กระแสแก้ไขรัฐธรรมนูญ เริ่มแล้วโดยภาคประชาชนเจ็ดกลุ่ม

 
เมื่อผ่านการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ไปแล้ว กลไกต่างๆ ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็เริ่มทำงานให้เห็นข้อดีข้อเสีย จึงเป็นช่วงเวลาที่ข้อเสนอจากภาคประชาชนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำลังเป็นที่สนใจ และกลุ่มต่างๆ ก็กำลังทำกิจกรรมเพื่อนำเสนอประเด็นของตัวเองสู่สังคม ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งเนื้อหาและกระบวนการไม่ได้มาจากเสียงของประชาชนโดยแท้จริง 
 
นับถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2562 มีอย่างน้อย 7 กลุ่มองค์กร ที่ประกาศต่อสาธารณะ ในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไปแล้ว ลองมาทำความรู้จักพวกเขาและข้อเสนอของพวกเขากัน
 
(โลโก้คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป.)
 
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย: เสนอแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และอย่างต่ำต้องนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้
 
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย และเคลื่อนไหวในสังคมไทยมายาวนาน ตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2521 และรัฐธรรมนูญ 2534 ต่อมาในปี 2540 ครป. เคยร่วมกับ เครือข่ายองค์กรประชาธิปไตย และองค์กรประชาชน ในนาม 30 องค์กรประชาธิปไตย เคลื่อนไหว "ชูธงเขียว เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" จนกระทั่งผลักดันรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 รวมทั้งเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนสำเร็จปัจจุบัน รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เป็นประธาน ครป. และเมธา มาสขาว เป็น เลขาธิการ ครป.
 
ในปี 2562 นี้ ครป. ได้ร่วมกับ 30 องค์กรประชาธิปไตย เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ โดยตั้งมาตรฐานขั้นต่ำคือ การนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ หรือต้องได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าฉบับ 2540 โดยมีรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นพื้นฐาน
 
จากการประชุมใหญ่ของคณะกรรมการ และที่ปรึกษา ครป. ในวันที่ 17 สิงหาคม 2562 ครป. มีข้อเสนอให้มีการทบทวน และแก้ไขรัฐธรรมนูญ 10 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ 
 
1.กระจายอำนาจการปกครองให้ประชาชนให้จังหวัดจัดการตนเอง เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และจัดตั้งสภาพลเมือง ฯลฯ
 
2.ทบทวนระบบการเลือกตั้งและอำนาจหน้าที่ ส.ส. ส.ว. ปฏิรูประบบการเลือกตั้งให้เป็นธรรม และยกเลิกการบังคับ ส.ส.สังกัดพรรค
 
3.ปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ
 
4.ปฏิรูประบบการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เสริมการศึกษาทางเลือก และ Civic Education
 
5.ทบทวนยุทธศาสตร์ชาติ และการประชามติทุกโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ
 
6.ปฏิรูปโครงสร้างพลังงานและทรัพยากร ส่งเสริมพลังงานทางเลือก
 
7.สร้างกลไกการป้องกันเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาด และสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ
 
8.ทบทวนอำนาจหน้าที่และกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
 
9.ขยายสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (IESCR) คุ้มครองความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เพศสภาพ ส่งเสริมสังคมสวัสดิการและการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ผู้สูงวัย เด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาส
 
10.สนับสนุนเกษตรกรรมอินทรีย์ และอาหารปลอดสารพิษ และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
 
หลังจากนั้น วันที่ 31 สิงหาคม 2562 ครป. ได้จัดงานเสวนา และเปิดตัวร่วมกับ 30 องค์กรประชาธิปไตย เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดย เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. แถลงผลการประชุม มี 6 แนวทางเบื้องต้นในการรณรงค์ ได้แก่
 
1. รณรงค์กับภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนร่วมกัน โดยแบ่งตามกลุ่มเป้าหมายของแต่ละองค์กร เพื่อให้สื่อสารได้อย่างตรงประเด็น
 
2. รวบรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ ขณะที่ในรัฐสภา ส.ส. ก็ยื่นเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปพร้อมกัน
 
3. รณรงค์ออนไลน์สร้างกระแสในวงกว้างออกไป เช่น รวบรวมชื่อทางเว็บไซต์ change.org
 
4. จัดเวทีสำรวจความคิดเห็นประชาชน เพื่อถกเถียงในแต่ละประเด็นที่ต้องการแก้ไขในรัฐธรรมนูญ เช่น ส.ว.
 
