สถานะของ “พระบรมราชโองการ” ในรัฐธรรมนูญ 2560

 

เวลาเกือบ 23.00 ของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 สถานีโทรทัศน์ทุกช่องถ่ายทอดสดการออกพระบรมราชโองการ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูล สรุปใจความได้ว่า การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม เป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
สถานะของ "พระบรมราชโองการ" รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย 2560 และกฎหมายอื่นๆ ก็ไม่ได้นิยามไว้ และไม่ได้จัดลำดับศักดิ์ไว้ว่า มีสถานะอย่างไร อยู่สูงกว่าหรือต่ำกว่ากฎหมายและรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ รวมทั้งไม่ได้กำหนดเงื่อนไขในการออกแต่ละครั้งอย่างไร
รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนคำว่า "พระบรมราชโองการ" ไว้  20 ครั้ง รวมแล้วเห็นเหตุที่จะต้องออกพระบรมราชโองการ พอแบ่งเป็นประเภทได้ ดังนี้
1. การแต่งตั้งองคมนตรี และให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
2. การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
3. การแก้ไขกฎมณเฑียรบาล
4. พิธีการของรัฐสภา รวมทั้ง การแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้าน การเรียกเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ การเรียกเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ
5. การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี และให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
6. การแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
7. การแต่งตั้งวุฒิสภาชุดแรก ที่ คสช. เป็นผู้คัดเลือกมา 
ไม่ใช่พระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ไม่ต้องให้รัฐมนตรีลงนาม
ปัญหาในประการที่สังคมสงสัย คือ พระบรมราชโองการต้องมีผู้รับสนอง และมีผู้ลงนามเสมอไปหรือไม่ เพราะฉบับที่ออกในคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ยังไม่มีผู้ใดลงนามข้างท้าย ทั้งที่พระบรมราชโองการทุกประเภทที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมีกำหนดไว้หมดแล้วว่า ให้ผู้ใดรับสนอง เช่น ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา องคมนตรี ฯลฯ
แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 182 จะเขียนว่า 
"มาตรา 182 บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ"
แต่ก็เป็นกรณีพระบรมราชโองการ "อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน" เท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่ต้องมีรัฐมนตรีรับสนองก็เพราะหลักการ The King can do no wrong หรือหมายความว่า พระมหากษัตริย์ไม่ต้องลงมือทำอะไรเอง จะต้องมีผู้อื่นที่มีหน้าที่นำไปดำเนินงานงานต่อตามพระบรมราชโองการนั้นเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง
แต่ฉบับที่ออกเมื่อคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ไม่ใช่เป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน และไม่ต้องดำเนินการอย่างไรต่อ จึงไม่อาจอ้างมาตรา 182 ว่า ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองได้
ในยุคสมบูรณายาสิทธิราช การออกพระบรมราชโองการพระมหากษัตริย์ไม่ต้องลงพระลงพระปรมาภิไธย และไม่ต้องมีผู้รับสนอง
จากการค้นคว้าเพิ่มเติมในราชกิจจานุเบกษาพบว่า พระบรมราชโองการที่มีสถานะเป็นกฎหมาย ที่ออกก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ไม่เคยมีการลงพระปรมาภิไธย เช่น พระบรมราชโองการ ประกาศคำนำพระนาม พระบรมวงษานุวงษ์ ที่ออกเมื่อ 15 กรกฎาคม รศ.130 หรือจะเป็นพระบรมราชโองการที่เกี่ยวกับงานบริหารจัดการกระทรวง ทบวง กรม เช่น พระบรมราชโองการ ประกาศให้ยุบกรมทะเบียน และกรมตรวจการบัญชี ที่ออกเมื่อ 20 มีนาคม 2475 ก็ไม่ต้องมีผู้ลงนามรับสนองราชโองการ
แต่หลังประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองพบว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยที่ท้ายกฎหมายทุกฉบับ รวมถึงพระบรมราชโองการด้วย เช่น พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งอุปนายกสมาคมสยาม ที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งตำแหน่งก็มีการลงพระปรมาภิไธย และในพระราชโองการ ประกาศจัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร ที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร จัดการประเทศ มีการลงพระปรมาภิไธยและชื่อผู้รับบรมราชโองการด้วย และถือว่าเป็นวิธีปฏิบัติในประเทศไทยตลอดเรื่อยมา จนถึงพระบรมราชโองการฉบับที่ออกในคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ที่กลับไม่มีผู้รับสนองเขียนไว้ด้วย
สุดท้ายอีกเรื่องที่สำคัญ ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 37 ง ที่ตีพิมพ์ประกาศฉบับเมื่อคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นั้น ใช้คำเรียกประกาศฉบับนี้ว่า ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ข้อมูลในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาไม่เคยมีประกาศลักษณะนี้มาก่อน และไม่มีกฎหมายใดกำหนดเงื่อนไขในการประกาศ หรือกำหนดสถานะของประกาศเช่นนี้ไว้