เลือกตั้ง 62: การแบ่งเขตการเลือกตั้ง โดย คสช.

 
 
 
ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นครั้งในการเลือกตั้งปี 2562 กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน การเลือกตั้ง ครั้งนี้จะใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อเลือกบุคคลที่ชื่นชอบเป็น ส.ส.เขต ขณะเดียวกันคะแนนที่เราเลือกบุคคลที่ชื่นชอบในเขตของเรา (ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้) คะแนนจะถูกนำไปให้พรรคของคนที่เราเลือกสังกัดอยู่เพื่อนำไปคำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส. สังกัดแบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น
 
 
สำหรับพรรคขนาดกลาง การส่งผู้สมัครครบทุกเขตได้ แม้จะไม่ชนะเลือกตั้งแต่หากสามารถโกยคะแนนจากหลายเขตรวมกันก็อาจได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อจำนวนมาก ขณะที่พรรคขนาดใหญ่ หากต้องการจะคว้าเสียงข้างมากในสภาได้อย่างถล่มทลายจำเป็นต้องได้ ส.ส. เขตให้มากที่สุด เพราะจำนวน ส.ส.เขต 350 คน คือสมรภูมิหลักในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่ระบบเลือกตั้งใหม่ ส.ส. บัญชีรายชื่อเป็นเพียงของแถม เพราะยิ่งพรรคได้ ส.ส. เขตมาก อาจทำให้พรรคได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อน้อยหรืออาจไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้เขตเลือกตั้งทั้ง 350 เขตจึงมีความสำคัญมากสำหรับทุกพรรคการเมือง
 
 
ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งถูกกำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.) ซึ่งกำหนดหลักการเรื่องจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต และการแบ่งเขตการเลือกตั้งไว้ดังนี้
 
  
การกำหนดจำนวน ส.ส. ที่แต่ละจังหวัดควรมี (มาตรา 26) 
 
 
1) ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง หารด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมดคือ 350 คน จะได้เป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.แบบแบ่งเขตหนึ่งคน
 
 
โดยในการเลือกตั้งปี 2562 กกต. ได้ใช้จำนวนราษฎรตามฐานทะเบียนราษฎรปี 2560 จำนวน 66,188,503 คน มาคำนวณ และเมื่อนำจำนวนดังกล่าวมาหารกับจำนวน ส.ส. 350 เขต ก็จะได้ผลลัพธ์เป็นราษฎรเฉลี่ย 189,110 คน ต่อ ส.ส. หนึ่งคน  
 
 
2) จังหวัดใดที่มีจำนวนราษฎรไม่ถึง 189,110 คน ให้จังหวัดนั้นมี ส.ส. แบบแบ่งเขตได้หนึ่งคน โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีแปดจังหวัดจาก 77 จังหวัดที่มี ส.ส. แบบแบ่งเขตจังหวัดละหนึ่งคน คือ ตราด นครนายก พังงา แม่ฮ่องสอน ระนอง สมุทรสงคราม สิงห์บุรี และอ่างทอง โดยจังหวัดจำนวนราษฎรน้อยที่สุดคือจังหวัดระนอง 190,399 คน ส่วนจังหวัดที่เหลือส่วนใหญ่มีราษฎเกิน 200,000 คน 
 
 
3) หากจังหวัดไหนมีจำนวนราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.แบบแบ่งเขตหนึ่งคน ให้เพิ่มที่นั่ง ส.ส.ไปตามสัดส่วนจำนวนราษฎร และแบ่งเขตเท่าจำนวนของ ส.ส.แบบแบ่งเขต โดยการแบ่งเขตจะต้องคำนึงถึงพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ติดต่อกันและจำนวนราษฎรที่ใกล้เคียงกัน
 
 
เกณฑ์การแบ่งเขตเลือกตั้ง (มาตรา 27)
 
 
1) ให้รวมอำเภอเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง 
2) คำนึงถึงลักษณะพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน 
3) ความสะดวกในการเดินทาง 
4) การเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน 
 
 
อย่างไรก็ตามหากรวมอำเภอตามที่ระบุแล้วได้จำนวนราษฎรมากหรือน้อยเกินไปสามารถแบ่งตำบลออกมาได้ แต่จะแยกหมู่บ้านออกจากตำบลไม่ได้ โดยให้แบ่งตามสภาพของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำมีลักษณะเป็นชุมชนเดียวกันและสามารถเดินทางติดต่อกันได้สะดวก แต่ต้องมีจำนวนราษฎรใกล้เคียงกันมากที่สุด
 
