การเมืองบนความขัดแย้ง กรรมการสิทธิมนุษยชนบนทางตัน

 

กรรมการสิทธิฯ มีมาแล้วสามชุด แต่ละชุดล้วนทำงานภายใต้แรงกดดันจากความขัดแย้งทางการเมือง และผลงานที่จะตรวจสอบการละเมิดสิทธิโดยรัฐก็อ่อนเบาจนสูญเสียความเชื่อถือจากสังคม ชุดที่สามตั้งขึ้นในยุคของ คสช. ทำงานได้ไม่นานก็ถูก "เซ็ตซีโร่" ให้พ้นจากตำแหน่ง แต่ชุดที่สี่ก็ยังตั้งไม่ได้ นอกจากต้องรับบทบาทใหม่ในการ "แก้ตัว" ให้รัฐบาลไทยแล้ว ยังต้องเจอปัญหาภายในเมื่อกรรมการทยอยลาออกจนเหลือไม่ครบ ทำงานไม่ได้ กลายเป็นเสือกระดาษอย่างแท้จริง
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบให้เป็น "องค์กรอิสระ" ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล การใช้อำนาจรัฐ และการออกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิของประชาชน กสม. เริ่มตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 มีกรรมการมาแล้ว 3 ชุด และต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการทำงานมาตลอด เมื่อหน้าที่หลัก คือ การตรวจสอบรัฐ ถึงขั้นเคยมีความพยายามยุบรวมองค์กรนี้ในยุคคสช. ขณะที่สถานการณ์การเมืองตลอดเกือบยี่สิบปีนี้ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และมีความพยายามจากรัฐบาลทุกชุดที่จะเข้าแทรกแซงองค์กรตรวจสอบไม่ให้เป็นอิสระได้จริง
การละเมิดสิทธิจากการเมืองที่ผันผวน กสม.ไม่มีบทบาท เสียความน่าเชื่อถือ
กสม. ชุดแรก ทำงานตั้งแต่ปี 2544-2552 มีกรรมการ 11 คน มีศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก เป็นประธาน และมีกรรมการทีมีชื่อเสียงใกล้ชิดกับภาคประชาสังคม เช่น สุนี ไชยรส, จรัญ ดิษฐาอภิชัย, วสันต์ พานิช เป็นต้น ระหว่างการดำรงตำแหน่งก็เป็นช่วงของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และการรัฐประหาร 2549 เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และการ "ฆ่าตัดตอน" ในสงครามยาเสพติด การชุมนุมขับไล่รัฐบาลของทักษิณและรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่ง กสม. ชุดนี้ก็มีบทบาทเพียงการเข้า "ตรวจสอบ" เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่แทบไม่ได้มีผลงานที่หยุดยั้งนโยบายของรัฐบาลได้
กสม. ชุดที่สอง ทำงานตั้งแต่ ปี 2552-2558 มีกรรมการ 7 คน มีศ.อมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธาน กรรมการที่มีบทบาทกับภาคประชาสังคม คือ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง ระหว่างการดำรงตำแหน่งมีเหตุการณ์ทั้งการล้อมปราบการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553, การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ในปี 2556 และการรัฐประหารในปี 2557 เข้าสู่ยุคการละเมิดสิทธิพลเมืองภายใต้ คสช. ท่ามกลางการละเมิดสิทธิจากความผันผวนทางการเมือง กสม. ชุดนี้แทบจะไม่มีบทบาทในการหยุดยั้งการละเมิดสิทธิจากรัฐได้เลยจึงถูกวิจารณ์จากสังคมอย่างมาก และความน่าเชื่อถือขององค์กรนี้ก็ค่อยๆ เสื่อมถอยลงไปพร้อมกับสถานการณ์สิทธิในสังคมไทย
หลังชุดที่สองทำงานจนครบวาระลงภายใต้ คสช. คณะกรรมการสรรหาชุดใหม่ก็เริ่มทำงาน เมื่อองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาเห็นชอบ คือ วุฒิสภายังไม่มีอยู่ จึงให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทำหน้าที่พิจารณา รายชื่อกรรมการใหม่ถูกเสนอขึ้นมาครั้งแรก 7 คน ได้แก่ ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง ผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัวสมุทรปราการ, บวร ยสินทร ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิก สนช. ของ พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท, ประกายรัตน์  ต้นธีรวงศ์ ผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง, วัส ติงสมิตร ผู้พิพากษาอาวุโส ในศาลฎีกา, รองศาสตราจารย์ นพ.ศุภชัย ถนอมทรัพย์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ อังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ 
