รวมบทสัมภาษณ์ ชาวบ้าน “คดีไทรทอง”

จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์การอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ของศาลจังหวัดชัยภูมิ ในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2562 ชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีบางส่วนได้ให้สัมภาษณ์ถึงชีวิตทั่วไป, ความคิด, ความเชื่อของพวกเขา ในการอยู่ในที่ดิน และการต่อสู้คดี และนี่คือบทสัมภาษณ์ทั้งหมดที่ได้รวบรวมไว้

 

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ "คดีไทรทอง"

 

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2558 อุทยานแห่งชาติไทรทอง ได้ทำการดำเนินคดีกับชาวบ้าน 14 คน ในพื้นที่อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ในข้อหาบุกรุกป่า โดยกล่าวหาว่าชาวบ้านทั้ง 14 คน ทำการเกษตรในที่ดินที่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ถือว่าเป็นการบุกรุกพื้นที่อุทยาน

 

ฝั่งของชาวบ้านทั้ง 14 คน ให้การปฏิเสธ และมีข้อต่อสู้ว่าไม่ได้ทำการบุกรุกที่อุทยาน แต่ได้ทำกินในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ก่อนที่อุทยานแห่งชาติไทรทองจะตั้งขึ้น แต่บกพร่องในเรื่องของเอกสารสิทธิ์ ไม่มีเอกสารแสดงสิทธิ์ในที่ดินทำกิน

 

โดยศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ต่างตัดสินให้ชาวบ้านทั้ง 14 คน มีความผิดตามฟ้อง มี 13 คนถูกศาลลงโทษจำคุก และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางจังหวัดชัยภูมิ และมีเพียงคนเดียวที่ศาลให้รอลงอาญา และทุกคนต้องให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช ต่างกันตามพื้นที่ที่บุกรุกตามที่ถูกฟ้อง   

 

รวมบทสัมภาษณ์ของชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดี

 

สีนวล พาสังข์

 

"สีนวล พาสังข์"

“เกิดในพื้นที่อื่นแต่อยู่ลำบาก ยายเลยตามผัวมาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่บ้านซับหวาย ตั้งแต่ปี 2528 ตั้งแต่ยุคเปิดสัมปทานป่าไม้ จนได้ลูกสาวสองคน ลูกชายสองคน อยู่จนลูกโต คนหนึ่งก็เข้ากรุงเทพไปทำงานรับจ้าง ส่วนอีกสามคนยังอยู่ด้วยกัน ทำกินบนที่ดินอยู่ด้วยกัน“
 
“ที่ดินตรงนี้ ปู่ย่าตายายก็แบ่งให้ ก่อนหน้านี้ก็เป็นป่าเห็ด ป่าหญ้า ไม่ได้มีต้นไม้ใหญ่ พี่น้องเครือญาติของผัวเป็นผู้ใช้ประโยชน์อยู่ ก็เลยเข้าไปอยู่กับเขาด้วย ตอนแรกๆ มีน้ำเยอะก็ปลูกปอ ตอนหลังมาปลูกข้าวโพดก็ตายเพราะแล้ง ก็เลยปลูกมันสำปะหลังอย่างเดียว เคยได้กิโลละบาท แล้วต่อมามีราคาสูงขึ้น ยายก็เก็บออมเอาไว้เลี้ยงลูกเลี้ยงเต้า ทำเอง ไม่ได้จ้างใคร ให้ลูกเรียนก็เรียนถึงมัธยม ไม่ได้เรียนในเมือง”
 
“เมื่อก่อนป่าไม้เคยมาสำรวจแล้วก็บอกว่า “เฮ็ดไปโลด” ตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2541 เขาสำรวจแล้วก็บอกว่า ให้เฮ็ดกินไปโลด ประมาณช่วงปี 2557-2558 ถูกขอคืนพื้นที่ พวกป่าไม้คนที่รู้จักกันก็มาบอกว่า ให้คืนเถอะจะเอาแค่ 2-3 ไร่ ไม่ได้จะเอาที่ทั้งหมด แล้วก็รังวัดที่ดินส่วนที่เหลือให้ทำกินต่อ ยายก็ดีใจ คิดว่า ยังมีที่อีกเยอะก็เลยเซ็นคืนให้สามไร่ ไม่ได้จะคืนหมด ถ้าคืนหมดก็ไม่เหลือที่จะทำกิน จะให้ไปทำขนมขายหรือทำอย่างอื่นก็ไม่เป็น” 
 
“แล้วเขาก็มาให้เซ็นอีก ยายก็เดินหนี ไม่รู้จะให้เซ็นอะไรอีก เขามากันสองสามคันรถ กันเยอะไปหมด ทั้งทหาร ทั้งป่าไม้ ทั้งคนใส่ชุดสีดำๆ เป็นกองกำลัง เขาบอกว่า “เซ็นโลดยายๆ” ต่อมาก็ให้ผู้ใหญ่บ้านประกาศกลายเป็นจะเอาคืน 27 ไร่ อ้าว! ทำไมเอาเยอะ ลูกก็มีหลายคนจะมีพอทำกินได้เหรอ? บอกเขาไปว่า ยายจะต้องทำกินเหมือนเดิม แต่ที่สามไร่ที่ยกให้ไม่ทำแล้ว ส่วนที่เหลือ 24 ไร่ ปลูกมันไปแล้วก็ต้องทำต่อ”
 
“พอไปไถจะปลูกใหม่ เขาก็ไปจับยาย หาว่า “แผ้วถาง ก่นสร้าง” ยายก็ว่า จะมาหาว่า บุกรุกแผ้วถางได้ยังไง? ก็ทำมาตั้งหลายปีแล้ว เซ็นคืนที่ให้แล้วสามไร่ ก็ไม่ได้ทำแล้ว” 
 
“ยายไม่เคยรู้มาก่อน เขาว่าผิดกฎหมาย ยายก็ไม่รู้ว่า มันจะหนักหนา ยายก็ไม่รู้หนังสือเท่าไร เวลาไปศาล เขาก็บอกแต่ว่า ให้รับซะยาย ที่แค่นี้เอง ยายเห็นว่า สู้ก็ติดคุกไม่สู้ก็ติดคุกก็เลยสู้ให้เป็นกำลังใจกับคนอื่นด้วย ศาลก็พิพากษาออกมาว่า น้ำหนักพยานหลักฐานของยายไม่พอ ยายก็ไม่มีหลักฐานอะไรหรอกเพราะถ่ายรูปด้วยโทรศัพท์ไม่เป็น ถ้าถ่ายเป็นก็คงจะมีบ้าง อันนี้เราไปพูดแต่ปาก เขาก็ไม่เชื่อ” 
 
“จะเป็นยังไงก็ต้องเป็นเพราะไม่มีที่จะทำกินแล้ว ถ้าจะต้องติดคุกก็คงต้องติด คนติดก็ติดไป ส่วนคนที่จะต้องทำมาหากินก็ต้องทำไป ขอแค่ให้ลูกเต้ายังมีที่ให้ทำกินไปยันลูกหลานได้ ไม่ต้องเป็นภาระของสังคม ถ้าเขาไม่มีที่ทำกินแล้วเขาจะไปทำอะไร ก็กลายเป็นภาระของสังคมของประเทศอีก ก็จะยิ่งลำบากไปอีกในวันข้างหน้า”
 
“ยายคิดว่า ถ้าติดคุกก็ติด ขอแค่ให้ลูกยังได้ทำกินอยู่ในที่นี้ต่อไป ไม่ต้องหนี เพราะเคยเห็นมีคนกลุ่มนึงถูกให้อพยพลงมา แล้วพอมาอยู่ในที่ของคนอื่นก็จะถูกฆ่า ทำไปทำมาก็ต้องหนีกลับขึ้นไปอยู่ที่เก่า แล้วนี่เห็นว่า จะให้พวกยายไปอยู่ที่อื่น ยายก็ไม่กล้าไปหรอก กลัวเขาจะฆ่า เขาจะไม่ให้เราทำ”
 
“ศาลให้โทษ 5 เดือน 10 วัน กับปรับแสนห้า แล้วให้ออกจากที่ดิน ยายก็เถียงศาลว่า ไม่ออกหรอก จะให้ติดคุกอีกกี่ทีก็ต้องติดเหมือนเดิม ก็มันไม่มีที่จะทำกิน” 
 
