แก้รัฐธรรมนูญ: ทำไมต้องตั้งกมธ. และจะนำไปสู่อะไร?

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นประเด็นร้อนทางการเมืองทั้งในและนอกสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรจะมีการตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเพื่อศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ” เพื่อศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะเดินไปสู่ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงๆ
การแก้รัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลประยุทธ์
แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ครองอำนาจต่อหลังการเลือกตั้งซึ่งดูแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ทำหน้าที่นั้นได้อย่างดี แต่ด้วยการออกแบบระบบเลือกตั้งที่ลงโทษพรรคขนาดใหญ่ทำให้พรรคที่จะจัดตั้งรัฐบาลต้องเป็นรัฐบาลผสม และด้วยเหตุที่พรรคพลังประชารัฐต้องดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลจึงทำให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องบรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนซึ่งระบุในข้อ 12 ว่าจะมี “การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ซึ่งนั้นเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ในการเข้าร่วมรัฐบาลและโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัย
พรรคฝ่ายค้าน – รัฐบาล เดินหน้าตั้ง กมธ.แก้ไขรธน.
แม้จะอยากแก้ไขหรือไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ทุกพรรคในสภาผู้แทนฯ พร้อมเข้าร่วมใน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯอย่างน้อยก็เพื่อเข้าไปปกป้องประโยชน์ที่พรรคของตัวเองได้จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังจะเห็นได้ว่ามีญัตติที่เสนอเกี่ยวกับการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จากทั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้านและรัฐบาลถึง 5 ญัตติ โดยแต่ละฝ่ายต่างมีเหตุผลและระดับความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน กล่าวคือฟากพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะต้องการให้รัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมจากประชาชนมากขึ้นและเนื้อหาในรัฐธรรมนูญก็มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่มา ส.ว. และระบบเลือกตั้ง ขณะที่ฟากพรรคร่วมรัฐบาลอาจต้องการเพียงแก้ไขเพิ่มเติมบางมาตราเพื่อให้การทำงานง่ายขึ้น เช่น วิธีการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อรายชื่อ
วันที่ ชื่อเรื่อง ที่มา/เหตุผล วิธีการ ผู้เสนอ
22 ส.ค. 2562 (ญัตติด่วน) ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560
– ความเป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญ
– ความเหมาะสมของยุทธ์ศาสตร์ชาติ
– ผ่านประชามติแต่การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น จับกุม คุมขัง และดำเนินคดีกับฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
– วิธีการเลือกตั้งและการนับคะแนนที่สลับซับซ้อน
– ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ
– รัฐบาลขาดเสถียรภาพไม่เป็นตามเจตนารมณ์ของประชาชน
– ที่มานายกฯ และ ส.ว. ไม่เป็นประชาธิปไตย
– เป็นนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล
ตั้ง กมธ.วิสามัญฯ สุทิน คลังแสง พรรคเพื่อไทย และปิยบุตรแสงกนกกุล พรรคอนาคตใหม่ และคณะ 213 คน
5 ก.ย. 2562
(ญัตติ) ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560
– มีปัญหาในทางปฏิบัติในหลายมาตรา และมีหลายประเด็นที่ต้องแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย ตั้ง กมธ.วิสามัญฯ เทพไท เสนพงศ์พรรคประชาธิปัตย์และคณะ 25 คน
10 ก.ย. 2562
(ญัตติ) ให้พิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560
– ความเป็นประชาธิปไตยและความไม่เหมาะสมในหลายมาตรา
– ผ่านประชามติแต่ยังขาดการยอมรับจากประชาชน
– ความสำเร็จของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ริเริ่มโดยบรรหาร ศิลปอาชาจนเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
– เป็นนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล
ให้สภาผู้แทนราษฎรศึกษาและส่งให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการ นิกร จำนง และณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณพรรคชาติไทยพัฒนา และคณะ 5 คน
11 ก.ย. 2562
(ญัตติด่วน) ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม รวมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560
– รอประกาศผลการเลือกตั้งทางการยาวนาน
– การคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
– เป็นนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล
ตั้ง กมธ.วิสามัญฯ วิเชียร ชวลิต พรรคพลังประชารัฐ 
3 พ.ย. 2562 (ญัตติด่วน) ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560
– ความเป็นประชาธิปไตย
– ความไม่เหมาะสมในหลายมาตรา ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ
– ผ่านประชามติ แต่ไม่ชอบธรรม
– อยู่ในความสนใจของประชาชน
ตั้ง กมธ.วิสามัญฯ จตุพร เจริญเชื้อพรรคเพื่อไทย และคณะ 20 คน
กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ มาจากทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล แต่รัฐบาลคุมเกมส์ได้
จากสัดส่วนของบุคคลที่จะเข้ามาเป็นบุคคลที่จะเข้ามานั่งใน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ซีกรัฐบาลจะมีตัวแทนเข้ามามากที่สุดเพราะได้ตัวแทนจากรัฐบาล ผสมกับโควต้าพรรคการเมืองในสภาทำให้แนวโน้มประธาน กมธ.ชุดนี้ คือเป็นของฝั่งรัฐบาลที่มาจากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งการกำหนดที่มาและสัดส่วนของ กมธ.วิสามัญฯ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 91 วรรคสอง ระบุว่า
1) ให้มาจากคณะรัฐมนตรีเสนอชื่อจำนวนไม่เกินหนึ่งในสี่ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด
2) ให้ ส.ส. เสนอรายชื่อโดยมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคที่มีอยู่ในสภา
ทั้งนี้แม้ตำแหน่งใน กมธ.วิสามัญจะเป็นของพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองสามารถเสนอบุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ของพรรคได้ ดังจะเห็นได้ว่ารายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่หลุดออกมาตามหน้าข่าวที่จะเสนอรายชื่อผสมกันทั้งส.ส. และบุคคลที่ไม่ใช่ ส.ส. เช่น พรรคประชาธิปัตย์ที่ส่งรายชื่อสี่คนซึ่งมี นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคที่ไม่ได้เป็น ส.ส
.
กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ แค่ทำหน้าที่ศึกษา ไม่ได้มีหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ
การตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเพื่อศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” ของสภาผู้แทนราษฎร เป็นกลไกปกติของรัฐสภา รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 129 ระบุอำนาจหน้าที่ของ “คณะกรรมาธิการวิสามัญ” ว่าให้ทำหน้าที่ “เพื่อกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ และรายงานให้สภาทราบตามระยะเวลาที่สภากำหนด”
ด้วยเหตุนี้ “กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ” ที่ถูกตั้งขึ้นจึงมีหน้าที่เพื่อศึกษาปัญหา และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และทำรายงานเสนอต่อสภาผู้แทนฯ ไม่ใช่เข้าไปทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ขั้นแรกต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา พร้อมเงื่อนไขที่ต้องมี ส.ว.แต่งตั้ง สนับสนุนจำนวน 86 เสียง ก็ทำให้เห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขได้ยากมาก
ดังนั้นการตั้ง กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ ชุดนี้ จะทำให้เราเห็นจุดยืนของแต่ละพรรคเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการหาฉันทามติในการอยู่ร่วมกันของสังคมไทย