 
11 เขตเลือกตั้งใหม่ เจาะพื้นที่เพื่อไทย เอื้อพลังประชารัฐ
 
 
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งประกาศฉบับนี้เกิดขึ้นหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษออกคำสั่งขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้งให้ กกต. แม้ กกต. จะดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จแล้ว โดยให้ กกต. แบ่งเขตใหม่ได้กรณีที่ คสช. หรือรัฐบาล ได้รับข้อร้องเรียนมา
 
 
การแบ่งเขตเลือกตั้งก่อนมีคำสั่งหัวหน้า คสช. กกต. แต่ละจังหวัดได้ทำการรับฟังความคิดเห็น และประกาศออกมาเป็นสามรูปแบบ แต่ผลการประกาศเขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการพบว่ามีจำนวน 11 จังหวัดที่มีรูปแบบเขตเลือกตั้งไม่ตรงตามรูปแบบที่ กกต.จังหวัด เคยเสนอไว้ คือ นครราชสีมา สุรินทร์ มหาสารคาม ยโสธร สกลนคร อุดรธานี นครสวรรค์ นครปฐม เชียงราย สุโขทัย และชัยนาท โดยการแบ่งเขตดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพลังประชารัฐ และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เดิมของพรรคเพื่อไทย
 
 
จังหวัดนครราชสีมา หรือ โคราช ในการเลือกตั้งปี 2562 จะมีจำนวนที่นั่ง ส.ส. ลดลงจาก 15 เหลือ 14 ที่นั่ง การแบ่งเขตเลือกตั้งรอบนี้ กกต. ใช้รูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่ได้ผ่านความคิดเห็นจากประชาชน แม้กฎหมายเลือกตั้งจะกำหนดให้การแบ่งเขตให้รวมเป็นอำเภอหรือจะแยกก็ให้คำนึงถึงสภาพชุมชนเดียวกัน แต่อำเภอเมืองนครราชสีมาก็ถูกแบ่งออกเป็นเขตเลือกตั้งถึงสี่เขต
 
 
นครราชสีมาถือว่าเป็นเมืองหลวงของพรรคชาติพัฒนา ที่มี สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีในยุบรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เป็นแกนนำ อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 2554 พรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคร่างสามของพรรคไทยรักไทยก็สามารถกวาดที่นั่งในจังหวัดนี้ได้มากสุด คือ 8 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 4 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทย 3 ที่นั่ง 
 
 
ทั้งนี้เมื่อเกิดปรากฎพลังดูจากพรรคพลังประชารัฐ ส่งผลให้อดีต ส.ส. นครราชสีมาจากหลายพรรคเข้าร่วม เช่น  วิรัช ทัศนียา และอธิรัฐ รัตนเศรษฐ จากพรรคเพื่อไทย,  บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ และประนอม โพธิ์คำ จากพรรคภูมิใจไทย รวมทั้งแกนนำคนเสื้อแดงอย่าง สุพร อัตถาวงศ์ หลังจากสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ วิรัช กล่าวว่า มั่นใจว่าผู้สมัครในนามพรรคทั้ง 14 เขต ในจังหวัดนครราชสีมา จะได้เกือบครบหรือทั้งจังหวัด 
 
 
จังหวัดสุรินทร์ ในการเลือกตั้งปี 2562 มี ส.ส. 7 ที่นั่ง จากเดิม 8 ที่นั่ง โดยมี 8 อำเภอที่ถูกแบ่งออกเป็นสองเขต คือ อำเภอเมืองสุรินทร์ ศีขรภูมิ สนม ท่าตูม รัตนบุรี ศรีณรงค์ ลำดวน และปราสาท ในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยสามารถครองที่นั่งทั้งหมดในจังหวัดสุรินทร์ได้ 7 จาก 8 ที่นั่ง ส่วนอีกหนึ่งที่นั่งเป็นของภูมิใจไทย การเลือกตั้งครั้งนี้ผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรคเพื่อไทยสามารถชนะผู้สมัครเจ้าของพื้นที่เดิมที่เคยสังกัดพรรคเดียวกันมาก่อนที่จะย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยได้ไม่น้อยกว่า 3 เขต
 
 
สำหรับตระกูลการเมืองของสุรินทร์ คือ มุ่งเจริญพร ที่มีสองปีกคือ ปีกเพื่อไทย นำโดย ชูชัย มุ่งเจริญพร และ ปิยะดา มุ่งเจริญพร อีกปีกหนึ่ง คือ ปีกภูมิใจไทย นำโดย ปกรณ์ มุ่งเจริญพร ขณะที่พรรคพลังประชารัฐมีอดีต ส.ส. อย่าง ธีรทัศน์ เตียวเจริญโสภา และกรรณิการ์ เจริญพันธ์ 
 
