สันติวิธีหายไปไหน? เมื่อมีความรุนแรงต่อนักกิจกรรม คุยกับ ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑะวณิช

 

ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ยังตึงเครียดไม่หาย และนักกิจกรรมทางการเมืองถูกดักทำร้ายร่างกาย โดยยังมีกองเชียร์กองแช่งในโลกออนไลน์ที่พร้อมเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง รายการวันโอวัน วันออนวัน ชวนดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คุยเรื่องความรุนแรงในสังคมไทย และความเป็นไปได้ที่จะเดินไปข้างหน้ากันอย่าง "สันติวิธี"

ภาพโดย The 101.world

 

เมื่อกล่าวถึงการทำร้ายร่างกายคนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ดร.เอกพันธุ์ กล่าวว่า   ทุกครั้งที่นักกิจกรรมถูกทำร้ายเรามักอยากรู้ว่า ใครเป็นคนทำเพราะอยากรู้ว่าเหตุในการกระทำเกิดจากอะไร เราเลยเลือกที่จะเดา และคิดว่า น่าจะเป็นคนที่นิยมใช้อำนาจ เพราะเขาพยายามหาวิธีอื่นแล้วที่จะหยุดอะไรที่เขาไม่ชอบ แต่ทำอะไรไม่ได้เลยเลือกที่จะทุบ งอแงเหมือนเด็ก ไม่ได้ดั่งใจก็จะร้องจะทุบ 

“ในทางจิตวิทยาคนใช้ความรุนแรงมักจะมีความรู้สึกกลัวอยู่ในใจ อ่อนแอ เพราะคนที่มั่นใจในตัวเองจะใช้เหตุผลในการพูดคุยได้แต่เมื่อเราไม่มั่นใจก็เลยใช้ความรุนแรง เปรียบเสมือนการตั้งกำแพงขึ้นมาปกป้องตัวเอง”  

ในสังคมเรามักจะเห็นคนที่ชอบความรุนแรง ซึ่งผมมองว่า เป็นคนป่วยทางอารมณ์ความรู้สึก เนื่องจากเวลาเกิดการแบ่งฝ่ายเรามักจะทำให้อีกฝ่ายคุณค่าลดน้อยลง เป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย แต่โดยสัญชาติญาณของมนุษย์รู้สึกเจ็บปวดร่วมด้วยกับมนุษย์คนอื่น โดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่า อีกฝ่ายคือใคร เป็นใคร เป็นคนที่เรารักหรือชัง เช่น เวลาเราเห็นคนโดนมีดบาดต่อหน้าต่อตาเราจะรู้สึกเสียว เจ็บ หรือเรียกว่ามนุษย์มีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น 

แต่บางทีเมื่อเรามีอารมณ์ร่วมกับอะไรมากๆ เช่น เวลาดูฟุตบอล สมมติเราเชียร์ทีม A แล้วโดนผู้เล่นทีม B เสียบ เราจะรู้สึกทันทีเลยว่า เราโกรธผู้เล่นทีม B แต่ถ้าเราเห็นทีม B โดนแบบเดียวกับเรา เราจะเห็นว่า เขาสมควรโดน รู้สึกสะใจ ความเห็นใจต่อความเจ็บปวดบางอย่างสามารถยอมรับได้ถ้าไม่ใช่พวกเดียวกับเรา สำหรับฟุตบอลถึงคุณจะชอบทีมคุณแค่ไหนก็ลงไปช่วยเตะไม่ได้ แต่ในสังคมภายนอกกองเชียร์กับผู้เล่นมีความใกล้ชิดกันมาก จึงสามารถเล่นในฐานะผู้เล่นคนนึงได้ด้วย ทำให้กองเชียร์สามารถตีกันง่ายขึ้นเพราะความใกล้ชิดของสังคมที่ใกล้ชิดมากขึ้น

เมื่อก่อนคนที่เห็นต่างในสังคมไม่ได้เกลียดกันขนาดนี้ มันมีอะไรบางอย่างที่เสี้ยมรอยร้าวมากขึ้นทุกวันเหมือนเป็นภาพลวงตา เช่น เมื่อพูดถึงกลุ่ม นปช. จะมีภาพบางอย่างของคนที่เกลียด หรือเมื่อพูดถึงคุณประยุทธ์ ก็จะมีภาพจำบางอย่างซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกันและอาจทำให้จินตนาการไปได้เรื่อยๆ ซึ่งตรงนี้จะเป็นส่วนที่สะสมความเกลียดชังมากขึ้นทุกวัน 

 

 

ดร.เอกพันธุ์ แนะนำว่า ให้เราคอยสังเกตตัวเองและตระหนักรู้ว่า เมื่อใดเราเริ่มเกลียดคนๆ นึง แล้ว ให้พิจารณาตัวเองว่า เราเริ่มเกลียดเพราะอะไร จุดที่ชอบและไม่ชอบเป็นอย่างไร จริงๆ เราอาจจะไม่ได้เกลียดตัวบุคคเราอาจจะเกลียดแค่พฤติกรรมบางอย่างก็ได้
  

“เวลาเราเชียร์การแบ่งขั้วแบ่งฝ่าย จริงๆแล้วเราควรจะต้องแยกคนแยกประเด็นและพยายามพิจารณาให้รอบคอบทุกด้าน จะทำให้เราไม่ไปเกลียดเพราะเขาเป็นเขาให้มองถึงพฤติกรรมของเขาที่เราเกลียด”
 

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง ดร.เอกพันธุ์ อธิบายว่า  สันติวิธีเป็นหนึ่งในวิธีแก้ไขปัญหาของบุคคลหรือสังคม หลายครั้งเราก็อยากแก้ไขปัญหาด้วยวิธีรุนแรง หรือหลายครั้งเราก็อยากแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ในทางทฤษฎียังถกเถียงกันอยู่ว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์นั้น รักความรุนแรงหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นสันติวิธีก็ไม่ถูกจริตมนุษย์ หรือว่า มนุษย์เราเกิดมาสันติโดยธรรมชาติแต่วิธีที่เราจะใช้ความรุนแรงเกิดจากสังคมที่มันสร้างขึ้น 

อยู่ที่เราเองว่าเราเชื่อว่าสันติวิธีสามารถแก้ปัญหานั้นได้หรือไม่ ถ้าตัวเราเชื่อว่ามันอาจจะเป็นไปได้ สันติวิธีก็มีทางเป็นไปได้ที่จะแก้ไขปัญหานั้นๆ แต่ถ้าเราไม่เชื่อ สันติวิธีก็ไม่มีทางที่จะใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง สังคม หรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งไม่สามารถบังคับใครให้คิดหรือเชื่อในสันติวิธีได้
 

บทบาทของนักสันติวิธี ก็ไม่ต่างอะไรกับหมอและคนไข้ เพราะอย่างแรกเรื่องสุขภาพคนไข้นั้นต้องรักษาสุขภาพเองก่อน แต่เมื่อเราป่วย หรือ โคม่าแล้วเราจึงจะไปหาหมอ ซึ่งหมอก็จะให้คำปรึกษาแต่ไม่ได้หมายความว่า คนไข้จะเชื่อหมอแล้วทำตามหมอทุกอย่าง ซึ่งก็อยู่ที่ตัวคนไข้เอง นักสันติวิธีก็เช่นกันเราจะให้คำแนะนำต่อเมื่อสังคมนั้นพร้อมและเชื่อในสันติวิธี ซึ่งเราก็จะให้คำแนะนำไปแต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสังคมอีกทีว่าจะนำคำแนะนำนั้นไปใช้อย่างไร
    

เมื่อมองบริบทปัจจุบันที่คนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองต่างตกอยู่ในความหวาดกลัวต่อชีวิตและร่างกาย ดร.เอกพันธุ์ ให้คำแนะนำต่อสังคมถึงเครื่องมือที่อาจจะนำไปใช้ลดความรุนแรงได้ ซึ่งเรียกว่า “สันติอาสาสักขีพยาน” กระบวนการนี้ใช้มาหลายครั้งในอดีตเป็นการดูแลนักกิจกรรมที่โดนเด่นและเป็นเป้าหมาย โดยมีกลุ่มสันติอาสาสักขีพยานคอยสังเกตการณ์ อาจจะทำหน้าที่เข้าไปห้ามปรามการกระทำรุนแรง หรือ การบันทึกภาพ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เคยใช้อาสาสมัครเป็น สันติอาสาสักขีพยาน และคอยบันทึกเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจรัฐต่อชาวบ้าน ซึ่งก็อาจจะไม่ได้ทำสำเร็จ100% ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม แต่การจดบันทึกนั้นก็ได้นำมาใช้เป็นประจักษ์พยานในชั้นศาล และอาจจะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจอย่างระมัดระวังมากขึ้น คือ ไม่กระทำการนอกเหนือกฎหมาย เช่น การรุมทำร้ายหรืออุ้มหาย 
 

ดร.เอกพันธุ์ อธิบายด้วยว่า ไม่ได้หมายความว่า การมีสันติอาสาสักขีพยานจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมหรืออะไรได้มาก อาจจะเปลี่ยนได้เพียงนิดเดียวซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า รัฐกลัวอำนาจการสอดส่องของประชาชนมากน้อยแค่ไหน อาจจะช่วยเพิ่มสมดุลขึ้นมาในระดับหนึ่ง แต่โครงสร้างทางสังคมและการเมืองจริงๆ ก็ต้องเปลี่ยนไปตามแนวทางประชาธิปไตยในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

เมื่อถามถึงสถานะของนักสันติวิธีที่ถูกวิจารณ์อย่างมากท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ดร.เอกพันธุ์ ตอบอย่างหนักแน่นว่า นักสันติวิธี มีเพียง 10% เท่านั้นที่ทำหน้าที่ "เป็นกลาง" คือ เมื่อต้องอยู่ในฐานะคนกลางในการเจรจา นักสันติวิธี ไม่จำเป็นต้องเป็นกลางเสมอไป สามารถเลือกข้างได้หมด เราอาจจะได้เห็นนักสันติวิธีเป็นผู้นำในการประท้วงด้วยซ้ำไป เช่น การประท้วงที่ฮ่องกงก็เป็นการประท้วงแบบสันติวิธี 
 

การจะจำแนกว่า การชุมนุมครั้งใดเป็นไปตามแนวทางสันติวิธีหรือไม่เส้นแบ่งค่อนข้างไม่ชัดเจน พอจะกล่าวได้ว่า อยู่ที่ข้อเรียกร้องครั้งนั้นๆ ว่า เป็นการยื่นข้อเรียกร้องที่เป็นไปได้หรือไม่หรือมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนหรือไม่ เช่น เรียกร้องไปเรื่อยๆ ยกระดับการชุมนุมไปเรื่อยๆ แบบนี้ไม่ใช่การชุมนุมแบบสันติวิธีเพราะคนที่ถูกเรียกร้องไม่สามารถทราบได้เลยว่า ผู้เรียกร้องต้องการอะไรและจะปฏิบัติแบบไหนถึงจะพอใจ หรือการเรียกร้องที่เป็นไปไม่ได้ เช่น เรียกร้องให้คนอื่นออกนอกประเทศ ก็ไม่ใช่ชุมนุมแบบสันติวิธี การจะเป็นสันติวิธีหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะปิดถนนหรือปิดสถานที่ราชการเท่านั้
 

ดร.เอกพันธุ์ เล่าถึงมุมของฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐว่า ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงต่างก็ต้องผ่านการเรียนเรื่องสันติวิธีและสิทธิมนุษยชนมาก่อน โดยเป็นหลักสูตรแบบเดียวกับที่คนทั่วไปได้เรียน ส่วนจะเข้าใจแค่ไหนนั้นไม่อาจทราบได้ เปรียบเหมือนกับคนทั่วไปที่ผ่านการเรียนรักษาดินแดนมา ผ่านมาหลายปีก็ยิงปืนให้เข้าเป้าไม่ได้แล้ว คือ อาจจะได้เรียนมาจริงแต่ไม่ได้ถูกจริตก็ได้
 

ดร.เอกพันธุ์ เสนอว่า หลักการที่สำคัญอย่างหนึ่งของสันติวิธี คือ การหาทางอยู่ร่วมกันกับคนที่เราเกลียดหรือเราไม่ชอบ โดยเราก็ต้องเคารพสิทธิของคนที่เราเกลียด พอๆ กับสิทธิของคนที่เราชอบ และตัวเราเอง ต้องยอมรับว่า คนอื่นก็มีสิทธิชอบแบบอื่นจะไล่เขาออกนอกประเทศไม่ได้ โดยไม่ต้องถึงกับรักกันก็ได้
 

“ระหว่างคนที่เกลียดกับรัก ประยุทธ์ และระหว่างคนเกลียดกับรัก คุณช่อ ต้องถามตัวเองว่ายังอยากอยู่ร่วมสังคมเดียวกันหรือไม่ เราต้องหาสายสัมพันธ์ของความเป็นมนุษย์ในฐานะเพื่อนมนุษย์ ถ้าผมมีอำนาจแล้วไล่คุณออกนอกประเทศ คุณก็แย่ ถ้าวันนึงคุณมีอำนาจแล้วไล่ผมออกนอกประเทศ ผมก็แย่เหมือนกัน” ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษากล่าว