เลือกตั้ง 62: ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ตัวแปรในการสืบทอดอำนาจ คสช.

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังอยู่ในอำนาจมานานกว่า 4 ปี ทั้งนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ คสช. เขียนขึ้น เปิดช่องให้คสช. ไม่ลงจากอำนาจไปง่ายๆ โดยพรรคการเมืองที่จะเป็นปัจจัยหลักในการอยู่ในอำนาจต่อของ คสช. ก็คือ ‘พรรคพลังประชารัฐ’

ก่อตัวจากเครือข่ายกลุ่มสามมิตร 

พรรคพลังประชารัฐก้าวเข้าสู่ถนนการเมืองผ่าน ชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม คนสนิทของ ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เข้ายื่นจดจองชื่อพรรคต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง 

หลังจากนั้น พรรคก็ได้รัฐมนตรีอีก 4 คน จากรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นกำลังหลักขับเคลื่อนพรรค ได้แก่ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งว่ากันว่าเป็นลูกศิษย์ ‘หัวกะทิ’ ของสมคิด 
ในขณะเดียวกัน ก็มีเหตุการณ์คู่ขนานอย่างการเคลื่อนไหวของ กลุ่ม ‘สาม ส’. หรือ สามมิตร ที่นำโดย ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ อดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และอดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย, ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ แกนนำกลุ่มมัชฌิมา อดีตรัฐมนตรี 4 กระทรวง และแกนนำกลุ่มวังน้ำยม กลุ่ม ส.ส. ที่เคยสังกัดในพรรคไทยรักไทย ส่วน ส. ที่สามซึ่งคาดว่า เป็น สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้เดินทางเทียบเชิญนักการเมืองต่างๆ มาเข้ากลุ่ม
จนกระทั่ง มีการเปิดรับสมัครสมาชิกพรรคทำให้กลุ่มสามมิตรและอดีตนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่นเข้ามาร่วมพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการพร้อมยุติกลุ่มสามมิตรในที่สุด

เจ้าของฉายา ‘พรรคพลังดูด’

หนึ่งในปฏิบัติการเฟ้นหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ ถูกเรียกขานจากหน้าหนังสือว่า ‘ใช้พลังดูด’ หรือ การดึงดูดนักการเมืองและอดีตนักการเมืองมาเป็นพรรคพวก และด้วยประสบการณ์การเมืองอันโชกโชนของสมาชิกกลุ่มสามมิตร อย่าง สมศักดิ์ เทพสุทิน กับ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ทำให้พรรคพลังประชารัฐสามารถเดินหน้าดูดตัวนักการเมืองตั้งแต่เหนือจรดใต้เข้าสังกัดอย่างน้อย 82 คน โดยเฉพาะการดึงตัวนักการเมืองจากพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ 
พลังดูดที่ว่านี้ อาจไม่ใช่ดูดด้วยอำนาจของเงินตราเพียงอย่างเดียว แต่อาจะเป็นการ “เคลียร์” คดีความที่คั่งค้างอยู่ของตัวนักการเมืองหรือบุคคลใกล้ชิด อีกเงื่อนไขหนึ่งที่ให้ทำพลังการดูดเพิ่มขึ้นก็คือ การคืนตำแหน่งให้กับนักการเมืองท้องถิ่นที่เคยถูกรัฐบาลชุดนี้ออกคำสั่งให้ตรวจสอบการทุจริตอย่างน้อย 9 คน 
ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ พรรคพลังประชารัฐเลือกดึงตัวนักการเมืองที่มีฐานเสียงในระดับภูมิภาคเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็น การดึงตัวคนจากพรรค ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา พลังชล รวมถึงพรรคการเมืองเก่าอย่างไทยรักไทย มาร่วมด้วย

เจ้าของคำพูด ‘รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา’

