สนช. แก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2 ครั้ง เพิ่มพระราชอำนาจตั้งสมเด็จพระสังฆราช และกรรมการมหาเถรสมาคม

ในสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมถึงสองครั้ง และกระบวนการพิจารณาทั้งสองครั้งก็เป็นไปอย่างรวดเร็วใช้เวลาในการพิจารณาเห็นชอบเป็นกฎหมายภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ในด้านเนื้อหาสาระการแก้ไขเพิ่มเติมสองครั้งมีสาระสำคัญคือการเพิ่มอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งผู้บริหารคณะสงฆ์
แก้ไขครั้งแรก: ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช  
การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ครั้งแรกของ สนช. หรือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 เกิดขึ้นเมื่อ 29 ธันวาคม 2559 เมื่อสมาชิก สนช. จำนวน 81 คน นำโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ เสนอแก้ไขประเด็นการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ให้ “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”
จากเดิมมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 กำหนด ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช และในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
สมณศักดิ์ คือ บรรดาศักดิ์ หรือยศที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่ภิกษุ
แก้ไขครั้งแรก: ความขัดแย้งเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่
แม้เหตุผลทางการของการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ครั้งแรก คือ การกล่าวถึงโบราณราชประเพณีที่ให้พระราชอํานาจพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช
แต่สถานการณ์วงการสงฆ์ ขณะนั้นคือการขาดตำแหน่งผู้นำคณะสงฆ์ ตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2556 เมื่อสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกสิ้นพระชนม์ แม้ต่อมาวันที่ 5 มกราคม 2559 มหาเถรสมาคมจะดำเนินการตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 มีมติเลือกสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ “สมเด็จช่วง” ในฐานะสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ แต่ก็ผู้ยื่นเรื่องคัดค้านมติดังกล่าว
ผู้คัดค้านสมเด็จช่วงเป็นสมเด็จพระสังฆราช เช่น อดีตพระพุทธอิสระ ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลไม่ให้ทูลเกล้าสมเด็จช่วง เพราะมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ขณะที่ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ยื่นร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าขั้นตอนการเสนอชื่อสมเด็จช่วงมีความถูกต้องหรือไม่ ส่วนผู้สนับสนุนสมเด็จช่วง นำโดยพระเมธีธรรมมาจารย์ เลขาศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย โดยมีการชุมนุมใหญ่ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม เพื่อสนับสนุนมติมหาเถรสมาคม
ความขัดแย้งในวงการสงฆ์ทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ประกาศว่าจะไม่ทูลเกล้าฯ รายชื่อสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งทำให้ สนช. เสนอร่างแก้ไขให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2560 บังคับใช้ ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่
แก้ไขครั้งที่สอง: ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม
การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ครั้งที่สอง หรือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 โดย สนช. เกิดขึ้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2561 ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกเสนอโดยคณะรัฐมนตรี โดยเสนอให้ สนช. พิจารณาเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมในจำนวน 8 มาตรา คือ มาตรา 5 ตรี, มาตรา 12, มาตรา 14, มาตรา 15 มาตรา 15 ทวิ, มาตรา 20 ทวิ, มาตรา 10 วรรคเจ็ด และมาตรา 20/2 สำหรับหลักการของกฎหมายฉบับนี้คือ การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยมากขึ้น
ประเด็นสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่สองคือ การให้อำนาจพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม โดยปรากฎอยู่ในมาตรา 5 ตรี ที่ระบุว่า “… พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม” ซึ่งตามกฎหมายเดิมกรรมการมหาเถรสมาคมมีที่มาจากสองส่วน คือ  มาจากพระสงฆ์ซึ่งมีสมณศักดิ์ “สมเด็จพระราชาคณะ” ทุกรูป และมาจากการพระสงฆ์ซึ่งมีสมณศักดิ์ “พระราชาคณะ” จำนวน 12 รูป โดยสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้แต่งตั้ง
จำนวนพระภิกษุ-สามเณร ในประเทศไทย
พระภิกษุ
298,580 รูป
สามเณร 59,587 รูป

ที่มา: ข้อมูลพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา ประจำปี 2560

 

แก้ไขครั้งที่สอง: เปลี่ยนองค์ประกอบกรรมการมหาเถรสมาคม

พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับนี้ ได้เปลี่ยนองค์ประกอบของมหาเถรสมาคมใหม่ ซึ่งปรากฎในมาตรา 12 ระบุว่า “มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควรและมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์”
โดยมาตรา 14 ระบุเพิ่มเติมว่า กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งทั้ง 20 รูปจะอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และหากหมดวาระก็อาจได้รับการแต่งตั้งกลับเข้าไปอีกได้
การแก้ไของค์ประกอบกรรมการมหาเถรสมาคมครั้งนี้จะทำให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมได้ทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องเลือกพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์เท่านั้น ซึ่งต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้พระสงฆ์ซึ่งสามารถเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมต้องมีสมณศักดิ์เป็น “สมเด็จพระราชาคณะ” หรือ “พระราชาคณะ” เท่านั้น
จำนวนพระภิกษุที่มีพระสมณศักดิ์ ในประเทศไทย
พระสมณศักดิ์ จำนวน
สมเด็จพระสังฆราช 1 รูป
สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ 8 รูป
พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ
22 รูป
พระราชาคณะ ชั้นธรรม 53 รูป
พระราชาคณะ ชั้นเทพ
122 รูป
พระราชาคณะ ชั้นราช 250 รูป
พระราชาคณะ ชั้นสามัญ 567 รูป
พระครูสัญญาบัตร 18,831 รูป
รวม 19,853 รูป