สรุปรัฐธรรมนูญ 2560: สิทธิแรงงานอ่อนแอ ไม่ประกันค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ

ผู้ใช้แรงงานไม่ได้หมายถึงผู้ทำงานในโรงงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลูกจ้างที่ทำงานประจำทุกคน ทั้งพนักงานออฟฟิศ ลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ เกษตรกร ฯลฯ อีกด้วย ผู้ใช้แรงงานเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ หากไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิภาพตามสมควรก็จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ จึงต้องเขียนการคุ้มครองไว้ให้ชัดเจน เป็นระบบในรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้แรงงานได้รับค่าแรงที่ “เหมาะสมแก่การดำรงชีพ” จากเดิมที่รัฐธรรมนูญ 2550 ใช้ข้อความว่าให้ได้รับค่าแรงที่ “เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ” ซึ่งอาจตีความได้ว่า ตามรัฐธรรมนูญนี้ ค่าแรงในแต่ละพื้นที่อาจไม่เท่ากันก็ได้ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังตัดสิทธิในการรวมตัวของข้าราชการออกไปจากเดิมที่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2550

 

ส่งเสริมความสามารถผู้ใช้แรงงาน และการออมในวัยเกษียณ

‘สิทธิแรงงาน’ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เขียนไว้สี่ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ 1) การส่งเสริมให้มีงานทำ 2) การคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน 3) การให้ค่าแรงและสวัสดิการต่างๆ และ 4) สิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติสามประเด็นแรกไว้ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 74 และข้อที่สี่ในหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 42



สามประเด็นแรก รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 74 บังคับให้รัฐต้องทำให้เกิดสิทธิแรงงาน ได้แก่

หนึ่ง รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ และยังต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานอย่างเหมาะสมกับศักยภาพและวัยอีกด้วย 

สอง รัฐต้องคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน

สาม รัฐต้องจัดให้ผู้ใช้แรงงานได้รับรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน และจัดให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม 

ในประเด็นที่หนึ่งและสอง เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 86 และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 84 กำหนดเพียงว่า รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำและคุ้มครองแรงงานเด็กและแรงงานหญิงหรือสตรี

สำหรับประเด็นการส่งเสริมการออมในวัยเกษียณ ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นครั้งแรก แต่ถึงแม้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้จะไมได้ระบุเรื่องนี้ไว้ รัฐบาลก็มีมาตรการดูแลแรงงานในวัยเกษียณอยู่แล้ว เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ เป็นต้น

 

ไม่รับประกันค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ 

ในประเด็นที่สาม เรื่องการให้ค่าแรงและสวัสดิการต่างๆ นั้น เดิมทีรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 86 ระบุว่า รัฐต้องจัดระบบแรงงานสัมพันธ์ การประกันสังคม รวมทั้งค่าตอบแทนแรงงานให้เป็นธรรม

ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 84 ระบุว่า รัฐต้องจัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน จัดระบบประกันสังคม รวมทั้งคุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ปัญหา คือ รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดเรื่องค่าแรงและสวัสดิการต่างๆ ของผู้ใช้แรงงานโดยใช้ข้อความว่า ให้ได้รับค่าแรงที่ “เหมาะสมแก่การดำรงชีพ” จากเดิมที่รัฐธรรมนูญ 2540 ใช้ข้อความว่า ให้ได้รับค่าแรง “ให้เป็นธรรม” และรัฐธรรมนูญ 2550 ใช้ข้อความว่าให้ได้รับค่าแรงที่ “เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ”

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า การไม่ระบุเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม แต่ไปใช้คำว่า “ที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ” สุ่มเสี่ยงต่อการตีความว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานแต่ละพื้นที่ไม่ควรเท่ากัน ซึ่งจะยิ่งสร้างความไม่เป็นธรรมให้ผู้ใช้แรงงานมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

กลุ่มเกษตรกร-เอกชน-เอ็นจีโอ หายไปจากสิทธิรวมตัวแรงงาน

ประเด็นที่สี่ สิทธิในการรวมตัวของผู้ใช้แรงงาน บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 42 ว่าให้บุคคลมีเสรีภาพในการรวมกันเป็น สมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น ซึ่งนับกลุ่มที่ระบุชื่อไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญได้อย่างน้อย 5 กลุ่ม

ขณะที่ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 45 ให้บุคคลมีเสรีภาพในการรวมกันเป็น สมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น ซึ่งนับได้อย่างน้อย 6 กลุ่ม ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 64 ได้เพิ่มเติมองค์การพัฒนาเอกชน หรือ “เอ็นจีโอ” มาอีกหนึ่งกลุ่ม รวมเป็นอย่างน้อย 7 กลุ่ม

เห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ตัด ‘สหพันธ์’ ‘กลุ่มเกษตรกร’ ‘องค์การเอกชน’ และ ‘องค์การพัฒนาเอกชน’ ออกไป โดยเพิ่มคำว่า ‘องค์กร’ และ ‘ชุมชน’ เข้ามาในรายชื่อกลุ่มที่ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิในการรวมตัว

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ให้ความเห็นว่า การไม่ระบุชื่อให้กลุ่มแรงงานมีสิทธิรวมตัวกันในรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้รัฐหรือนายจ้างละเมิดสิทธิของประชาชนได้ โดยคำว่า “หมู่คณะ” ไม่ชัดเจนเพียงพอเหมือนการระบุชื่อกลุ่ม ทำให้เกิดความไม่แน่นอนและไม่มีหลักประกันใดๆ ให้กับองค์กรเหล่านั้น

 

ตัดสิทธิข้าราชการในการรวมกลุ่ม

เดิมในรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ข้าราชการมีสิทธิในการรวมตัวกันไม่ต่างจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานอื่นๆ โดยมาตรา 64 ระบุว่า “ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดบริการสาธารณะ” แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ตัดข้อความนี้ออกไป 

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 43 ยังให้สิทธิเฉพาะ “ข้าราชการพลเรือน” รวมตัวกันเป็นกลุ่มได้ โดยต้องไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน การบริการสาธารณะ และต้องไม่มีวัตุประสงค์ทางการเมือง ตัวอย่างการรวมตัวกันของข้าราชการ เช่น สหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย (ส.ปอ.ท.)

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์