นักวิชาการ-ภาคประชาชน จี้ คสช. ยุติการสืบทอดอำนาจ จัดการเลือกตั้งที่รณรงค์ได้อย่างเสรีและเป็นธรรม

14 ตุลาคม 2561 เครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ (Free, Fair & Fruitful Election) หรือ FFFE จัดเสวนาในหัวข้อ “การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมกับอนาคตสังคมและการเมืองไทย: มุมมองจากภาคประชาสังคม” ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิชาการ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน
จากวงเสวนาดังกล่าว ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเต็มไปด้วยอุปสรรคจากกติกาและเงื่อนไขที่ คสช. เป็นคนกำหนด ทำให้ประชาชนและพรรคการเมืองไม่มีเสรีภาพในการรณรงค์หาเสียงหรือจัดกิจกรรมทางการเมืองได้ ในขณะเดียวกัน ผลของการเลือกตั้งอาจเป็นเพียงช่องทางที่ คสช. สืบทอดอำนาจไว้ ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องจี้ให้ คสช. ยุติการสืบทอดอำนาจและจัดการเลือกตั้งที่ให้พรรคการเมืองและประชาชนจัดกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเสรีและเป็นธรรม
ดร.เอกพันธุ์: เป้าหมายการเลือกตั้งคือ ต้องเสรี เป็นธรรม ปราศจากความหวาดกลัว
ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นหัวใจและเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งวัตถุประสงค์หนึ่งของการจัดการเลือกตั้งคือต้อง Free & Fair (เสรีและเป็นธรรม) โดยคำว่า 'Free' หรือ 'เสรี' นั้นหมายถึง มนุษย์ต้องมีเสรีภาพหรือศักยภาพในการเลือกหรือมีอิสรภาพที่จะกำหนดใจตัวเอง ส่วนคำว่า 'Fair' หรือ 'เป็นธรรม' คือ พรรคการเมืองต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอนโยบาย สามารถรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิเลือกตัวเองได้ พูดง่ายๆ ว่า สามารถขายของได้เท่าเทียมกัน ไม่ใช่พรรคหนึ่งทำอะไรก็ผิด ส่วนอีกพรรคทำอะไรก็ได้ แบบนี้ไม่ใช่ความเป็นธรรม
ด้าน ดร.เอกพันธุ์ มองว่า บริบทสังคมไทยในปัจจุบันจำเป็นจะต้องพูดเรื่อง "Free from Fear" หรือ การมีเสรีภาพโดยปราศจากความหวาดกลัว เนื่องจาก สังคมไทยถูกความกลัวเข้าครอบงำ ความกลัวจากการใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม ความกลัวจากการใช้อำนาจจัดการกับผู้ที่เห็นไม่ลงรอยกับผู้มีอำนาจ เพราะฉะนั้นนอกจากเรื่องเสรีและเป็นธรรม อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องมีคือมีอิสรภาพที่ปราศจากความกังวลหรือหวาดกลัว
ทั้งนี้ ดร.เอกพันธุ์ มองทางออกสำหรับการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมคือ พรรคการเมืองจะไม่ซื้อเสียง หรือไม่ใช้กลไกและทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ในการรณรงค์หาเสียงหรือได้มาซึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในขณะเดียวกัน การหาเสียงเลือกตั้งต้องไม่สร้างความเกลียดชัง ข่มขู่ ปลุกเร้าให้เกิดการใช้ความรุนแรง รวมถึงการเคารพสิทธิของพรรคการเมืองที่จะรณรงค์หาเสียงได้อย่างอิสระและไม่ขัดขวางหรือเป็นภัยต่อการหาเสียงของพรรคการเมืองอื่นๆ
นอกจากนี้ ดร.เอกพันธุ์ ยังเสนออีกว่า เพื่อให้การเลือกตั้งที่ต้องมีผลในทางปฏิบัติ (Fruitful Election) พรรคการเมืองไม่ควรจะเล่นตามกติกาของคสช. อย่าง รัฐธรรมนูญปี 2560 มีช่องทางในการเสนอ 'นายกฯ คนนอก' (นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) พรรคการเมืองไม่ควรที่จะใช้ช่องทางนี้ ควรให้นายกฯ มาจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอเท่านั้นและควรให้พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากในสภาได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน
บุญยืน: การเลือกตั้งต้องมีหลักประกันว่าประชาชนมีตัวแทน ขับเคลื่อนนโยบายได้ ไม่ถูกจำกัด
บุญยืน สุขใหม่ ตัวแทนเครือข่ายสมัชชาคนจนจากกลุ่มแรงงาน กล่าวว่า การเลือกตั้งนั้นมีความหมายสำหรับกลุ่มคนจน เป็นความหวังที่เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากที่ผ่านมา กลุ่มผู้ใช้แรงงานก็ประสบปัญหาไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาความเดือนร้อนได้ จะออกมาชุมนุมเรียกร้องตามสิทธิเสรีภาพก็ทำไม่ได้ ดังนั้น เมื่อมีการเลือกตั้งก็ทำให้ประชาชนมีหลักประกันว่า จะมีกลุ่มตัวแทนของเขามานั่งอยู่ในรัฐสภา และเขามาแก้ปัญหาของพวกเขา
