แก้รัฐธรรมนูญ: สรุปการอภิปรายวันแรก ญัตติ “ตั้งกมธ. แก้รัฐธรรมนูญ”

11 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีนัดพิจารณาญัตติด่วน เรื่องการตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเพื่อศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ” เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการก่อนที่จะเดินไปสู่ขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญต่อไป 
ทั้งนี้ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ร่วมกันยื่นญัตติทั้งหมด 6 ญัตติที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตั้ง กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยพรรคร่วมฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ ถัดมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา หรือแม้แต่พรรคพลังประชารัฐ
ในวันดังกล่าว 'ชวน หลีกภัย' ในฐานะประธานสภาได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ยื่นญัตติเป็นผู้อภิปรายก่อน จากนั้นจึงให้บรรดา ส.ส. ท่านอื่นได้อภิปราย แต่เนื่องจากมีผู้ขออภิปรายจำนวนมาก ทำให้ต้องไปอภิปรายกันต่อในสัปดาห์หน้า(วันที่ 18 ธันวาคม 2562)  อย่างไรก็ตาม จากการอภิปรายในสภาพอจะเห็นเหตุผลและจุดยืนของแต่ละพรรคที่เสนอตั้ง กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ได้ ดังนี้
อนาคตใหม่: ให้ กมธ. เป็นจุดเริ่มต้นสร้างฉันทามติใหม่
ในการอภิปรายเพื่อขอตั้ง กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ของพรรคอนาคตใหม่ จะนำโดย 'ปิยบุตร แสงกนกกุล' เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งกล่าวถึงปัญหาความไม่ชอบธรรมทางประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งในที่มา เนื้อหา และกระบวนการซึ่งเป็นผลพวงของรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ว่าจะเป็นการรับรองการใช้อำนาจของ คสช. ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ในมาตรา 279 หรือ วางกลไกสืบทอดอำนาจ คสช.อย่างชัดเจน ด้วยการให้สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) แต่งตั้ง 250 คน มีหน้าที่หลักคือการโหวตนายกรัฐมนตรีและทำให้อำนาจจากการเลือกตั้งมีน้อยกว่าอำนาจจากการแต่งตั้ง
ปิยบุตร กล่าวถึงทางออกว่า อยากให้การตั้ง กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแสวงหาฉันทามติใหม่ ให้อำนาจประชาชน แบ่งแยกอำนาจ ประกันสิทธิเสรีภาพ เปิดโอกาสให้มีการตัดสินใจร่วมกัน ประกันเสรีภาพในการแสดงออก สร้างความสมานฉันท์ สามารถเปิดโอกาสให้แก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ใช้อำนาจนอกระบบ ดังนั้น ขอเชิญชวนเพื่อนสมาชิกรัฐสภาร่วมกันแสวงหาฉันทามติครั้งใหม่ จึงควรมีการปลดล็อคเปิดทางแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน
เพื่อไทย: ยุติ ส.ว. แต่งตั้ง สร้างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย
ในการอภิปรายเพื่อขอตั้ง กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ของพรรคเพื่อไทยวันแรก นำโดยผู้ยื่นญัตติสองคน ได้แก่ 'สมคิด เชื้อคง' ที่อภิปรายเฉพาะเจาะจงไปที่ ส.ว.แต่งตั้ง ว่าที่มาของ ส.ว. ชุดดังกล่าวมีความน่าเคลือบแคลงสงสัย ทั้งที่ตามกฎหมาย ส.ว. จะต้องมีสถานะเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย แต่การได้มากลับเป็นการสรรหาคัดเลือกที่ไม่โปร่งใส ไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา รวมถึงกรณีที่คณะกรรมการสรรหา 'สรรหาตัวเอง' เข้าไปเป็นส.ว.
