นักวิชาการ-พรรคการเมือง เรียกร้อง ให้ กกต. ทำหน้าที่อย่างเป็นกลางไม่อยู่ภายใต้คสช.

4 พฤศจิกายน 2561 เครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ (Free, Fair & Fruitful Election) หรือ FFFE ร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาหัวข้อ การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม: สถานการณ์ในสังคมไทย โดยมีวิทยากร ได้แก่ เมธา  ศิลาพันธุ์  รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง,  สมบัติ  บุญงามอนงค์  พรรคเกียน,  รศ.ดร. โคทม  อารียา  อดีต กกต. และที่ปรึกษามูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย และ จาตุรนต์  ฉายแสง พรรคเพื่อไทย  เพื่อเสนอแนะและเฝ้าระวังกระบวนการอันนำไปสู่การเลือกตั้ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562  ภายใต้รัฐบาลของคณะ คสช. ซึ่งเป็นรัฐบาลที่เข้าสู่อำนาจผ่านการทำรัฐประหาร 
เลขาฯ กกต.  ชี้ คสช. จะไม่ได้รับอภิสิทธิ์ใดๆ ในการเลือกตั้ง ต้องอยู่ใต้กติกาเดียวกัน
เมธา  ศิลาพันธุ์  กล่าวถึงบทบาทของ กกต.ต่อการเลือกตั้งว่า  การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ต่างจากการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา  กกต.สามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายใต้ข้อจำกัดและสถานการณ์ที่มีอยู่ ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง ส่วนการมีอยู่ของคสช. ไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ ถ้ามีจะใครใน คสช. ลงมาเป็นผู้เล่นในเกมส์การเลือกตั้ง ก็จำเป็นต้องอยู่ในกฎกติกาไม่ต่างจากผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่นๆ โดยไม่ได้รับอภิสิทธิ์ใดๆทั้งนั้น  
เลขาฯ กกต. ยังกล่าวอีกว่า  รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ให้อำนาจ กกต. ทำงานได้อย่างเต็มที่  แต่เดิมเมื่อมีเหตุที่อาจผิดกฎหมายในการเลือกตั้ง  กกต. จะต้องมีมติร่วมกัน จึงจะสามารถจัดการได้  แต่ในครั้งนี้ กกต. เพียงคนเดียวสามารถสั่งระงับยับยั้งได้เลยโดยไม่ต้องผ่านที่ประชุม
นอกจากนี้ กกต. ยังมีกลไกช่วยเหลือการตรวจสอบทุจริตการเลือกตั้ง เช่น มาตรการคุ้มครองพยานในคดีการเลือกตั้ง การตั้งเงินรางวัลจำนวนหนึ่งล้านบาท  ในกรณีที่มีผู้แจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง และในการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้ กกต.ได้มีการร่มมือกับ องค์กรเอกชนกว่าหนึ่งร้อยหกสิบองค์กร ซึ่งจะเข้ามาร่วมตรวจสอบการเลือกตั้ง  แบ่งตามเขตจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเชิญตัวแทนองค์กรกลุ่มดังกล่าวมาประชุมหารือกันแล้ว โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับการเลือกตั้งต่อไป
“การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.มีความพร้อม เมื่อกฎหมาย ส.ส. มีผล หลังวันที่เก้าธันวา ทุกอย่างที่ผมพูดมาก็สามารถดำเนินการได้ทันที”
หัวหน้าพรรคเกียน ชี้ กติกาทำพรรคใหม่เกิดยาก เสนอ กกต. ช่วยประชาสัมพันธ์ให้รู้จักพรรคการเมือง 
สมบัติ  บุญงามอนงค์  กล่าวถึงข้อจำกัดของพรรคการเมืองใหม่ ในฐานะผู้ก่อตั้งพรรคเกียนว่า  มีสถานการณ์คล้ายกับวงการธุรกิจเบียร์ในประเทศไทย ซึ่งตลาดถูกผูกขาดโดยผู้แข่งขันรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย เนื่องมาจากมีข้อกฎหมายกำหนดว่า ผู้จะประกอบการที่จะผลิตเบียร์จำหน่ายจะต้อง เป็นนิติบุคคลซึ่งมีเงินจดทะเบียนจัดตั้งเป็นเงินสิบล้านบาทขึ้นไป อีกทั้งต้องผลิตเบียร์เพื่อจำหน่ายให้ได้สิบล้านลิตรต่อปี  เช่นเดียวกับการจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่ผู้ก่อตั้งจำเป็นจะต้องหาสมาชิกให้ได้ครบจำนวนห้าร้อยคนและแต่ละคนต้องจ่ายค่าสมัครสมาชิกหนึ่งพันบาท  สมบัติชี้ว่ากฎหมายลักษณะนี้ถือเป็นการกีดกันและไม่ทำให้เกิดความแปลกใหม่ หรือทางเลือกที่ดีกว่า ผู้ที่เสียผลประโยชน์ก็คือประชาชน  
"คนละพันบาทในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ เรื่องนี้บอกเราว่า คนจนไม่มีสิทธิเป็นผู้ก่อตั้งพรรคการเมือง ดังนั้น มันจึงไม่มีพรรคคนจน ทั้งนี้ก็เพราะระบบมันไม่เปิดให้มีผู้เล่นรายเล็ก" 
สมบัติยังกล่าวว่า กกต.ในปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนไม่ให้ระบบพรรคการเมืองพัฒนา และย้ำถึงบทบาท หน้าที่ของ กกต. ที่ควรวางตัวเป็นกลาง ทำตัวให้สมกับเป็นองค์กรอิสระ เพื่อบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเสมอภาค โดยอ้างถึงกรณี กกต.เรียกประชุมพรรคการเมือง เพื่ออธิบายและทำความเข้าใจแนวทางปฏิบัติในการเลือกตั้งที่จะไม่ขัดต่อคำสั่ง คสช. ซึ่งตนมองว่าไม่ใช่หน้าที่ของ กกต. 
เมื่อถามถึงสิ่งที่ กกต. ควรทำผู้ก่อตั้งพรรเกียน กล่าวว่า  พรรคการเมืองใหม่ๆมีปัญหาเรื่องการหาสมาชิก  ตนหวังให้ กกต.ช่วยสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อสารมวลชนต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ทำความรู้จักพรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่  เป็นการมีส่วนร่วมที่ลึกซึ้งมากในแง่ของการส่งเสริมการเลือกตั้ง ส่วนพรรคการเมืองจะมีส่วนช่วยให้การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม ผ่านการยืนหยัดหลักการประชาธิปไตย
อดีต กกต. แนะ กกต. รุ่นใหม่ จับตาผู้มีอำนาจ – ภาคประชาชนจับตา กกต.
รศ.ดร. โคทม  อารียา  แสดงความคิดเห็นต่อบทบาทของกกต.เพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมว่า กกต. ควรจับตามองผู้ถือครองอำนาจรัฐ และอ้างตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ในปัจจุบัน ว่าจะไม่เป็นฝ่ายเอาเปรียบคู่แข่งในการเลือกตั้ง  เพราะจะหวังว่า ให้ คสช . เคารพกติกาและวางตัวเป็นกลางต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
โคทม เสนอว่า ตามมาตรา 35 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 กำหนดให้องค์กรต่างๆ สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการจับตาการการเลือกตั้งกับ กกต. ได้ แต่ทั้งนี้ องค์กรต่างๆ ควรจะจับตา กกต. ด้วยอีก เพราะกระบวนการตรวจสอบการเลือกตั้งควรเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ใจซึ่งกันและกันระหว่างรัฐกับประชาชน
“กกต. ควรขอให้ คสช. ยกเลิกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ปล่อยเวลาให้ประชาชนและสื่อพูดคุยถึงการเลือกตั้งและเรื่องต่างๆ อย่างมีประโยชน์”
โคทม เสนอว่า สำหรับบทบาทของประชาชนในการเลือกตั้ง  นอกจากใช้สิทธิเลือกตั้งของตนตามกฎหมายแล้ว โคทมกล่าวว่า ภาคประชาชนควรรวมกลุ่มกันร่วมจับตาการเลือกตั้ง โดยของบสนับสนุนจาก กกต. และแม้จะได้รับงบสนับสนุนจากกต.ก็ตาม กลุ่มดังกล่าวก็ควรต้องมีอิสระ ไม่ถูกแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐ  
แกนนำพรรคเพื่อไทย เรียกร้อง กกต. เป็นกลาง ไม่อยู่ใต้คสช. ส่วน คสช. ต้องมีสถานะแค่รัฐบาลรักษาการ
จาตุรนต์  ฉายแสง   ได้แสดงความกังวลต่อการเลือกตั้งซึ่งเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลของ คสช. โดยชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ทำให้เชื่อได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นไปด้วยความไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม  เช่น กรณีที่ยังไม่มีการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแต่อย่างใด  เมื่อพรรคการเมืองไม่ได้สื่อสารกับประชาชน ประชาชนไม่ได้สื่อสารกับพรรคการเมือง  ก็กลายเป็นปัญหาที่ว่าพรรคต้องกำหนดนโยบายแบบไหนจึงจะตอบสนองต่อปัญหาที่แท้จริงของประชาชน  
จาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดให้หลังยุบสภาและประกาศให้มีการเลือกตั้ง รัฐบาลจะคงอยู่ในฐานะรัฐบาลรักษาการ ขณะที่รัฐบาลของ คสช. เองก็ยังไม่ยอมรับสถานะ รัฐบาลรักษาการเสียที เนื่องจากสถานะดังกล่าวจะถูกจำกัดการใช้อำนาจ การกำหนดนโยบายบริหารราชการแผ่นดินหลายประการและเชื่อว่าจนถึงวันเลือกตั้งก็คงยังไม่ยอม ซึ่งพฤติการณ์ของ คสช. ในลักษณะเช่นนี้ จาตุรนต์มองว่า เป็นการไม่ได้สนับสนุนการเลือกตั้งอย่างจริงใจ 
“เรากำลังเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ในประเทศที่ตกอยู่ภายใต้ระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกระนั้นหรือ?”