ห้าข้อควรรู้ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีถือครองหุ้นสื่อของ ‘ธนาธร’

20 พฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดอ่านคำวินิจฉัย คดีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหัวพรรคอนาคตใหม่ ปมถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย ซึ่งเข้าข่ายการถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อ อันเป็นคุณสมบัติต้องห้ามการเป็น ส.ส. แต่ก่อนจะไปฟังคำวินิจฉัยของศาล ไอลอว์อยากชวนอ่าน 5 เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับคดีนี้
หนึ่ง บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เดิมชื่อบริษัท โซลิค มีเดีย จำกัด ประกอบธุรกิจสื่อนิตยสาร โดยมี สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาธนาธร ต่อมา ธนาธร และ รวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ (ภรรยาของธนาธร) ปรากฎชื่อเป็นผู้ถือหุ้น วี-ลัค มีเดีย ครั้งแรก โดย ธนาธร ถือ 675,000 หุ้น และ รวิพรรณ ถือ 225,000 หุ้น พร้อมๆ กับการที่ สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ลดจำนวนการหุ้นเหลือเพียง 675,000 หุ้น
เนื้อหาของการทำนิตยสารคือการติดตาม บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของคนดัง โดยมีคนดังเคยขึ้นหน้าปกนิตยสารมากมาย อย่างเช่น ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ หรือ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ
อย่างไรก็ดี บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด โบกมือลาจากแผง โดยนิตยสาร WHO ตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ได้แก่ นิตยสารของนกแอร์ และธนาคารไทยพาณิชย์นั้น ปิดตัวลงตามสัญญาที่ทำไว้กับผู้ว่าจ้างตามลำดับ โดยฉบับสุดท้ายพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม 2561
สอง คดีดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อสำนักข่าวอิศราตั้งข้อสังเกตว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย มีการแจ้งเปลี่ยนผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง 3 วัน และเกิดขึ้นหลังวันสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562
ต่อมา มีผู้แย้งสำนักข่าวอิศราว่า เอกสารที่นำมาแสดงเป็น บอจ.5 ที่บริษัท วี-ลัคฯ ใช้ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อแจ้งการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้น ซึ่งตามกฎหมายให้แจ้งเพียงปีละครั้ง ไม่ใช่ใบตราสารโอนหุ้น และธนาธรก็โชว์ใบตราสารโอนหุ้นในเพจส่วนตัวว่า เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 เกิดขึ้นก่อนวันที่ไปสมัคร ส.ส. ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์
อย่างไรก็ดี กกต.มีมติแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินการสืบสวนและไต่สวนธนาธร ว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสื่อชื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เพราะสงสัยว่ายังถือหุ้นอยู่หลังการเลือกตั้ง เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
สาม ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้รับคำร้องเอาไว้พิจารณา และยังมติ 8 ต่อ 1 เสียงข้างมากให้ธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.เอาไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ทำให้ธนาธรไม่มีสิทธิ์เข้าประชุมสภา
สี่ แนวคิดเรื่องแยกนักการเมืองกับสื่อออกจากกันที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ในมาตรา 98 (3) ที่ระบุคุณสมบัติของส.ส.ว่า “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” ใจความค้ายกันนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งอยู่ในมาตรา 48 ที่ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม มิได้
โดยแนวคิดดังกล่าวเป็นเจตนารมณ์อย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ต้องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน จึงห้ามให้มีการแทรกแซงสื่อมวลชนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม นำมาสู่การออกมาตรการห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน เพื่อให้สื่อเป็นอิสระ กล้าที่จะวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา เพราะสื่อมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐแล้วนำเสนอให้ประชาชนได้รับทราบ
ห้า สิ่งที่น่าสนใจในการจับประเด็นการถือครองหุ้นสื่อของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ไม่ได้พุ่งเป้าจากประเด็นเสรีภาพของสื่อมวลชนในการทำหน้าที่ตรวจสอบ รวมถึงเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่เป็นอาการนิติศาสตร์นิยมล้นเกิน (hyper-legalism) อย่างที่ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า เป็นอาการหยิบกฎหมายมาใช้แต่ไม่สนเจตนารมณ์ในการใช้กฎหมาย มีการอ้างกฎหมาย แต่ไม่เกิดความยุติธรรม
You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

สมัคร สว.67 แค่กรอกเลือกกลุ่มอาชีพ โดยมีผู้รับรองและพยาน

ผู้สมัคร สว. ไม่ว่าจะเพราะสมัครเพื่ออยากมีส่วนร่วมในกระบวนการหรือสมัครเพื่อไปเป็น สว. สำหรับหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าเราสามารถสมัคร สว.ในกลุ่มที่ต้องการได้หรือไม่ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว.) กำหนดว่า การพิสูจน์ว่าผู้สมัครอยู่กลุ่มอาชีพใด ใช้หลักฐานตามเอกสารสว. 4 คือการมี “ผู้รับรอง”