ระหว่างกระบวนการนั้นเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมออกแถลงการณ์คัดค้านรายชื่อทั้งเจ็ด ระบุว่า ผู้เป็นกรรมการสรรหาไม่ได้เป็นบุคคลในภาคประชาสังคมที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ขณะที่กระบวนการให้การสรรหาก็ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และไม่สามารถอธิบายหรือตอบคำถามของสาธารณชนได้ว่า บุคคลที่เลือกมามีคุณสมบัติเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการ 
อย่างไรก็ตาม วันที่ 20 สิงหาคม 2558 สนช. ลงมติเห็นชอบว่าที่ กสม.จำนวน 5 คน ไม่เห็นชอบ บวร ยสินทร เนื่องจากถูกร้องเรียนเรื่องมีคดีความทางการเงินหลายครั้ง และศุภชัย ถนอมทรัพย์ มีปัญหาถูกร้องเรียนทางจริยธรรม จึงมีกระบวนการคัดเลือกใหม่ จนกระทั่งวันที่ 16 ตุลาคม 2558 สนช. ได้เห็นชอบ เตือนใจ ดีเทศน์ อดีต ส.ว.จังหวัดเชียงราย ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา และชาติชาย สุทธิกลม อดีตเลขาธิการ กสม. กรรมการ กสม. ชุดที่สาม จึงเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 เรื่อยมา
ตั้งแต่เริ่มทำงาน กสม. ชุดนี้ก็อยู่ภายใต้ความกดดัน เพราะรัฐบาล คสช. ดำเนินนโยบายปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น จับกุมดำเนินคดีผู้เห็นต่าง เอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร ทั้งระหว่างการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 และการเลือกตั้งปี 2562 แต่บทบาทของ กสม. ต่อการใช้อำนาจของ คสช. ก็น้อยมาก มีเพียงอังคณา นีละไพจิตร ที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์อยู่ต่อเนื่อง แต่ในนามของ กสม. เองไม่ได้ออกรายงานการละเมิดสิทธิหรือข้อเสนอแนะเพื่อให้ คสช. แก้ไขปรับปรุง
ต้นปี 2559 คณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions: ICC) "ลดเกรด" กสม. ไทยจากสถานะ A เป็น B อย่างเป็นทางการ สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเรื่องโครงสร้างในกฎหมาย เช่น กระบวนการสรรหากรรมการขาดการมีส่วนร่วม ไม่มีกลไกป้องกันการแทรกแซงความเป็นอิสระ กสม. ไม่ได้ตอบสนองต่อการละเมิดสิทธิอย่างทันท่วงที ทั้งในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 การชุมนุมของ กปปส. ปี 2556 รวมถึงสถานการณ์ที่มีการรัฐประหาร 
การเมืองครอบงำ อยู่ไม่นานก็ถูก "เซ็ตซีโร่" แต่ก็หาคนใหม่มาแทนไม่ได้
กสม. ชุดที่สาม เริ่มทำงานได้ยังไม่ถึงสองปีเต็ม เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ก็มอบอำนาจให้กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ และนำมาสู่การประกาศใช้พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับใหม่เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 และกฎหมายใหม่ก็สั่งไว้ในบทเฉพาะการให้ "เซ็ตซีโร่" คือ ให้กรรมการชุดที่สามทั้งเจ็ดคนพ้นจากตำแหน่ง และเริ่มกระบวนการหาคนใหม่ 
ช่วงเวลาก่อนที่กฎหมายใหม่จะผ่านการพิจารณานั้น วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. ชุดที่สามเคยออกโรงตอบโต้กับผู้ร่างกฎหมายอย่างเต็มที่ เรียกได้ว่า มีบทบาทในทางสาธารณะมากที่สุดตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และโดดเด่นกว่าการคัดค้านการละเมิดสิทธิของประชาชนครั้งไหนๆ โดยวัสโต้แย้งว่า การ "เซ็ตซีโร่" นั้น ไม่มีเหตุผลเพียงพอ และไม่เป็นธรรมแก่ประธานและกรรมการ กสม. 
