รัฐบาลแห่งชาติ: ทางรอด ทางเลือก หรือทางตัน?

กระแสเรื่อง 'รัฐบาลแห่งชาติ' ยังคงดังอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ โดยข้อเสนอดังกล่าว ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง โดย เทพไท เสนพงศ์ ว่าที่ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และเปรียบเสมือนการโยนหินถามทางหา 'ความเป็นไปได้' ให้กับอนาคตการเมืองไทยที่ยังคงผันผวน เนื่องจากไม่มีขั้วการเมืองได้ครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา ทำให้ต้องมีรัฐบาลผสมหลายพรรคที่มีแนวโน้มจะไร้เสถียรภาพ
'ทางรอด' หลังการเลือกตั้ง
ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ช่วงที่มีการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2556-2557 จนถึงหลังการเลือกตั้งในปี  2562 ข้อเสนอเรื่อง 'รัฐบาลแห่งชาติ' เกิดขึ้นอย่างน้อย 4 ครั้ง 
ในข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติแทบจะทุกครั้งจะมีแนวคิดที่คล้ายกัน คือ การหา 'นายกรัฐมนตรีที่มีความเป็นกลาง' ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายมาบริหารประเทศเป็นเวลาชั่วคราว ในระยะ 1-2 ปี โดยมีเป้าหมายหลักคือการปฏิรูปและแก้ไขกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญให้เป็นธรรม ก่อนจะคืนอำนาจให้ประชาชนกลับสู่การเลือกตั้งอีกครั้ง
ในครั้งล่าสุด ข้อเสนอดังกล่าวมาจาก เทพไท เสนพงศ์ ว่าที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง และแก้รัฐธรรมนูญ โดยมีวาระเพียงแค่ 2 ปี จากนั้นให้คืนอำนาจแก่ประชาชนและจัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะ เทพไท มองว่า การเมืองปัจจุบันเสี่ยงจะติดทางตัน เนื่องจากแต่ละฝ่ายที่อยากจะจัดตั้งรัฐบาลมีเสียงแบบ 'ปริ่มน้ำ' แม้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลแต่ก็ไม่มีความมั่นคง
ทั้งนี้ เทพไท ยังเปิดเผยรายชื่อ บุคคลที่เหมาะสมจะเป็น 'นายกฯ คนกลาง' จำนวน 4 รายชื่อ ได้แก่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี และอดีตผู้บัญชาการทหารบก, พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี, ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
 'ทางเลือก' ที่เป็นไปได้ยาก
หลังมีกระแสรัฐบาลแห่งชาติออกมา มีบางส่วนที่ยัง 'แบ่งรับแบ่งสู้' กับข้อเสนอดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดย ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ออกมาให้ความเห็นว่า ข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ เป็นไปได้ยากมากหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย เพราะตามหลักการแล้ว ในระบอบประชาธิปไตยต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลคอยทำหน้าที่นี้อยู่ในสภา แต่รัฐบาลแห่งชาติก็ไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาล็อกไว้ว่า ต้องมีผู้นำฝ่ายค้าน เป็นแต่เพียงการกำหนดไว้ว่า พรรคที่มีเสียงข้างมากที่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลให้มีผู้นำฝ่ายค้าน 
ชาติชาย มองว่า การที่รัฐบาลแห่งชาติจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมีวิกฤตทางการเมืองที่ร้ายแรงและจำเป็นเร่งด่วนจริงๆ เช่น ภาวะสงคราม ซึ่งต้องใช้การระดมสมองจากทุกพรรคในสภาแบบนี้เป็นต้นจึงจะเกิดขึ้นได้ แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองตอนนี้ยังไม่มีเหตุและความจำเป็นในการตั้งรัฐบาลแห่งชาติแต่อย่างใด
ด้าน พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ส่วนข้อเสนอให้มีรัฐบาลแห่งชาติ ยอมรับว่า รัฐธรรมนูญเปิดทาง แต่การจะพูดถึงในขณะนี้ก็เหมือนเป็นการข้ามขั้นตอนไป ซึ่งเราเคารพในทุกความเห็น หากเดินหน้าได้ตามข้อเสนอก็เดินไป แต่หากไม่ได้ก็ไม่ได้ และส่วนตัวยังไม่ได้วิเคราะห์ว่าการ มีรัฐบาลแห่งชาติจะสามารถแก้ไขปัญหารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำได้หรือไม่
'ทางตัน' ของระบอบประชาธิปไตย
หลังมีกระแสข้อเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ พรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่า 'ฝ่ายประชาธิปไตย' ต่างก็เห็นร่วมกันที่จะ 'คัดค้าน' ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทยและพรรคเพื่อชาติ
โดยพรรคอนาคตใหม่ นำโดย พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ออกมาแถลงว่า ข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติเป็นไปไม่ได้ด้วยเหตุผล 3 ข้อ คือ ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดหลักการประชาธิปไตย ขัดกับอุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ 
"ตามประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีหลายครั้งที่มักจะมีข้อเสนอถึงการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ก็เพราะพรรคการเมืองบางพรรคอยากเป็นรัฐบาลแต่เสียงไม่พอที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงอ้างเดธล็อกทางการเมืองแล้วเสนอให้ใช้ถ้อยคำที่สวยหรูอย่างคำว่ารัฐบาลแห่งชาติมาใช้ แต่หากปล่อยให้พรรคที่มีส.ส.เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล ก็จะเห็นได้ว่าเดธล็อกทางการเมืองก็ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน" โฆษกพรรคอนาคตใหม่กล่าว
ด้านพรรคเพื่อชาติ มี รยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรค ให้ความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เนื่องจากผิดหลักการประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ต้องมาจากประชาชน และจากการเลือกตั้งเท่านั้น 
นอกจากนี้ รยุศด์ ยังกล่าวอีกว่า กระบวนการได้มาซึ่งรัฐบาลแห่งชาตินั้น ยังเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญของฝ่ายที่เสนอแนวคิดนี้ต้องออกมาอธิบายให้สังคมเข้าใจว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะไม่เพียงขัดหลักการประชาธิปไตย ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐาน และประเพณีการปกครองที่ทำให้ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศเจือจางถดถอยไปอีก 
ส่วนทางพรรคเพื่อไทย มี ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการ พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตนจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่มีความพยายามจะทำให้เกิด ทางตันทั้งปวง และพยายามจะเสนอทางออกเรื่อง รัฐบาลแห่งชาติ โดยคิดว่าจะให้สังคมยอมรับเป็นทางเลือกที่จำเป็นของสังคมไทย ทั้งที่ยังไม่ได้เห็นความพยายามใด ๆ ที่จะทำให้ทางออกเกิดขึ้นตามเงื่อนไขและกลไกประชาธิปไตย 
ภูมิธรรม ระบุอีกว่า กกต. และผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งปวงต้องทำงานอย่างโปร่งใส ยึดถือความถูกต้องและผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวมเป็นที่ตั้ง แล้วประเทศจะมีทางออก รีบประกาศผลการเลือกตั้ง อย่างตรงไปตรงมา และเที่ยงธรรม โดยเร็วประเทศไทยยังมีทางออก และระบอบประชาธิปไตย ยังเป็นความหวังที่สร้างทางออกร่วมกันอย่างเป็นจริง