“พวกคนจนกลายเป็นโดนคดีร้ายแรง แต่คนรวยกลับไม่เดือดร้อน กลับยังทำกินต่อไปได้ แต่คนจนกลับทำไม่ได้ ไม่ใช่คนไทยด้วยกันเหรอ แผ่นดินก็แผ่นดินไทย ยายก็คิดในใจแบบนี้” 
 
“เมื่อก่อนยายเป็นคนใจโหด ไม่เคยกลัวใคร แต่พอมาเจอธรรมะ พระอาจารย์ไปอบรม ยายก็เชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง เขาให้ยายตั้งปณิธานว่า จะกินเจ ยายก็ตั้ง อยู่บ้านกินอาหารไม่ใส่หอม ไม่ใส่กระเทียม กินมาแล้วสิบปี ความโหดก็เลยลดลง แต่ความไม่มีที่ทำกินนี่สิ ไม่รู้จะทำยังไง” 
สีนวล พาสังข์ หรือ “ยายสีนวล” อายุ 60 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ ก่นสร้าง แผ้วทาง ทำลายป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง คิดเป็นเนื้อที่ 6 ไร่ 4 ตารางวา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ตัดสินให้มีความผิดตามฟ้อง ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกห้าเดือนสิบวัน ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 150,000 บาท และถูกคุมขังอยู่ที่เรื่อนจำกลางจังหวัดชัยภูมิตั้งแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
 
สุณี นาริน
 
 
"สุณี นาริน"
 
“อยู่มาตั้งแต่ตอนมาตั้งบ้านอาศัย พ.ศ.เท่าไหร่จำไม่ได้ ตั้งแต่ตอนลูกเกิด 2 คน จนตอนนี้ลูกอายุ 40-50 แล้ว อยู่มาตั้งแต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปคุม ตั้งแต่เขาเปลี่ยนรัฐบาลใหม่มา จึงมาโดนคดี ตั้งแต่สมัยที่ยังใช้รถขนซุง เป็นป่าโล่ง ก็ไปหาขุดดินตั้งแต่นั้นมา ตัวเองก็ไม่มีรถไถเหมือนคนอื่น มีแต่จอบขุด ก็อยู่มาตั้งแต่นั้นมา มีระยะหนึ่งที่รถไถเข้าไปไถดิน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็จะใช้รถกระบะเข้าไปบอกให้เลิกไถ แต่นั้นมาก็ไม่ได้จับหรืออะไร”
“ตอนนี้ต้องเลี้ยงหลาน 2 คน เลี้ยงลูกชายที่มีปัญหาทางสมอง 1 คน พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง บอกให้เอาครก แต่เอาเขียงมาให้ หลานเป็นลูกของลูกสาว คนหนึ่งอยู่ ป.3 อีกคนอยู่ ม.1 พ่อของหลานเสียชีวิต แม่ของหลานก็ต้องทำมาหากิน มีสามีใหม่แล้ว ส่งเงินเดือนมาให้แม่กับหลานเดือนละ 4,000 บาท ซึ่งก็ไม่พอใช้ มีแต่รายจ่ายไม่มีรายได้ เพราะตัวเองก็แก่แล้วรับจ้างอะไรก็ไม่ไหวแล้ว ร่างกายไม่เหมือนเก่า”
“ลูกชายที่มีปัญหา ถ้าจะให้เขาไปทำงานก็คงไม่ได้ ตอนที่ไปถางหญ้าด้วยกันเจอแดดก็เป็นวิงเวียน น้ำลายแตก เป็นลม ถ้าเป็นคนปกติก็จะไม่คิดมาก แต่นี่ไม่ปกติเลยกลัวว่า ถ้าออกไปข้างนอกก็จะเป็นลมเป็นอะไรไป อย่างเช่นบอกให้วางจอบก็กลายเป็นจับแน่น ไม่ยอมวาง ถือด้ามจอบอยู่อย่างนั้น หรือตอนที่ถามว่ามียาหม่องไหมหยิบมาให้แม่หน่อย ก็หยิบยาออกมาดมอยู่อย่างนั้นนานมาก”
“ตอนเช้าเขาบอกว่าให้ไปดายหญ้าที่ไร่ แต่พอไปถึงแล้วไม่ใช่ มีรถจอดเยอะเต็มไปหมด เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็บอกให้เซ็นต์ บอกว่า เซ็นต์ยายเซ็นต์ ยายก็บอกว่า เซ็นต์ไม่เป็น เจ้าหน้าที่บอกว่า ขอที่คืนนะยาย ตัวเองก็ไม่ได้ว่าอะไร คิดอะไรไม่ทัน เพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ใส่ชุดเขียวเต็มไปหมด เขาก็ยังบอกให้เซ็นต์ ทั้งที่บอกว่า เซ็นต์ไม่เป็น ก็เลยเขียนชื่อไปแบบผิดๆถูกๆ มือสั่นเพราะกลัว พอเขียนแล้วเขาก็พาไปที่ไร่ แล้วก็ให้ไปถ่ายรูปกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ แล้วก็บอกว่า เขาไม่ให้ทำ”
“มาศาลครั้งแรกก็กลัว หูก็ไม่ค่อยได้ยิน ศาลพูดอะไรก็ไม่รู้เรื่องเพราะเขาพูดไทย ไม่ได้พูดอีสาน แต่ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ค่อยตื่นเต้น แต่ตกใจตอนที่บอกว่า จะจำคุก มาคิดว่าลูกหลานจะอยู่ยังไง ถ้ามีตัวคนเดียวก็ว่าไปอย่าง หรือถ้าลูกเป็นปกติเหมือนคนทั่วไปก็คงดี หลานก็ห่วงว่าจะไปเรียนยังไง กังวล พูดแล้วน้ำตาไหล”
“เขาว่า เราถางป่าไม้ แม่ก็ไม่รู้จะว่ายังไง ไม่มีคำจะพูด ตั้งแต่ก่อนมาถ้ารู้ว่าจะผิดแบบนี้ก็ไม่ทำหรอก ถ้าเขาว่า ผิดเราก็คงจะยอมรับผิด”
 
