ร่างพ.ร.บ.เอกสิทธิ์และความคุ้มกันองค์การระหว่างประเทศฯ: องค์การระหว่างประเทศห้ามกระทบความมั่นคง และแทรกแซงกิจการภายใน

การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติทั้งการประชุมของภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งการเปิดให้องค์การระหว่างประเทศมาตั้งสำนักงานในดินแดนของตัวเองถือ เป็นหนึ่งในวิธีการที่ประเทศต่างๆ ใช้ในการสร้างภาพลักษณ์หรือบทบาทของตัวเองในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ในกรณีของประเทศไทย การเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่เกิดขึ้นในปี 2546 ซึ่งมีผู้นำชาติมหาอำนาจทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย มาร่วมประชุมที่ประเทศไทยในคราวเดียวกันได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดสนใจของประชาคมโลกในช่วงเวลานั้น 
เพื่อสร้างแรงจูงใจให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาจัดงาน หรือรวมทั้งจัดตั้งสำนักงานในประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงได้รับหลักการร่าง พ.ร.บ.เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศ และการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. …. หรือ ร่าง พ.ร.บ.เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศฯ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอมา ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะกำหนดเอกสิทธิและความคุ้มกันอย่างเป็นทางการให้กับองค์การระหว่างประเทศที่จะมาตั้งสำนักงานในประเทศไทย และบุคลากรของหน่วยงานดังกล่าว รวมถึงการประชุมระหว่างประเทศและผู้เข้าร่วมการประชุมประหว่างประเทศด้วย
วิวัฒนาการ: เปลี่ยนชื่อร่างกฎหมายจาก "คุ้มครอง" เป็น "คุ้มกัน" 
วันที่ 14 มิถุนายน 2559 ครม. มีมติอนุมัติหลักการ "ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. …." ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ และ ครม. ได้ส่งร่าง กฎหมายดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเพื่อตรวจพิจารณา
ต่อมาวันที่ 12 – 27 ธันวาคม 2560 เว็บไซต์ www.lawamendment.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ภาครัฐใช้สำหรับรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างกฎหมายฉบับต่างๆ เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อ "ร่าง พ.ร.บ.เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศ และการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. …."  จะสังเกตว่าชื่อของร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่เผยแพร่บนเว็บ law amendment มีการเปลี่ยนแปลงชื่อโดยเติมคำว่า "เอกสิทธิ์" เข้ามา และเปลี่ยนคำว่า "คุ้มครอง" เป็น "ความคุ้มกัน" 
ในเว็บไซต์ lawamentment มีผู้มีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้รวม 26 ความเห็น ส่วนใหญ่แสดงความเห็นในลักษณะเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว แต่ก็มีผู้แสดงความเห็นบางส่วนแสดงความกังวล เช่น ควรคำนึกถึงปัจจัยอื่นด้วย เช่น ปัญหาการจราจรในกรุงเทพ หรือบางคนกังวลว่าในปัจจุบันมีผู้ได้รับเอกสิทธิ์ที่อาจทำความผิดตามกฎหมายไทย เช่น ความผิดเกี่ยวกับการจราจรหรือเกี่ยวกับภาษี จึงไม่แน่ใจว่าการออกกฎหมายฉบับนี้มีการวางมาตรการป้องกันปัญหานี้ไว้อย่างไรบ้าง 
จนถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ที่ประชุม สนช. จึงมีมติรับร่าง พ.ร.บ.เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศฯ อย่างท่วมท้น ด้วยคะแนนเห็นชอบ 193 เสียง ไม่เห็นชอบเพียง 1 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง จากสมาชิกที่ร่วมประชุมทั้งหมด 197 คน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีทั้งหมด 20 มาตรา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สนช. หาก สนช.พิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นกฎหมาย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะมีผลใช้บังคับในวันถัด
องค์การระหว่างประเทศที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
สำหรับประเภทขององค์การระหว่างประเภทที่ได้รับความคุ้มครองตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ปรากฎอยู่ในมาตรา 3 โดยมีการแบ่งองค์การระหว่างประเทศที่ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามกฎหมายนี้ออกเป็นสองประเภท ได้แก่องค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล และองค์การระหว่างประเทศระดับกึ่งรัฐบาล
