กฎอัยการศึก-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อำนาจพิเศษควบคุมตัวคนได้ 7 วัน

ในช่วงที่ไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากเหตุการณ์การการควบคุมตัวสองผู้ต้องสงสัยวางระเบิดปลอมบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เกิดคำถามในสังคมต่อว่า ผู้ต้องสงสัยทั้งสองคน ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด และถูกควบคุมตัวภายใต้การอำนาจอะไรตามกฎหมาย หลังจากมีข่าวการจับกุมและควบคุมตัวไว้ที่สำนักงานตำรวจนครบาล ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา และหายเงียบไป ก่อนจะเป็นข่าวอีกครั้งว่าถูกควบคุมตัวที่จังหวัดยะลา
โดยปกติแล้ว การจับกุม และควบคุมตัวบุคคลจะอยู่ภายใต้ #ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิอาญาฯ โดยระบุว่า การจะจับกุมใครก็ตามต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาลสำหรับการนั้น เว้นแต่เป็น "การกระทำความผิดซึ่งหน้า" หรือมีพฤติกการณ์จะก่อเหตุร้าย หรือมีเหตุจะออกหมายจับบุคคลนั้นแต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับได้
ทั้งนี้ ตามมาตรา 87 ป.วิอาญาฯ กำหนดว่า หลังการจับกุม เจ้าหน้าที่ต้องพาไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนั้นหรือผู้มีอำนาจในท้องที่นั้นพร้อมด้วยเจ้าพนักงานผู้จับ ซึ่งพนักงานสอบสวนจะควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่ไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน หากต้องการควบคุมตัวต่อต้องนำตัวบุคคลดังกล่าวไปขออนุญาตศาลเพื่อฝากขังต่อไป
นอกจากนี้ ผู้ถูกจับยังมีสิทธิ ดังนี้
  • แจ้งให้ผู้ถูกจับกุมทราบถึงการกระทำที่เป็นความผิด และข้อหาที่กระทำความผิด
  • พบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
  • ให้ทนายความหรือผู้ที่ตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำในชั้นสอบสวน
  • ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร
  • ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย

 

แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด ไม่ได้มีแค่ ป.วิอาญาฯ แต่ยังมีกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงอีก เช่น พ.ร.บ.กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)
โดยอำนาจของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก มีรายละเอียดดังนี้
  • จับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล และแม้ไม่ใช่การกระทำผิดซึ่งหน้า แต่ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งเหตุแห่งการจับหรือแจ้งข้อกล่าวหา และไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งผู้ปกครอง ญาติ หรือบุคคลที่ผู้ถูกจับไว้วางใจให้ทราบถึงการจับกุมหรือการปล่อยตัว
  • ในระหว่างการสอบปากคำ หรือสอบถามข้อมูลระหว่างควบคุมตัวนั้น ก็ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีผู้ปกครอง ญาติ ผู้ไว้วางใจ หรือทนายความ เข้าร่วมการพูดคุย  
  • กักตัวบุคคล(การควบคุมตัว) ทำได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล และสามารถควบคุมตัวบุคคลไว้ที่ใดก็ได้ และกักตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา และไม่ต้องแจ้งเหตุแห่งการต้องกักตัวแต่อย่างใด
ทั้งนี้ การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งผู้ปกครอง ญาติ หรือบุคคลที่ผู้ถูกกักตัวไว้วางใจถึงสถานที่ที่ใช้ควบคุมบุคคลที่ถูกกักตัวนั้นไว้ และไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาตให้ญาติเยี่ยม รวมถึงไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการทำบันทึกการควบคุมตัว
ส่วนอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีรายละเอียดดังนี้
  • จับกุมได้โดยต้องมีหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ศาลออกให้
  • ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่สามารถพบผู้พิพากษาได้ สามารถร้องขอให้ศาลหมายจับได้โดยทางโทรศัพท์ โทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสารสนเทศประเภทอื่น เพื่อให้ศาลออกหมายจับและส่งทางโทรสารได้
  • การควบคุมตัวบุคคลจะควบคุมไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน แต่สามารถขอขยายระยะเวลาได้ทุก 7 วัน โดยต้องขออนุญาตจากศาล แต่รวมระยะเวลาการควบคุมตัวแล้วต้องไม่เกิน 30 วัน 
  • สถานที่ควบคุมตัวต้องไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทันฑสถาน หรือเรือนจำ
ทั้งนี้ ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแสดงหมายจับ การแจ้งเหตุแห่งการจับ หรือแจ้งสิทธิ และไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งผู้ปกครอง ญาติ หรือบุคคลที่ผู้ถูกจับไว้วางใจให้ทราบถึงการจับกุมหรือการปล่อยตัว และการขอขยายระยะเวลาควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องนำผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลด้วย อีกทั้ง ยังไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาตให้ญาติเยี่ยม