5. จัดเวทีสำรวจความคิดเห็นในต่างจังหวัด ทั่วประเทศไทย และตามมหาวิทยาลัยต่างๆ
 
6. จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อให้หลายภาคส่วนเคลื่อนไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ในรูปแบบภาคีใหญ่หรือเครือข่ายใหญ่
 
ซึ่งขณะนี้ ครป. และองค์กรเครือข่ายกำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการประชุม และจัดงานเสวนาอย่างต่อเนื่องเพื่อหาประเด็นร่วมผลักดันกับองค์กรเครือข่ายในการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับที่ประชาธิปไตยที่สุด
 
ติดตามความเคลื่อนไหว การรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญของ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กับเครือข่าย ได้ที่ แฟนเพจของ ครป.
 
 
(โลโก้ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย)
 
ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย: เสนอตั้ง “สภาถกแถลงแห่งชาติ” ที่มาและหน้าที่คล้าย สสร.
 
“ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อ เป็นองค์กรกลางในการประสานงานขององค์กรต่างๆ ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ประกอบไปด้วย องค์กรภาคประชาชน มูลนิธิ สภาท้องถิ่น กว่า 30 องค์กร เช่น มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) พร้อมด้วยตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ที่มาประชุมภาคีเครือข่ายร่วมกัน
 
โดยมี รศ.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหน้าที่เป็นประธานอำนวยการของภาคีฯ และมี ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร และมีสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นศูนย์ประสานงานเครือข่าย
 
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2562 ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวข้อเสนอแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยึดหลักว่า รัฐธรรมนูญต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และเปิดกว้าง เพื่อทำให้เนื้อหาเป็นประชาธิปไตยที่เคารพในสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และพร้อมขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม 
 
เหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคีฯ เนื่องจาก รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ต้น และยึดรัฐราชการเป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองนำไปสู่การรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจ จนเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างกว้างขวาง จึงจำเป็นต้องผลักดันให้เกิด “รัฐธรรมนูญที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ในการแก้ปัญหา ด้วยการอาศัยกระบวนการตั้งสภาถกแถลงแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนทุกจังหวัดได้ส่งตัวแทนมานำเสนอความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมา
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวว่า ข้อเสนอเบื้องต้นของภาคีฯ คือ การตั้ง "สภาถกแถลงแห่งชาติ" ที่มาจากตัวแทนประชาชนผ่านการสรรหากันเองและให้สภาผู้แทนราษฎรคัดเลือก จังหวัดละ 1 คน และให้มีสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนองค์กรประชาธิปไตย รวมถึงตัวแทนจาก ส.ส. และ ส.ว. โดยข้อเสนอดังกล่าวจะนำเสนอต่อสภาเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในอนาคต
 
โดยแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคีฯ ยึดหลักการ 4 ข้อ ได้แก่ 
 
หลักการที่หนึ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกภาคส่วน และเปิดกว้างให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างเต็มที่
 
หลักการที่สอง ต้องทำให้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญเป็นไปตามหลักการที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนโดยสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องได้รับการคุ้มครอง และยุติการสืบทอดอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน
 
หลักการที่สาม ต้องทำให้เกิดฉันทามติร่วมกันในสังคมเพื่อยุติความขัดแย้งและสร้างความปรองดองสมานฉันท์
 
หลักการที่สี่ ต้องทำให้เกิดกระบวนการที่ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งมั่นคงขึ้นพร้อมขับเคลื่อน การปฏิรูปประเทศทางด้านต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้ ถกแถลงและปรึกษาหารือกันเพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและประเทศดีขึ้น
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และเครือข่าย ได้ที่แฟนเพจของ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย
 
 
(โลโก้คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช.)
 
คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน : เฟ้นหา "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ที่เกาะเกี่ยวกับประชาชนทุกกลุ่มมากที่สุด
 
คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. ก่อตั้งขึ้นเนื่องจากมองเห็นว่า ในประเทศไทยตอนนี้มีกลุ่มคนหลายกลุ่มทั้งนักวิชาการ ภาคประชาชน นักศึกษา ฯลฯ ที่พูดเรื่องความต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายแล้วแต่ละกลุ่มก็มีสิ่งที่ตนเองอยากแก้อยู่แล้ว ไม่ได้เห็นว่ามีกลุ่มใดสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทยอย่างแท้จริง ครช. จึงตั้งขึ้นมาเพื่อสอบถามเสียงของประชาชนอย่างแท้จริงว่าสิ่งที่ต้องการแก้ในรัฐธรรมนูญ 2560 คืออะไร แล้วนำความคิดเห็นของประชาชนที่หลากหลายมาสังเคราะห์ เพื่อให้ได้ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ที่เกาะเกี่ยวกับประชาชนทุกกลุ่ม
 