"องค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล" หมายถึง องค์การที่รัฐต่างๆ ร่วมกันจัดตั้งขึ้นและเป็นสมาชิก หรือองค์การที่จัดตั้งขึ้นตามการประชุมระหว่างประเทศที่รัฐบาลไทยให้การรับรอง เช่น องค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เป็นต้น
"ส่วนองค์การระหว่างประเทศระดับกึ่งรัฐ" หมายถึง องค์การที่สมาชิกส่วนหนึ่งเป็นรัฐ หรือองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาลและมีสมาชิกอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ใช่รัฐ นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังระบุให้ "คณะกรรมการกาชาดสากลระหว่างประเทศ และ "สภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ" องค์กรระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรมที่ไม่ได้มีสถานะเป็นทั้งองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศระดับกึ่งรัฐบาล เป็นองค์การที่ได้รับการคุ้มกันตามกฎหมายนี้ด้วย
การประชุมที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ "การประชุมระหว่างประเทศ"  ถูกแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ "การประชุมระหว่างประเทศภาครัฐ" หมายถึงการประชุมที่จัดขึ้นในประเทศไทย โดยรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ องค์การหรือหน่วยงานระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้แทนของรัฐหรือผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมประชุม และ "การประชุมระหว่างประเทศภาคเอกชน" หมายถึงการประชุมที่จัดในประเทศไทยโดยมีคนจากต่างประเทศมาร่วมประชุมแต่ไม่ใช่การประชุมโดยตัวแทนภาครัฐ
ทั้งนี้องค์กรระหว่างประเทศที่เป็นเอกชนรวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศที่ไม่มีรัฐชาติเป็นสมาชิกจึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้
เอกสิทธิขององค์การระหว่างประเทศและผู้ปฏิบัติงาน
สำหรับความคุ้มกันและเอกสิทธิต่างๆ ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการจำแนกออกเป็นสี่ลักษณะ ได้แก่ 
1) "เอกสิทธิ์และความคุ้มกันองค์การระหว่างประเทศ" (มาตรา 5)  เช่น การยกเว้นภาษีทางตรงขององค์การและทรัพย์สินตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด, ได้รับการคุ้มกันจากการถูกดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายทุกรูปแบบยกเว้นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์, ได้รับการคุ้มครองการใช้รหัส รวมทั้งการส่งและรับหนังสือตอบโต้เช่นเดียวกับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูต, การตรวจหนังสือโต้ตอบและการสื่อสารขององค์กรเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้, รวมทั้งได้รับการคุ้มกันจากการยึด ค้น หรือริบทรัพย์สินหรือสินทรัพย์ขององค์การ เป็นต้น
2) "เอกสิทธิ์และความคุ้มกันบุคลากรขององค์การระหว่างประเทศ" (มาตรา 6)  เช่น ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะส่วนของเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากองค์การระหว่างประเทศหรือรัฐบาลของบุคคลนั้นๆ, ได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับของใช้ส่วนตัวที่นำเข้าประเทศในการมารับตำแหน่งครั้งแรก, ความคุ้มกันจากจากการจับกุมคุมขังหรือยึดสัมภาระส่วนตัว, ความคุ้มกันและความสะดวกเกี่ยวกับสัมภาระส่วนตัวในระดับเดียวกับผู้แทนทางการทูต, ความคุ้มกันจากการดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำในตำแหน่งหน้าที่ และได้รับความคุ้มกันจากการถูกดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวาจาหรือลายลักษณ์อักษรที่กระทำในตำแหน่งหน้าที่ เป็นต้น
มีข้อน่าสังเกตด้วยว่าผู้ปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศที่เป็นชาวต่างชาติ กับผู้ปฏิบัติงานที่เป็นชาวไทยหรือเป็นผู้มีถิ่นพำนักถาวรในไทยจะได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันต่างกัน โดยมาตรา 6 วรรคสองกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานชาวไทยหรือผู้มีถิ่นพำนักถาวรได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันเฉพาะจากการถูกดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวาจาหรือลายลักษณ์อักษรที่กระทำในตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น
จัดประชุมภาครัฐมีเอกสิทธิโดยอัตโนมัติ ส่วนการประชุมภาคเอกชนต้องร้องขอโดยมีเงื่อนไขกำกับ