สุณี นาริน อายุ 74 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ ก่นสร้าง แผ้วทาง ทำลายป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง คิดเป็นเนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 73 ตารางวา เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ตัดสินให้มีความผิดตามฟ้อง ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกห้าเดือนสิบวัน แก้ไขการชดใช้ค่าเสียหายจากเดิม 150,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 439,027 บาท  และถูกคุมขังอยู่ที่เรื่อนจำกลางจังหวัดชัยภูมิตั้งแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
 
ปัทมา โกเม็ด
 
 
"ปัทมา โกเม็ด"
 
"ที่ดินที่อยู่อยู่มาตั้งแต่รุ่นพ่อ เข้ามาอยู่ประมาณปี 2520-2521 จากนั้นก็ทำกินในที่ดินต่อจากพ่อแม่มาตลอด ตอนโดนคดีมันเริ่มจากตอน คสช. มีนโยบายทวงคืนผืนป่า เขามาขอคืนพื้นที่ เขาบอกว่าขอคืนพื้นที่ล่อแหลม ลาดชัน ที่ล่อแหลม หมายถึงที่ที่มีก้อนหินเยอะๆ ลาดชัน ที่ทำประโยชน์ไม่ค่อยได้ ขอมาคืนพื้นที่"
"ตอนนั้นประมาณปี 2558 วันที่เขามาขอคืนที่ตอนแรกไม่ได้อยู่ที่บ้าน ไปส่งแม่ไปรับยาที่โรงพยาบาลจังหวัดชัยภูมิ 11 โมงเจ้าหน้าที่อุทยานโทรมาหาตามให้ไปคุยเรื่องที่ดิน พอส่งแม่รับยาเสร็จก็รีบกลับไปที่หมู่บ้าน คิดว่าเขาจะมาจัดสรรที่ดิน ทำเอกสารให้ พอถึงบ้านก็รีบไปที่ไร่ ไปกับหลาน อายุ 11 ขวบ อยู่ ป.5 ให้หลานขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งที่ไร่ รีบจนขนาดรถมอเตอร์ไซค์ล้มก่อนถึงไร่ เจ้าหน้าที่ก็มาช่วยยกรถขึ้น พอไปถึงมีรถของเจ้าหน้าที่สองคัน ประมาณ 25 นาย มาใช้คำขู่ว่าจะมาขอคืนพื้นที่ ถ้าไม่คืนก็จะจับดำเนินคดี ตอนคุยยืนคุยกับเจ้าหน้าที่อยู่สามนาย ส่วนที่เหลืออยู่รอบนอก ก็มีคนสั่งให้ลูกน้องถ่ายภาพสำรวจพื้นที่ไปเรื่อยๆ แล้วก็บอกให้เซ็นต์เอกสารคืนพื้นที่ ตอนนั้นอยู่กับหลานแค่สองคนก็กลัวมาก ยื้อตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงบ่ายสามโมง สุดท้ายก็เซ็นต์คืนพื้นที่ให้เขาไป ที่ดินทำกินที่คืนไปก็ใช้ทำไร่มันสำปะหลังอย่างเดียว"
