“ทวงคืนผืนป่า” ยังไม่จบ พื้นที่ “บ้านน้ำพุ” ยังถูกไล่ออกจากที่ดิน

ในงาน​​​​​ “บุญภูทับฟ้า ต่อชะตาภูซำป่าบอน หาบคอนภูเหล็ก วันเด็กไทบ้าน” ครั้งที่ 11 วันที่ 18 มกราคม 2563 เวทีเสวนาเรื่องผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า มีตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและเอ็นจีโอแลกเปลี่ยนประสบการณ์

แม่ไพบูลย์ ตัวแทนชาวบ้านน้ำพุ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เล่าว่า เมื่อปี 2558 เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปตรวจสอบและยึดพื้นที่ที่บ้านน้ำพุ 3,017 ไร่ ของชาวบ้านประมาณ 60 ครอบครัว โดยที่ไม่ได้ให้ชาวบ้านไปแสดงตัว และชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าที่ดินของตัวเองโดนยึดและก็ยังทำไร่ทำสวนต่อไปในที่ดินเดิม ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะยึดที่ดินของนายทุนเท่านั้นไม่ยึดที่ดินของชาวบ้าน

จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่มีโครงการปลูกป่าเข้าไปที่หมู่หก บ้านน้ำพุ เจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ได้นำผู้รับเหมาเข้าไปดำเนินการปลูกป่า ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวกำลังออกรวงและข้าวโพดยังไม่ออกผลผลิต เจ้าหน้าที่ก็สั่งให้ชาวบ้านเก็บเกี่ยวพืชผลทันทีโดยชาวบ้านไม่ได้รู้มาก่อน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน บางคนก็ต้องเก็บมันสำปะหลังทั้งที่ยังหัวไม่ใหญ่ คนที่ปลูกแก้วมังกรก็ต้องรีบถอนเสาออก โดยต้องรีบไปทำตอนกลางคืนเพราะถ้าหากเข้าไปกลางวันก็กลัวเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะจับกุม จะเข้าไปกรีดยางก็ไม่กล้าเข้าไป

ชาวบ้านจึงรวมตัวกันไปพบกับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งต่อมาผู้ว่าฯ สั่งการว่า ให้รอชาวบ้านเก็บผลผลิตให้หมดก่อน ซึ่งผ่อนผันให้ถึง 31 มกราคม 2563 เท่านั้น และชาวบ้านยังเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่หมด ตอนนี้ต้องการให้มีคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงใหม่ เพราะชาวบ้านหลายคนก็อยู่ในที่ดินมาก่อนตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ และมีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ในที่ดินได้

“เฉพาะหน้าชาวบ้านอยากขอความเป็นธรรมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยตรงมาลงพื้นที่จริงๆ และรังวัดใหม่ ให้ประชาชนมีโอกาสแสดงตัวเองและพิสูจน์สิทธิว่า ทำประโยชน์ในที่ดินมาตั้งแต่เมื่อใด” แม่ไพบูลย์กล่าว

ด้านปราโมทย์ ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นที่บ้านน้ำพุเห็นได้ชัดว่า การตรวจยึดที่ดินของชาวบ้านแบบผิดพลาด เพราะตรวจยึดรวมเป็นแปลงเดียว แล้วไปร้องทุกข์กับตำรวจให้เป็นคดีคาไว้ ทั้งที่พื้นที่ตรงนั้นใช้ประโยชน์แตกต่างกัน แล้วก็ไปทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน เช่น การเผาต้นยางพารา สภาพแบบนี้บั่นทอนสภาพจิตใจของคนที่ทำมาหากินชนิดที่ยอมรับไม่ได้

“ในส่วนที่บกพร่อง และเจ้าหน้าที่ได้ทำไปแล้วในช่วงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ควรจะทำให้เป็นตัวอย่างสักกรณีหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาเมื่อทำผิดพลาดไปแล้วกลายเป็นชาวบ้านที่ต้องแบกรับความเสียหายเอง” ปราโมทย์เสนอ

ปราโมทย์กล่าวด้วยว่า ปัญหาเรื่องป่าไม้ที่ดินนั้นคุยกันมานานมาแล้ว เมื่อ 30 ปีที่แล้วก็คุยเหมือนกันกับวันนี้เนื้อหาไม่ล้าสมัยไปเลย เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ในสังคมไทย มูลเหตุของปัญหามาจากวิธีการของรัฐไทยที่ผูกขาดการจัดการไว้ที่หน่วยงานรัฐ กฎหมายทั้งหลายไม่มีการพูดถึงสิทธิของชุมชน สิทธิของประชาชน ทั้ง พ.ร.บ.ป่าไม้, พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ไม่เคยให้อำนาจกับประชาชน ปัญหาที่เกิดกับพื้นที่บ้านน้ำพุและที่อื่นๆ เคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง ครั้งสำคัญคือ ช่วงหลังการรัฐประหารปี 2534 ที่มีการอพยพชาวบ้านออกจากที่ดินจำนวนมาก ฝ่ายประชาชนก็เสนอ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ขึ้นมาแก้ปัญหา แต่สุดท้ายกฎหมายที่ออกมาได้ไม่ได้เหมือนกับที่ประชาชนเสนอ ไม่ได้ให้อำนาจประชาชนร่วมจัดการป่าจริงๆ

กฎหมายที่แก้ไขใหม่ช่วงต้นปี 2562 สั่งให้มีการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนใหม่ภายในเดือนกรกฎาคม 2563 แต่เนื้อหาก็คล้ายกับเอาคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 มาใส่ไว้ในกฎหมายต่อ แล้วก็ทับซ้อนกับกฎหมายป่าชุมชนที่ออกมา กลายเป็นมีข้อจำกัดมากมายไปหมด ให้ดุลพินิจกับเจ้าพนักงานสูงมาก และกำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนไว้สูง

 


แถลงการณ์ชาวบ้านน้ำพุผู้ไต้รับความเดือดร้อนจากการถูกยึดที่ดินทำกิน
เรื่อง ขอให้สอบสวนสิทธิรายแปลงสำหรับชาวบ้านที่ถูกตรวจยึดที่ทำกินและได้รับความเดือดร้อนอย่างจริงใจ

         ในนามชาวบ้านน้ำพุผู้เดือดร้อนและได้รับความเสียหายจากการตรวจยึดที่ดินทำกินของหน่วยพยัคฆ์ไพร ปี 2558 และได้นำโครงการปลูกป่าตามโครงการฟื้นฟูสภาพป่าและสิ่งแวดล้อมบริเวณเหนือพื้นที่โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เราขอประณามความไม่จริงใจในการแก้ปัญหาให้กับราษฎรผู้ยากไร้ และได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กอ.รมน. จ.เลย สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) อำเภอด่านซ้าย กำนันและผู้ใหญ่บ้านน้ำพุ เรื่องการสอบสวนสิทธิรายแปลงของชาวบ้านน้ำพุที่ถูกตรวจยึดที่ดินทำกินในวันที่ 10 ธันวาคม 2562 โดยไม่ดำเนินการสอบสวนสิทธิรายแปลงให้กับชาวบ้านที่ถูกตรวจยึด และโดนทำลายพืชผลทางการเกษตรซึ่งได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง แต่กลับไปสอบสวนสิทธิให้กับชาวบ้านที่ไม่อยู่ในพื้นที่ตรวจยึด แสดงให้เห็นว่า การดำเนินการของหน่วยงานดังกล่าวไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ชาวบ้านน้ำพุขอเรียกร้องให้ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลและความไม่จริงใจต่อการแก้ปัญหาของราษฎรผู้ยากไร้ตัวจริงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด