แก้รัฐธรรมนูญ: ยกเลิก ‘มาตรา 279’ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร

หลังการรัฐประหารในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะผู้ก่อการรัฐประหารได้ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ หรือผู้มีอำนาจสูงสุดของรัฐ และใช้อำนาจพิเศษผ่านการออกประกาศและคำสั่งต่างๆ แบ่งเป็นประกาศ คสช. 132 ฉบับ และคำสั่งคสช. อีก 213 ฉบับ โดยอ้างเหตุเรื่องความมั่นคงในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างเช่น เสรีภาพในการพูดหรือแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม และเสรีภาพสื่อ
นอกจากนี้ หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 หัวหน้า คสช. ยังมีอำนาจพิเศษตาม "มาตรา 44" ของรัฐธรรมนูญ ที่สามารถออกคำสั่งในเรื่องต่างๆ ได้อย่างอิสระไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางบริหาร ตุลาการ หรือนิติบัญญัติ ซึ่งตลอด 5 ปี ในยุคคสช. มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งสิ้น 211 ฉบับ ทั้งนี้ การใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวของ คสช. นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง รวมถึงสร้างผลกระทบทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
แม้ว่า ในปัจจุบันสถานะของ คสช. จะสิ้นสุดลงไปแล้วหลังมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ยังให้การรับรองการใช้อำนาจของ คสช. ที่ผ่านมาไว้อยู่ ทำให้การตรวจสอบอำนาจหรือลบล้าผลพวงจากการใช้อำนาจดังกล่าว หรือการเอาผิดการใช้อำนาจโดยมิชอบไม่สามารถกระทำได้ และอาจนำไปสู่การสร้างวัฒธรรม "ลอยนวลพ้นผิด" ที่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ  ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของข้อเสนอทั้งจากพรรคการเมืองและภาคประชาชนที่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างผลพวงการรัฐประหารหรือบรรดาอำนาจและการกระทำของคณะรัฐประหาร 
ห้าปี คสช. ใช้อำนาจพิเศษเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี ที่คสช. อยู่ในอำนาจมีการใช้อำนาจพิเศษในหลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญของ คสช. ก็คือ การตอบสนองผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองผ่านการออกประกาศคำสั่งที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ช่วงแรกหลังการรัฐประหาร คสช. พยายามควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองโดยใช้การออกคำสั่ง คสช. ให้บุคคลเข้ารายงานตัวต่อกองทัพหรือเจ้าหน้าที่ทหาร อย่างน้อย 36 ครั้ง และมีคนถูกเรียกไปรายงานตัวโดยไม่ทราบเหตุผลและไม่ทราบสถานที่ควบคุมตัวอย่างน้อย 292 คน แต่จากการตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ถูกเรียกเข้าไปรายงานตัวและถูกควบคุมตัวต่อจากนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มนักการเมือง นักวิชาการ นักกิจกรรมทางการเมือง สื่อมวลชน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะเป็นคู่ขัดแย้งหรือต่อต้านคสช.
อีกทั้ง คสช. ยังออกประกาศฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 เพื่อห้ามบุคคลและสื่อทุกประเภทสัมภาษณ์นักวิชาการ อดีตข้าราชการ และองค์กรอิสระ ในลักษณะที่อาจขยายความขัดแย้งหรือนำไปสู่ความรุนแรง และห้ามนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะวิจารณ์การทำงานของ คสช. โดยมีเจตนาไม่สุจริต แต่ในทางปฏิบัติประกาศดังกล่าวถูกนำมาใช้ลงโทษสื่อ อย่างน้อย 59 ครั้ง สำหรับสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์ คสช. ไม่ว่าจะเป็นการว่ากล่าวตักเตือน การสั่งให้ปรับปรุงเนื้อหารายการ การระงับการออกอากาศและการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ
หรืออย่าง คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งยังไม่ได้รับการยกเลิกทั้งหมด และยังคงอำนาจให้ทหารตั้งแต่ยศร้อยตรี เรือตรี และเรืออากาศตรีซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น ‘เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย’ ใช้อำนาจต่างๆ ในคดีอาญาได้เช่นเดียวกับตำรวจในคดีเกี่ยวกับ ‘ความมั่นคง’ รวมทั้งกระทำการอื่นใดตามที่ คสช. มอบหมาย เช่น การควบคุมตัวหรือค้นบ้านบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายศาล และนำตัวไปสอบสวน 7 วัน โดยไม่เปิดเผยสถานที่ ทั้งนี้ การใช้อำนาจดังกล่าวเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง เช่น การบังคับให้สูญหาย หรือ การซ้อมทรมานผู้ต้องหา
นอกจากนี้ เพื่อการวางรากฐานอำนาจ คสช. ยังใช้อำนาจพิเศษเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการผ่านการออกคำสั่งคสช. อย่างน้อย 37 ฉบับ แบ่งเป็นคำสั่งคสช. อย่างน้อย 21 ฉบับ คำสั่งหัวหน้าคสช. อย่างน้อย 16 ฉบับ ซึ่งข้าราชการที่ถูกแต่งตั้งโยกย้ายจะไม่สามารถร้องต่อศาลปกครองได้เหมือนกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการโดยปกติ และเป็นอำนาจโดยอิสระของคสช. ในการเลือกคนมาทำงาน
