9 เหตุผลที่ สนช. ควรหยุดพิจารณากฎหมายได้แล้ว

เหลือเวลาอีก 24 วัน จะถึงวันเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 แต่ทว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. สภาแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันในการเห็นชอบกฎหมาย 

นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 เป็นต้นมา สนช. เห็นชอบกฎหมายอย่างน้อย 66 ฉบับ และหลายฉบับยังเป็นที่ถกเถียงถึงความเหมาะสมอย่างกว้างขว้างในสังคม เช่น ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน, ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ และ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ด้วยเหตุนี้ ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนหลายกลุ่มออกมาเรียกร้องให้สนช. ยุติการพิจารณากฎหมายในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง เพื่อรอให้มีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง สภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนเป็นผู้พิจารณากฎหมายต่อ รวมถึงรอให้บรรยากาศทางการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน และเสรีภาพของสื่อมวลชนอยู่ในสภาวะปกติเสียก่อน
ทั้งนี้ พอจะสรุปเหตุผลที่ สนช. ควรหยุดพิจารณากฎหมาย ได้ 9 ข้อ ดังนี้

หนึ่ง สนช. ไม่ยึดโยงกับประชาชน มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.

เหตุผลประการแรกที่ สนช. ควรหยุดพิจารณากฎหมาย เพราะ สนช. เป็นสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ขาดความยึดโยงกับประชาชนทำให้สภาดังกล่าวขาดความชอบธรรมในการพิจารณาตัดสินกฎหมายแทนประชาชน 
ทั้งนี้ หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ พ.ศ. 2557 รัฐธรรมนูญที่คสช. เป็นคนร่าง จะพบว่า ที่มาของ สนช. คือ มาจาก “การแต่งตั้งของ คสช.” ซึ่งที่ผ่านมา คสช. ได้ทำการแต่งตั้งสมาชิกสนช. ไปอย่างน้อย 5 ครั้ง และมีสมาชิกมากที่สุดถึง 250 คน โดยในจำนวนนี้มีสมาชิก คสช. นั่งเก้าอี้ทับซ้อนเป็นสมาชิก สนช. อีกด้วย เช่น บรรดาผู้นำเหล่าทัพ ผู้บัญชาการทหารและตำรวจ

สอง สนช. เป็นเครื่องมือของ คสช. ในการออกกฎหมาย

เหตุผลประการที่สอง ที่ สนช. ควรหยุดพิจารณากฎหมาย คือ สนช. ป็นแค่กลไกการออกกฎหมายของ คสช. โดยคสช. เพื่อคสช. กล่าวคือ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ พ.ศ. 2557 นอกจาก สนช. จะมาจากการแต่งตั้งของคสช. แล้ว สนช. ยังมีหน้าที่หลักในการ ‘ออกฎหมาย’  เพื่อช่วยเหลือการทำงานของคสช. มากกว่าเป็นองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร เพราะไม่มีอำนาจตรวจสอบถ่วงดุล เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือ การจะถอดถอนนายกรัฐมนตรีก็ต้องได้รับความเห็นชอบจาก คสช. ก่อน เป็นต้น
ที่ผ่านมา สนช. ออกกฎหมายเพื่อ คสช. ในสามลักษณะ ได้แก่ หนึ่ง ออกกฎหมายเพื่อให้ คสช. ใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามประชาชนที่ต่อต้าน เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สอง ยื้อการเลือกตั้งต่ออายุให้กับรัฐบาล คสช. เช่น พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.ฯ และ สาม ออกกฎหมายเพื่อให้ คสช. สามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้หลังการเลือกตั้ง เช่น พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 