 
จังหวัดมหาสารคาม ในการเลือกตั้งปี 2562 มี ส.ส. 5 ที่นั่ง โดยมี 3 อำเภอที่ถูกแบ่งออกเป็นสองเขต คือ อำเภอนาเชือก โกสุมพิสัย และบรบือ ในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยกวาดที่นั่ง ส.ส. ได้ทั้งจังหวัด ขณะที่การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคพลังประชารัฐ มีนักการเมืองท้องถิ่นและสมาชิกในกลุ่มแกนนำบ้านริมน้ำของสุชาติ ตันเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมในจังหวัดนี้
 
 
จังหวัดยโสธร ในการเลือกตั้งปี 2562 มี ส.ส. 3 ที่นั่ง โดยมีสามอำเภอที่ถูกแบ่งออกเป็นสองเขต คือ อำเภอป่าติ้ว คำเขื่อนแก้ว และไทยเจริญ ในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยสามารถกวาดที่นั่งได้ทั้งหมด โดยมีผู้แทนสามคน คือ ปิยวัฒน พันธ์สายเชื้อ บุญแก้ว สมวงศ์ และ พีรพันธุ์ พาลุสุข (เสียชีวิตในปี 2557) อย่างไรก็ตามพื้นที่จังหวัดยโสธรถือเป็นพื้นที่ที่มีการขับเคี่ยวกันอย่างสูสี ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคพลังประชารัฐได้ อดีต ส.ส. หลายสมัยอย่าง รณฤทธิชัย คานเขต ที่เลือกตั้งครั้งก่อนเสียเก้าอี้ให้กับผู้สมัครหน้าใหม่อย่าง บุญแก้ว และยังได้ พิกิฏ ศรีชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ที่การเลือกตั้งครั้งก่อนขับเคี่ยวกับพีรพันธุ์ จากเพื่อไทย แต่พ่ายแพ้ด้วยคะแนนหลักหมื่น
 
 
จังหวัดสกลนคร ในการเลือกตั้งปี 2562 มี ส.ส. 6 ที่นั่งจากเดิม 7 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งที่สกลนครไม่ได้แตกต่างจากจังหวัดอื่นในภาคอีสานนักที่พรรคเพื่อไทยครองอิทธิพลเรื่อยมา ตั้งแต่การการเลือกตั้ง 2544 ที่ใช้ชื่อพรรคไทยรักไทยได้เริ่มรุกคืบครองที่นั่ง ส.ส. สกลนคร ถึง 3 ที่นั่งจาก 7 ที่นั่งก่อนที่จะกวาดทุกที่นั่งในการเลือกตั้งปี 2548 จนถึงการเลือกตั้งในปี 2554 ขณะที่การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคพลังประชารัฐ มีนักการเมืองท้องถิ่นและสมาชิกในกลุ่มแกนนำบ้านริมน้ำของ สุชาติ ตันเจริญ เข้าร่วมด้วยเช่นกัน
 
 
จังหวัดอุดรธานี ในการเลือกตั้งปี 2562 มี ส.ส. 8 ที่นั่งจากเดิม 9 ที่นั่ง โดยอำเภอเมืองอุดรธานี ถูกแบ่งออกเป็น 5 เขตเลือกตั้ง พื้นที่นี้คือเมืองหลวงของพรรคเพื่อไทย นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2548 ร่างต่างๆ ของพรรคเพื่อไทยถือครองที่นั่งทั้งหมดในอุดรธานีอย่างเบ็ดเสร็จ โดยในการเลือกตั้งปี 2554 เพื่อไทยได้ 9 ที่นั่ง และได้คะแนนเสียงอย่างถล่มทลาย
 
 
นักการเมืองคนสำคัญของอุดรธานี คือ ประจวบ ไชยสาสน์ ปัจจุบันส่งไม่ต่อให้ลูกชายคือ ต่อพงษ์ ไชยสาสน์ ในการเลือกตั้งปี 2562 ตระกลูไชยสาสน์ และอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยยังคงอยู่กับพรรค สำหรับพรรคพลังประชารัฐได้อดีต ส.ส. อย่าง วิชัย ชัยจิตวณิชกุล ซึ่งเป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ของพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง และการเลือกตั้งครั้งนี้คาดว่าจะลงสมัครในเขต 2 อุดรธานี
 
 
จังหวัดนครสวรรค์ ในการเลือกตั้งปี 2562 มี ส.ส. 6 ที่นั่ง คือ โดยมี 5 อำเภอที่ถูกแบ่งออกเป็นสองเขต คือ อำเภอเมืองนครสวรรค์ เก้าเลี้ยว ลาดยาว ชุมแสง และไพศาลี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งมากสุด 4 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์และชาติพัฒนาได้คนละ 1 ที่นั่ง โดยในการเลือกตั้งปี 2548 พรรคไทยรักไทยหรือร่างแรกของพรรคเพื่อไทย สามารถกวาดที่นั่ง ส.ส.เรียบทั้งจังหวัด แต่หลังจากรัฐประหาร 2549 นักการเมืองพรรคไทยรักไทยเดิมย้ายออกไปสังกัดพรรคอื่น ส่งผลให้การเลือกตั้งปี 2550 พรรคพลังประชาชนร่างที่สองของพรรคเพื่อไทยเหลือที่นั่งในพื้นที่นครสวรรค์เพียงที่นั่งเดียว ก่อนจะค่อยๆ ฟื้นคืนกลับมาในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
 
 
จังหวัดเชียงราย การเลือกตั้งในปี 2562 มี ส.ส. 7 ที่นั่ง  โดยมี 2 อำเภอที่ถูกแบ่งออกเป็นสองเขต คือ อำเภอเมืองเชียงราย กับอำเภอเชียงแสน  เมื่อย้อนดูการเลือกตั้งปี 2554 พบว่าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งยกจังหวัด โดยมีตระกูลการเมืองที่สำคัญคือ ติยะไพรัชและเตชะธีราวัฒน์ การเลือกตั้งครั้งนั้นพื้นที่เชียงรายเป็นการแข่งขันกันระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย โดยพรรคภูมิใจไทยมีสมาชิกตระกูลจงสุทธนามณี ซึ่งมีพื้นที่ฐานเสียงในจังหวัดเชียงรายพอสมควรโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมือง ปัจจุบันตระกูลจงสุทธนามณีได้เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ
 
 
จังหวัดนครปฐม การเลือกตั้งในปี 2562 มี ส.ส. 5 ที่นั่ง โดยอำเภอเมืองนครปฐมถูกแยกเป็นสามแขตเลือกตั้ง นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2544 พรรคไทยรักไทยจนกระทั่งพรรคเพื่อไทยครองที่นั่ง ส.ส. นครปฐมส่วนใหญ่และยืนระยะที่สัดส่วนสี่ต่อห้ามาโดยตลอด โดยพรรคได้รับการสนับสนุนจากตระกูลสะสมทรัพย์จึงทำให้สามารถครองพื้นที่เหนียวแน่น อย่างไรก็ดีในการเลือกตั้ง 2562 ตระกูลสะสมทรัพย์ไม่ได้สังกัดพรรคเพื่อไทยแล้ว โดยตัดสินใจย้ายไปร่วมกับพรรคชาติไทยพัฒนาแทน
 
 
จังหวัดสุโขทัย การเลือกตั้งในปี 2562 มีจำนวน ส.ส. ลดลงจาก 4 เป็น 3 ที่นั่ง พื้นที่นี้ถือเป็นฐานที่มั่นสำคัญของสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีคนสำคัญของพรรคไทยรักไทย และปัจจุบันย้ายมาเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐและแกนนำกลุ่มสามมิตรที่เดินสายดูดอดีต ส.ส. และรัฐมนตรีให้เข้ามาร่วมงานด้วย สมศักดิ์เคยประกาศในที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐว่า “รัฐธรรมนูญฉบับดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ในการเลือกตั้งล่าสุดปี 2554 ที่นั่ง ส.ส. สุโขทัยถูกแบ่งให้กับสองพรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์ 2 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทย 2 ที่นั่ง โดยส่งคนใกล้ชิดลงในนามพรรคภูมิใจไทย ขณะที่การเลือกตั้งรอบนี้พรรคพลังประชารัฐได้ จักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล อดีต ส.ส.พรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมด้วย
 
 
จังหวัดชัยนาท การเลือกตั้งปี 2562 มี ส.ส. 2 ที่นั่ง โดยมี 8 อำเภอ แบ่งออกเป็น 2 เขต คือ เขต 1 อำเภอเมืองชัยนาท สรรพยา มโนรมย์ อำเภอวัดสิงห์ (เฉพาะตำบลมะขามเฒ่า หนองน้อย หนองบัว หนองขุ่น และเทศบาลตำบลวัดสิงห์) และเขต 2 อำเภอสวรรคบุรี หันคา เนินขาม หนองมะโมง และวัดสิงห์ (ยกเว้นตำบลมะขามเฒ่า หนองน้อย หนองบัว หนองขุ่น และเทศบาลตำบลวัดสิงห์) ในการแบ่งตำบลของอำเภอวัดสิงห์มีความแตกต่างจากการแบ่งเขตเลือกตั้งในปี 2554 
โดยชัยนาทเป็นพื้นที่ของพรรคภูมิใจไทย ภายใต้ตระกูลนาคาศัย การเลือกตั้งครั้งนี้ อนุชา นาคาศัย อดีต ส.ส. หลายสมัย และ รมต. เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