“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา” คุยต่อจากแถลงการณ์ของผู้พิพากษาที่ยิงตัวเอง

 

4 ตุลาคม 2562 คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา อ่านคำพิพากษายกฟ้องจำเลยห้าคนในข้อหาหนัก พร้อมถ่ายเฟซบุ๊กไลฟ์จากห้องพิจารณาคดี หลังจากนั้นก็ยิงตัวเองบนบัลลังก์ สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการยุติธรรมพร้อมกับทิ้งแถลงการณ์ความยาว 25 หน้า เอาไว้ในคดี ระบุถึงความกดดันจากการทำหน้าที่ การพยายามแทรกแซงให้เปลี่ยนคำพิพากษาจากอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 รวมทั้งอธิบายเหตุผลที่ตัดสินใจไม่รับฟังพยานหลักฐานอันได้มาจากกระบวนการควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษ ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
 

11 ตุลาคม 2562 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน จัดงานเสวนาชื่อเดียวกับข้อเรียกร้องตามคำแถลงการณ์ของคณากร "คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน" โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ทั้งประเด็นความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และประเด็นสิทธิมนุษยชน กับกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้


ดูงานเสวนา ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ย้อนหลังได้ คลิกที่นี่

 

 

อับดุลเลาห์ หะยีอาบู ทนายความของจำเลยในคดีที่คณากรอ่านคำพิพากษาและยิงตัวเอง เล่าว่า ในคดีนี้จำเลยทั้งห้าผ่านกระบวนการบังคับใช้กฏหมายเกี่ยวกับความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ พ.ร.บ.กฏอัยการศึก และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถาการณ์ฉุกเฉิน แต่สุดท้ายไม่ได้ฟ้องข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง เพราะมูลเหตุคดีมาจากเรื่องส่วนตัว ปัจจุบัน แม้คดีจะพิพากษายกฟ้องแล้วแต่ยังมีคำสั่งให้ขังจำเลยระหว่างอุทธรณ์ จำเลยทั้งห้าจึงถูกขังที่เรือนจำ จ.ยะลา ครอบครัวของจำเลยส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไม่สามารถหาหลักทรัพย์ประกันตัว ซึ่งคาดว่าจะใช้คนละ 500,000 บาท
 

นอกจากนี้ ยังมีบุคคลอื่นถูกควบคุมตัวจากเหตุการณ์เดียวกันแล้วไม่ถูกดำเนินคดี แต่ถูกกันตัวไว้เป็นพยานในชั้นศาล อย่างไรก็ตาม พยานเหล่านี้ก็ยังมีพิรุธโดยให้การวกไปวนมา ใช้เวลาครุ่นคิด นิ่งเฉยสักพัก ไม่มั่นใจในการตอบคำถามค้าน พฤติการณ์เหล่านี้ถูกบันทึกในคำเบิกความพยานโดยผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ และถูกยกมาเป็นเหตุผลในการเขียนคำพิพากษา และตามแถลงการณ์ 25 หน้าของผู้พิพากษาคณากร