สาม สนช. เป็นสภาที่ไม่มีฝ่ายค้าน เสียงไม่เคยแตกแถว

เหตุผลประการที่สาม ที่ สนช. ควรหยุดพิจารณากฎหมาย คือ สนช. เป็นสภาที่ไม่มีฝ่ายค้าน โดยปกติการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกได้รับเลือกตั้งมากที่สุดเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคการเมืองที่ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลก็จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายตรวจสอบและควบคุมให้ฝ่ายบริหารดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา นั้นคือ หน้าที่ของ ‘ฝ่ายค้าน’ 
แต่ในสภานิติบัญญัติไม่มีฝ่ายค้าน และยิ่งไปกว่านั้น หากดูลักษณะการพิจารณากฎหมายของสนช. จะพบว่า มีการลงมติที่ ‘เสียงแตกน้อยมาก’ แม้ในกฎหมายที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์เยอะ เช่น ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ร่างพ.ร.บ.แร่  หรือ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ร่างกฎหมายเหล่านี้ ได้รับเสียเห็นชอบจากสนช. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ซึ่งกฎหมายที่เข้าสู่สภาส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80 ขึ้นไป) เป็นกฎหมายจากรัฐบาลคสช.   

สี่ การออกกฎหมายไม่ควรถูกผูกขาดด้วยทหารหรือข้าราชการ

เหตุผลประการที่สี่ที่ สนช. ควรหยุดพิจารณากฎหมาย คือ สัดส่วนสมาชิก สนช. ไม่หลากหลาย ทำให้การออกกฎหมายถูก ‘ผูกขาด’ โดยทหารและข้าราชการ เนื่องจาก หากนับถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเป็นวันที่มีจำนวนสมาชิกครบ 250 คน จะพบว่า สัดส่วนของ สนช. ทั้ง 250 คน จะพบว่า เป็นทหารจำนวนมากถึง 58% (145 คน) รองลงมาเป็นข้าราชการ 26% (66 คน) ภาคธุรกิจ8% (19 คน) ตำรวจ 5% (12 คน) และที่เหลือเพียง 3% (8 คน) เป็นนักวิชาการหรือภาคประชาสังคม หากรวมสมาชิกที่เคยเป็นข้าราชการหรือทำงานในหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจทุกประเภทจะมีจำนวนถึง 89% (223 คน) ของสมาชิกทั้งหมด จนสามารถเรียกได้ว่าเป็น“สภาทหารและข้าราชการ” 
จากสัดส่วนนี้ อาจกล่าวได้ว่า สภาที่จะมาทำหน้าที่พิจารณากฎหมายซึ่งครอบคลุมประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงเรื่องอื่นๆ ขาดความหลากหลาย กลายเป็นคนเพียงเฉพาะกลุ่มที่ทำหน้าที่ิพิจารณากฎหมาย ได้แก่ บรรดาทหารและข้าราชการ 

