ร่าง พ.ร.บ.บริหารกรุงเทพฯ ฉบับใหม่ งดเว้นการเลือกตั้ง ส.ข. จนกว่าจะมีกฎหมายใหม่

ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในหกกฎหมายที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังจัดทำเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งท้องถิ่นที่ที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะเกิดก่อนหรือหลังการเลือกตั้งระดับชาติที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวกลายเป็นที่จับตามองภายหลังมีข้อเสนอยุบสภาเขตกรุงเทพฯ (ส.ข.) สภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนชาว กทม.  และมีความกังวลว่า ทิศทางการจัดการระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินในยุค คสช. จะสวนทางกับการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นเพื่อเพิ่มให้กับประชาชน
สภาเขตกรุงเทพฯ (ส.ข.) คือใคร มีบทบาทหน้าที่อย่างไร
ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ได้แบ่งโครงสร้างในการบริหารกรุงเทพฯ ออกเป็นสามส่วน โดยสองส่วนแรกที่คนรู้จักกันดีก็คือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารสูงสุดของกรุงเทพฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และทำหน้าที่กำหนดนโยบายและบริหารราชการต่างๆ เหมือนนายกรัฐมนตรีประจำกรุงเทพฯ
เมื่อมีฝ่ายบริหารก็ต้องมีฝ่ายนิติบัญญัติในการทำหน้าที่เห็นชอบกฎหมาย นโยบาย งบประมาณและควบคุมการทำงานของผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติเรียกว่า สภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ซึ่งมีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ในยุค คสช. ทั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ และสมาชิก ส.ก. มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.
นอกจากนี้ เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษและมีเขตพื้นที่ดูแลถึง 50 เขต กฎหมายจึงกำหนดให้มีหน่วยงานปฏิบัติการในแต่ละเขต โดยมีผู้บริหารคือผู้อำนวยการเขตซึ่งมาจากการแต่งตั้งข้าราชการของผู้ว่าฯ กทม. ในขณะเดียวกันแต่ละเขตก็มีสภาเขตกรุงเทพมหานคร (ส.ข.) ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง มีทำหน้าที่ให้ข้อคิดเห็นและข้อสังเกตเกี่ยวกับแผนพัฒนาเขตต่อผู้อำนวยการเขต และ ส.ก.
ไอเดียยุบสภาเขตฯ มาจาก สปท. อ้างทำงานซ้ำซ้อน-ผลประโยชน์แอบแฝง
แนวคิดการยุบ ส.ข. มีจุดเริ่มต้นมาจาก คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เสนอให้ยกเลิก ส.ข. เนื่องจากคณะกรรมาธิการฯ มองไม่เห็นความสำคัญของการมี ส.ข. อีกทั้ง สมาชิก ส.ข. เป็นผู้ที่ยึดโยงกับนักการเมืองเพราะสังกัดพรรคการเมือง การดูแลประชาชนก็อาจจะไม่ทั่วถึงทั้งหมด 
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังอ้างถึงการเลือกตั้ง ส.ข. ที่ผ่านมา อีกว่ามีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมีน้อยมาก อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่าง ส.ก. กับ ส.ข. เพราะกฎหมายระบุให้ ส.ข. มีอำนาจในการจัดสรรงบพัฒนาเขต ทั้งที่ ส.ข. นั้นมีความเกี่ยวข้องกับ ส.ก. ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้พิจารณางบประมาณ
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังมองอีกว่า หากไม่มี ส.ข. ก็ไม่กระทบต่อกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะมี ส.ก. คอยทำหน้าที่อยู่แล้ว และยังคงการมีส่วนร่วมจากประชาชนโดยให้มี “ประชาคมเขต” มาช่วยให้คำปรึกษาผู้อำนวยการเขตแทน ส.ข. โดยมาจากการเลือกกันเองของคนในกลุ่มต่าง ๆ
ร่าง พ.ร.บ.บริหารกรุงเทพฯ ไม่ให้เลือกตั้ง ส.ข. จนกว่าจะแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ คสช.
จากไอเดียของ สปท. แนวคิดเรื่องการยกเลิก ส.ข. เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งปรากฎอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2561 มีการกำหนดเกี่ยวกับสถานะของ ส.ข. ไว้ในมาตรา 25 ที่กำหนดว่า ในระหว่างที่การดําเนินการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศยังไม่มีผลใช้บังคับ มิให้นํามาตรา 71 ถึงมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาใช้บังคับ ซึ่งหมายความว่า ไม่ให้มีการเลือกตั้ง ส.ข. เป็นการชั่วคราว
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจคือ ในร่าง พ.ร.บ.บริหารกรุงเทพฯ ฉบับที่เปิดรับฟังความคิดเห็นในระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน ถึง 13 กรกฎาคม 2561 เคยระบุถึง 'ประชาคมเขต' ซึ่งมาจากการคัดเลือกกันเองของ กลุ่มอาชีพ อาสาสมัคร และผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน เพื่อมาทำหน้าเสนอแนะ ให้คำปรึกษา จัดทำแผนงาน งบประมาณ เพื่อทดแทน ส.ข. ที่จะถูกยกเลิกไป แต่ทว่า ในร่างกฎหมายที่เปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งล่าสุดกลับไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวอยู่เลย
ทั้งนี้ ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังเปิดช่องไว้อีกว่า "จนกว่าจะมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ขาติและแผนการปฏิรูปประเทศ" จึงจำเป็นจะต้องจับตาต่อไปว่า รูปแบบการบริหารราชการกรุงเทพฯ ในอนาคตจะเป็นอย่างไร
ไฟล์แนบ