คดีความมั่นคงภาคใต้ หลักฐานส่วนใหญ่มาจากการควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ
อัลดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า คดีความมั่นคงมีลักษณะพิเศษกว่าคดีทั่วไป ท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบก็มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ช่วงแรกก็ยังใช้กระบวนการสอบสวนปกติ ใช้ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนในการแสวงหาพยานหลักฐาน แต่ช่วงแรกๆ คดียกฟ้อง 80-90% หลังจากนั้นในปี 2550 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 เปิดช่องให้รับฟัง “พยานบอกเล่า” ได้ คือ ไม่ต้องมีพยานที่เห็นเหตุการณ์มายืนยันศาลก็รับฟังได้
หลังจากแก้ไขกฎหมายแล้ว ก็มีการเอาผลการซักถามที่ได้จากการเอาผู้ต้องสงสัยไปขังในค่ายทหารมาใช้ ซึ่งมีแบบฟอร์มเหมือนการสอบสวนของตำรวจ เราได้ปรากฏการณ์ว่า เมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้นจะมีกลุ่มบุคคลเป้าหมายอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่จะไปนำตัวบุคคลเหล่านั้นมาเพื่อเข้าสู่ “กระบวนการซักถาม” ซึ่งควบคุมตัวได้ 7 วัน ภายใต้กฎอัยการศึก และขยายเวลาต่ออีก 30 วันได้ ภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยต้องรอขอต่อศาลเพื่อจะควบคุมตัวต่อ ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ก็จะอ้างคำรับสารภาพในกระบวนการซักถามเป็นหลักฐานในการขอควบคุมตัวต่อ และส่วนใหญ่ศาลก็อนุญาต
“ระยะเวลาควบคุมตัว ถ้าใช้แบบเต็มที่เลย ก็คือ 37 วัน และส่วนใหญ่ก็จะใช้เต็ม 37 วันนี้ ช่วงแรกๆ จะไม่ได้เยี่ยมเลย พออยู่นานๆ ก็จะเยี่ยมได้บ้าง กระบวนการตรงนี้จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ทหาร บางคนซักถามจนไม่มีข้อมูลอะไรแล้ว อยู่เฉยๆ แต่ก็ยังควบคุมตัวต่อ เราไม่รู้ว่า กระบวนการนี้มีหลักเกณฑ์อะไร” อัลดุลกอฮาร์ เล่า
อับดุลกอฮาร์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มใช้บังคับกฎหมายพิเศษเรื่อยมา เราก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านว่า มีการซ้อมทรมานผู้ที่ถูกคุมขังตามกฎหมายพิเศษ พัฒนาการอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง เช่น ทำให้ไม่มีแผล ดังนั้น ผลจากการซักถามในค่ายทหารจึงไม่ใช่กระบวนการสอบสวนปกติ 
ทนายความที่ทำงานมาตลอด 15 ปีภายใต้ความขัดแย้งเล่าว่า คดีที่มาอยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ทนายความมุสลิม ใช้หลักฐานจากกระบวนการพิเศษแทบทุกคดี แม้กระทั่งคดีที่เป็นปัญหา ที่ผู้พิพากษายิงตัวเอง ซึ่งไม่ใช่คดีเกี่ยวกับความมั่นคงก็ยังใช้หลักฐานจากกระบวนการพิเศษ เรื่องนี้เป็นปัญหาในพื้นที่เพราะเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น เราก็ไม่รู้ว่า ใครเป็นคนทำ ไม่รู้ว่าเป็นผลงานของขบวนการหรือไม่ หลายครั้งคดีความผิดอาญาปกติการจับกุมและควบคุมตัวก็ใช้กฎหมายพิเศษนำหน้าไปก่อน 
อับดุลกอฮาร์ เล่าด้วยว่า ตัวอย่างในคดีที่คณากรยิงตัวเอง เห็นว่า คนแรกที่เข้าไปเก็บพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ คือ เจ้าหน้าที่กู้ภัย บางคดีทหารพรานเป็นคนเก็บ แล้วเมื่อสงสัยใครก็ไปจับกุมตัวมาก่อนค่อยสอบสวนหาหลักฐานที่หลัง ซึ่งตรงข้ามกับหลักการสอบสวนที่ต้องหาพยานหลักฐานก่อนจึงจะระบุตัวผู้กระทำความผิดได้ ซึ่งเป็นอันตรายมากเพราะทำให้เลือกดำเนินคดีหรือไม่ดำเนินคดีใครก็ได้ เคยมีคดีที่ผลการซักถามออกมามีคำรับสารภาพของคนวางระเบิด ปรากฏว่า คนที่วางระเบิดถูกกันตัวไว้เป็นพยานเพื่อดำเนินคดีกับคนที่ดูต้นทาง แสดงให้เห็นถึงความไม่มีหลักเกณฑ์ว่า ใครจะถูกดำเนินคดีหรือไม่
ทุกวันนี้คดีเกี่ยวกับความมั่นคง ก็มีพนักงานสอบสวนชุดความมั่นคงต่างหาก อาจจะไม่ใช่ตำรวจในท้องที่เกิดเหตุแต่มีการจัดตั้งมาเป็นชุดพิเศษ อัยการเองก็มีชุดพิเศษที่ทำเรื่องคดีความมั่นคง ส่วนใหญ่ก็จะเอาพยานหลักฐานมาจากชั้นกฎหมายพิเศษ​ เอามาเข้าสู่ชั้นศาล เมื่อเสนอต่อศาลแล้วบางคดีศาลก็รับฟัง บางคดีศาลก็ไม่รับฟัง ถ้าจะรับฟังก็อ้าง มาตรา 226/3 (1) 

            มาตรา ๒๒๖/๓  ข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลใดนำมาเบิกความต่อศาลหรือที่บันทึกไว้ในเอกสารหรือวัตถุอื่นใดซึ่งอ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาล หากนำเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้น ให้ถือเป็นพยานบอกเล่า
            ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่
            (๑) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ หรือ
            (๒) มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น
            ในกรณีที่ศาลเห็นว่าไม่ควรรับไว้ซึ่งพยานบอกเล่าใด และคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องร้องคัดค้านก่อนที่ศาลจะดำเนินคดีต่อไป ให้ศาลจดรายงานระบุนาม หรือชนิดและลักษณะของพยานบอกเล่า เหตุผลที่ไม่ยอมรับ และข้อคัดค้านของคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องไว้ ส่วนเหตุผลที่คู่ความฝ่ายคัดค้านยกขึ้นอ้างนั้น ให้ศาลใช้ดุลพินิจจดลงไว้ในรายงานหรือกำหนดให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นคำแถลงต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวน
ในการพิจารณาคดีอาญาตามปกติ ผู้พิพากษาองค์คณะจะมีสองคน แต่ถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงจะมีผู้พิพากษาที่ถูกส่งมาจาก “ภาค” อีกคนหนึ่งมานั่งพิจารณาคดีไปด้วย รวมเป็นสามคนต่อหนึ่งคดี
ตามที่แถลงการณ์ของคณากร เพียรชนะ กล่าวถึงคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำเลย แล้วคณากรเห็นว่า ควรลงโทษหนักแต่ถูกขอให้แก้ไขเป็นลงโทษน้อยลง อับดุลกอฮาร์ เล่าต่อจากประเด็นนี้ว่า การพยายามเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐประสบปัญหามาก ส่วนตัวเคยพยายามหลายครั้ง ทั้งจากเหตุคนตายในค่ายทหาร หรือการวิสามัญฆาตกรรม ส่วนตัวยังไม่เคยเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐได้สำเร็จเลย ที่ผ่านมาคดีลักษณะนี้แพ้ตลอด ถ้าหากชนะได้ครั้งเดียวก็จะให้ผลดีที่คุ้มค่า
อับดุลกอฮาร์ อ่านความคิดของคณากร ถึงสาเหตุที่ต้องลงโทษหนักว่า คณากรน่าจะมองว่า สถานะของเจ้าหน้าที่นั้นพิเศษกว่าคนอื่น แต่เจ้าหน้าที่ใช้โอกาสนั้นกระทำความผิด จึงควรจะต้องลงโทษหนักเป็นพิเศษ เมื่อนำเจ้าหน้าที่เข้าสู่การดำเนินคดีได้คณากรจึงน่าจะมองในมุมของประชาชนที่เห็นควรว่า เจ้าหน้าที่ต้องได้รับโทษ ไม่ได้สิทธิพิเศษใดๆ 
ระบบทบทวนคำพิพากษาใช้มานานแล้ว ถ้าเจ้าของสำนวนไม่เห็นด้วย ก็ไม่ต้องเชื่อ
สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ผู้พิพากษายิงตัวเองนั้นสร้างความกระทบกระเทือนใจมาก เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาตลดจนเกิดความสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกับระบบศาลทุกวันนี้ ภายในศาลมีระบบที่ผู้พิพากษาต้องส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจก่อน ระบบนี้ใช้มาตั้งแต่เริ่มเป็นผู้พิพากษาเมื่อปี 2515  
สมลักษณ์ อธิบายว่า พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 กำหนดให้ประธานศาลต่างๆ และอธิบดีผู้พิพากษา มีอำนาจนั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใดๆ ของศาล และเมื่อได้ตรวจสำนวนแล้วก็มีอำนาจทำความเห็นแย้งติดไว้ในสำนวนได้ กรณีที่เกิดขึ้นกับคณากรจนต้องยิงตัวเองนั้น ไม่ทราบว่า มีความขัดแย้งอะไรเกิดขึ้น เพราะจริงๆ ถ้าอธิบดีผู้พิพากษาภาคมีความเห็นไม่ตรงกับเจ้าของสำนวน ก็สามารถทำความเห็นแย้งได้เลย ก่อนหน้านี้เคยมีคดีการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่ทำให้มีคนตาย เมื่ออัยการฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรี ศาลอาญาสั่งไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่า เป็นการทำตามหน้าที่ แต่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทำความเห็นแย้งติดไว้ เห็นว่า ควรรับคดีนี้ไว้พิจารณา การทำความเห็นแย้งสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องไปเถียงกัน
สำหรับข้อเสนอที่ว่า ควรยกเลิกการให้อธิบดีผู้พิพากษาตรวจร่างก่อน สมลักษณ์ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่า อธิบดีมีประสบการณ์การทำคำพิพากษาและอำนวยความยุติธรรมมานาน จากประสบการณ์ส่วนตัวระบบนี้ไม่เคยทำให้มีเหตุกระทบกระทั่งกับอธิบดี เคยมีแต่ประสบการณ์ที่มีความเห็นไม่ตรงกันกับองค์คณะแล้วไปปรึกษาอธิบดีก่อนเพื่อหาทางออก ปัจจุบันก็มีระเบียบอยู่ว่า คดีอะไรบ้างที่ต้องส่งให้ตรวจก่อนและคู่ความก็ทราบว่ามีกระบวนการนี้เพราะเมื่อต้องส่งร่างคำพิพากษาไปตรวจ ศาลก็จะเขียนในรายงานให้คู่ความทราบ
สมลักษณ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับ รวมทั้งฉบับปี 2560 เขียนรับรองหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาไว้ ฉบับปัจจุบันอยู่ในมาตรา 88 แม้แต่ประธานศาลฎีกาก็เข้ามาแทรกแซงไม่ได้ ถ้าใครเข้ามาแทรกแซงก็ถือว่า ผิดทันที ซึ่งคณากร ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลาก็ทราบดี ถ้าหากเห็นว่า สิ่งใดถูกต้องก็ต้องยืนยันเขียนคำพิพากษาไปตามนั้น แม้ว่า อธิบดีผู้พิพากษาภาคจะเห็นต่างและเรียกไปคุยเพื่อปรึกษาหารือกัน ก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังหากไม่เห็นด้วย ต้องเขียนไปตามที่องค์คณะเห็นด้วยกัน
สำหรับคำถามจากผู้เข้าร่วม ที่ถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ทุกวันนี้อำนาจทหารจะนำอำนาจตุลาการ สมลักษณ์เล่าถึงข้อครหาที่มีต่อสถาบันศาลในปัจจุบันว่า กลายเป็นเครื่องมือรับรองอำนาจให้การทำรัฐประหาร ยอมรับว่า ปัจจุบันมีเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้สังคมสงสัยสถาบันศาล และเมื่อถามย้ำอีกครั้งว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ทหารจะเข้ามากำหนดแนวนโยบายทางคดีให้กับศาล สมลักษณ์ตอบว่า “ก็เป็นไปได้”
มาตรฐานสากล ผู้พิพากษาต้องอิสระจากผู้บังคับบัญชา
สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) กล่าวว่า มาตรฐานสากลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของผู้พิพากษา เขียนไว้ชัดเจนเกี่ยวกับระบบการตรวจคำพิพากษาโดยผู้พิพากษาอาวุโส ตามกฎหมายระหว่างประเทศผู้พิพากษาต้องเป็นอิสระและเป็นกลาง คือ เป็นอิสระจากปัจจัยภายนอก และเป็นกลางจากปัจจัยภายใน
หลักการบังกาลอร์ (The Bangalore Principles of Judicial Conduct) และกฎบัตรสากลของผู้พิพากษา (Universal Charter of the Judge) พูดถึงการทบทวน หรือการทบทวนคำพิพากษาไว้ชัดเจนว่า จะต้องทำโดยศาลชั้นสูงกว่าเท่านั้น นั่นคือคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะถูกทบทวนโดยศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา และผู้พิพากษาต้องเป็นอิสระจากทั้งผู้บังคับบัญชาและเพื่อนผู้พิพากษาด้วยกัน หากตีความตามหลักการระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด จะเห็นได้ว่าไม่ควรให้มีการทบทวนคำพิพากษา แต่สามารถอุดช่องว่างเรื่องมาตรฐานด้วยการสนับสนุนทางวิชาการแก่ผู้พิพากษา หรือทบทวนการสรรหาผู้พิพากษา หากกลัวว่าผู้พิพากษาอายุน้อยในศาลชั้นต้นจะตัดสินผิดพลาด 
เสนอระบบทบทวนคำพิพากษา ต้องทำความเห็นแย้งชัดเจน และห้ามแก้ไขข้อเท็จจริง 
ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ภาควิชากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​กล่าวว่า ระบบปัจจุบันที่มีผู้พิพากษาผู้ใหญ่มาทบทวนคำพิพากษา แสดงให้เห็นจุดอ่อนของระบบศาลสองประเด็น ประเด็นแรก แสดงถึงความไม่เชื่อใจที่ผู้พิพากษาอาวุโสมีต่อผู้พิพากษาที่อาวุโสน้อยกว่า 


“ในกรณีคณากร ก็เป็นผู้พิพากษามา 17 ปี เรายังไม่สามารถเชื่อใจผู้พิพากษาที่ทำงานมา 17 ปีได้หรือครับ ถ้าเรายังไม่สามารถเชื่อใจผู้พิพากษาที่ทำงานมา 17 ปีได้ ระบบยุติธรรมไทยมีปัญหาแล้วครับ นั่นแปลว่า ประชาชน จำเลย คู่ความ ถูกทำให้เสี่ยงที่จะถูกพิพากษาโดยคนไร้ความสามารถ ไร้คุณสมบัติ ขาดวิจารณญาณที่เหมาะสมในการพิพากษา” รศ.ดร.รณกรณ์ กล่าว
ประเด็นที่สอง ระบบที่ให้มีการทบทวนคำพิพากษาภายใน ทำให้คนที่ไม่ได้นั่งพิจารณาคดี ไม่เห็นอากัปกริยาของพยานมีวิจารณญาณได้ดีกว่าคนที่พิจารณาคดีด้วยตนเอง ระบบทบทวนคำพิพากษาของศาลไทยที่ใช้ในปัจจุบันไม่ได้อนุญาตให้ทบทวนแค่ข้อกฎหมาย เรายังอนุญาตให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคบอกว่า ข้อเท็จจริงน่าจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ทั้งที่อ่านแค่เพียงตัวอักษร แต่ไม่เชื่อคนที่เห็นพยานหลักฐานเอง ซักถามพยานเอง ในต่างประเทศใช้การบันทึกเสียง บางมลรัฐในสหรัฐอเมริกาบันทึกภาพ แต่ก็ยังไม่ให้ศาลที่สูงกว่าวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นเลยเลย แต่ผู้พิพากษาเราเราอ่านตัวอักษร แต่กลับเก่งมากๆ 
ผศ.ดร.รณกรณ์ เสนอด้วยว่า ในทางปฏิบัติ หากจะมีระบบการทบทวนคำพิพากษาจริง ก็ขอให้ทบทวนเฉพาะข้อกฎหมาย ไม่ทบทวนข้อเท็จจริง และหากจะมีการทบทวนและมีความเห็นแย้ง ก็ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคทำเป็นความเห็นแย้งมาติดสำนวนไว้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
สำหรับประเด็นเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานจากกระบวนการพิเศษในพื้นที่ภาคใต้ รศ.ดร.รณกรณ์ กล่าวว่า ประโยคหนึ่งของคณากรที่จับใจมาก คือ “ทำไมผู้ต้องสงสัย ถึงมีศักดิ์สูงกว่าผู้ต้องหา แต่มีสิทธิน้อยกว่าผู้ต้องหา” สถานการณ์ในภาคใต้กลายเป็นว่า คนที่ถูกจับกุมในฐานะผู้ต้องสงสัยกลับไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่พื้นฐานที่สุด คือ สิทธิได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ ผู้ถูกควบคุมตัวไม่มีสิทธิมีทนายความ หรือติดต่อญาติเพื่อรับประกันว่า เขาจะไม่ถูกบังคับให้สูญหาย
ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองวางมาตรฐานระยะเวลาการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยก่อนพาตัวไปศาลไว้ที่ 48 ชั่วโมง สำหรับกฎหมายในอังกฤษกำหนดให้เพียง 24 ชั่วโมง ถ้าเป็นคดีสำคัญควบคุมตัวได้ 36 ชั่วโมง คดีก่อการร้ายควบคุมตัวได้ 72 ชั่วโมง แต่ในประเทศไทยกฎอัยการศึกให้ควบคุมตัวได้ 7 วัน นี่คือราคาที่เราต้องจ่าย แต่ไม่ใช่เราที่นั่งหล่อๆ สวยๆ อยู่ในกรุงเทพ เป็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่