"ในครอบครัวที่อยู่บ้านก็มีสามี ลูกสาว มีแม่ มีพ่อ แล้วก็หลานอีกสองคน เป็นครอบครัวใหญ่ ต้องรับภาระดูแลทั้งสองครอบครัว แม่ก็เป็นโรคสมองพิการด้านซ้ายตั้งแต่ปี 2558 บัตรผู้พิการของแม่ยังอยู่ในกระเป๋าอยู่เลย แม่ยังเป็นเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ พรุ่งนี้ (6 พฤษภาคม 2562) ยังต้องกลับไปในเมืองส่งแม่ไปรับยาอีก รายได้ของครอบครัวมีแต่สามีที่ไปรับจ้าง ได้วันละ 250 บาท ส่วนไร่มันสำปะหลังไม่ได้ทำแล้ว ส่วนหลานก็ยังเรียนมัธยม ลูกก็ยังเรียนมัธยมอยู่ ไม่มีใครช่วยหารายได้ให้ครอบครัวได้"
"ถ้าเข้าคุกไปก็คงห่วงที่บ้านอย่างมาก ภาระทั้งลูก ทั้งแม่ ทั้งสามีที่ต้องทำงานคนเดียวเลี้ยงสองครอบครัว แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดเลยคือกลัวสามีไม่เอาเงินไปส่งหนี้ตรงตามเวลา จะเสียดอกเบี้ยให้เขา เรื่องจัดการการเงินในบ้าน เรื่องสัญญากู้ยืมเงินก็เป็นชื่อเราทั้งหมด ไม่มีชื่อสามีแม้แต่อย่างเดียว ปกติสามีไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับงานจัดการภายในบ้านเลย ทำงานใช้แรงงานอย่างเดียว กลัวลูก กลัวหลานจะไม่ไปเรียนหนังสือด้วย"
"ตอนที่รู้ว่าโดนคดีก็ไปรายงานตัวที่ สภ.บางตะเข้ เขาแจ้งข้อหาบุกรุก แผ้วทาง ยังไม่เข้าใจเลยว่าไปบุกรุก แผ้วถางอะไร ปลูกแต่มันสำปะหลัง ไม่ได้ถือมีดพร้าไปฟันต้นไม้สักต้น"
"ตอนสู้คดีศาลชั้นต้น ตอนสืบพยานก็ยังมีความหวัง ศาลคงจะเห็นใจคนจน ตอนประชุมกับคณะกรรมการจังหวัดรองผู้ว่าฯ ก็รับปากว่า ‘คนจนจะไม่ติดคุก’ มาประชุมทุกครั้งไม่เคยขาด สุดท้ายก็มาเป็นแบบนี้" 
"ความรู้สึกตอนมาขึ้นศาลครั้งแรกก็ไม่ได้กลัวอะไร รู้สึกว่าไม่ได้มีความผิดอะไร ไม่กลัวศาลเพราะพูดความจริงตามที่ทำกินที่อยู่ที่เป็นมาตลอด" 
"ส่วนความหวังในคำตัดสินนั้น เท่าที่เห็นที่ตัดสินมาสองคดีก็คงต้องติดคุกเหมือนกันหมดมั้ง(น้ำตาคลอ)"
ปัทมา โกเม็ด ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ ก่นสร้าง แผ้วทาง ทำลายป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง โดยเริ่มแรกถูกแยกฟ้องเป็นสองคดี โดยแยกเป็นบุกรุกแปลงแรกคิดเป็นเนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 9 ตารางวา ส่วนแปลงที่สองคิดเป็นเนื้อที่ 15 ไร่ 83 ตารางวา จากนั้นศาลรวมสำนวนเป็นคดีเดียว เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ตัดสินให้มีความผิดตามฟ้อง ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกแปดเดือน แก้ไขการชดใช้ค่าเสียหายจากเดิม 250,000 บาท ลดลงเหลือ 200,000 บาท และถูกคุมขังอยู่ที่เรื่อนจำกลางจังหวัดชัยภูมิตั้งแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
สากล ประกิจ
 
"สากล ประกิจ"
 
"อยู่ในที่ดินมาตั้งแต่ประมาณปี 2520 ใช้ที่ดินนั้นทำเกษตรปลูกมันสำปะหลัง ปลูกปอ และข้าวโพด" 
"ที่ดินที่โดนคดีที่จริงมี 32 ไร่ แต่ที่โดนฟ้องคดีเจ้าหน้าที่เขาฟ้องถึง 48 ไร่"
"ตอนประกาศทั้งป่าสงวน ทั้งอุทยานฯ สมัยนั้นเราจะอยู่บ้านในหมู่บ้านกับน้องสาว ส่วนพ่อ แม่ จะอยู่ที่ไร่ นอนที่ไร่ (ที่โดนคดี) เขาบอกว่าที่ดินถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวน ประกาศเป็นอุทยานฯ จะปิดประกาศไว้ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเราก็ยังเด็ก ส่วนพ่อกับแม่ก็ไม่ได้กลับมาอยู่ในหมู่บ้าน อยู่แต่ไร่ เอาจริงๆก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าที่ตัวเองเป็นป่าสงวน เป็นอุทยานฯ"
"วันที่โดนคดีมีหมายเรียกมาที่หมู่บ้าน ก่อนหน้านี้ป่าไม้มาขอให้เราเซ็นคืนที่ให้ เราก็สู้แล้วว่าไม่เซ็นแต่สุดท้ายก็ต้องยอมเซ็น"
"เรื่องภาระการพิสูจน์สิทธิว่าเราไม่มีเอกสาร เขามาวัดค่าเสียหายหน้าดิน ให้เราพิสูจน์ว่าเราไม่ได้ทำลายหน้าดิน ให้หาหลักฐานมาแสดงว่าอยู่มานานแล้ว จะให้เราพิสูจน์อะไร สมัยนั้นกล้องถ่ายรูปไม่มี ไม่มีรูปถ่ายไปยืนยัน เราพิสูจน์ต้นไม้ว่าอายุหลายปี เขาก็ไม่ฟังเรา"
"ในครอบครัวที่อยู่กันมี สามี แล้วก็ลูกสองคน รายได้ก็มีรับจ้างรายวันบ้างวันละสองสามร้อยบาท อีกส่วนก็ได้จากทำไร่ที่โดนคดีนี่แหละ"
"ประเด็นผู้หญิงในหมู่บ้านที่โดนคดีเยอะกว่าผู้ชายเพราะว่าในหมู่บ้านปกติผู้ชายก็จะไปทำแต่ไร่ ใช้แรงงาน หาเงินเข้าบ้าน ส่วนผู้หญิงก็จะทำงานจัดการในบ้าน อย่างเรื่องเขามาตรวจรังวัดที่ดิน ผู้หญิงที่อยู่บ้านก็จะเป็นคนไปคุย แล้วลงชื่อในเอกสาร พอโดนคดีสุดท้ายก็เลยมีแต่ผู้หญิงเป็นจำเลย"
"จนมาเข้าศาลครั้งแรกก็รู้สึกกลัว แต่ที่ยอมสู้คดีเพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้บุกรุก และตอนมาศาลคนที่หมู่บ้านต้องมาเช่าบ้านอยู่ในเมืองสามเดือน สลับกันขึ้นมาสืบพยาน เพราะไป-กลับไม่ไหว แล้วก็ต้องมีคนอยู่เฝ้าบ้าน อย่างเราก็เฝ้าอยู่ที่บ้านเช่าเป็นสัปดาห์ เพราะยังพอมีแรงดูแลคนอื่นได้"
"ถ้าติดคุกสิ่งที่ห่วงก็มีแต่เรื่องหนี้สินในบ้าน สามีไม่มีความรู้ไม่ได้แบ่งว่าเงินก้อนไหนจะใช้อย่างไร ปกติเราจัดการตลอด อีกอย่างก็ห่วงลูก กลัวสามีจัดการไม่ได้ กลัวลูกจะไม่ได้ไปโรงเรียน"
สากล ประกิจ ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ ก่นสร้าง แผ้วทาง ทำลายป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง คิดเป็นเนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 3 ตารางวา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ตัดสินให้มีความผิดตามฟ้อง ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกสี่ปี แก้ไขการชดใช้ค่าเสียหายจากเดิม 900,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 1,587,211 บาท  และถูกคุมขังอยู่ที่เรื่อนจำกลางจังหวัดชัยภูมิตั้งแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
สุวลี โพธิ์งาม
 