3) "เอกสิทธิ์และความคุ้มกันผู้จัดการประชุมระหว่างประเทศภาครัฐ" (มาตรา 10) เช่น ได้รับการยกเว้นภาษีทางตรงสำหรับรายได้ที่เกิดจากการจัดการประชุมในประเทศไทย, ได้รับการยกเว้นข้อห้ามหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับการนำเข้าหรือส่งออกสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการประชุม เป็นต้น 
สำหรับ "ผู้แทนของรัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศที่เข้าร่วมการประชุม" จะได้การคุ้มครองเช่นเดียวกับเอกสิทธิ์ตามมาตรา 6 ส่วน "ผู้เข้าร่วมการประชุมที่ไม่ใช่ตัวแทนของรัฐหรือองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐ" ก็อาจจะได้รับการงดเว้นภาษีเงินได้ในส่วนที่เป็นค่าตอบแทนจากผู้จัดการประชุม และได้รับการงดเว้นข้อจำกัดเกี่ยวกับการเข้าเมือง แต่ไม่ได้รับความคุ้มกันจากการถูกจับกุมคุมขังหรือยึดสัมภาระส่วนตัว
4) "ผู้จัดการประชุมระหว่างประเทศภาคเอกชน" จะไม่ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยอัตโนมัติเฉกเช่นผู้จัดการประชุมระหว่างประเทศภาครัฐ แต่สามารถที่จะขอรับสิทธิประโยชน์ได้ โดยต้องเสนอเรื่องต่อสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ให้พิจารณาและนำเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อกำหนดว่าการประชุมดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง 
อย่างไรก็ตามไม่ใช่การประชุมระหว่างประเทศภาคเอกชนทุกประเภทที่จะมีสิทธิขอรับเอกสิทธิ์และการคุ้มกันนี้ มาตรา 14 (1) กำหนดเงื่อนไขว่าการประชุมดังกล่าวจะต้องมีผู้ร่วมการประชุมจากต่างประเทศจำนวนมากซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจหรือการท่องเที่ยว หรือเป็นการประชุมที่จะเกิดประโยชน์ด้านความรู้ต่อประชาชน มาตรา 14 (2) ยังกำหนดด้วยว่าเนื้อหาและกิจกรรมในการประชุมดังกล่าวจะต้องไม่เป็นภัยต่อความมั่นคง ต่อความสัมพันธฺ์อันดีระหว่างไทยกับประเทศอื่น หรือต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน  มาตรา 14 ยังกำหนดกรอบเวลาด้วยว่าเมื่อสำนักงานส่งเสริมฯ เมื่อได้รับเรื่องจากผู้จัดการประชุมแล้วจะต้องส่งเรื่องต่อให้นายกรัฐมนตรีภายใน 15 วัน แต่ไม่ได้มีการกำหนดกรอบเวลาว่านายกรัฐมนตรีต้องมีความเห็นในระยะเวลาเท่าใด
หากได้รับความเห็นชอบให้ได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันแล้ว ผู้จัดการประชุมประเภทนี้อาจจะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ได้รับการยกเว้นการขอใบอนุญาตการทำงานของคนต่างด้าว และได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองกำหนดเพื่อปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการประชุม เป็นต้น ขณะที่ "ผู้เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศภาคเอกชน" ก็ได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนของรายได้ที่เกิดจากการประชุม เช่น ค่าวิทยากร, ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศเกินกว่าที่กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองกำหนดเพื่อการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการประชุม หรือได้รับการยกเว้นการขอใบอนุญาตทำงานเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการประชุม เป็นต้น 
การเพิกถอนเอกสิทธิ์และความคุ้มครอง
มีข้อน่าสังเกตความในมาตรา 14 (2) ซึ่งกำหนดไว้อย่างกว้างๆ เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี อาจทำให้การประชุมระหว่างประเทศในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนหรือการเมืองซึ่งเนื้อหาบางส่วนอาจมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยหรือรัฐบาลประเทศอื่นอาจไม่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกัน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 18 ที่กำหนดให้องค์การ บุคคล หรือการประชุมที่ได้เอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และห้ามเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศของไทย 
ทั้งนี้ในมาตรา 19 กำหนดให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นสิ่งที่ทางการไทยสามารถเพิกถอนได้ ในกรณีที่องค์การระหว่างประเทศ บุคคลากร หรือผู้เข้าร่วมการประชุมที่ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวไปในทางที่จะกระทบต่อความมั่นคงหรือขัดขวางกระบวนการยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศสามารถเสนอให้ ครม. ระงับเหรือเพิกถอนเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันที่เคยให้ไว้ได้