เปิดดูแนวคิดการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี พบว่า … ไม่มี

ท่ามกลางสภาพปัญหาอากาศเป็นพิษ เต็มไปด้วยฝุ่นควันขนาดเล็กในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่นับวันดูเหมือนปัญหาจะยิ่งหนักขึ้น ประชาชนก็ทำได้เพียงการหาหน้ากากมาใส่ และซื้อเครื่องฟอกอากาศติดบ้าน โดยไม่มีความชัดเจนจากภาครัฐว่า จะแก้ปัญหานี้ในทางโครงสร้างให้ยั่งยืนได้อย่างไร 
เมื่อลองเปิดแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี ที่ คสช. ร่างขึ้น และตั้งชื่อว่า "ยุทธศาสตร์ชาติ" พบว่า ไม่มีการตระหนักถึงปัญหาฝุ่นขนาดจิ๋วเหล่านี้มาก่อน และไม่มีแนวนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ปรากฏอยู่เลย
ในแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี ที่ คสช. จัดทำขึ้นความยาวรวม 76 หน้า เต็มไปด้วยข้อความที่สวยหรูตลอดทุกหน้า ระบุว่า วิสัยทัศน์ของประเทศไทย คือ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” 
ในส่วนของปัจจัยที่เป็นสภาพปัญหา ที่คนเขียนแผนยุทธศาสตร์นี้มองเห็น ได้กล่าวถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน โดยให้น้ำหนักกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ว่า
"ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาดว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในเชิงความผันผวน ความถี่ และขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จําเป็น ตลอดจนระบบผลิตทางการเกษตรที่สัมพันธ์ต่อเนื่องกับความมั่นคงด้านอาหารและน้ํา ขณะที่ระบบนิเวศต่างๆ มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง….."
และยังพูดลอยๆ ไว้ถึงสิ่งที่ประเทศไทยควรจะทำด้วยว่า "ประเทศไทยต้องให้ความสําคัญกับการสร้างสมดุลความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร การรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายเชิงนิเวศ การส่งเสริมการดําเนินชีวิตและธุรกิจ และการพัฒนาและขยายความเป็นเมืองที่เติบโตอย่างต่อเนื่องที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม …." 
แม้จะไม่ได้กล่าวถึงปัญหาฝุ่นควันขนาดจิ๋วที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้เอาไว้เลย แต่ส่วนที่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่หน้า 52-63 ก็มีการกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่บ้าง เช่น 
• ประเด็นสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เน้นการรักษาพื้นที่สีเขียว หยุดยั่งการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า 
• ประเด็นสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ โดยพัฒนาแนวทางจัดการเมืองและพื้นที่สีเขียว พัฒนาพื้นที่เมือง ให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนผังภูมินิเวศ 
และในหลายๆ ประเด็นยังกำหนดภาพฝันให้รัฐบังคับใช้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมด้านดิน น้ำ อากาศ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดมลพิษ พัฒนาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล และยังเอ่ยถึงการส่งเสริมคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย 
โดยทั้งหมดนี้ไม่ได้ลงรายละเอียดเลยว่า จะต้องทำอย่างไรถึงจะไปสู่จุดนั้นได้
แม้ต่อมาจะมีการประกาศใช้ แผนแม่บทความยาว 396 หน้าตามมาอีก แต่ในแผนแม่บทก็ยังมีแต่คำสวยหรูไม่ได้กำหนดวิธีการปฏิบัติ และไม่ได้กล่าวถึงปัญหาฝุ่นควันขนาดจิ๋วอีกเช่นกัน
ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือ "ยุทธศาสตร์ คสช." กันแน่?
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการจัดทำและบังคับใช้แผนยุทธศาสตร์นี้ มี 29 คน นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นรองประธาน มีกรรมการหกคน ที่เป็นรัฐมนตรีในยุค คสช.1 รวมทั้งวิษณุ เครืองาม, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และสองแกนนำพรรคพลังประชารัฐอย่าง อุตตม สาวนายน และสุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ปลัดกระทรวงกลาโหม และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการโดยตำแหน่งด้วย กรรมการทุกคนเป็นผู้ชายและมีอายุเฉลี่ยเมื่อตอนถูกแต่งตั้งในปี 2560 อยู่ที่ 63 ปี อายุมากที่สุด คือ 90 ปี
แผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี ที่ คสช. จัดทำขึ้น เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2560 และพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ที่ร่างขึ้นในยุคของ คสช. อีกเช่นกัน โดยตั้งเป้าหมายจะให้เป็นแผนที่นำพาการพัฒนาของประเทศไปอีก 20 ปีข้างหน้า โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามแล้วจะเป็นความผิดและมีโทษถึงการไล่ออกจากราชการ และการให้พ้นจากตำแหน่ง 
ในระหว่างการจัดทำแผนอนาคตประเทศฉบับนี้ ไอลอว์พยายามขอให้เปิดเผยร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่ใช้เป็นร่างหลักในการจัดทำเนื้อหา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ทำความเข้าใจว่า แผนการอนาคตประเทศจะถูกกำหนดให้ไปในทิศทางไหน และสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ แต่ต้องพบกับอุปสรรคนานัปการที่พยายามปฏิเสธไม่เปิดเผยร่างให้ประชาชนดู 
ขณะเดียวกันก็ได้ข้อมูลมาว่า ในกระบวนการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น มีการจัดรับฟังความคิดเห็นเพียงแค่ 5 ครั้งทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดกระบี่ จังหวดชลบุรี และจังหวัดขอนแก่น โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมมีทั้งสิ้น 137 แห่ง แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อมวลชน ทั้งนี้ สัดส่วนของกลุ่มที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นมากที่สุดคือ กลุ่มภาครัฐคิดเป็น 34 เปอร์เซ็น ผู้ที่จะเข้าร่วมได้ต้องมี "คุณสมบัติพื้นฐาน" ที่คณะจัดทำร่างต้องการ และเป็นการตัดโอกาสประชาชนทั่วไปไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมนั่นเอง