ห้า การออกกฎหมายต้องใช้ความรอบคอบ ไม่ใช่แค่รวดเร็ว

เหตุผลประการที่ห้า ที่ สนช. ควรหยุดพิจารณากฎหมาย คือ การพิจารณากฎหมายควรใช้ความรอบคอบ มากกว่าความรวดเร็ว ตลอดเกือบห้าปีที่ผ่านมา นับถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 สนช. เห็นชอบกฎหมายไปแล้วอย่างน้อย 412 ฉบับ โดยแต่ละปีเห็นชอบกฎหมายเฉลี่ยแล้วไม่น้อยกว่า 60 ฉบับ เดือนละไม่น้อยกว่า 5 ฉบับ หรือ อาทิตย์ละ 1 ฉบับ 
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงโค้งสุดท้ายของสนช. มีการเร่งรัดการพิจารณากฎหมายเป็นพิเศษ เช่น ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2561 ระหว่างวันที่ 25-28 ธันวาคม 2561 มีการผลักดันวาระการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายมากถึง 67 ฉบับ โดย สนช. มีการพิจารณาลงมติร่างกฎหมายอย่างน้อย 47 ฉบับ 
นอกจากนี้ ในช่วงหนึ่งเดือนระหว่างวันที่ 18 มกราคม – 18 กุมภาพันธ์2562 สนช.ลงมติเห็นชอบผ่านกฎหมายเพื่อประกาศใช้บังคับจำนวนทั้งสิ้น 66 ฉบับ หรือเฉลี่ยสัปดาห์ละ 18 ฉบับ ทั้งที่ โดยปกติ สนช. จะนัดประชุมต่อสัปดาห์ไม่เกิน 2-3 ครั้ง หรือเท่ากับว่า ในการประชุมหนึ่งครั้งหรือหนึ่งวัน เห็นชอบกฎหมาย 6-9 ฉบับ
หลังจากนี้ ยังมีกฎหมายค้างการพิจารณาอยู๋ในสภาอย่างน้อย 33 ฉบับ หากเป็นจริงดังที่ สมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการสนช. กล่าวว่า สนช. จะปฏิบัติหน้าที่ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2562 หรือ มีเวลาประมาณ 2 อาทิตย์ในการพิจารณากฎหมาย  
หากปล่อยให้มีการออกกฎหมายด้วยความรวดเร็วเช่นนี้ ก็อาจทำให้ขาดความรอบคอบ ซึ่งที่ผ่านมา สนช. ก็เคยมีบทเรียนแล้ว อย่างเช่น พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำฯ พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้ ผู้ที่ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับและโทษจำคุก จนสร้างความวิตกให้กับชุมชนริมน้ำที่อยู่มาอย่างยาวนาน เช่น ประชาชนหมู่บ้านปันหยี จังหวัดพังงา ที่เป็นหมู่บ้านกลางน้ำ และดำเนินการใช้ชีวิตมากว่า 300 ปี จนสุดท้าย หัวหน้าคสช. ต้องใช้มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้

หก ผู้ออกกฎหมายไม่ควรมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกฎหมาย

เหตุผลประการที่หก ที่ สนช. ควรหยุดพิจารณากฎหมาย คือ ผู้ทำหน้าที่ออกกฎหมายไม่ควรมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกฎหมายเสียเอง กล่าวคือ ที่ผ่านมา สนช. ซึ่งประกอบไปด้วยบรรดาข้าราชการและทหาร และกลุ่มทุน มีผลประโยชน์ในการผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง 
ยกตัวอย่างเช่น การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร หรือ ร่างพ.ร.บ.ศาลทหาร ที่เพิ่มอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารควบคุมตัวผู้ต้องหาโดยไม่ต้องขอหมายศาล ในขณะที่มีการบังคับใช้ศาลทหารกับพลเรือน นอกจากนี้ กฎหมายยังขึ้นเงินเดือนให้กับตุลาการศาลทหาร และอัยการทหาร ทั้งที่ พลเรือเอก กฤษฎา เจริญพานิช เจ้ากรมพระธรรมนูญ และตุลาการศาลทหาร เป็นหนึ่งในสมาชิกสนช. และเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว และท้ายที่สุดก็เป็นคนลงคะแนนเห็นชอบด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ ผู้นำกองทัพมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการอนุมัติงบประมาณ ให้กองทัพผ่านการเห็นชอบ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี นับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ปี 2557 รวมแล้วไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท เนื่องจาก บรรดาผู้นำเหล่าทัพ ผู้บัญชาการทหารและตำรวจ ล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิก สนช. 
ในขณะเดียวกัน กฎหมายบางฉบับก็ออกมาไม่ได้ เพราะเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ของสมาชิกในสนช. เช่น  ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม เนื่องจาก ผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากกฎหมายดังกล่าวคือบรรดาข้าราชการที่เป็นสมาชิก สนช. เพราะกฎหมายระบุว่า ห้ามไมให้เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งพ้นตำแหน่งไม่เกินสองปี เข้าไปดำรงตำแหน่งในธุรกิจเอกชน และรับเงินหรือประโยชน์จากธุรกิจ

