เลือกตั้ง 62: ไทม์ไลน์หลัง กกต. ประกาศผลการเลือกตั้ง

หลัง กกต. ประกาศผลการเลือกตั้ง สิ่งที่จะตามมาจะเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้แก่ การเปิดประชุมสภา การเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา หลังจากนั้นจะเป็นการดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการได้มาซึ่งนายกฯ ซึ่งเท่ากับว่า หากยังไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ คสช. จะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไปจนกว่าจะเลือกตั้งใหม่
1) กกต. ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. เขต (7 พ.ค. 62)
วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตอย่างเป็นทางการ 349 คน จากทั้งหมด 350 คน ยกเว้น จ. เชียงใหม่ เขต 8 ที่ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดจากพรรคเพื่อไทย (พท.) โดน "แจกใบส้ม"
โดยการดำเนินการเกินกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ซึ่งให้รับรองผลร้อยละ 95 หรือจำนวน 333 คน เพื่อให้เปิดประชุมรัฐสภานัดแรกได้
2) กกต. ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ (8 พ.ค. 62)
ต่อมา 8 พฤษภาคม 2562 คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ 149 คน หลังจากนั้น กกต. ได้นำประกาศ กกต. เรื่อง ผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา
3) คสช. ทูลเกล้าฯ เสนอชื่อ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน (11 พ.ค. 62)
ทั้งนี้ หลังจากมีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 กำหนดให้ ภายในสามวันนับตั้งแต่ประกาศผลการเลือกตั้ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องดำเนินการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คนให้แล้วเสร็จ เพื่อทูลเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
ซึ่งภายภายในสามวันนับตั้งแต่ประกาศผลการเลือกตั้ง คือ ไม่เกินวันที่ 11 พฤษภาคม 2562 ซึ่ง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รายชื่อ ส.ว.ทั้ง 250 คน จะทูลเกล้าฯ ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562
4) เปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรก (23 พ.ค. 62) 
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 121 กำหนดให้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก 
โดยพระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้
ทั้งนี้ กรอบเวลาภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ วันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ก็เท่ากับว่า การเปิดประชุมสภาครั้งแรกจะต้องไม่เกิน วันที่ 23 พฤษภาคม 2562
5) เลือกประธาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา (ไม่มีกรอบเวลา)
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแต่ละสภา มีประธานสภาคนหนึ่งและรองประธานสภาคนหนึ่งหรือสองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ ตามมติของสภา
โดยในระหว่างการดำรงตำแหน่ง ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นกรรมการบริหารหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองขณะเดียวกันมิได้
6) เปิดประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกฯ (ไม่มีกรอบเวลา)
ตามระบบปกติของรัฐธรรมนูญ 2560 นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองจำนวนไม่เกิน 3 รายชื่อ ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่า 'บัญชีว่าที่นายกฯ' (ตามมาตรา 88) และต้องเป็นบุคคลซึ่งในบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสภาผู้แทนราษฎร
นอกจากนี้ ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมี ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสภาผู้แทนฯ หรือ 50 คน ร่วมกันเสนอชื่อ อีกทั้ง ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับเสียงไม่น้อยกว่า 'ครึ่งหนึ่ง' ของสภาผู้แทนฯ เท่าที่มีอยู่อีกด้วย
แต่ทว่า ใน 'บทเฉพาะกาล' ของรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 272 กลับเพิ่ม 'กลไกพิเศษ' เข้ามาในระบบการเลือกนายกฯ ช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ นั่นก็คือ  ให้ ส.ว.แต่งตั้งฯ มีส่วนในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ ด้วย จากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา
นอกจากนี้ ในมาตรา 272 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดด้วยว่า หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ จากบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมือง ให้ ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันเสนอให้มีการเสนอชื่อนายกฯ ที่ไม่อยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ หรือ เปิดทางให้มี 'นายกฯ นอกบัญชี' ได้
อย่างไรก็ดี คสช. ยังสามารถอยู่ในอำนาจได้ต่อ เนื่องจาก รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลเหมือนกับรัฐธรรมนูญในอดีต
อีกทั้ง รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 265 ให้ คสช. ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังการเลือกตั้งเข้ารับหน้าที่ ดังนั้น หากสภาไม่สามารถจะเสนอชื่อนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะอยู่ในเก้าอี้นายกฯ ต่อไป