ทำไม คสช. บอกจะเลือกตั้ง ก.พ. 62 แต่คนไม่ค่อยเชื่อใจ?

หลังกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสองฉบับสุดท้ายอย่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้ายการได้มาซึ่ง ส.ว. ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้ทุกสายตาจับจ้องไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อไร
ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนมิถุนายน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยเปิดเผยโรดแมปการเลือกตั้งว่า อย่างเร็วที่สุดคงจะเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ตามมาด้วยคำยืนยันจากปาก  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ลิงค์) และรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า วันเลือกตั้งว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ด้วยเช่นกัน
แต่จากบทเรียนของการเชื่อคำมั่นสัญญาจากรัฐบาล คสช. ที่ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนไปแล้วถึงห้าครั้ง จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ความน่าเชื่อถือของประชาชนต่อคำพูดของ คสช. จะลดน้อยลง
4 ปีรัฐบาล คสช. เลื่อนเลือกตั้งมาแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง
ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจในรัฐบาล คสช. เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วิษณุ เครืองาม และมีชัย ฤชุพันธ์ ได้กล่าวต่อสาธารณะอย่างน้อย 12 ครั้ง เพื่อยืนยันถึงวันเลือกตั้ง แต่ทว่า คำสัญญาดังกล่าวมีอันต้องเป็นโมฆะเนื่องจากโรดแมปการเลือกตั้งกลับถูกเลื่อนมาแล้วถึง 5 ครั้ง
ครั้งที่ 1 เลื่อนเลือกตั้งจากกุมภาพันธ์ 2559 เป็นเดือนธันวาคม 2559 
การเลื่อนเลือกครั้งแรกเป็นผลมาจาก คสช. แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 เพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจากเดิมไม่มีขั้นตอนนี้ มีเพียงแค่ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นคนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ หาก สปช. เห็นชอบการเลือกตั้งก็จะเริ่มขึ้น แต่เมื่อมีการลงประชามติด้วยทำให้โรดแมปของการเลือกตั้งเลื่อนออกไป
ครั้งที่ 2 เลื่อนเลือกตั้งจากธันวาคมปี 2559 ไปปลายปี 2560 
การเลื่อนเลือกตั้งครั้งที่ 2 เป็นผลสืบเนื่องมาจากการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 ที่เปิดทางให้ คสช. สามารถอยู่ต่อได้ ในกรณีที่ถ้า สปช. ไม่เห็นชอบ ให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป และให้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อ กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จให้นำไปออกเสียงประชามติ ซึ่งผลสุดท้าย สปช. ก็มีมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจริงๆ พร้อมกับข่าวลือมีใบสั่งจากผู้มีอำนาจ
ครั้งที่ 3 เลื่อนเลือกตั้งจากปลายปี 2560 ไปเป็นพฤศจิกายน 2561 
การเลื่อนเลือกตั้งครั้งที่ 3 เกิดขึ้นหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติไปแล้วกว่า 5 เดือน และยังอยู่ในขั้นตอนการรอพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย ซึ่ง คสช.ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 อีกครั้ง เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในรัฐธรรมนูญได้
ครั้งที่ 4 เลื่อนเลือกตั้งจากพฤศจิกายน 2561 ไปเป็นกุมภาพันธ์ 2562 
การเลือกเลือกตั้งครั้งที่ 4 เป็นผลมาจากการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. และทำหน้าที่พิจารณาออกกฎหมาย พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. โดย สนช. ได้ช่วย คสช. ยืดการเลือกตั้งออกไปด้วยการยืดระยะเวลาบังคับใช้ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ออกไป 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ครั้งที่ 5 เลื่อนเลือกตั้งจากกุมภาพันธ์ 2562 ไปเป็นพฤษภาคม 2562
การเลือกตั้งครั้งที่ 5 เป็นผลมาจาก กรธ. และ สนช. ผู้ที่มีหน้าที่พิจารณากฎหมายลูกหรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ มีความเห็นไม่ตรงกันในการร่างกฎหมายการเลือกตั้งสองฉบับสุดท้าย และ มีชัย ฤชุพันธ์ ได้กดดันไปยัง สนช. จนต้องมีการยื่นตีความกับศาลรัฐธรรมนูญ โดยขั้นตอนนี้ทำให้โรดแมปของการเลือกตั้งอาจจะขยายเพิ่มไปอีกสามเดือน
'ม. 44' ไม้สุดท้ายที่รัฐบาล คสช. ยังใช้ได้เพื่อเลื่อนเลือกตั้ง
ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 265 กำหนดให้หัวหน้า คสช. และ คสช. ยังคงมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 ซึ่งหมายความว่า หัวหน้า คสช. ยังคงสามารถออกคำสั่งใดๆ โดยใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ต่อไปได้
สี่ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เคยใช้มาตรา 44 แก้กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมาแล้วหนึ่งครั้ง คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ที่เป็นการออกคำสั่งเพื่อแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2560
นอกจากนี้ คสช. ยังเคยใช้มาตรา 44 แก้กฎหมายระดับรัฐธรรมนูญมาแล้วอีกสองครั้ง ครั้งแรกคือ ก่อนการออกเสียงประชามติ ที่ใช้มาตรา 44 แก้เรื่องเด็กต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างน้อย 15 ปี หลังร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเรียนฟรีแค่ 12 ปี 
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่สอง เกิดขึ้นหลังการออกเสียงประชามติ ที่หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเพื่อแก้ไขปัญหาประเด็นศาสนาของร่างรัฐธรรมนูญ ที่เดิมร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐมีหน้าที่สนับสนุนพุทธศาสนา นิกายเถรวาท เป็นทุกหน่วยงานรัฐมีหน้าที่คุ้มครองทุกศาสนา 
จะเห็นได้ว่า หัวหน้า คสช. สามารถใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขกฎหมายไม่ว่าจะเป็นในระดับชั้นพระราชบัญญัติหรือแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้ ดังนั้น หาก คสช. อยากจะแก้กฎหมายการเลือกตั้งหรือแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้งเพื่อจะยืดการเลือกตั้งออกไปอีกจึงอยู่ในวิสัยที่พอจะเป็นไปได้อยู่