4 เรื่องต้องรู้ ก่อน สนช. เห็นชอบ กกต. ชุดใหม่ (ครั้งที่สอง)

12 กรกฎาคม 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดประชุมให้ความเห็นชอบผู้ที่จะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ หลัง กกต. ชุดเก่าถูก 'เซ็ตซีโร่' หรือถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 
สำหรับการลงมติเพื่อให้ความเห็นชอบในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ สนช. เคยลงมติไปครั้งหนึ่ง และเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบผู้สมัคร กกต. ชุดแรก แบบยกชุด โดยอ้างเรื่องขาดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ จนนำมาสู่การสรรหา กกต. ชุดใหม่กันอีกครั้ง
ตลอดกระบวนการสรรหา กว่าจะนำมาซึ่งรายชื่อชุดสุดท้ายของคนที่จะมานั่งเป็น กกต. ชุดใหม่ คสช. พยายามเข้ามามีบทบาทกับองค์กรอิสระ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ดังนี้
หนึ่ง กรธ. ร่างกฎหมายใหม่ เพิ่มอำนาจ กกต. จัดการนักการเมือง
ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 องค์กรอิสระมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น และมีอำนาจให้คุณให้โทษพรรคการเมืองและนักการเมืองเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดย มีชัย ