เชิญ รศ.โกวิท เข้าพบเหตุทวีตวิจารณ์ “เกินคำว่า ด้าน” เป็นการใช้อำนาจครั้งแรก หลังมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

หลังจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 (พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ) เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 ประเด็นสำคัญที่เพิ่มขึ้นมาเป็นครั้งแรก คือ ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติอยู่ที่มาตรา 38-39 ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ ได้ ผู้ที่วิจารณ์คำพิพากษาของศาลโดยไม่สุจริตหรือหยาบคาย หรือผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดใดๆ อาจถูกสั่งให้มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
27 สิงหาคม 2562 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกจดหมายเชิญ รศ.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงจากการโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญอย่างไม่เหมาะสม โดยได้นัดหมายให้เข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริงกับเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ถือว่า เป็นการออกหนังสือเชิญต่อบุคคลภายนอกให้เข้าชี้แจงเกี่ยวกับการวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรับธรรมนูญ ฉบับใหม่ประกาศใช้
ละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ กำเนิดขึ้นครั้งแรกในยุค คสช. 
ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ.2540 จนกระทั่งถึงก่อนที่ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ประกาศใช้ กฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ไม่เคยมีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญมาก่อน โดยถือหลักว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่วินิจฉัยเรื่องสำคัญเกี่ยวกับสิทธิของประชาชนและความเป็นไปทางการเมือง จึงเปิดกว้างให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้โดยอิสระกว่าการพิจารณาคดีของศาลทั่วไป
จนกระทั่ง พ.ร.ป.ฉบับ 2561 ประกาศใช้การห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏอยู่ในมาตรา 38 ของ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดี ในส่วนที่บุคคลเข้ามาในบริเวณที่ทำการศาล โดยศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลกระทำหรืองดกระทำเพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการห้ามละเมิดอำนาจศาลของศาลทั่วไป
นอกจากนั้น ยังกำหนดไม่ให้ "วิจารณ์คำสั่งหรือวินิจฉัยคดีศาลรัฐธรรมนูญ" ที่กระทำด้วยความไม่สุจริต และใช้ถ้อยคำหรือความหมายที่หยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย ให้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วย
และในมาตรา 39 กำหนดบทลงโทษไว้มีตั้งเเต่ การตักเตือนและการไล่ออกจากบริเวณศาล ไปจนถึงการลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยการสั่งลงโทษนั้นต้องมีมติสองในสามจากตุลาการ ซึ่งตุลาการมี 9 คน ต้องเห็นด้วยกันทั้งหมด 6 คน
พ.ร.ป.ฉบับนี้ ร่างขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่แต่งตั้งขึ้นโดย คสช. นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ โดยการขอความคิดเห็นจากศาลรัฐธรรมนูญด้วย และเป็นหนึ่งในกฎหมาย 444 ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ศาลรัฐธรรมนูญอยากให้มีข้อห้ามละเมิดอำนาจศาลตั้งแต่ปี 2551
ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล เคยกล่าวไว้ในงานเสวนา “ละเมิดอำนาจศาล : จุดกึ่งกลางระหว่างอำนาจกับสิทธิอยู่ที่ใด?” ที่จัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 โดยสรุปว่า ต้นกำเนิดการนำเรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้ขอให้มีบทบัญญัติเรื่องการละเมิดอำนาจศาลมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ปี 2551 แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เหตุผลก็คือ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยชี้ขาดข้อขัดแย้งการการเมือง เพราะฉะนั้นก็อยากให้ประชาชนรวมทั้งนักการเมืองสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ เพื่อคานอำนาจของของศาลรัฐธรรมนูญ จะได้ไม่เหลิงอำนาจ แล้วใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร
จนกระทั่งได้มีการร่าง พ.ร.ป.ฉบับใหม่ เมื่อถึงกระบวนการของรัฐธรรมนูญ 2560 ตอนที่จะเสนอร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็เอาข้อความเรื่องการละเมิดอำนาจศาลตามที่มีอยู่เดิมเสนอไป โดยที่เตรียมใจไว้แล้วว่า ถ้าไม่ให้ก็จะขอต่อรองลดโทษจำคุกลง หรือ ตัดเรื่องข้อจำกัดในการวิพากษ์วิจารณ์ออกไป เอาเฉพาะอำนาจป้องกันการเข้ามาก่อความไม่สงบเรียบร้อย แต่ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเขียนให้อำนาจมาเต็มที่ และเพิ่มเข้ามาใน พ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญออกจดหมายเชิญตัวบุคคลภายนอกให้เข้าชี้แจงเป็นครั้งแรก หลังมีกฎหมายละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
ตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 จนถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2562 เป็นเวลาหนึ่งปีกับอีกห้าเดือนเศษ ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยเรียกตัวบุคคลภายนอก หรือประชาชนทั่วไปเข้าไปเพื่อให้ชี้แจงเกี่ยวกับการวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญด้วยข้อความที่ไม่เหมาะสม
มีเพียงการออกจดหมายเตือนจากศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ระบุถึงอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และหากมีการกระทำการข่มขู่ คุกคามศาล และตุลาการ อาจจะถูกดำเนินคดีอาญาได้ ขณะที่การวิพากษ์วิจารณ์ควรกระทำโดยสุจริต
จนกระทั่งวันที่ 28 สิงหาคม 2562 มีข่าวรายงานว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกจดหมายเชิญ รศ.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงจากการโพสต์ข้อความในทวีตเตอร์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญอย่างไม่เหมาะสมว่า “ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 32 ส.ส.ปมหุ้นสื่อ แต่ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่  น่าจะเกินคำว่า ”ด้าน” เสียแล้ว” โดยได้นัดหมายให้เข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริงกับเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 สิงหาคม 2562
การออกจดหมายเชิญครั้งนี้ถือว่าเป็นการออกหนังสือเชิญต่อบุคคลภายนอกให้เข้าชี้แจงเกี่ยวกับการวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ หลังมีกฎหมายละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญประกาศใช้
อีกประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ ในการเรียกตัวบุคคลภายนอกให้ไปให้คำชี้แจงข้อเท็จจริงนั้น เป็นขั้นตอนที่ไม่ได้มีระบุไว้ในกฎหมาย ทั้งในมาตรา 38 และ 39 ของ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2561 ด้วย และในเรื่องละเมิดอำนาจศาล เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลในการดำเนินการ แต่การออกจดหมายเรียกตัวไปให้คำชี้แจงข้อเท็จจริงนั้น เป็นการออกหนังสือโดยเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และนัดให้ไปพบกับเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่ตัวของศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง