อนาคตใหม่เสนอ 2 ร่างกม. ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ใช้ระบบสมัครใจ ยึดหลักสิทธิมนุษยชน

รัฐสภาหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 จะปิดประชุมสมัยแรกลงในวันที่ 19 กันยนยน2562 แต่ถ้าพูดถึงผลงานแล้วก็ยังไม่มีกฎหมายฉบับใดออกมาทำตามนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ สัญญาไว้ได้เลยซึ่งการ “ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร” ก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่ถูกพูดถึงมากในช่วงหาเสียงเลือกตั้งและพรรคที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดพรรคหนึ่งก็คือ พรรรคอนาคตใหม่
พล.ท.พงศกร รอดชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ผู้นำนโยบายด้านการปฏิรูปกองทัพ กล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่เตรียมเสนอร่างกฎหมายการรับราชทหารซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกณฑ์ทหารในการประชุมสภาสมัยที่ 2 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562
ร่างกฎหมายของพรรคอนาคตใหม่มีอย่างน้อย 2 ฉบับ ทั้งสองฉบับเปลี่ยนระบบ “เกณฑ์ทหาร” ไปเป็นระบบ “สมัครใจ” เช่นเดียวกัน โดยฉบับแรกเป็นร่างหลักของพรรคกำหนดให้เปิดรับสมัครบุคคลอายุ 18 ปี ฝึก 5 ปี และระบุชัดเจนว่าการฝึกทหารต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชนรวมถึงเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่วนอีกฉบับหนึ่งนำเสนอโดย วิรัช พันธุมะผล ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรค กำหนดให้เปิดรับสมัครชายหรือหญิงอายุ 20 ปี ฝึก 3 ปี และเมื่อฝึกเสร็จจะได้รับสิทธิเศษต่างๆ เช่น ได้รับการพิจารณาพิเศษ เมื่อสมัครข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และได้รับทุนการศึกษาต่อ เป็นต้น 
กฎหมายเกณฑ์ทหารฉบับปัจจุบันใช้มาตั้งแต่สมัยจอมพล ป.
ปัจจุบัน “การเกณฑ์ทหาร” ทำตามกฎหมายที่เรียกว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ซึ่งมีทั้งหมด 9 หมวด 51 มาตรา ออกมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี 
พ.ร.บ. รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มีการแก้ไขเพิ่มเติม5 ครั้ง ด้วยการออกกฎหมายมาแก้ไขเพิ่มเติม ได้แก่ ครั้งแรกพ.ร.บ. รับราชการทหารฯ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2498, ครั้งที่ 2 พ.ร.บ. รับราชการทหารฯ (ฉบับที่3) พ.ศ. 2507, ครั้งที่ 3 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 226 พ.ศ. 2515, ครั้งที่ 4 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 300 พ.ศ. 2515 และครั้งล่าสุดพ.ร.บ. รับราชการทหารฯ (ฉบับที่4) พ.ศ. 2516
หลักการสำคัญของ พ.ร.บ. รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 หรือ “กฎหมายการเกณฑ์ทหาร” ปรากฎในมาตรา 7 ระบุว่า“ชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมายมีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน” ด้วย“ระบบการเกณฑ์” หรือที่มาตรา 8 ของกฎหมายเรียกว่า วิธีเรียกมาตรวจเลือก
ระบบการเกณฑ์ทหารตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ. รับราชการทหารพ.ศ. 2497 มีกลไกทำงานคือ เมื่อชายไทยทุกคนอายุ18 ปี ต้องเป็น“ทหารกองเกิน” จากนั้นเมื่ออายุย่างเข้า 21 ปี ถ้าไม่มีเงื่อนไขพิเศษใดๆ เช่น พิการหรือได้เรียนรักษาดินแดน (ร.ด.) ครบ 3 ปี ฯลฯ ต้องมารับการตรวจเลือกเป็นทหารเกณฑ์หรือ“ทหารกองประจำการ” รับราชการหรือมีระยะเวลาฝึก 2 ปี โดยถ้ามีจำนวนเกินที่ฝ่ายทหารต้องการให้จับสลากหรือให้ “จับใบดำใบแดง” นั้นเอง