"สุวลี โพธิ์งาม"
 
“พี่ชื่อสุวลี โพธิ์งาม หรือนก พี่เป็นชาวบ้านซับหวาย มีที่ทำกินอยู่ที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ ที่ทำกินเดิมเป็นของยาย ยายทำกินมาตั้งแต่ปี 2523 ก็ปลูกมันสำปะหลังเนื้อที่ประมาณ 20 กว่าไร่ เราไม่เคยสำรวจหรือรังวัด เพิ่งจะรังวัดตอนที่เจ้าหน้าที่ลงสำรวจตามมติครม. 2541 พอปี 2545 ยายก็เสียชีวิต แม่ก็เป็นคนทำประโยชน์ในที่ดินต่อจากยาย ปลูกมันสำปะหลังเหมือนกัน ประมาณปี 2551 พี่ลาออกจากงานที่กรุงเทพฯและกลับไปอยู่ที่บ้าน ไปทำไร่ช่วยแม่ แม่ก็เลยแบ่งที่ดินให้เราทำด้วยประมาณ 6-7 ไร่
หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่มารังวัด แม่ก็เป็นคนไปดูรังวัดแบ่งที่ดิน พอปี 2556 พี่มีบ้านเลขที่เป็นของตนเองแล้ว ต่อมาปี 2557 เจ้าหน้าที่ก็มารังวัดอีกรอบ เจ้าหน้าที่มาประมาณ 20-30 คน ให้พี่และแม่ไปดู เขาบอกเราว่า นี่จะเป็นการรังวัดครั้งสุดท้ายแล้วนะ ถ้าใครอยากมีรายชื่อในที่ทำกินก็ให้มาลงชื่อ ซึ่งตอนนั้นพี่ก็มีบ้านเลขที่แล้วก็เลยไปลงสำรวจที่ทำกินเป็นชื่อของตนเอง ต่อมามีเจ้าหน้าที่เขามาบอกว่า พื้นที่และรายชื่อของเราไม่ได้อยู่ในมติครม. 2541 คือ ไม่มีสิทธิอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น ตรงเซ็นคืนพื้นที่ให้เขาและออกจากพื้นที่ ถ้าสมมติไม่เซ็นคืนก็มีหมายศาลมาที่บ้าน มาจับกุมที่บ้าน ด้วยความที่กลัวและไม่มีความรู้กฎหมาย เราก็เซ็นคืนให้เจ้าหน้าที่ แต่แม่รอดไปได้เพราะเขามีมติครม. 2541 คุ้มครอง
เราก็ถามเขาว่า เรามีพื้นที่ทำกิน 6 ไร่ เอาคืนไปแล้วจะให้เราอยู่ยังไง เขาบอกว่า เขาไม่ได้มีหน้าที่จะจัดสรรที่ทำกินให้ใคร นายเขาสั่งให้มาทำ มาขอคืนพื้นที่ พี่ไม่อยากคืนนะ ตอนที่เซ็นคืนพี่ก็คิดตลอดเลยว่า เซ็นคืนไปแล้วเราจะเอาที่ทำกินที่ไหน เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการอธิบายคำสั่งคสช. 64/2557 เรื่องทวงคืนผืนป่า บอกแค่เราไม่มีสิทธิ เราไม่มีรายชื่อในมติครม. 2541 ซึ่งมติดังกล่าวทำการสำรวจที่ทำกินในปี 2545 แต่เรามีบ้านเลขที่ปี 2556 เอง มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่เราจะมีรายชื่อ
เมื่อเซ็นคืนไปแล้ว เราก็รู้จักภาคประชาสังคมและเล่าปัญหาให้เขาฟังจึงนำไปสู่ความพยายามในการเรียกร้อง พี่ไปยื่นหนังสือร้องเรียนหลายที่มาก เท่าที่จำได้คือ ยื่นหนังสือกับศูนย์ดำรงธรรมและสำนักนายกฯ ต่อมาประมาณปี 2559 จำได้ว่า ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล มีหนังสือระบุว่า ห้ามกระทำการใดๆจับกุม ดำเนินคดีกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน มีการตั้งคณะทำงานฯดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย พี่จึงคิดว่า อยู่ได้ทำกินต่อไปได้ จึงกลับเข้าไปปลูกมันสำปะหลังในที่ทำกินเดิมอีกครั้ง ซึ่งเป็นที่มาของคดีนี้ เดือนกรกฎาคม 2559 พี่หมายจากตำรวจว่า พี่บุกรุกที่ทำกิน พี่พยายามเอาหนังสือของม.