คสช. ใช้ ม.44 อุ้ม ‘ผู้บริหารสูงสุด’ ของหน่วยงานอื่นของรัฐไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

11 ธันวาคม 2561 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 21/2561 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่มีผลให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถใช้ดุลยพินิจกำหนดว่า ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐใดต้องยื่นหรือไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน
+++คสช. อ้างเหตุ ป.ป.ช. ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจเลือกคนที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเลยเป็นปัญหา+++
คำสั่งดังกล่าวระบุเหตุผลในการออกคำสั่งว่า หลังมีประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้กรรมการ และผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐทุกแห่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.  
แต่ทว่า นิยาม "ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง" ในมาตรา 4 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงหมายรวมถึง กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่สามารถใช้ดุลพินิจกำหนดตำแหน่งเฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงได้ ทำให้กรรมการและผู้บริหารสูงสุดในหน่วยงานอื่นของรัฐทุกแห่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และส่งผลให้การบริหารจัดการภายในหน่วยงานบางแห่งประสบปัญหา 
ดังนั้น จึงควรให้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช มีอำนาจหน้าที่ใช้ดุลยพินิจกำหนดตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ)
เหตุผลดังกล่าวสอดคล้องกับ กรณีที่มีกระแสข่าว ผู้นั่งตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัย เช่น นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา และอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) หลายคนลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากถูกผลของ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 กำหนดให้ตำแหน่งดังกล่าวต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย 
+++คสช. แก้กฎหมาย ป.ป.ช. ให้อำนาจ ป.ป.ช. กำหนดคนที่ต้องยื่นหรือไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ+++
โดยสาระสำคัญข้อแรกของคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 21/2561 คือ ยกเลิก บทนิยามคำว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง" ในมาตรา 4 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ โดยให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการกำหนดตำแหน่งของคณะกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือหนี้สิ้น ซึ่งปกติแล้วตำแหน่งที่ถือว่าเป็น "ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ" ก็เช่น ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาในกํากับของรัฐ  ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันพระปกเกล้า องค์การมหาชนต่างๆ เป็นต้น
ส่วนสาระสำคัญข้อที่สองของคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 21/2561 คือ เพิ่มข้อความใน มาตรา 8 วรรค 2 ซึ่งกำหนดให้ หากมีปัญหาจากการปฎิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจตีความ และวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว โดยต้องมีคะแนนเสียงจากคณะกรรมการที่มีอยู่ไม่น้อยกว่าสองในสาม
และสุดท้าย ให้ยกเลิกข้อ 5 ในประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 โดยเป็นการยกเลิกให้ตำแหน่ง
(1) ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ หรือตําแหน่งที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น ในคณะกรรมการหรือคณะบุคคลที่มีอํานาจสูงสุดในการควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการ และการดําเนินการของหน่วยงานอื่นของรัฐ 
(2) เลขาธิการ ผู้อํานวยการ หรือตําแหน่งที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของหน่วยงานอื่นของรัฐทุกตําแหน่ง หรือเป็นผู้แทนของหน่วยงานของรัฐดังกล่าวในกิจการที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
โดยท้ายคำสั่งฉบับดังกล่าวได้มีคำสั่งให้สำนักงำน ป.ป.ช. เร่งดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสียใหม่ให้ถูกต้องและสอดคล้อง กับพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งนี้ เสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อประกาศใช้ต่อไป