ก่อนท้องฟ้าจะสดใส: ครบห้าปี คสช. เตรียมเดินหน้าสู่ยุค “คสช. ซีซั่น 2”

 

22 พฤษภาคม 2562 เป็นเวลาครบห้าปีพอดีที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารและเข้าปกครองประเทศ ภายใต้ยุคสมัยของ คสช. รูปแบบการใช้อำนาจทางปกครองได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบที่ "พยายามจะเป็น" ประชาธิปไตยก่อนหน้านั้น มาเป็นระบอบที่อำนาจการตัดสินใจทุกอย่างถูกรวมศูนย์ไว้กับคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียว โดยไม่จำเป็นต้องฟังเสียงอื่นใด

 

เพื่อการเดินหน้าประเทศได้อย่างไม่มีเสียงค้าน ช่วงเวลาห้าปีของ คสช. จึงเป็นช่วงที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกจำกัดอย่างมาก ช่วงปี 2557-2558 ทหารเข้าใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก คสช. อำนาจอย่างตรงไปตรงมา ด้วยการเรียกรายงานตัว การใช้ทหารบุกเข้าจับกุม การคุมขังประชาชนในค่ายทหาร และต่อมาเมื่อเข้าสู่ปี 2559-2561 คสช. ก็เปลี่ยนแนวทางพยายามเล่นบท "นุ่มนวล"ลง โดยการอ้าง "กฎหมาย" ที่เขียนมาเอง ตีความเอง และใช้การดำเนินคดีเป็นเครื่องมือข่มขู่หรือสร้างภาระให้ประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น 

 

ปรากฏการณ์ "อภินิหารทางกฎหมาย" เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับฝ่ายตรงข้ามของ คสช. ทั้งการตั้งข้อหาที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ การตีความข้อหาให้กว้างขวาง การใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน ฯลฯ กระบวนการที่อ้างอิง "กฎหมาย" ตามอำเภอใจเหล่านี้ทำให้ประชาชนไม่อาจคาดการณ์ หรือมีความมั่นคงในสิทธิเสรีภาพของตัวเองได้ 

 

ตัวเลขผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดี พอจะสะท้อนให้เห็นภาพรวมได้บ้าง แม้จำนวนจะน้อยเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ แต่ปัจจัยหลักที่ คสช. ใช้เป็นเครื่องมือ คือ บรรยากาศความกลัวที่แพร่กระจายส่งต่อๆ กัน ความหวาดกลัวที่ถูกจงใจสร้างขึ้นอย่างพิถีพิถีนทำให้ประชาชนต้องเรียนรู้การ "อยู่เป็น" โดยเลือกที่จะ "เงียบไว้ก่อน" และสุดท้ายก็เกิดเป็นยุคสมัยแห่งความเงียบงันที่หาความจริงต่อคำถามต่างๆ ได้ลำบากนัก

 

อีกด้านหนึ่ง ภายใต้ระบอบที่เรียกได้ว่าเป็น "เผด็จการ" ตลอดระยะเวลาห้าปีนี้ ก็บ่มเพาะให้เกิด "กลุ่มต่อต้าน" การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จขึ้นมา ที่โดดเด่นก็เป็นขบวนการของกลุ่มนักศึกษาที่เชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย หรือกลุ่ม "คนรุ่นใหม่" ที่ทำกิจกรรมครั้งแล้วครั้งเล่า และก็ถูกจับกุมดำเนินคดีกันซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น รังสิมันต์ โรม, สิรวิชญ์ หรือ "นิว", ชลธิชา หรือ "ลูกเกด" และจตุภัทร์หรือ "ไผ่ ดาวดิน" ฯลฯ อีกขบวนการหนึ่งที่ปรากฏตัวออกมาชัดเจนขึ้นภายใต้ยุคสมัยนี้ ก็คือ กลุ่มศิลปินที่ผลิตงานศิลปะสื่อความหมายในทางท้าทายสภาพที่เป็นอยู่ เช่น เพจไข่แมว กลุ่ม Rap Against Dictatorship หรือ ภาพวาดบนกำแพงของ Headache Stencil เป็นต้น 

 

แม้จะมีความพยายามต่อต้านอำนาจปรากฏออกมาหลายรูปแบบ แต่ คสช. ก็ยังรักษาฐานที่มั่นของตัวเองไว้ได้อย่างเยือกเย็น สามารถเดินหน้าออกกฎหมายและกติกาต่างๆ ไปได้ตามที่ใจอยาก และขยายเวลาการอยู่ในอำนาจไปได้เรื่อยๆ เพื่อยึดกุมความรับรู้ของประชาชนและความฝันถึงอนาคตสังคมการเมืองไทยให้อยู่ในแนวทางของตัวเอง

 

แล้วการเลือกตั้งก็มาถึง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562

การเลือกตั้งที่รอคอยมานานกว่า 7 ปี

การเลือกตั้งที่หลายคนออกไปเรียกร้อง จนได้คดีมาเต็มตัว

การเลือกตั้งที่ดูเหมือนจะเป็นจุดสิ้นสุดของ "ระบอบ คสช."

 

แต่หลังเลือกตั้ง สังคมไทยก็ได้เรียนรู้แล้วว่า การเลือกตั้งไม่ได้นำมาซึ่งจุดสิ้นสุดของอำนาจคณะรัฐประหารเสมอไป 

 

คสช. ได้แสดงให้เห็นในการเลือกตั้ง 2562 แล้วว่า พวกเขายังไม่ต้องการลงจากอำนาจ พวกเขาใช้ทุกวิถีทางทางการเมือง ทั้งการครอบงำคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระอื่นให้ตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเอง พวกเขาร่วมกันตั้งพรรคพลังประชารัฐขึ้นมาลงสนามเลือกตั้ง ใช้นโยบายของรัฐบาลและเครื่องมือต่างๆ ให้พรรคการเมืองนี้ได้เปรียบ พร้อมกับสร้างอุปสรรครอบทิศให้กับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม แม้กระทั่งการเปลี่ยนวิธีคำนวณที่นั่ง .. หลังทราบผลการเลือกตั้งแล้วก็ยังทำได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการ

 

แล้วกลไกที่ "ระบอบ คสช." สร้างไว้ ก็ค่อยๆ ปรากฏตัวออกมาให้ประชาชนเห็นได้ระหว่างและหลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบไว้เพื่อทำลายพรรคเพื่อไทย, อิทธิพลของ "มาตรา 44" ที่จะออกคำสั่งเมื่อไรอย่างไรก็ได้การให้อำนาจกับองค์กรอิสระมากเกินไปเพื่อ "จับผิด" .. จากการเลือกตั้ง, การที่องค์กรอิสระมีที่มาจาก คสช. และต้องอยู่ภายใต้อำนาจของ คสช. และที่เด่นชัด คือ การมี .. 250 คนจากการแต่งตั้งเพื่อจะมาเลือกพล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรี 

 

แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ แม้หลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว คสช. ก็ยังวางกลไกไว้อีกมากเพื่อที่จะอยู่ในอำนาจให้ได้อย่าง "มั่นคง" ท่ามกลาง .. จากการเลือกตั้งที่อาจยืนอยู่ฝั่งตรงกันข้าม กลไกเหล่านี้ยังรอวันที่จะเผยตัวออกมาให้ประชาชนเห็นฤทธิ์เดชมากขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ เช่น แผนการปฏิรูปประเทศ, แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ของ คสช., มาตรฐานทางจริยธรรม รวมทั้งองค์กรอิสระอีกหลายแห่งที่ยังไม่ทันได้แสดงบทบาทที่ได้รับมอบหมายไว้ 

 

ชัดเจนว่า คสช. "จงใจ" สร้างกลไกเหล่านี้ขึ้นไว้เพื่อจะอยู่ในอำนาจต่อให้ได้อีกยาวนานหลังการเลือกตั้ง

 

เพื่อการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและอยู่ในอำนาจได้นานที่สุด คสช. ในฐานะรัฐบาลจากการรัฐประหาร เคยใช้อำนาจอย่างตรงไปตรงมาแบบทหารในช่วงเวลา 1-2 ปีแรก ต่อมาก็ปรับตัวโดยการออกกฎหมายใหม่ๆ มาเป็นเครื่องมือและแอบอ้างความชอบธรรมให้ตัวเองผ่านกฎหมายเหล่านี้ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จทางการเมืองในระดับหนึ่ง

 

เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว พวกเขาต้อง "กลายร่าง" เป็นนักการเมืองเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ ในสถานะใหม่ เครื่องมือในการจัดการฝ่ายตรงข้ามก็จะต้องเปลี่ยนรูปไปโดยอ้างกลไกตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภาจากการแต่งตั้ง และองค์กรอิสระอื่นๆ แต่อย่างไรก็ดี คนหน้าเดิมๆ จากชุดที่เคยทำรัฐประหารและอยู่ในอำนาจมาแล้วห้าปีก็ยังคงจะกลับมาผลักดันประเทศให้เดินไปตามทิศทางเช่นเดิม แม้สถานะจะเปลี่ยนไป แต่เมื่อตัวละครและเป้าหมายยังคงเป็นอยู่เช่นเดิม ยุคสมัยแห่ง "คสช. ซีซั่น 2" จึงจะเริ่มต้นขึ้นหลังพล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง 

 

และบทบาทของประชาชนที่จะต้องต่อสู้เพื่อทวงคืนสิทธิขั้นพื้นฐานและการมีส่วนร่วม ก็จึงจะเริ่มขึ้นในซีซั่นที่สอง หลังจากนั้นเช่นกัน

 

 

 

 

[ก่อนท้องฟ้าจะสดใส ทำหน้าที่คล้ายบทบรรณาธิการ ที่แสดงจุดยืนของทีมงานไอลอว์ ในฐานะคนทำงานติดตามประเด็นต่างๆ]

 

 

You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้