยไม่มีกำหนดจะมีผลเท่ากับบุคคลดังกล่าวถูกตัดสิทธิความเป็นพลเมืองของรัฐไปอย่างถาวร ทั้งที่ความเป็นจริงผู้ถูกตัดสิทธิยังคงเป็นพลเมืองของรัฐและมีหน้าที่ต่างๆ ต่อรัฐ ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 ได้บัญญัติรับรองเรื่องการจำกัดสิทธิเท่าที่จำเป็นเท่านั้นหรือกระทบสิทธิของบุคคลให้น้อยที่สุด

ในกรณีของการตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งนั้นมีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลดังกล่าวมีโอกาสเป็น ส.ส.ทำหน้าที่ตรากฎหมายอีกเพราะเป็นบุคคลที่มีทัศนคติไปในทางที่จะเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของประเทศ แต่การจำกัดสิทธินั้นจะต้องมีระยะเวลาในการลงโทษ ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องมีการพัฒนาไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปทัศนคติของบุคคลก็เปลี่ยนไปได้ด้วย จึงทำให้มีแนวคิดให้โอกาสบุคคลที่เคยกระทำคามผิดกลับมาอยู่ร่วมกันในสังคมในขณะที่มีทัศนคติเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เป็นอันตรายต่อสังคมแล้ว เพื่อให้โอกาสให้คนเหล่านั้นใช้ความรู้เป็นกำลังพัฒนาประเทศชาติ

ประกอบกับความสำนึกรับผิดชอบที่ได้น้อมรับพระราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ดังนั้นจึงควรกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน เมื่อ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ 2560 ไม่ได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้ ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรผู้ใช้และตีความกฎหมายจึงต้องตีความกฎหมายไปในทางคุ้มครองสิทธิของบุคคลให้สอดคล้องกับปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วยการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสิทธิในลักษณะเดียวกันกับการมีส่วนร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ 2560 มาตรา 94 วรรคสองที่กำหนดโทษไว้สิบปี จึงเห็นควรให้กำหนดระยะเวลาในการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาสิบปีด้วยเช่นกัน

คดียุบพรรคอนาคตใหม่

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง จึงให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคด้วย มีกำหนดสิบปี

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่