แถลงการณ์เครือข่าย People GO เรียกร้องให้ สนช. ยุติการพิจารณาร่างกฎหมายทุกฉบับ

 

การก้าวสู่ปีที่ 5 ของการปกครองภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่ในฐานะองค์กรนิติบัญญัติ พิจารณาออกกฎหมายแทนสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)และวุฒิสภา (ส.ว.) จากข้อมูลเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 องค์ประกอบสมาชิก สนช. ที่มาจาก “การแต่งตั้งของ คสช.” จำนวนสมาชิกทั้งหมด 250 คน เป็นทหารจำนวนมากถึง 58% (145 คน) รองลงมาเป็นข้าราชการ 26% (66 คน) ภาคธุรกิจ 8% (19 คน) ตำรวจ 5% (12 คน) และที่เหลือเพียง 3% (8 คน) เป็นนักวิชาการหรือภาคประชาสังคม หากรวมสมาชิกที่เคยเป็นข้าราชการ หรือทำงานในหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจทุกประเภทจะมีจำนวนถึง 89% (223 คน) ของสมาชิกทั้งหมด จนสามารถเรียกได้ว่าเป็น “สภาทหารและข้าราชการ” 
ที่ผ่านมามีร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ทั้งสิ้น 509 ฉบับ โดยผ่านความเห็นชอบและประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วทั้งสิ้น 412 ฉบับ เฉลี่ยแล้วการพิจารณากฎหมายของ สนช. ตกปีละเกือบร้อยฉบับ เฉพาะในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2561 (วันที่ 25-28 ธันวาคม 2561) มีการผลักดันวาระการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายมากถึง 67 ฉบับ โดย สนช.มีการพิจารณาลงมติร่างกฎหมายอย่างน้อย 47 ฉบับ และในช่วงหนึ่งเดือนระหว่างวันที่ 18 มกราคม – 18 กุมภาพันธ์ 2562 สนช.ลงมติเห็นชอบผ่านกฎหมายเพื่อประกาศใช้บังคับจำนวนทั้งสิ้น 66 ฉบับ 
การพิจารณากฎหมายที่รวดเร็วและเร่งรีบเช่นนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อเทียบกับกระบวนการนิติบัญญัติในสภาวะปกติ และแม้จะเหลือเวลาอีกเพียงหนึ่งเดือนก่อนถึงวันเลือกตั้ง แต่ สนช.กลับยังคงเดินหน้าพิจารณาออกกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศว่าจะหยุดปฏิบัติหน้าที่ต่อเมื่อเข้าช่วง 7 วันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง
ตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า “เรากำลังอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ แต่ถูกทำให้ปกติ” การพิจารณากฎหมายขององค์กรนิติบัญญัติอย่าง สนช. ที่เต็มไปด้วยตัวแทนกองทัพและระบบราชการ จึงเป็นไปเพื่อขยายอำนาจรัฐ มีผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้อกับธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ลดทอนอำนาจและจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.บ.โรงงานฯ, ร่างพ.ร.บ.ข้าว, ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ และ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การพิจารณากฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างกว้างขวางภายใต้สภาวะการปกครองที่ไม่ปกติและประชาชนถูกปิดกั้นการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นจึงเป็นกระบวนการนิติบัญญัติที่ไร้ซึ่งความชอบธรรม โดยเฉพาะในห้วงเวลานี้ที่สังคมไทยกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง
เครือข่ายภาคประชาชนในนาม People Go Network ประชาชน นักวิชาการ ดังมีรายชื่อแนบท้าย เห็นว่า สนช. ต้องตระหนักว่าตนเองไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทั้งในแง่ที่มา กฎหมายที่เขียนขึ้น และการจะทำงานจนถึงวินาทีสุดท้าย เมื่อมีการประกาศชัดเจนแล้วว่าจะมีการเลือกตั้ง จึงขอเรียกร้องให้ สนช. ยุติการพิจารณาร่างกฎหมายทุกฉบับในขณะนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลและสภาที่มาจากการเลือกตั้งต้องทำการทบทวนกฎหมายของ สนช. ที่ควรยกเลิกหรือแก้ไขต่อไป
ไฟล์แนบ