ต้องยอมรับว่า ประโยคที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ซึ่งหลุดจากปาก สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร คือ คำอธิบายปรากฏการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ได้เป็นอย่างดี
เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้วางกติกาการเลือกตั้งที่ทำให้พรรคที่ประกาศสนับสนุนมีความได้เปรียบยิ่งกว่าพรรคอื่น อาทิ ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ Mixed Member Apportionment System (MMA) ที่ใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เลือกคนไหนเท่ากับเลือกพรรคนั้น ทำให้บรรดาพรรคที่มีนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลไปสังกัดพรรคมีข้อได้เปรียบ 
นอกจากนี้ ระบบเลือกตั้งแบบ MMA ยังทำให้พรรคขนาดใหญ่ที่เคยได้ที่นั่ง ส.ส. จำนวนมาก ได้ ส.ส. แบบปาร์ตี้ลิสต์น้อยลง ผลลัพธ์ที่ได้จากระบบเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้ไม่มีพรรคไหนสามารถครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรได้ 
ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้ การลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการการพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา หรือ ต้องได้เสียงสนับสนุนจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ ไม่น้อยกว่า 376 เสียง อีกทั้ง ต้องไม่ลืมอีกว่า รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้  ส.ว. ชุดแรกมาจากการคัดเลือกโดยคสช. จำนวน 250 คน ที่พร้อมสนับสนุนสานต่อภารกิจของคสช. หรือสนับสนุนพรรคที่สนับสนุนคสช.
เท่านั้นยังไม่พอ เนื่องจากรัฐธรรมนูญให้อำนาจพิเศษ อย่าง มาตรา 44 กับรัฐบาลคสช. ไว้ และ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคสช. ก็เคยใช้อำนาจดังกล่าว ‘แทรกแซง’ การแบ่งเขตการเลือกตั้งของกกต. โดยเฉพาะในพื้นที่หาเสียงหลักของพรรคพลังประชารัฐ 
อีกทั้ง ก่อนหน้าที่สี่รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. จะลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 ทั้งสี่คน ยังมีข้อได้เปรียบเพราะมีสถานะ ‘รัฐบาลพิเศษ’ ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้จำกัดอำนาจไว้เหมือนรัฐบาลรักษาการหลังการยุบสภาหรือมีการเลือกตั้งใหม่หลังครบวาระ ทำให้สามารถอนุมัติเงินหรือโครงการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการได้ ควบคู่ไปกับการเดินสายหาเสียงทางการเมือง 

พรรคตัวแปรสำคัญในการสืบทอดอำนาจของคสช.

ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญปี 2560 รัฐธรรมนูญที่ คสช. เป็นคนฟูมพัก ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคที่สนับสนุน คสช. มีโอกาสจะช่วย คสช. สืบทอดอำนาจ และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐ
เนื่องจากรัฐธรรมนูญเปิดทางให้ คสช. กลับเข้าสู่อำนาจได้อีกครั้ง ผ่านการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง โดยมาตรา 159 กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่เกิน 3 รายชื่อ ก่อนปิดสมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่ได้จำกัดว่า ชื่อของบุคลลที่เสนอให้เป็นนายกรัฐมตรีนั้นจะต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็น ส.ส. ด้วย
แต่มีเงื่อนไขอยู่ว่า พรรคที่มีสิทธิเสนอชื่อให้ คสช. กลับมาเป็นนายกฯ ต้องเป็นพรรคที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ พรรคที่ได้ที่นั่งในสภาไม่น้อยกว่า 25 คน และการเสนอชื่อต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือไม่น้อยกว่า 50 คน  
ดังนั้น ก้าวแรกของการที่ คสช.จะกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง คือ คสช. ต้องคว้าที่นั่งในสภาอย่างต่ำ 25 ที่นั่ง
อย่างไรก็ดี ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ หากพรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช. ต้องการจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองต้องได้รับเสียงจากรัฐสภาไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 376 เสียง 
แต่เนื่องจาก คสช. มีความได้เปรียบในเรื่องจำนวน ส.ว. ที่ตัวเองเป็นคัดเลือกไว้อยู่แล้ว 250 ที่นั่ง ดังนั้น หากพรรคพลังประชารัฐและพรรคอื่นๆ ที่ต้องการสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. ก็เพียงแค่ต้องรวมเสียงในสภาผู้แทนฯ ให้ได้อย่างน้อย 126 ที่นั่ง เพีื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยจากสภาผู้แทนฯ