ทหารกองประจำการหรือ“ทหารเกณฑ์” จะได้รับค่าตอบแทนประมาณ 10,000 บาท ต่อเดือนแบ่งเป็นเงินเดือน เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว และเบี้ยเลี้ยง ตัวอย่างเช่น พลทหารปีที่1 (พ.1 ชั้น16) ได้รับเงินเดือนตุลาคม 3,670 บาท เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว 3,354 บาท เบี้ยเลี้ยงวันละ 96 บาท (คูณ31 วันเท่ากับ 2,976 บาท) เท่ากับ 10,000 บาท ทั้งนี้แต่ละชั้นปีและแต่ละเดือนอาจได้รับค่าตอบแทนไม่เท่ากัน อีกทั้ง ค่าตอบแทนนี้ยังไม่ถูกหักค่าใช้จ่ายต่างๆ 
ชายไทยมีสิทธิผ่อนผันการเป็นทหารเกณฑ์ด้วยเงื่อนไขต่างๆ แต่ถ้า “หนีทหาร” หรือหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่มาตรวจเลือกมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ตามมาตรา 45 ของ พ.ร.บ. รับราชการทหาร พ.ศ. 2497
กฎหมายใหม่สมัครใจเป็นทหาร ฝึกห้าปี มีเงินเดือนหมื่นห้า พร้อมสวัสดิการ
ร่างกฎหมายการรับราชการทหารของพรรคอนาคตใหม่ หรือ ร่างพ.ร.บ. รับราชการทหาร(ฉบับที่..) พ.ศ. … ซึ่งเป็นร่างกฎหมายหลักของพรรคมีทั้งหมด 9 หมวด 51 มาตราเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเก่าหรือ พ.ร.บ. รับราชการทหารพ.ศ. 2497 โดยให้มีผลยกเลิกกฎหมายเก่าและบังคับใช้ทันทีเมื่อกฎหมายใหม่ประกาศใช้
สองหลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ได้แก่หนึ่ง “การรับบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจำการให้ใช้วิธีการรับสมัครแทนการเรียกมาตรวจเลือก” และสอง “ให้สิทธิเสรีภาพ ความปลอดภัย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิประโยชน์และสวัสดิการของทหารกองประจำการต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ”
 
 
 
 
ร่างกฎหมายฉบับนี้มาตรา 8 เปลี่ยนจาก “ระบบการเกณฑ์” เป็น“ระบบสมัครใจ” โดยให้ “บุคคล” หรือทั้งชายและหญิงสัญชาติไทยทุกคนเมื่ออายุ 18 ปีต้องเป็น “ทหารกองเกิน” ถ้าบุคคลใด “สมัครใจ” เป็นทหารก็ให้มารับสมัครเป็น “ทหารกองประจำการ” หรือวิธีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง กำหนดระยะเวลาการฝึก 5 ปี ถ้าได้ฝึก "วิชาทหาร" ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร ให้รับราชการทหารน้อยกว่า 2 ปี ทั้งนี้ ในภาวะสงครามการรับพลทหารให้ยกเว้นระบบสมัครใจและให้ไปใช้ระบบการเกณฑ์ทหารได้ 
มาตรา 8 วรรค 2 ระบุว่า "การรับสมัครบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจำการจะกระทำโดยไม่ได้รับการยินยอมจากบุคคลมิได้ บุคคลที่ประสงค์จะสมัครเข้ารับราชการทหารกองประจำการต้องเขียนเอกสารแสดงความจำนงเข้ารับราชการทหารกองประจำการเป็นลายลักษณ์อักษร"
สำหรับการฝึกของทหารกองประจำการหรือ “ทหารสมัครใจ” ให้ยึดหลักสิทธิมนุษยชนและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยมาตรา 9 ทวิ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “กระทรวงกลาโหมมีหน้าที่ดำเนินการให้ทหารกองประจำการที่อยู่ระหว่างเข้ารับการฝึกได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมหลักสิทธิมนุษยชน ทหารกองประจำการพึงได้รับการฝึกอย่างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” 
“ทหารสมัครใจ” จะได้รับค่าตอบแทนไม่ต่ำกว่าอัตราเงินเดือนข้าราชการปริญญาตรี หรือ 15,000 บาท และสวัสดิการอื่นๆ ซึ่งรวมถึงค่าอาหาร ทุนการศึกษาถึงระดับชั้นปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และเงินสมทบเพื่อเป็นเบี้ยประกันชีวิตด้วยและเมื่อฝึกครบระยะเวลาแล้วให้กระทรวงกลาโหมจัดคัดเลือกพลทหารเหล่านี้เข้ารับราชการด้วย