แต่ทว่า ภายใต้บรรยากาศทางเมืองในปัจจุบัน บุญยืน ตั้งข้อสงสัยว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะมีผลในทางปฏิบัติหรือไม่ เนื่องจากต่อให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคสามารถนำเสนอนโยบายของตัวเองได้อย่างเต็มที่ แต่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเมืองและเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนนโยบายของพรรคการเมือง
บุญยืน ยังตั้งข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรมหรือไม่ โดยดูได้จากเรื่อง 'ปลดล็อกพรรคการเมือง' ที่ คสช. ยอมเปิดแค่บางส่วนให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมบางอย่างได้ แต่ไม่เปิดทั้งหมด ซึ่งนี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะชี้ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็นธรรมได้อย่างไร
สำหรับข้อเรียกร้องของบุญยืน เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ คือ รัฐบาลปัจจุบันต้องยุติพฤติกรรมที่จะเข้ามาแทรกแซงการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง และรัฐบาลปัจจุบันต้องยุติการสืบทอดอำนาจ และอย่างสุดท้ายคือ ต้องแก้ไขกติกาหรือเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ขุนกลาง: อยากได้ภาคธุรกิจที่มีธรรมาธิบาล ต้องสนับสนุนรัฐที่มีธรรมาภิบาล
ขุนกลาง ขุขันธิน จากเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การทำธุรกิจให้มีธรรมาธิบาลในประเทศที่ไม่มีธรรมาภิบาลเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก บริษัทเอกชนที่ไม่มีธรรมภิบาลหรือที่เรียกได้ว่า 'ทุนสามานย์' จะชื่นชอบรัฐที่เป็นเผด็จการมีอำนาจตัดสินใจเบ็ดเสร็จ ไม่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล พวกทุนเหล่านี้ก็จะเข้าไปทำธุรกิจและผูกขาดการทำธุรกิจได้โดยง่าย ซึ่งหมายความว่า ประเทศก็จะเป็นผู้เสียผลประโยชน์ ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากกติกาของรัฐ และการเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดอนาคตของภาคธุรกิจ
ขุนกลาง กล่าวว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นค่อนข้างมีกฎกติกาที่พิกลพิการและอาจจะส่งผลให้การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่มีความหมาย เช่น การให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง  เปิดทางให้สามารถเลือกนายกฯ คนนอก ได้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กลายเป็นการผูกขาดและสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหาร
ขุนกลาง มองทางออกในเรื่องนี้ว่า ต้องต่อสู้เรื่องนี้ในระยะยาว และต้องทำให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของการเมืองสีเสื้อ ต้องทำให้สังคมมองเห็นว่า กติกาในตอนนี้ขาดความเป็นธรรมและจะนำมาซึ่งความเสียหาย เมื่อกติกาไม่เป็นธรรม ไม่สามารถให้ความยุติธรรม ความขัดแย้งทางการเมืองก็จะยังดำเนินต่อไป
ปรเมศวร์:  การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีกฎกติกาที่สุ่มเสี่ยงในทุกการแสดงออก แต่ต้องออกไปลงคะแนน
ปรเมศวร์ เหล็กเพชร นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในตอนนี้สื่อกำลังอยู่ระหว่างเตรียมตัวเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง และสื่อกำลังหารือกันว่าจะวางบทบาทของตัวเองอย่างไร
ปรเมศวร์ กล่าวว่า ล่าสุด ทางสมาคมนักข่าวฯ ได้เชิญเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งมาหารือถึงกฎกติกาใหม่ๆ ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นถึงแนวปฏิบัติของสื่อ และมีความน่ากังวลในการตีความกฎหมายว่าขอบเขตการใช้จะเป็นอย่างไร และอาจกลายเป็นเสี้ยวหนึ่งของการทำให้การเลือกตั้งไม่เสรีและเป็นธรรม