เจ็ด กฎหมายไม่ควรออกในบรรยากาศที่การมีส่วนร่วมมีจำกัด

เหตุผลประการที่เจ็ด ที่ สนช. ควรหยุดพิจารณากฎหมาย คือ การออกกฎหมายไม่ควรออกในบรรยากาศที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจาก ปัจจุบัน การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นไปอย่างจำกัด การชุมนุมเพื่อคัดค้านกฎหมายหรือนโยบายเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจาก คสช. ได้ออกประกาศและคำสั่งเพื่อควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน เช่น ห้ามชุมนุมทางการเมืองหรือมั่วสุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ที่ผ่านมามีคนถูกดำเนินคดีภายใต้ข้อหานี้อย่างน้อย 421 คน
แม้ว่า ในปัจจุบันประกาศและคำสั่งคสช. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ คสช. ยังมี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่สร้างข้อจำกัดในการแสดงออก เช่น จัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชม. ต้องชุมนุมในพื้นที่ที่กำหนด และห้ามใช้เสียงเกินกว่าที่เจ้าหน้าที่กำหนด ทั้งนี้ หลังกฎหมายบังคับใช้ มีผู้ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 29 คดี
ที่สำคัญ หลังการรัฐประหาร ภาคส่วนที่ไม่ได้รับการคืนเสรีภาพมากที่สุดคือ ‘สื่อมวลชน’ เนื่องจาก คสช. ยังไม่ยอมยกเลิกประกาศเพื่อควบคุมสื่อมวลชนในการทำหน้าที่ตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ตลอดหลังรัฐประหารมีสื่อถูกลงโทษหรือจำกัดการนำเสนอเนื้อหาโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อย่างน้อย 59 ครั้ง
นอกจากนี้ สำหรับภาคประชาชนที่แสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะพื้นที่ออนไลน์ ในลักษณะของการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล นโยยายรัฐบาล ก็อยู่ในความเสี่ยงจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (2) ที่ครอบคลุมการแสดงออกบนโลกออนไลน์ที่รัฐเห็นว่าเป็นภัยความมั่นคงได้อย่างอิสระ ที่ผ่านมามีผู้ถูกดำเนินคดี อย่างน้อย 45 คน
กล่าวโดยสรุปคือ ด้วยบรรยากาศทางการเมืองเช่นนี้ การเร่งรัดออกฎหมายจึงขาดความรอบคอบ ประชาชนถูกปิดกั้นโอกาสในการนำเสนอและรับรู้ข่าวสารต่อกฎหมายที่กำลังจะส่งผลกระทบต่อตนเอง

แปด คสช. มีข้อได้เปรียบก่อนการเลือกตั้ง

เหตุผลประการที่แปดที่ สนช. ควรหยุดพิจารณากฎหมาย คือ เพื่อไม่ให้ คสช. มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ ก่อนการเลือกตั้ง เนื่องจาก โดยปกติแล้ว ก่อนการเลือกตั้งจะถือว่า สภาพ้นวาระไปแล้วไม่สามารถทำหน้าที่ได้ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 กลับไม่ได้กำหนดวาระการสิ้นสุดของสนช. ให้สิ้นสุดก่อนการเลือกตั้ง ในขณะเดียวกัน ยังกำหนดให้ สนช. ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าถึงวันก่อนที่จะมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก หรือหมายความว่า คสช. ยังมีสภาที่แต่งตั้งมาเองคอยทำหน้าที่พิจารณากฎหมายหรือแต่งตั้งบุคคลตามรัฐธรรมนูญได้ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งด้วย

เก้า การพิจารณากฎหมายควรให้ตัวแทนประชาชนเป็นคนทำ

เหตุผลประการที่แปดที่ สนช. ควรหยุดพิจารณากฎหมาย คือ การออกกฎหมายควรให้ตัวแทนประชาชนเป็นผู้พิจารณา เนื่องจากในระบอบประชาธิปไตย กระบวนการออกกฎหมายต้องมีความชอบธรรมทางการเมือง ซึ่งหมายถึงการที่ประชาชนมีสิทธิในการตัดสินใจในกฎหมายที่จะนำมาบังคับใช้กับตนเอง แต่เนื่องจาก ประเทศใช้ระบบ ‘ตัวแทน’ ทำให้รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง มีความชอบธรรมในฐานะตัวแทนประชาชนมาทำหน้าที่ ‘นิติบัญญัติ’ หรือ ออกกฎหมาย   
You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา