พ.ร.บ.งบฯ 63: รอศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา “โมฆะ” บางส่วนหรือทั้งฉบับ

29 มกราคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 หลังพบกรณี ‘ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน’ หรือใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติทั้งที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมในระหว่างการพิจารณากฎหมายในวาระ 2 และ 3

ในคำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยมี 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่

  • กระบวนการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ขัดหรือแย้งกับหลักการการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 120 หรือไม่
  • หากมีปัญหา จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ตกไปทั้งฉบับ หรือเฉพาะมาตราที่มีปัญหา และกรณีนี้จะถือว่าสภาพิจารณาร่างกฎหมายนี้ไม่เสร็จภายใน 105 วัน ตามมาตรา 143 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญหรือไม่
  • จะดำเนินการในแต่ละกรณีต่อไปอย่างไร

ทั้งนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 น่าจะตกทั้งฉบับ โดยเปรียบเทียบกับกรณีเสียบบัตรแทนกันตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ในคดีดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า การลงมติแทนกันนั้นขัดต่อหลักการออกเสียงคะแนนตามรัฐธรรมนูญที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน (รัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 126 วรรคสาม) ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 120 ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัยล่าสุด

อย่างไรก็ดี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และกุนซือกฎหมายของรัฐบาล ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ว่า พ.ร.บ.งบประมาณฯ อาจจะไม่ตกทั้งฉบับ อาจจะเสียไปเฉพาะมติที่ลงคะแนนแทนกัน หรือเสียไปเฉพาะคะแนนที่เสียบบัตรแทนกัน

ดังนั้น ประเด็นสำคัญของการวินิจฉัยความเป็นไปของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2563 ไม่ได้อยู่แค่ว่าจะเป็นโมฆะหรือไม่ เพราะหากกฎหมายไม่ได้ตกทั้งฉบับ ศาลรัฐธรรมนูญก็จำเป็นจะต้องพิจารณาต่อว่า สภาพิจารณาร่างกฎหมายนี้ไม่เสร็จภายใน 105 วัน ตามมาตรา 143 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญหรือไม่

ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ส.ส.พิจารณาไม่ทันตามกรอบเวลา ตามมาตรา 143 จะถือว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอร่างแรก หรือร่างกฎหมายก่อนแปรญัตติเพิ่มหรือตัดงบประมาณจะผ่านการเห็นชอบจากสภาไปโดยปริยาย หรือหมายความว่า งบประมาณที่รัฐบาลอยากได้จะได้ไปเต็มจำนวนแบบไม่ถูกแตะต้องคัดค้านใดๆ

ส่วนผู้ที่เสียบบัตรแทนกัน อาจจะมีความผิดฐานเข้าข่ายการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 กำหนดว่า หากบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้ ป.ป.ช.เป็นผู้มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริง และมีความเห็นต่อผู้กระทำผิดทางจริยธรรม

ถ้าหากผลการไต่สวนพบว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดตามมาตรฐานทางจริยธรรม ป.ป.ช. ก็จะดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลฎีกา หากศาลฎีการับฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และถ้าหากศาลฎีกาตัดสินว่ามีความผิดจริง ต้องหยุดทำหน้าที่ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิการรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี

นอกจากนี้ ผู้ที่เสียบบัตรแทนกันอาจมีความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ 

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