นอกจากกฎหมายเลือกตั้งแล้ว ปรเมศวร์ ยังชี้ชวนให้มองถึงตัวระเบียบ กกต. ว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีรายละเอียดแต่จะเกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายๆ และสุ่มเสี่ยงจะทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกจับตา ก็อาจจะทำให้เราเหนื่อย และมีภาระจากการแสดงออก 
นอกจากนี้ ยังมี "พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ" อีกหนึ่งฉบับที่ ปรเมศวร์ เห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง เพราะตัวบทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้เป็นอุปสรรคและเป็นปัญหาและคุกคามต่อเสรีภาพของทุกคน ทั้งที่ เจตนาของกฎหมายฉบับนี้ควรจะเป็นไปเพื่อการรักษาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ไม่ใช่เรื่องการให้รัฐเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ของเรา  
อย่างไรก็ดี ปรเมศวร์  มองว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ต้องเป็นการแสดงพลังของประชาชน ทุกคนต้องช่วยกันรณรงค์ให้คนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ถ้ามีคนออกมาใช้สิทธิใช้เสียงเลือกตั้งจำนวนน้อยจะกลายเป็นเข้าทางกลุ่มผลประโยชน์ที่ต้องการมีอำนาจต่อ แต่ถ้ามีคนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 99 เปอร์เซ็น แบบนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่ทำตามเสียงเรียกร้องของประชาชนได้เป็นผลสำเร็จ
ยิ่งชีพ: อย่าให้การเลือกตั้งนี้เป็นการเลือกตั้งของ คสช. โดย คสช. เพื่อ คสช.
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ กล่าวว่า ปัจจุบันพรรคการเมืองถูกห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองตามประกาศ คสช. ที่ 57/2557 นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งอาจจะส่งผลให้การประชุมของพรรคการเมือง การหาเสียง การแถลงนโยบายของพรรคการเมืองถูกตีความดำเนินคดีได้ และถ้ายังคงมีประกาศฉบับนี้อยู่ไปจนถึงการเลือกตั้ง มันจะทำให้การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่ใช่การเลือกตั้งที่แท้จริง 
อย่างไรก็ดี ยิ่งชีพ วิเคราะห์ว่า ในการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2562 คสช. จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในสามระดับ คือ หนึ่ง เป็นผู้เขียนกติกาการเลือกตั้งเอง สอง เป็นผู้ตีความและบังคับใช้กติการการเลือกตั้งเอง และ สาม เป็นผู้เล่นในสนามเอง 
ยื่งชีพ อธิบายว่า คสช.เริ่มเขียนกติกาด้วยตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วก็บังคับให้มันผ่านประชามติไป โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้วางกติกาให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง และ ส.ว.แต่งตั้งสามารถเลือกนายกฯ ได้ รวมถึงนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ คสช. ยังออกแบบระบบการเลือกตั้งให้พรรคที่ได้เสียงโหวตมากๆ อาจจะไม่ได้ที่นั่งในสภาเยอะ 
ยิ่งชีพ อธิบายต่อว่า ในระดับที่สอง คสช. เข้ามาเกี่ยวกับการเลือกตั้งผ่านการตีความและบังคับใช้กฎหมายการเลือกตั้งโดย คสช. ผ่านองค์กรอิสระ 2 แห่ง ได้แก่ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ถ้าเราย้อนไปดูที่มาขององค์กรอิสระเหล่านี้จะพบว่า ล้วนแล้วแต่มีที่มาจาก คสช.
ยิ่งชีพ มองว่า หากบรรยากาศการเลือกตั้งยังดำเนินไปแบบนี้ ภายใต้กติกาเช่นนี้ การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นก็จะเป็นการเลือกตั้งของ คสช. โดย คสช. และเพื่อ คสช.
ทั้งนี้ ยิ่งชีพ เสนอทางออกเพื่อการสร้างบรรยากาศการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม โดยเชิญชวนให้ทุกคนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน รวมถึงการสร้างความรู้ให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า การเลือกตั้งครั้งหน้ามีกติกาอย่างไร และมีการวางเงื่อนไขผลลัพธ์อย่างไร เมื่อทุกคนเข้าใจตรงกันแล้วทุกคนเลือกตรงกันไม่ให้ คสช. กลับมาได้ ปรากฏการณ์นี้ก็จะเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่