ครช. ประกอบไปด้วย ภาคประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา อย่างน้อย 28 เครือข่าย นำโดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) สหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษา (สนท.) กลุ่มองค์กรเอ็นจีโอ เช่น สมัชชาคนจน, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยมี รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ เป็นประธาน ครช. ซึ่งวางเป้าหมายที่จะสื่อสาร และรณรงค์เกี่ยวปัญหารัฐธรรมนูญปัจจุบัน และแสวงหาฉันทามติร่วมต่อการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
 
ครช. ได้จัดงานเปิดตัวเครือข่ายอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562  อนุสรณ์ อุณโณ ได้กล่าวในงานเปิดตัวว่า “ครช. ตั้งพันธกิจทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ส่วนในช่วงสั้นๆ ราว 3 เดือนเศษ เราทำสามสิ่งคือ 1.สร้างการรับรู้และเข้าใจในปัญหาของรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็จะกระตุ้นให้เกิดเจตจำนงในการแก้จนกลายเป็นมติมหาชน 2.ทำให้ดูว่ามีประเด็นอะไรที่สังคมให้ความสำคัญ และจำเป็นต้องระบุในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีเรื่องอะไรที่จำเป็นต้องแก้และรอไม่ได้ และ 3.วิธีการ รูปแบบ กลไกใด ที่สามารถนำเราไปสู่การสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้”
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2562 เครือข่าย People Go Network ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มเอ็นจีโอที่ทำงานในประเด็นหลากหลาย เช่น เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, เครือข่ายสลัมสี่ภาค, เครือข่ายด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ฯลฯ จัดงานแถลงข่าวประกาศเข้าร่วมเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับ ครช. ด้วย
 
ในขณะนี้ ครช. อยู่ในขั้นตอนสร้างความรับรู้ให้กับสังคม โดยได้จัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2562 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และจัดเวที ครช. สัญจรที่แรกที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 และวางแผนจัดอีกหลายเวทีตามสถานศึกษาในหลายจังหวัด หลังจากนั้นจะมีข้อเสนอต่อสังคมว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นไหน ด้วยวิธีการอย่างไร
 
ติดตามความเคลื่อนไหว การแก้รัฐธรรมนูญของ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ได้ที่ แฟนเพจของ ครช.
 
 
(โลโก้รัฐธรรมนูญก้าวหน้า)
 
รัฐธรรมนูญก้าวหน้า: เสนอระบบสภาเดี่ยว ไม่ต้องมี ส.ว.
 
กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 แนะนำตัวว่า เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ “ก้าวหน้า” เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยมี พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ "ไอติม" อดีตแกนนำคนรุ่นใหม่ NEWDEM ของพรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้งขึ้น 
 
พริษฐ์ กล่าวว่า กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้ายึด 3 หลักการในการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับที่ "ก้าวหน้า" คือ 1.กติกาต้องเป็นกลาง เพื่อสร้างสังคมที่ประชาชนสามารถมีความคิดที่แตกต่าง แต่อยู่ร่วมกันได้โดยไม่แตกแยก 2.ประเทศต้องเดินไปข้างหน้าได้ ไม่ใช่คัดค้านกันตลอด หาคุณค่าหลักที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยกันได้ ผ่านการแสวงหาฉันทามติระหว่างทุกฝ่าย ทั้ง 11 ล้านคนที่โหวตไม่รับและ 16 ล้านคนที่โหวตรับ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในประชามติ พ.ศ. 2559 3.ทำให้รัฐธรรมนูญของเราแก้ปัญหาในอนาคตตั้งแต่วันนี้ เช่น สังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำ
 
กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ได้ผลักดันประเด็นแก้รัฐธรรมนูญส่วนตัวของกลุ่ม คือ ประเด็น "สภาเดี่ยว" (Unicameral Legislature) หมายถึง ระบบรัฐสภาที่มีเพียงสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นผู้ทำหน้าที่ออกกฎหมายของประเทศ โดยไม่มีวุฒิสภา (ส.ว.) และไม่ต้องถกเถียงกันอีกว่า  ส.ว. จะมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง ซึ่งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้าเห็นว่าในอดีต ประเทศไทยได้เริ่มใช้ระบบสภาเดี่ยว (แต่มี ส.ส. 2 ประเภท) ตั้งแต่ปี 2475 แต่ต่อมาในปี 2489 ได้เปลี่ยนเป็นระบบสภาคู่เพื่อให้ ส.ว. เป็น "สภาที่ปรึกษา" ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
 
อีกทั้งยังได้เสนอข้อดีของสภาเดี่ยวสองประการ คือ หนึ่ง ความรวดเร็วของการออกกฎหมายจะสามารถทำได้เร็วขึ้น และสอง ประหยัดงบประมาณอย่างน้อย 1,200 ล้านบาท ในการจ่ายค่าตอบแทน ส.ว. ทั้งค่าเดินทาง เบี้ยเลี้ยง เงินเดือน รวมไปถึงค่ากระบวนการสรรหา  
 
ติดตามความเคลื่อนไหว การแก้รัฐธรรมนูญของกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ได้ที่ แฟนเพจรัฐธรรมนูญก้าวหน้า
 
 
(โลโก้นิวคอนเซนซัส)
 
New Consensus Thailand: ผลักดันสังคมให้รู้ปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
 
กลุ่ม New Consensus Thailand หรือ นิวคอนเซนซัส ก่อตั้งมาเพื่อ แสวงหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามคำนิยามของกลุ่มที่ว่า “จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน” 
 
กลุ่มนิวคอนเซนซัส ก่อตั้งและเริ่มกิจกรรมโดยบุคลากรของพรรคอนาคตใหม่ ดำเนินงานสองภารกิจหลักคือ 1. จัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2. รับฟังเสียงประชาชนที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ผ่านพื้นที่บนโลกออนไลน์ (เว็ปไซต์)
 
ในส่วนของการจัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นได้ดำเนินการไปแล้วทั้งหมด 4 เวที ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
 
ส่วนของการรับฟังเสียงประชาชนนั้นกลุ่มนิวคอนเซนซัส เปิดรับฟังเสียงประชาชน โดยให้ลงคะแนนเสียงผ่านหน้าเว็ปไซต์ https://newconsensus.in.th เพียงกรอกรหัสบัตรประชาชน รหัสไปรษณีย์ และอายุ นับถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เวลา 11.50 น. มีคนโหวตทั้งหมด 11,081 คน  คนเห็นด้วยกับการแก้ 99.56% ไม่เห็นด้วย 0.33% และงดออกเสียง 0.11%
 
ติดตามความเคลื่อนไหวแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญของกลุ่ม New Consensus Thailand  ได้ที่ แฟนเพจ New Consensus Thailand
 
 
(กลุ่มคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ภาคประชาชน หรือ คกป.)
 
คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ภาคประชาชน: แก้มาตรา 256 "ปลดล็อก" เปิดทางแก้รัฐธรรมนูญเรื่องอื่นๆ ไม่ต้องผ่าน ส.ว. แต่ต้องประชามติ
 
กลุ่มนักเคลื่อนไหวสายประชาธิปไตยที่หลายคนเคยเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่ม "คนเสื้อแดง" แต่ส่วนใหญ่เป็น "แดงอิสระ" ที่ไม่ได้ขึ้นตรงต่อแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รวมตัวกันภายใต้ชื่อ "คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ภาคประชาชน" หรือย่อว่า คกป. นำโดย เยี่ยมยอด ศรีมันตะ, พรส เฉลิมแสน นำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มุ่งแก้ มาตรา 256 มาตราเดียว ในประเด็นวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น
 
ข้อเสนอของ คกป. คือ การมุ่ง "ปลดล็อก" ประเด็นเดียวก่อนเพื่อเปิดทางไปสู่การแก้เรื่องอื่นๆ ต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 ได้วางเงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ว่า ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. จำนวน 1 ใน 3 หรือ อย่างน้อย 84 คน และ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านอย่างน้อยร้อยละ 20 ซึ่งเป็นเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญแบบ "พิเศษ" ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยากจนแทบจะแก้ไม่ได้เลย ข้อเสนอของ คกป. จึงเป็นการแก้ไขมาตรา 256 มาตราเดียว หรือการเสนอเพื่อแก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
 
ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่คกป. เสนอ กำหนดให้ ส.ส. 100 คน หรือประชาชน 50,000 คน มีสิทธิเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยยังคงให้ ส.ว. ร่วมกับ ส.ส. 150 คนมีสิทธิในการเสนอร่างแก้ไขได้อยู่ แต่ไม่ให้อำนาจ ส.ว. ในการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการแก้ไขเลย และไม่กำหนดว่าจะต้องมีเสียง ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้านสนับสนุนด้วยจำนวนเท่าใด มติที่จะใช้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ มติเสียงข้างมากธรรมดา หรือ มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ในสภา โดยการออกเสียงต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย ถ้าหากสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการแล้ว หลังจากนั้นต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นและนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนั้นไปทำประชามติโดยประชาชน
 
