แก้รัฐธรรมนูญ: มาตรา 1 แค่เห็นต่างทำได้ แต่แก้ไขยาก

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2562 เจ็ดพรรคฝ่ายค้านร่วมกับนักวิชาการและภาคประชาชน จัดงานเสวนา "พลวัตรแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่" ที่ลานหน้าศาลากลาง จังหวัดปัตตานี ต่อมาในวันที่ 3 ตุลาคม 2562 พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก และผู้ชำนาญการสำนักงาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า “อดีตมือกฎหมายของคสช." ร้องทุกข์กล่าวโทษ ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการ รวมทั้งพิธีกรบนเวทีเสวนารวม 12 คน 
ในข้อหา“ยุยงปลุกปั่น” แสดงความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนและสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี จากกรณีที่ "ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์” รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาได้พูดถึงการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะอาจจะต้องแก้ไขในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ
"ที่ผ่านมามีงานวิชาการหลายชิ้นที่บอกว่าปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ที่จริงแล้วเป็นเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยในแบบปัจจุบันที่ไม่สามารถเผชิญกับความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ได้ เราต้องการรัฐที่มีความแยกย่อย ยืดหยุ่น มีการใช้อำนาจอธิปไตยที่จะโอบรับความแตกต่างหลากหลายได้ สามารถจินตนาการถึงการเมืองประเภทต่างๆ ได้ เช่น ประเทศไทยอาจจะไม่จำเป็นต้องมีรัฐเดี่ยวหรือแบบรวมศูนย์
ดิฉันหวังว่าในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ เราจะมีพื้นที่จะสามารถอภิปรายเรื่องนี้ได้ เราจะต้องทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เราจะถกเถียงกันในมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญที่เราจะแก้ไขได้โดยตรง ซึ่งอาจจะรวมถึงมาตราที่ 1 ด้วยก็ได้” ผศ.ดร.ชลิตา กล่าว ทั้งนี้ มาตรา 1 ระบุว่า “มาตรา ๑ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” ซึ่งบัญญัติไว้ใน “หมวด 1 บททั่วไป” ของรัฐธรรมนูญปี 2560" 
ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดเงื่อนไขในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ในหมวดที่ 15 โดยมาตรา 255 ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต้องห้ามแก้ไขในสองเรื่อง ได้แก่
1) การเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งตีความได้ว่าหมายถึง “รูปแบบการปกครอง” ตามมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญในหมวด 1 บททั่วไป ซึ่งระบุว่า “มาตรา ๒ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
2) การปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ซึ่งตีความได้ว่าหมายถึง “รัฐเดี่ยว” ตามมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญในหมวด 1 บททั่วไป
ส่วน ในมาตรา 256 (8) ให้กรณีที่จะแก้ไขเกี่ยวกับ “หมวด 1 บททั่วไป” หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ให้จัดทำ “ประชามติ” ก่อน หากผลประชามติเห็นชอบ จึงจะสามารถประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นได้
ตามบัญญัติของรัฐธรรมนูญทำให้ตีความได้ว่า เรื่องที่สามารถแก้ไขได้แต่ต้องทำประชามติก่อนในหมวด 1 บททั่วไป ซึ่งแก้ได้เฉพาะ มาตรา 3 ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย มาตรา 4 ว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค และมาตรา 5 ว่าด้วยรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ส่วนมาตรา 1 และ 2 อยู่ในเงื่อนไขที่ว่าแก้ไม่ได้
อย่างไรก็ดี ถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 จะห้ามแก้ไขมาตรา 1 แต่ยังเป็นไปได้ว่าถ้ามีการเสนอวิธีการแก้ไขรัฐรรมนูญด้วยการตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)” เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่นเดียวกับเมื่อปี 2539 ที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 เพื่อกำหนดให้มี สสร. มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมของสภา ควบคู่ไปกับตัวแทนจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ที่ต้องมาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ 
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะแก้ได้หรือไม่ได้ ด้วยวิธีการอย่างไรก็ตาม มาตราฐานขั้นต่ำที่สุดของสังคมคือ การพูดคุย ถกเถียง และเสนอแก้ไขมาตรา 1 อย่างสันตินั้นไม่ผิดกฎหมาย รัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการไว้ในมาตรา 34 ที่บัญญัติว่า
“มาตรา ๓๔ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน
เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น”