ส.ส.พรรคเพื่อไทยอีกหนึ่งคนที่ยื่นญัตติคือ 'จตุพร เชื้อเชิญ' โดยอภิปรายว่า หลักการสำคัญสี่ข้อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หนึ่งต้องมีส่วนร่วมประชาชนมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ สองเนื้อหารัฐธรรมนูญต้องเป็นไปอำนาจอธิปไตยของประชาชนยุติการสืบทอดอำนาจ สามต้องทำให้เกิดฉันนท์ทามติร่วมกัน สี่ทำให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยเข้มแข็งเปิดพื้นที่ถกเถียงให้ประชาชนมีส่วนร่วม 
ประชาธิปัตย์: ถึงเวลาทำตามนโยบายรัฐบาล เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ
ในการอภิปรายของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย 'เทพไท เสนพงศ์' อภิปรายว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการร่วมรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์และได้มีการบรรจุอยู่ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และขณะนี้ได้เวลาได้ผ่านมาแล้วหนึ่งสมัยประชุมจึงสมควรจะหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาในรูปแบบการตั้ง กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ
เทพไท อภิปรายว่า การร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่าง โดยผู้ร่างคือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งโดยคสช. ส่วนที่อ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงก็มีการโฆษณาชวนเชื่อ เช่น การบอกว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ ทั้งที่เรื่องนี้ไม่ได้ถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญแต่เป็นกฎหมายอื่น และประเด็นสุดท้ายคือเรื่องที่มาของส.ว. แต่งตั้ง ที่คณะกรรมการสรรหาล้วนแล้วแต่เป็นคนใกล้ชิดคสช. แถมคนที่เป็นคณะกรรมการสรรหายังสรรหาตัวเองมาเป็น ส.ว.อีกด้วย
เทพไท กล่าวว่า จากทั้งสามปัญหาจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ดังนั้นจึงต้องตั้ง กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ และต้องผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 มาตราที่ว่าด้วยวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560
ชาติไทยพัฒนา: รัฐธรรมนูญทำให้รัฐบาลและสภาทำงานยาก
ในการอภิปรายของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย 'นิกร จำนง' ซึ่งอภิปรายว่า ตนเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศของคสช. และตนเคยทักท้วงปัญหาของร่างรัฐธรรมนูญก่อนการออกเสียงประชามติ รวมถึงเป็นหนึ่งในคนที่ออกเสียงไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่กลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ในขณะเดียวกัน เหตุผลในการออกเสียงประชามติก็ไปผูกโยงกับการเลือกตั้ง ว่าถ้าประชามติไม่ผ่านก็จะทำให้เลือกตั้งช้าออกไปอีก
นิกร อภิปรายด้วยว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทำให้การบริหารราชการแผ่นดินมีอุปสรรค ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 144 ที่ทำให้ผู้แทนประชาชนไม่สามารถเข้าไปช่วยจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเองได้ รวมถึงปัญหาระบบการเลือกตั้ง การคำนวณที่นั่ง ส.ส. ที่ยังมีปัญหา ดังนั้น จึงอยากเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้เห็นปัญหาและหาทางแก้โดยผู้แทนประชาชน
พลังประชารัฐ: รัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรค "แค่บางมาตรา"
ในการอภิปรายของพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ มียื่นญัตติ คือ 'วิเชียร ชวลิต' โดยประเด็นหลักที่อภิปรายเพื่อขอตั้ง กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ คือ ปัญหาความไม่มั่นคงของรัฐบาลจากระบบการเลือกตั้งและสูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส. เนื่องจาก กฎหมายกำหนดให้ภายใน 1 ปี ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่เพราะเหตุทุจริตจะต้องคำนวณที่นั่ง ส.ส. ใหม่ ซึ่งบันทอนเสถียรภาพทางการเมือง
นอกจากนี้ ในมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ ส.ส. ห้ามมีส่วนข้องเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ ทำให้เกิดความกังวลใจในการพิจารณาอนุมัติงบประมาณ หรือการแปรญัตติงบประมาณ ทำให้การทำหน้าที่ของ ส.ส. ในการหาทางแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ที่รับผิดชอบเป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนั้น จึงเห็นควรหยิบยกปัญหาเหล่านี้มาศึกษาผ่านการตั้ง กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