ตามข้อเสนอของ คกป. การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกครั้ง ทุกประเด็น จะต้องผ่านการทำประชามติก่อน โดยขั้นตอนการทำประชามติต้องทราบล่วงหน้าระหว่าง 90-120 วัน ผลการทำประชามติอาศัยเสียงข้างมากของประชาชน แต่ถ้าประชาชนมาลงคะแนนไม่ถึง 1 ใน 5 ของผู้มีสิทธิ ถือว่าร่างนั้นตกไป
 
คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ภาคประชาชน แถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรมรณรงค์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2562 ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ หลังจากนั้นยังจัดกิจกรรมต่อเนื่อง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2562 เคยทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน และรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อนำเสนอให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป
 
ผู้ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ คกป. สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการเข้าชื่อได้ที่ https://www.flickr.com/photos/78114750@N07/48935984908/in/dateposted-public/ กรอกข้อมูลและลงลายมือชื่อในแบบฟอร์ม แนบสำเนาบัตรประชาชนพร้อมลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องให้เหมือนกับที่ลงชื่อในแบบฟอร์ม และส่งเอกสารทั้งหมดไปที่ คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ภาคประชาชน (คกป.) 76/121 หลักสี่สแควร์ ซอย 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงอนุสาวรรีย์ เขตบางเขต กรุงเทพฯ 10200
 
ติดตามความเคลื่อนไหว การแก้รัฐธรรมนูญของ คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ภาคประชาชน (คกป.) ได้ที่ แฟนเพจของ คกป.
 
 
(โลโก้กลุ่มประชาชนรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ)
 
กลุ่มประชาชนรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ: เสนอเอารัฐธรรมนูญ 2540 ทุกมาตรา กลับมาใช้
 
กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เคยเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่ม "คนเสื้อแดง" รวมตัวกันภายใต้ชื่อ "กลุ่มประชาชนรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ" นำโดยนักเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. อย่างอนุรักษ์ เจนตวณิชย์ หรือ "ฟอร์ด เส้นทางสีแดง" และ เอกชัย หงษ์กังวาน ทำกิจกรรมที่ตั้งชื่อว่า Change 60 โดยมีวัตถุประสงค์ต้องการให้มีการนำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กลับมาใช้
 
กลุ่มประชาชนรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ จัดกิจกรรมเปิดตัวแคมเปญ Change 60 ที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2562 และต่อมาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2562 ก็จัดกิจกรรมที่ภัตตาคารง้วนเฮียง เป็นงานเลี้ยงโต๊ะจีน และเปิดตัวโครงการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีทั้งนักการเมืองและคนเสื้อแดงเข้าร่วมงาน
 
อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ แกนนำกลุ่ม กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดของเมืองไทย มีความเป็นประชาธิปไตยสูงที่สุด เป็นรัฐธรรมนูญที่รับประกันสิทธิ เสรีภาพประชาชน คุณภาพชีวิต คุณภาพการศึกษา คุณภาพการรักษาพยาบาล และเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้บริหารประเทศอย่างเต็มที่ ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ให้อำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้บริหารประเทศอย่างเต็มที่ ดังนั้น ยิ่งรัฐบาลมีอำนาจมากเท่าไหร่ ยิ่งสามารถที่จะบริหารประเทศได้ดีมากเท่านั้น มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาของประเทศที่ตอนนี้สะสมไว้นานกว่า 10 ปี
 
“ในการรณรงค์ครั้งนี้ เราไม่คิดว่าสีเสื้อเป็นเรื่องสำคัญ เราคิดว่าเป้าหมายการรณรงค์คือการนำรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดมาใช้ นั่นคือเป้าหมายที่ทำเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศโดยไม่จำกัดสีเสื้อ” อนุรักษ์ กล่าว
 
หากคุณเห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มประชาชนรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการเข้าชื่อได้ที่ https://www.flickr.com/photos/78114750@N07/48935984908/in/dateposted-public/ กรอกข้อมูลและลงลายมือชื่อในแบบฟอร์ม แนบสำเนาบัตรประชาชนพร้อมลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องให้เหมือนกับที่ลงชื่อในแบบฟอร์ม และส่งเอกสารทั้งหมดไปที่ อนุรักษ์ เจนตวณิชย์ 80/501 หมู่บ้านทิพวัล ถ.เทพารักษ์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 10270 โทร. 081-583-6964