"ผมขอวิงวอนให้องค์กรที่เกี่ยวข้องพิจารณาด้วยความเมตตามากๆ ก่อนที่จะคิดว่า จะรีเซ็ตหรือให้ทำหน้าที่ต่อ ถ้าให้พ้นจากหน้าที่ไปโดยที่กรรมการในองค์กรอิสระขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามซึ่งจะเป็นเรื่องเฉพาะรายที่เป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะคนที่เข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระยอมทิ้งงานอื่นมารับใช้ประเทศ ถ้าทำงานไม่ดี ก็มีทางถอดถอนได้อยู่แล้ว” วัส กล่าว
นอกจากนี้ วัส พร้อมด้วยกรรมการอีกสองคน คือ ฉัตรสุดา และประกายรัตน์ ร่วมกันยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การสรรหา กสม. ชุดใหม่มาแทนที่พวกเขานั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้อง เพราะเห็นว่าการ "เซ็ตซีโร่" ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ และทั้งสามคนไม่มีสิทธิในการยื่นคำร้องให้วินิจฉัย 
ภายใต้กระบวนการสรรหาตามกฎหมายใหม่ ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาที่มีชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน เปิดเผยรายชื่อว่าที่ฯ กสม. ชุดที่สี่ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ปรากฏว่า ในรายชื่อ 7 คน สามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ ข้าราชการเก่าสองคน ได้แก่ ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และพรประไพ กาญจนรินทร์ อดีตเอกอัครราชทูต และเอ็นจีโอห้าคน ได้แก่ ไพโรจน์ พลเพชร, สมศรี หาญอนันทสุข, สุรพงษ์ กองจันทึก, บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ และจตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ทั้งห้าคนมีความรู้และมีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งใจองค์กรของภาครัฐและเอกชน แต่ขณะเดียวกันรายชื่อทั้งห้าคนก็ถูกวิจารณ์ว่า เป็น "พวกเดียวกัน" เพราะเป็นกลุ่มเอ็นจีโอที่ทำงานใกล้ชิดกันมาต่อเนื่องยาวนาน
อย่างไรก็ดี 21 ธันวาคม 2561 สนช. ก็ประชุมลับและลงคะแนนเป็นการลับ มีมติอนุมัติรายชื่อผู้จะเป็นกรรมการ กสม. ชุดที่สี่เพียงสองคนที่มาจากสายราชการ คือ ปิติกาญจน์และพรประไพ เท่านั้น ส่วนเอ็นจีโอทั้งห้าคน สนช. ลงมติไม่ให้ผ่านทั้งหมด กรรมการชุดใหม่จึงยังไม่สามารถเริ่มเข้ารับหน้าที่ได้และต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่อีกห้าตำแหน่ง ส่วนกรรมการ กสม. ชุดที่สาม ก็ยังรักษาการในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีชุดใหม่มาเข้ารับหน้าที่ 
หน้าที่ใหม่ กสม. ปกป้องรัฐบาลจากต่างชาติ
พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับปี 2560 ที่ออกมาในยุค คสช. ได้มอบหมายบทบาทใหม่ให้กับ กสม. ในมาตรา 26(4) ซึ่งกำหนดว่า
            "มาตรา 26 คณะกรรมการมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
           (4) ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม"
อำนาจใหม่ถูกวิจารณ์ว่า เป็นการมอบหน้าที่ให้กับ กสม. ทำหน้าที่ "แก้ตัว" แทนรัฐบาลไทย ในกรณีที่มีรายงานจากองค์กรระหว่างประเทศกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หรือการดำเนินการตามกลไกระหว่างประเทศกรณีที่รัฐบาลไทยถูกกล่าวหาว่า ไม่แก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน
และหลังจากมาตรานี้ใช้บังคับไม่นาน ในปี 2561 ก็มีกรณีที่ องค์กรฮิวแมน ไรทส์ วอทช์ (Human Rights Watch : HRW) เผยแพร่รายงานสรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2561 และกล่าวถึงเหตุการณ์ละเมิดสิทธิในประเทศไทยอยู่หลายเหตุการณ์ ทาง กสม. ไทยก็ออกคำชี้แจง เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 ว่า รายงานดังกล่าวมีการระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่อาจไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม เช่น กรณีกล่าวอ้างว่า สนช. ของไทยระงับการพิจารณากฎหมายต่อต้านการทรมาน ซึ่งความจริงกฎหมายยังอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์และประเมินผลกระทบ หรือกรณีที่กล่าวอ้างว่าไทยไม่ได้ดำเนินคดีกับทหารที่สั่งหารประชาชนในการชุมนุม ปี 2553 ซึ่งความจริงมีการดำเนินคดีโดย ป.ป.ช. และดีเอสไอ และมีการฟ้องคดีอาญาต่อผุ้ชุมนุม กปปส. แล้วด้วย เป็นต้น 
ต่อมาในปี 2562 ฮิวแมน ไรทส์ วอทช์ ก็เผยแพร่รายงานประจำปีอีกครั้ง และทาง กสม. ของไทยก็ออกคำชี้แจงอีกครั้ง เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 โดยเห็นว่า รายงานดังกล่าว มีการระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่อาจไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม เช่น กรณีกล่าวอ้างว่า รัฐบาลไทยชะลอการยกเลิกมาตรการจํากัดเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งดำเนินคดีกับผู้ที่เรียกร้องการเลือกตั้ง ซึ่งความจริงคสช. ได้ยกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุมเกินห้าคนแล้ว เป็นต้น
ด้านกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เคยออกรายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ (Country Reports on Human Rights Practices for 2017) เมื่อปี 2561 และทาง กสม. ของไทยก็ออกคำชี้แจงว่า รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยบางส่วนที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม เช่น กรณีกล่าวอ้างว่า เรือนจำในค่าย มทบ.11 ไม่มีการตรวจสอบเชิงระบบ ซึ่งความจริงแล้วทางกองทัพบกและกรมราชทัณฑ์ได้ชี้แจงแล้วว่า ญาติของผู้ต้องขังสามารถเข้าเยี่ยมได้ตามปกติ ผู้ต้องขังมีสิทธิตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ เป็นต้น 
กสม. ชุดที่สาม ทยอยลาออกปัญหาภายในเรื้อรัง 
หลังทำงานได้ประมาณหนึ่งปีกว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย หนึ่งในกรรมการชุดที่สาม ก็ลาออกจากตำแหน่ง โดยระบุเหตุผลของการลาออกว่า บรรยากาศไม่เอื้อให้เกิดการทำงานที่สร้างสรรค์อาจทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมีปัญหาด้านสุขภาพ และเมื่อ 1 มิถุนายน 2562 ชาติชาย สุทธิกลม ก็ลาออกไปรับตำแหน่งใหม่เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
ในระหว่างการทำงานร่วมกันของคณะกรรมการชุดนี้ จะเห็นปัญหาภายในได้จากความเคลื่อนไหวตั้งแต่ครั้ง วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. ออกโรงคัดค้านการออกกฎหมายใหม่เพื่อ "เซ็ตซีโร่" โดยวัส เคลื่อนไหวร่วมกับกรรมการอีกสองคน คือ ฉัตรสุดา และประกายรัตน์ ซึ่งทั้งสามคนเป็นอดีตผู้พิพากษาเหมือนกัน ส่วนกรรมการคนอื่นไม่ได้ร่วมด้วย 
17 เมษายน 2562 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ไปรับทราบข้อกล่าวหาดูหมิ่นศาลและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อังคณาเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การสอบสวนในชั้นตำรวจด้วย ต่อมามีสมาชิก สนช. นำไปอภิรายและมีผู้ร้องเรียนให้อังคณาพ้นจากตำแหน่งโดยหาว่า ไม่เป็นกลางทางการเมือง กสม. จึงสอบสวนเรื่องนี้และลงความเห็นว่า กสม. ไม่มีอำนาจสั่งให้ใครพ้นจากตำแหน่ง อำนาจนี้เป็นของ ป.ป.ช. แต่ กสม. ลงมติกันด้วยเสียงข้างมากว่า จะไม่ส่งเรื่องนี้ให้ ป.ป.ช. พิจารณา ซึ่งหมายความว่า มีกรรมการบางคนยังเห็นควรส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ถอดถอนอังคณาออกจากตำแหน่ง 
31 กรกฎาคม 2562 อังคณา และเตือนใจ กรรมการอีกสองคนตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง โดยอังคณาโพสต์เฟซบุ๊กว่า "โดยเหตุผลส่วนตัวเห็นว่าบรรยากาศการทำงานไม่เอื้อให้เกิดการทำงานอย่างสร้างสรรค์ อาจทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ และเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
อังคณา ยังให้สัมภาษณ์กับเวิร์กพ็อยต์ ด้วยว่า "ความรู้สึกอึดอัดในการทำงานเกิดขึ้นมานานแล้วแต่ช่วงหลังมากขึ้น ถูกร้องเรียนเยอะ แล้วเวลามีการร้องเรียนเรา กรรมการบางคนก็เห็นว่า น่าจะส่งเรื่องเราให้ ป.ป.ช. อย่างเดียว ทั้งที่เราไม่ได้ทำอะไรผิด เราก็รู้สึกเบื่อเหมือนกัน กรรมการบางคนว่าเราเป็น “สายล่อฟ้าประจำกสม.” อีกทั้งเวลามีคนติดต่อมา ร้องเรียน หรือสื่อมาขอข้อมูลเราไม่เคยปฏิเสธ ยินดีจะให้เท่าที่ให้ได้ เพราะบางเรื่องเป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งคุณเตือนใจก็มีเหตุผลในการลาออกคล้ายๆ กันนี้ ส่วนที่มีข่าวระบุถึงความอึดอัดนั้นเกี่ยวข้องกับ นายวัส ติงสมิตร ประธานกสม. อังคณา ยืนยันว่า ไม่ได้พูดเลย"
อังคณา อธิบายให้ไอลอว์ฟังว่า ก่อนหน้านี้การทำงานของ กสม. จะตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ขึ้นมาศึกษารายละเอียดและจัดทำรายงาน โดยมีตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคมที่มีประสบการณ์เข้ามาร่วมทำงานด้วย ซึ่งเป็นช่องทางให้ทำงานกันแบบมีส่วนร่วม แต่เมื่อต้องร่างกฎหมายใหม่ปี 2560 คนร่างเห็นว่า กลไกนี้เป็นช่องทางที่เอ็นจีโอจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการทำงานของ กสม. มากเกินไป จึงเปลี่ยนใหม่ให้ตั้งอนุกรรมการได้ใน “กรณีจำเป็น” และ “ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” เท่านั้น ทำให้ กสม. ชุดปัจจุบันก็ไม่กล้าตั้งคนนอกเข้ามาช่วยงาน เพราะกลัวผิดกฎหมาย
           “มาตรา 29 ในกรณีที่จําเป็นต้องได้ข้อมูลหรือมีการศึกษาเรื่องใด คณะกรรมการจะขอให้ สํานักงานจ้างบุคคลหรือสถาบันซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญดําเนินการในเรื่องนั้นได้ตามที่จําเป็น หรือ ในกรณีท่ีไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จะแต่งต้ังคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแทนก็ได้ โดยต้อง คํานึงถึงความคุ้มค่าและประสิทธิภาพที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ก่อนการจ้างหรือแต่งตั้ง คณะกรรมการ ต้องกําหนดเป้าหมาย ผลสัมฤทธ์ิ และระยะเวลาของการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวไว้ให้ชัดเจน
           หลักเกณฑ์และวิธีการจ้าง และค่าตอบแทนของบุคคลหรือสถาบัน หรือการแต่งตั้งอนุกรรมการ การพ้นจากตําแหน่ง ค่าตอบแทน และประโยชน์ตอบแทนอื่น และวิธีปฏิบัติงานของอนุกรรมการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด”
จากกระแสข่าวที่ว่า อังคณาไม่พอใจที่วัสรวบอำนาจและห้ามกรรมการแต่ละคนรับเรื่องร้องเรียนเองนั้น อังคณาอธิบายว่า ไม่เป็นความจริง สิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักงานพยายามทำงานโดยข้ามหัวกรรมการ ในระเบียบที่ออกมาเมื่อปี 2561 ก็เน้นการทำงานโดยเจ้าหน้าที่มากกว่ากรรมการ และมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุด ประกอบด้วย วัส, เลขาธิการ กสม. และเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่ง เพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนว่า อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กสม. หรือไม่ ผลที่เกิดชึ้น คือ ไม่ว่ากรรมการคนใดรับเรื่องร้องเรียนมาก็จะต้องส่งให้คณะทำงานชุดนี้พิจารณาก่อน และมีหลายเรื่องที่คณะทำงานชุดนี้สั่ง "ไม่รับ" เพราะเห็นว่า ควรส่งให้หน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกร้องเรียนเป็นผู้พิจารณาก่อน ทำให้ กสม. ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบที่ควรจะต้องทำ
กสม. ชุดที่สามถึงทางตัน เหลือไม่ครบองค์ประชุม ทำงานไม่ได้
หลังจากอังคณากับเตือนใจลาออกพร้อมกัน ทำให้กรรมการของ กสม. ชุดที่สาม เหลือเพียงสามคนจากเจ็ดคน คือ วัส, ฉัตรสุดา และประกายรัตน์ ซึ่งน้อยกว่าครึ่งนึง ทำให้ กสม. ประชุมกันเพื่อลงมติในเรื่องใดๆ ไม่ได้ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาตรา 23 
            "มาตรา 23 ภายใต้บังคับมาตรา 20 วรรคห้า การประชุมของคณะกรรมการต้องมี กรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม ในกรณีที่กรรมการคนใดไม่อาจมาประชุมได้ ให้จดแจ้งเหตุนั้นไว้ในรายงานการประชุม"
ขณะที่ทั้งสองคนลาออกนั้นการสรรหากรรมการชุดใหม่ยังไม่สำเร็จลุล่วง ยังอยู่เพียงขั้นตอนการเตรียมสัมภาษณ์ผู้สมัครชุดใหม่และเปิดให้ประชาชนส่งข้อมูลเข้ามาคัดค้าน และเมื่อกรรมการชุดเดิมก็เหลือจำนวนไม่ครบ กสม. ชุดที่สาม จึงเดินมาถึง "ทางตัน" จะอยู่รักษาการทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนต่อไปก็ไม่ได้เพราะกฎหมายไม่เปิดช่องให้ และยังไม่มีความสง่างามเนื่องจากกรรมการที่เหลืออยู่ก็อยู่ในสถานะที่ "พ้นจากตำแหน่ง" ไปแล้ว เพียงรักษาการรอชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่เท่านั้น
หลังทราบข่าวการลาออกของกรรมการสองคน วัสและประกายรัตน์ รีบจัดแถลงข่าวร่วมกันทันที โดยอธิบายสถานะข้างหน้าว่า ได้ยกเลิกการประชุมที่นัดไว้ในวันนั้นแล้วเนื่องจากกรรมการเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง โดยวัสยอมรับว่า การทำงานภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นยากลำบากเพราะผู้ร่างกฎหมายได้ให้อำนาจ กสม. มากเกินกว่าที่พึงกระทำ เป็นเรื่องธรรมดาของการทำงานขององค์กรกลุ่มที่ย่อมมีความเห็นที่ไม่ตรงกันแต่ทุกคนต้องเคารพเหตุผลซึ่งกันและกัน ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญต้องเคารพมติเสียงข้างมากเมื่อมีการลงมติตามกฎหมาย  
โดยวัส ชี้แจงถึงอนาคตว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาตรา 60 วรรคสาม กำหนดว่า กรณีมีผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้นำความในมาตรา 22 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยมาตรา 22 กำหนดให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลมาทำหน้าที่เป็นการชั่วคราวให้ครบ 7 คน และภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 จะลงนามในหนังสือถึงประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้ดำเนินการตามมาตรา 22 ต่อไป