ร่างกฎหมายทหารสมัครใจฉบับเสนอโดย 'ส.ส. วิรัช’  ให้สิทธิพิเศษ 4 อย่างไม่มีโทษจำคุก
ร่างกฎหมายการรับราชการทหารของพรรคอีกฉบับหนึ่ง หรือ ร่างพ.ร.บ. รับราชการทหาร พ.ศ. … นำเสนอโดย วิรัชพันธุมะผล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มีทั้งหมด 6 หมวด 31 มาตราเป็นการร่างกฎหมายขึ้นใหม่ทั้งฉบับโดยให้มีผลยกเลิกฎหมายเก่าหรือยกเลิก พ.ร.บ. รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 และมีเวลาเตรียมตัว 1 ปีหรือให้บังคับใช้เมื่อพ้น 1 ปีนับแต่กฎหมายใหม่ประกาศใช้แล้ว ซึ่งร่างนี้จะเสนอต่อสภาประกบคู่ไปกับร่างหลักของพรรค
ร่างกฎหมายฉบับนี้เปลี่ยนจาก “ระบบการเกณฑ์” เป็น “ระบบสมัครใจ” โดยมาตรา 11 ให้กระทรวงกลาโหมจัดการ “เปิดรับสมัคร” ชายหรือหญิงสัญชาติไทยที่มีอายุ 20 ปีมาเป็น “ทหารกองประจำการ” รับราชการหรือมีระยะเวลาฝึก 3 ปี และถ้ามีผู้สมัครเกินจำนวนให้จัดให้มีการคัดเลือก
สำหรับเงินเดือนและสวัสดิการทหารกองประจำการ หรือ “ทหารสมัครใจ” ตาม 16 ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับเงินค่าตอบแทนค่าเบี้ยเลี้ยงค่าที่พักและค่าสวัดิการไม่ต่ำกว่าหรือเทียบเท่าข้าราชการวุฒิมัธยมศึกษาหรือผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยม หรือ 9,400 บาท
อีกทั้ง ยังมี “สิทธิพิเศษ” ที่พลทหารจะได้รับเมื่อรับราชการครบวาระมีอย่างน้อย 4 สิทธิ ตามมาตรา 17 ได้แก่ 1) ถือว่าสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา หรือ “ได้วุฒิจบ ม. 6” 2) ได้รับการพิจารณาพิเศษ เมื่อสมัครเข้ารับราชการทหารตำรวจ ราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ 3) ได้รับการพิจารณาพิเศษ เมื่อ สมัครเข้าศึกษาต่อสถาบันทหารตำรวจและสถาบันการศึกษาของรัฐ 4) ศึกษาในสถาบันการศึกษาของรัฐฟรี อีกทั้ง มาตรา 18 ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังระบุห้ามใช้พลทหารทำงานบริการ หรืองานที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย 
 
 
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการสร้าง “หลักสูตรวิชาทหาร” ขึ้นมาในระดับมัธยมปลายและในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นต้น (ปวช.) โดยมาตรา 6 ของร่างฉบับนี้ ให้กระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงกลาโหมจัดหลักสูตรวิชาทหารเป็น “วิชาบังคับ” ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับปวช. นอกจากนี้ สำหรับประชาชนที่สนใจ แต่ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ ต้องได้เรียนหลักสูตรนี้ “ฟรี” โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายอย่างทั่วถึง
ส่วนบทลงโทษจากการ “หนีทหาร” ไม่มีโทษจำคุกมีเพียงแต่โทษปรับ กล่าวคือ ถ้าไม่ยอมเป็น “ทหารกองหนุน” ซึ่งตามร่างฉบับนี้ชายหรือหญิงสัญชาติไทยเมื่ออายุ 20 ปีต้องเป็นทหารกองหนุน (เดิมที ทหารกองหนุน ได้แก่ ชายไทยที่เกณฑ์ทหารแล้วหรือเรียนรักษาดินแดน (ร.ด.) ครบ3 ปี เป็นต้น) หรือไม่ยอมไปลงทะเบียนทหารกองหนุนปรับ 10,000 บาท และถ้าไม่รับราชการทหารกองหนุนปรับ 50,000 บาท ตามมาตรา 26-27 ของร่างฉบับนี้
อีกทั้ง ร่างกฎหมายนี้ยังนิรโทษกรรมคนที่หนีทหารตามกฎหมายเก่าด้วย โดยมาตรา 30 ระบุว่า ผู้ที่กระทำผิดตาม พ.ร.บรับราชการทหาร พ.ศ. 2479 ให้ถือว่าไม่เคยกระทำผิดและถ้าอยู่ระหว่างสอบสวนหรือจำคุกให้ปล่อยตัวผู้นั้น