อีกทั้ง คสช. ยังเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งองค์กรอิสระด้วยการออกคำสั่งเพื่อต่ออายุให้กับองค์กรอิสระ เช่น เช่น คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 24/2560 ให้งดเว้นการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งก่อนหน้านี้เอาไว้ก่อน เพื่อรอรัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายลูก และยืดอายุให้ตุลาการจำนวน 5 คน ได้แก่ นุรักษ์ มาประณีต, ชัช ชลวร, บุญส่ง กุลบุปผา, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งจะพ้นจากตำแหน่งหลังอยู่ครบวาระ
รวมไปถึงการแต่งตั้งคนในรัฐบาลคสช.เข้าไปเป็นคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ อย่างเช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2558 กำหนดให้ประธาน สนช. และรองนายกรัฐมนตรี เข้าเป็นกรรมการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีคนดังกล่าว คือ วิษณุ เครืองาม
มาตรา 279 คุ้มครองการใช้อำนาจในยุครัฐประหาร
รัฐธรรมนูญ มาตรา 279 บัญญัติว่า "บรรดาประกาศ คําสั่ง และการกระทําของคสช. หรือของหัวหน้า คสช. ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คําสั่ง หรือการกระทําที่มีผลใช้บังคับ ในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คําสั่ง การกระทําตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คําสั่ง หรือการกระทํานั้น เป็นประกาศ คําสั่ง การกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป"
จากบทบัญญัติดังกล่าว ตีความได้ง่ายๆ ว่า ให้บรรดาการใช้อำนาจพิเศษในยุคคสช. รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจพิเศษที่คสช. ประกาศใช้ ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัญหาที่ตามคือ ทำให้การอาศัยอำนาจดังกล่าวหรือการกระทำตามอำนาจดังกล่าวไม่อาจถูกตรวจสอบได้ 
ตัวอย่างเช่น กรณีภาคประชาชนในนามเครือข่าย We Walk ร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่กำหนดว่า ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถือเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือไม่  แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินกลับมีคำวินิจฉัยว่า 'คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558' ข้อ 12 เป็นคำสั่งที่มีผลบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 และคำสั่งนี้ไม่ได้เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนจนเกินสมควร จึงไม่ดำเนินการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
อีกทั้ง ก่อนหน้าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 ก็เคยให้รับรองอำนาจของ คสช. ไว้ทำให้การตรวจสอบการไม่สามารถกระทำได้ เหมือนในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของภาคประชาชนที่ต้องการเพิกถอนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 ที่ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองสำหรับกิจการพลังงานและการจัดการขยะ ซึ่งสร้างภาระให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ศาลปกครองเห็นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าว ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 44 มิได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ประกอบกับรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44 บัญญัติให้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกมาถือว่า ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาเพื่อควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวได้
ยกเลิก 'มาตรา 279' เพื่อให้อำนาจพิเศษถูกตรวจสอบ
ด้วยปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่รับรองให้อำนาจพิเศษและการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจพิเศษของ คสช. ยังชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ จึงมีข้อเสนอจากทั้งภาคการเมืองและภาคประชาชน ในการยกเลิกมาตรา 279 เพื่อเปิดทางให้มีการทบทวนตรวจสอบอำนาจพิเศษที่เข้าข่ายเป็นการละเมิดหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ภาคประชาชน นำโดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 279 อันเปรียบเสมือนเกราะคุ้มภัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่แม้จะสิ้นสุดบทบาทในฐานะองค์กรลงไป แต่ผลพวงการรัฐประหารจะยังคงอยู่ต่อไปหากไม่มีการยกเลิกหรือจัดการตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้บรรดาอำนาจพิเศษถูกตรวจสอบและผู้ที่ถูกละเมิดได้รับการชดเชยเยียวยา
ภาคการเมือง นำโดย พรรคอนาคตใหม่พยายามผลักดันร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการยกเลิกมาตรา 279 เรื่องการรับรองให้บรรดาประกาศ คำสั่ง คสช. และคำสั่งของหัวหน้า คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายซึ่งทำให้การใช้อำนาจของ คสช. อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