กป.อพช.เรียกร้องให้รัฐคุ้มครองเอกชัย อิสระทะ กรณีถูกอุ้มขังเมื่อปี 2562

12 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 14.00 น. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จัดแถลงข่าวกรณีเอกชัย อิสระทะ นักกิจกรรมและเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ทั้งระดับภาคและระดับชาติถูกอุ้มขังระหว่างการสังเกตการณ์เวทีรับฟังความคิดเห็นเหมืองหินในจังหวัดพัทลุง เมื่อปี 2562

สมบูรณ์ กำแหง ที่ปรึกษา กป.อพช.ภาคใต้ กล่าวถึงความเป็นมากรณีการอุ้มขังเอกชัยว่า เหตุการณ์การอุ้มขังเอกชัยเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ในพื้นที่อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง บริษัทเอกชนได้ยื่นขอประทานบัตรเพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่และมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการ เอกชัย ในฐานะผู้ติดตามเรื่องเหมืองแร่จึงเข้าไปร่วมเวทีเพื่อรับฟังข้อมูลเหมืองหิน ปรากฏว่า เมื่อเข้าถึงเวทีรับฟังความคิดเห็น ชายฉกรรจ์หลายคนเข้ามาล้อมเอกชัย ก่อนจะถามเอกชัยว่าเขาเป็นใคร ด้วยเห็นว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเป็นเวทีเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้และไม่ได้คิดว่าจะมีการคุกคามเกิดขึ้น เอกชัยจึงตอบไปตามตรงว่า เป็นประชาชนทั่วไป มีสิทธิในการเข้าร่วมเวทีดังกล่าวได้

เมื่อตอบไปเช่นนั้นชายฉกรรจ์กลุ่มดังกล่าวทำการยึดข้าวของทรัพย์สิน โทรศัพท์มือถือ บัตรประชาชนและรถยนต์ และ “อุ้ม” เอกชัยไปไว้ที่รีสอร์ทแห่งหนึ่ง ประมาณสี่ห้าชั่วโมงจนกระทั่งเวทีรับฟังความคิดเห็นเสร็จจึงปล่อยตัวเอกชัย ก่อนปล่อยได้ข่มขู่ทำนองว่า หากเอกชัยไปบอกต่อสื่อมวลชนจะไม่รับรองความปลอดภัยในชีวิต กรณีดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นรุนแรง

อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ในประเด็นเรื่องมาตรการการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เมื่อปลายปี 2562 กระทรวงยุติธรรมได้เปิดแผนปฏิบัติการว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ถือเป็นหน้าเป็นตาอย่างมากของรัฐบาลไทย แต่ถึงปัจจุบันยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือหลักประกันอย่างเป็นรูปธรรมจะไม่ถูกฟ้องร้องเพื่อกลั่นแกล้งหรือปิดปาก ไม่ถูกคุกคามหรืออุ้มหายไม่ว่าจะไม่กี่ชั่วโมงหรือหายไปเลยก็ตาม

ในพื้นที่ที่เอกชัยถูก “อุ้ม” ก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการณ์ที่ชาวบ้านคัดค้านการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งหนึ่ง ต่อมาแกนนำถูกคุกคามด้วยการใช้อาวุธสงครามยิงถล่มบ้าน ตำรวจดำเนินการสอบสวนแต่ท้ายที่สุดกลับมีคำสั่งงดการสอบสวนเนื่องจากไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด ไม่สามารถนำตัวคนมาลงโทษได้ ทำให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และเราไม่คิดว่า เหตุการณ์นี้จะมาเกิดกับคนอย่างเอกชัย ที่ทำงานเคลื่อนไหวมาอย่างยาวนาน

สิ่งที่เกิดขึ้นยังได้สร้างความหวาดกลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำงานสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ อาจมองได้ว่า แม้แต่เอกชัย คนที่เป็นที่รู้จักถูกกระทำเช่นนี้ก็อาจไม่มีหลักประกันใดเลยกับชาวบ้านที่ไม่เป็นที่รู้จักที่จะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิชุมชน ในแง่นี้รัฐบาลจะต้องกำกับดูแลและให้คำมั่นว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิชุมชน เขาจะไม่ถูกทำร้าย ไม่ถูกทำให้หวาดกลัวและถูกอุ้มหาย อังคณากล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า หวังว่า ในช่วงของการพิจารณาคดีพยานในคดีโดยเฉพาะเอกชัยจะต้องไม่ถูกคุกคาม

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า วันนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอกชัย อิสระทะ ในฐานะที่ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนที่สังเกตการณ์ประชาพิจารณ์ว่า เป็นการกระทำที่โปร่งใสมาก แต่ต้องมาประสบเหตุชายฉกรรจ์ “อุ้ม” พฤติการณ์แบบนี้สะท้อนให้เห็นว่า การทำประชาพิจารณ์เพื่อไปบอกว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบแล้ว โครงการนี้สมควรเดินหน้าต่อ แต่มันทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและวิธีการเอาตัวเอกชัยไปควบคุมกักขังตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเวทีรับฟังความเห็นเสร็จสิ้น ถ้าเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้นๆ แสดงว่า โครงการนั้นเป็นโครงการที่ไม่ชอบ และประชาชนสามารถดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครอง

นอกจากนี้ยังปรากฏว่า นักข่าวในพื้นที่ที่เข้าไปทำข่าวในวันนั้นก็ถูกชายฉกรรจ์เรียกไปพูดคุยหลังเวทีและข่มขู่ไม่ให้นำเสนอข่าว เมื่อนักข่าวถามเหตุผล ชายฉกรรจ์กลุ่มดังกล่าวตอบว่า อย่าเสนอข่าวก็แล้วกัน เขาได้เคลียร์กับนักข่าวอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว สิ่งเหล่านี้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องพิจารณาว่า โครงการนี้มีปัญหาแล้ว คาดหวังว่า ในการพิจารณาคดีในศาลเจ้าหน้าที่ในระดับบังคับบัญชาจะต้องสั่งการให้ปกป้องคุ้มครองพยานที่จะมาให้การในศาลเพราะถ้าหากพยานหวาดกลัวจะส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรม คนผิดอาจลอยนวลได้หากขาดพยานปากที่สำคัญ

คดีนี้ศาลจังหวัดพัทลุงนัดสืบพยานตั้งแต่วันที่ 18, 25-28 กุมภาพันธ์ 2563 

 

แถลงการณ์
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
เรื่อง รัฐต้องคุ้มครองนายเอกชัย และต้องเร่งแก้ไขปัญหาการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิชุมชนกรณีเหมืองแร่ทั่วประเทศ

ตามที่นายเอกชัย อิสระทะ ซึ่งเป็นนักพัฒนาเอกชน และยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ทั้งระดับภาค และระดับชาติ และยังเป็นนักปกป้องสิทธิชุมชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน ถูกคนกลุ่มหนึ่งควบคุมตัวและนำไปกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ในที่แห่งหนึ่ง จนต้องสูญเสียอิสรภาพ และมีความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน อันถือเป็นการกระทำที่อุกอาจ และไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมืองแต่อย่างใด

ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ณ มัสยิดแห่งหนึ่งของตำบลคลองใหญ่ อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ของบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด ที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานรัฐตามกระบวนการภายใต้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 56 จึงถือได้ว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นที่สาธารณะของชุมชน และการเข้ารับฟังความคิดเห็นในเวทีดังกล่าวนั้นได้เปิดกว้างให้กับประชาชนผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้

โดยนายเอกชัย อิสระทะ มีความประสงค์ที่จะเข้าไปสังเกตการณ์ในเวทีดังกล่าว แต่กลับถูกชายฉกรรจ์กว่า 10 คน เข้าประกบและควบคุมตัว แล้วนำไปกักขังไว้ในที่แห่งหนึ่งของอำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุงเกือบ 1 วันเต็ม พร้อมกันนี้ได้ข่มขู่ว่าจะไม่รับรองความปลอดภัยหากนำเรื่องนี้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน มีความเห็นว่า กรณีการข่มขู่คุกคามในลักษณะเช่นนี้ได้เกิดขึ้นกับหลายกรณีทั่วทุกภูมิภาค อันเป็นปัญหามาจากระบวนการและข้อกฎหมายที่ไร้มาตรฐาน อันรวมถึงผลประโยชน์มหาศาลของกลุ่มธุรกิจเหมืองแร่ที่พร้อมจะใช้ทุกวิธีเพื่อให้ตนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่สัมปทานอย่างเต็มที่ จึงเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรปล่อยให้กรณีของนายเอกชัยเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ อีกต่อไป จึงมีข้อเสนอดังนี้

1. ต้องจัดให้มีการคุ้มครองนายเอกชัย อิสระทะ ในฐานะพยานคดีอุ้มขังฯ จากกรณีการเข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการสัมปทานเหมืองหินเขาน้อย อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ให้ได้รับความปลอดภัยอย่างเต็มที่ทั้งในระหว่าง และหลังกระบวนการพิจารณาคดี

2. รัฐบาลจะต้องติดตาม ตรวจสอบโครงการสัมปทานเหมืองแร่ในทุกภูมิภาค ว่ามีการกระทำการในลักษณะข่มขู่ คุกคาม หรือสร้างความทุกข์ร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ หรือไม่อย่างไร พร้อมกับสร้างมาตรการป้องกันหรือป้องปรามการกระทำการดังกล่าวอย่างเข้มข้น

3. ต้องยกเลิกแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับปัจจุบัน และให้มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับใหม่ โดยต้องยึดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดแหล่งแร่ใหม่ตามเจตนาของ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะมาตรา 17 วรรค 4 และต้องคำนึงถึงการคุ้มครองความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม วิถีวัฒนธรรมและความสำคัญทางโบราณคดี

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

แถลง ณ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว