เลือกตั้ง 62: พรรคการเมืองต้องเจอปัญหาอะไรบ้างก่อนการเลือกตั้ง

ตามโรดแมปการเลือกตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้ปี 2562 คสช. จำเป็นจะต้องจัดการเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัย แต่กระนั้น บรรยากาศทางการเมืองก็มีลักษณะเปิดมากขึ้น มีการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ และพรรคการเมืองเก่าก็เริ่มทำกิจกรรมบางอย่างได้
แต่ทว่า ภายใต้บรรยากาศที่ดูจะเปิดให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆ ได้นั้น แท้จริงแล้ว พรรคการเมืองยังไม่ได้อิสระในการทำกิจกรรมอย่างเต็มที่ เนื่องจากพรรคการเมืองยังติดเงื่อนไขพิเศษที่ คสช. เป็นผู้ออกกติกา ไม่ว่าจะเป็นประกาศคสช. ที่ 57/2557, คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 53/2560 ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง รวมไปถึงกติกาใหม่อย่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ภายใต้กติกาเหล่านี้ส่งผลให้พรรคการเมืองต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอย่างน้อย 5 อย่างในช่วงพรรคการเมืองเตรียมตัวก่อนการเลือกตั้ง ดังนี้
1) พรรคการเมืองใหม่ตั้งพรรคยาก-เงื่อนไขเยอะ
หลัง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ปี 2560 ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2560 ส่งผลให้พรรคการเมืองที่กำลัง 'ก่อตั้งใหม่' ต้องรับโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นจากเดิม เนื่องจาก  พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ฉบับใหม่ วางเงื่อนไขว่า พรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ จะจดทะเบียนพรรคได้ต้องมีผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไม่น้อยกว่า 500 คน และต้องมีทุนประเดิมตั้งพรรคไม่น้อยกว่า "หนึ่งล้านบาท" โดยเงินประเดิมให้มาจากผู้ร่วมตั้งพรรคที่ต้องเงินทุนประเดิมอย่างต่ำหนึ่งพันบาทแต่ต้องไม่เกินห้าหมื่นบาท 
ทั้งนี้ หากนำ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ  ปี 2560 ไปเปรียบเทียบกับ  พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ  ปี 2550 จะเห็นว่า กติกาตอนปี 2550 มีเงื่อนไขที่ยากน้อยกว่า เช่น จำนวนผู้ร่วมก่อตั้งพรรคใช้แค่ 15 คนขึ้นไป ไม่จำเป็นจะต้องมีทุนประเดิมพรรคขั้นต่ำ ร่วมถึงไม่จำกัดเพดานการจ่ายเงินทุนประเดิมให้กับพรรคเหมือนกับกติกาของปี 2560
นอกจากนี้ พรรคการเมืองยังมีอุปสรรคในการตั้งชื่อพรรค เช่น กรณี 'พรรคเกรียน' ของ สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่ กกต. ไม่อนุญาตให้ใช้ไปเป็นชื่อในการจัดตั้งพรรค เนื่องจาก คำว่าเกรียนอาจก่อให้เกิดในความหมายอันไม่มีความเหมาะสมและจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน และอ้างบทบัญญัติในมาตรา 18 วรรค 3 ประกอบมาตรา 14 (2) ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ที่ระบุว่า ชื่อของพรรคการเมืองต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
2) พรรคการเมืองเก่าถูก 'รีเซ็ต' สมาชิกพรรค 
หลัง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ปี 2560 ใช้ได้ไม่นาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ออกคำสั่งที่ 53/2560 โดยกำหนดให้ พรรคการเมืองเก่ายังคงดำรงอยู่ แต่ให้สมาชิกที่ประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นต่อไปมีหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรคการเมือง และชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้น
ผลจากคำสั่งดังกล่าวอาจเรียกได้ว่าเป็นการ 'รีเซ็ต' สมาชิกพรรคการเมืองเก่า เพราะทุกพรรคการเมืองมีจำนวนสมาชิกลดลงอย่างมาก เช่น พรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกเดิม 2,500,000 คน เหลือสมาชิกปัจุบัน 100,000 คน หรือลดลงร้อยละ 96 ส่วนพรรคเพื่อไทย สมาชิกเดิม 134,822 คน เหลือสมาชิกปัจุบัน 13,000 คน หรือลดลงร้อยละ 90 
