เลือกตั้ง 62: ปัจจัยที่ทำให้การเลื่อนเลือกตั้งครั้งที่ห้าไม่ง่ายสำหรับ คสช.

วันเลือกตั้งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดไว้ว่า เป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 มีแนวโน้มจะถูกเลื่อนออกไปอีกเป็นครั้งที่ 5 แต่การเลื่อนเลือกตั้งครั้งนี้ของ คสช. อาจไม่ง่ายเหมือนสี่ครั้งก่อนหน้านี้ เพราะในจังหวะนี้ต้องเจอกับเงื่อนไขและแรงกดดันต่างๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ดังนี้

กรอบเวลาที่ชัดเจนตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดชัดเจนในมาตรา 268 ว่า ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันนับแต่วันที่กฎหมายเลือกตั้งสี่ฉบับ คือ กฎมายว่าด้วย กกต., กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง, กฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ ซึ่งกฎหมายเลือกตั้งฯ เริ่มมีผลบังคับใช้ครบทุกฉบับเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ดังนั้นวันเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นอย่างช้าไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม 2562

ทั้งนี้การดำเนินการเลือกตั้ง “ให้แล้วเสร็จ” ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ไม่ใช่แค่เพียง กกต. ต้องกำหนดวันเลือกตั้งก่อนระยะเวลาดังกล่าวเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการนับคะแนน ตรวสอบข้อร้องเรียน และประกาศผลการเลือกตั้งด้วย ซึ่งกฎหมายเลือกตั้งฯ มาตรา 127 ระบุว่า กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วันหลังวันเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้วันเลือกตั้งจึงไม่ควรเกิน 11 มีนาคม 2562 เพื่อให้ กกต. มีเวลาเพียงในการประกาศผลเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด

จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายถ้า คสช. ต้องการจะเลื่อนเลือกตั้งออกไปให้ไกลกว่ากรอบระยะเวลดังกล่าว เพราะกฎหมายที่เขียนขึ้นได้ขีดเส้นเวลาไว้ชัดเจนแล้ว ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ 

อย่างไรก็ตาม ถ้า คสช. ต้องการจะลากการเลือกตั้งออกไปจริงๆ ก็ยังไม่ยากเกินไปสำหรับพวกเขา เพราะยังมีอำนาจพิเศษมาตรา 44 และมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่พร้อมเอามาใช้เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งที่ร่างขึ้นมาเอง แต่ผลของการแก้ไขอาจจะทำให้ คสช. เผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองอย่างมาก

พรรคการเมืองเตรียมพร้อมลงสนามเลือกตั้ง

คสช. ค่อยๆ ทยอยคลายล็อกพรรคการเมืองให้สามารถเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 ทำให้บรรยากาศการเมืองไทยเริ่มกลับมาคึกคักมีความหวังอีกครั้ง เพราะการเมืองที่ถูกปิดมาตลอดเกือบ5 ปี ทำให้เกิดคนหน้าใหม่และคนรุ่นใหม่รอจังหวะนี้ที่จะเข้าสู่การเมือง และทำให้เกิดพรรคการเมืองใหม่และคนรุ่นใหม่ในสนามการเมืองจำนวนมาก หลังการประกาศตัวของแต่ละคนและแต่ละพรรคการเมืองก็ตามมาด้วยการเปิดแนวคิดและแนวนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองการแข่งขันเพื่อเสนอทางออกให้กับประเทศ โดยพรรคการเมืองต่างๆ เริ่มกิจกรรมลงพื้นที่ทั่วประเทศกันอย่างต่อเนื่องเพื่อหาสมาชิกและรับฟังปัญหาจากประชาชน และเตรียมพร้อมที่จะลงสนามเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ตามที่ คสช. ให้สัญญาไว้

แม้การเลื่อนเลือกตั้งอาจจะส่งผลให้พรรคการเมืองมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น แต่ทั้งพรรคการเมืองใหม่และพรรคการเมืองเก่าส่วนใหญ่ต่างเห็นต่างกันว่าไม่ควรเลื่อนเลือกตั้ง เช่น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เห็นว่าถ้า วันเลือกตั้งไม่ชัดเจนและทอดยาวออกไป จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจเสียหายและทำลายความหวังประชาชน ขณะที่พรรคเพื่อไทย ก็เห็นไปในทางคล้ายกัน และชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ก็เห็นว่า ถ้าเลื่อนเลือกตั้งจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและ กกต. ส่วนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เห็นว่าถ้าเลื่อนเลือกตั้งออกไปคนที่เสียหายที่สุดคือผู้มีอำนาจ เพราะไม่สามารถทำไว้ตามที่ประกาศ

ในแง่หนึ่ง การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปนาน ก็ทำให้พรรคการเมืองต้องใช้งบประมาณมากขึ้นที่จะดำเนินกิจกรรมหาเสียงเพื่อรักษากระแสความนิยมของตัวเองไว้ และยิ่งหากสถานการณ์เป็นการเลื่อนโดยไม่มีกำหนด พรรคการเมืองที่เตรียมความพร้อมไว้แล้วก็ย่อมได้รับความเสียหาย และเมื่อบรรยากาศก่อนหน้านี้ส่งเสริมให้ประชาชนเริ่มศึกษาและเข้าไปสนับสนุนพรรคการเมืองต่างๆ ไปแล้ว การให้ผู้สนับสนุนทั้งหลายรอที่จะใช้สิทธินานขึ้นๆ อย่างไม่มีกำหนดก็ย่อมไม่เป็นผลดี

ปลดล็อกกิจกรรมทางการเมือง

ช่วงต้นปี 2561 คสช. ผิดสัญญาและเลื่อนเลือกตั้งไปแล้วครั้งหนึ่ง จากที่เคยประกาศไว้ว่า ไม่เกินเดือนพฤศจิกายน 2561 เลื่อนมาเป็นต้นปี 2562 ทำให้กลุ่มประชาชน “คนอยากเลือกตั้ง” ออกมาชุมนุมเรียกร้องทวงคืนสัญญาจาก คสช. อยู่หลายครั้ง ผลจากการเรียกร้องเลือกตั้ง คือ ประชาชนกว่าร้อยคนที่มาชุมนุมต่างถูกดำเนินคดีข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ห้ามชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป ต่อมาท่าทีของผู้มีอำนาจใน คสช. ต่างก็ประกาศย้ำชัดเจนและเตรียมแผนการเพื่อเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 และมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ซึ่งมีผลทำการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไปสามารถทำได้ การทำกิจกรรมทั้งของพรรคการเมืองและของประชาชนไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป จึงทำให้พอเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม หลังจากท่าทีของ คสช. ที่จะเลื่อนเลือกตั้งอีกเป็นครั้งที่ 5 ทำให้กลุ่มประชาชนคนอย่างเลือกตั้ง กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง โดยมีการชุมนุมกันอย่างต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพฯ บริเวณสกายวอร์คอนุสาวรีย์สมรภูมิ และสี่แยกราชประสงค์ รวมทั้งหลายจังหวัด เช่น ระยอง เชียงใหม่ อยุธยา นครราชสีมา ฯลฯ และยังจะมีนัดชุมนุมเรียกร้องเลือกตั้งกันอย่างต่อเนื่องตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ คสช. และ กกต. กำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน ขณะที่ คสช. ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะเป็นฐานในการสั่งห้ามประชาชนจัดกิจกรรม และไม่สามารถจับกุมดำเนินคดีกับประชาชนได้ด้วยข้อกล่าวหากว้างๆ เช่นเดียวกับสถานการณ์ก่อนหน้านี้แล้ว

การเคลื่อนไหวของประชาชนจึงจะเป็นอีกเงื่อนไขที่จะทำให้การเลื่อนเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ง่ายนัก