ล.ปนัดดาไปอ้างอิงกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แต่เขาก็ไม่รับรู้บอกพี่ว่า นี่หนังสือปลอมหรือป่าว
ถามว่า พื้นที่ทำกินเยอะไหม พื้นที่มันก็ไม่ได้เยอะ รายได้ปีหนึ่งก็แค่ 50,000-60,000 บาท เราเคยมีและอยู่ดีๆเราไม่มีเลย เราจะเอาเงินใช้จ่ายที่ไหน เจ้าหน้าที่ของรัฐบอกให้เรามาทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ แต่เราไม่ได้อยากมา เราอยากอยู่บ้านเรา เราอยากอยู่ในแผ่นดินเกิดของเรา เราอยู่ที่ตรงนี้ ยายเราก็ใช้ประโยชน์มา ไม่เคยมีใครมาไล่รื้อ ไม่เคยมีใครมาบอกเราว่า พื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่ของเรา
คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 5 เดือน 10 วันและปรับ 100,000 บาท วันที่ 3 กรกฎาคม 2562 ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พี่ก็เตรียมตัวตอนนี้ก็มีคุยกันบ้างและเตรียมใจไว้เหมือนกัน เราพยายามจะทำงานให้เสร็จและใช้หนี้สินให้หมด แต่คือ พี่เลี้ยงลูกคนเดียวไม่มีสามี เลี้ยงลูกคนเดียวอายุ 6 ขวบ พ่อแม่ยังอยู่ แต่เขามีโรคประจำตัวของเขา
ถ้าไม่มีที่ทำกินพี่ไม่ทราบเหมือนกันว่า จะไปทำอะไร อายุค่อนข้างเยอะแล้ว ความรู้ก็ป. 6 เราไม่อยากมาเร่ร่อนในกรุงเทพฯที่มันไม่มีอะไรที่แน่นอน เราอยากมีที่ทำกิน เพราะเราไม่รู้ว่า เราจะไปทำอะไร มันเป็นวิถีการใช้ชีวิตตั้งแต่บรรรพบุรุษของเรา เขาพาเราอยู่มาแบบนี้ เราไม่รู้ว่า จะทำอะไร เราหวังทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะแก้ไขปัญหาให้เรา ท้ายที่สุดไม่มีการแก้ไขให้เราเลย มันมีปัญหาเยอะมากที่จะตามมา”
สุวลี โพธิ์งาม ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ ก่นสร้าง แผ้วทาง ทำลายป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง คิดเป็นเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 5 ตารางวา เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ตัดสินให้มีความผิดตามฟ้อง ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกห้าเดือนสิบวัน ชดใช้ค่าเสียหาย 160,000 บาท และถูกคุมขังอยู่ที่เรื่อนจำกลางจังหวัดชัยภูมิตั้งแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์