ทั้งนี้ ในคำสั่งที่ 53/2560 อ้างเหตุของการออกคำสั่งดังกล่าวด้วยว่า "สมาชิกพรรคการเมืองมีความเหลื่อมล้ําระหว่างพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วกับพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่" ซึ่งประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเสนอของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป ที่เสนอให้แก้ไขพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 140 และ 141 เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมระหว่างสมาชิกพรรคและพรรค และ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ที่เสนอให้แก้ไขพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเท่าเทียมทางการเมืองเก่าและพรรคการเมืองใหม่
อย่างไรก็ดี การถูกรีเซ็ตสมาชิกพรรคสร้างความไม่พอใจให้กับพรรคการเมืองเป็นอย่างมาก พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยต่างยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิของสมาชิกพรรค แต่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
 
 
3) พรรคการเมืองถูกห้ามทำบางกิจกรรม เช่น 'หาเสียง-ระดมทุน'
แม้ว่าปัจจุบันจะมี พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ปี 2560 ประกาศใช้อยู่ แต่พรรคการเมืองก็ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้มากนัก เนื่องจากติด 'ล็อค' จากประกาศคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. อย่างน้อย 4 ฉบับ ได้แก่ 
หนึ่ง ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ข้อ 2 ระบุว่า "เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ห้ามมิให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง" 
สอง คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 53/2560 ข้อ 4 ระบุว่า "ห้ามมิให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมอื่นใดในทางการเมืองนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในคำสั่งนี้(คำสั่งที่ 53/2560) เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคสช. ทั้งนี้ ให้นำข้อห้ามตามข้อ 2 ของประกาศคสช. ฉบับที่ 57/2557 มาใช้บังคับ"   
สาม คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ข้อที่ 12 ระบุว่า "ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
สี่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 ข้อ 6 "พรรคการเมืองจะประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ภายในพรรคการเมืองและสมาชิกของพรรคของตน โดยวิธีผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ต้อง 'ไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง'  ซึ่ง กกต. และ คสช. อาจกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์หรือการติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือสั่งให้มีการระงับการดำเนินการดังกล่าวก็ได้"
ในประกาศและคำสั่งจำนวนสี่ฉบับ จะเห็นได้ว่า มีการใช้ถ้อยคำที่สามารถตีความได้กว้าง อย่างเช่น 'ชุมนุมทางการเมือง' 'กิจกรรมทางการเมือง' และ 'การหาเสียง' ซึ่งทั้งสามคำนี้เปิดช่องให้ ทั้ง คสช. และ กกต. เป็นผู้ตีความหลักว่า กิจกรรมแบบใดที่พรรคการเมืองทำได้หรือไม่ได้ รวมถึง ถ้าพรรคการเมืองจะทำกิจกรรมใดที่นอกจากคำสั่งดังกล่าวจำเป็นจะต้องได้รับการอนุญาตจากคสช. เสียก่อน
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากประกาศและคำสั่งดังกล่าว เช่น กรณีพรรคพรรคอนาคตใหม่เปิดรับสมัครสมาชิกพรรค ได้มีการเปิดระดุมทุนด้วยการขายสินค้าที่ระลึก เช่น ถ้วยกาแฟ เคสโทรศัพท์มือถือ และเสื้อ เพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมของพรรคการเมือง แต่กลับถูกห้ามจาก กกต. โดยอ้างว่า กรณีพรรคการเมืองรับบริจาคเงินนั้น มีการห้ามไว้ในประกาศ คสช.ที่ 57/2557 และ กกต. เคยออกหนังสือเวียนแจ้งให้พรรคการเมืองทราบว่าให้รับเงินบริจาคได้แค่จากกรรมการบริหารพรรค ทั้งนี้ แม้ว่าจะมี พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่แล้วแต่ประกาศดังกล่าวก็ยังมีผลอยู่
ด้าน วิษณุ เครืองาม ยังออกมากล่าวถึงการเรี่ยไรเงินของพรรคอนาคตใหม่ว่า ไม่ทราบว่าจะขัดต่อคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือไม่ แต่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยก่อน หากจะโยนเรื่องมายังคสช.ต้องให้กกต.ชี้แจงก่อน 
พร้อมยังกล่าวด้วยว่า "ในคำสั่ง คสช. ระบุไว้ชัดเลยว่าต้องเก็บค่าบำรุงด้วย ไม่ใช่ไปหาสมาชิกแล้วได้แต่ตัวเลข แต่ส่วนอื่นที่ไม่ใช่ค่าสมาชิกหรือค่าบำรุง จะเรียกค่าอะไรก็แล้วแต่ ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งจะทำได้หรือไม่ กกต.จะต้องพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงก็ทำไม่ได้"
4) พรรคการเมืองถูกกกต. ขู่ เสี่ยงยุบพรรค
พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ปี 2560 มีข้อกำหนดเรื่องความเป็นอิสระของพรรคการเมืองไว้ใน มาตรา 28 ซึ่งระบุว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอม หรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือ ชี้นำ  กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
ทั้งนี้ หาก กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการยินยอมให้คนซึ่งไม่เป็นสมาชิกพรรคครอบงำพรรคการเมือง ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนและหากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทําผิด ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
อย่างไรก็ดี หลัง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ปี 2560 ยังไม่มีพรรคการเมืองใดถูกยุบพรรคด้วยเหตุดังกล่าว แต่พรรคที่ถูก กกต. จับตาและเตือนมากที่สุดคือ 'พรรคเพื่อไทย' ที่ถูกตรวจสอบจากกรณีแกนนำพรรคเพื่อไทยบินไปหารือกับ 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่ฮ่องกง
โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานทั้งจากภาพ คลิป และข่าว รวมถึงความเห็นของบุคคลต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา ซึ่งการจะเข้าข่ายครอบงำพรรคหรือไม่ กกต. จะพิจารณาว่า พรรคการเมืองนั้นขาดความเป็นอิสระในการดำเนินกิจกรรมหรือไม่ หากเข้าข่ายความผิด จะส่งผลให้พรรคการเมืองนั้นถูกยุบพรรค
 
 
5) พรรคการเมืองโดนคสช. ติดตาม คุกคาม และฟ้องขู่
นอกจากกติกาหลักอย่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ หรือ กติกาย่อยอย่างบรรดาประกาศคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. แล้ว พรรคการเมืองยังต้องรับมือกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ทหารติดตาม รศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ในเขตอีสานใต้ ซึ่งทางพ.อ. วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เจ้าหน้าที่ทหารไปร่วมสังเกตกาณ์พรรคการเมืองเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยและให้อยู่ในกรอบกฎหมาย ไม่ให้มีการดำเนินการที่สุ่มเสี่ยง แฝงข้อมูลปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังภายในประเทศ ที่อาจจะกระทบต่อบรรยากาศการเดินหน้าของประเทศและการเตรียมการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ พรรคการเมืองยังต้องรับมือกับการตั้งข้อดำเนินคดีอีก เช่น แกนนำพรรคอนาคตใหม่ ประกอบด้วยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่,  ไกลก้อง ไวทยการ นายทะเบียนพรรคอนาคตใหม่ และจารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ถูกคสช. แจ้งความเอาผิดมาตรา 14(2) พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ฐานนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จากการไลฟ์สดรายการ “คืนวันศุกร์ให้ประชาชน” ในวันที่ 29 มิถุนายน 2561 ซึ่งตอนหนึ่งได้พูดถึงการดูดส.ส. และการใช้คดีเป็นตัวบังคับให้ส.ส.เก่าเข้าร่วมกับพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับคสช. 
โดยความผิดนี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้เคยได้รับโทษจำคุก โดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง จะขาดคุณสมบัติในการเป็นสมาชิกพรรคและหมดสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง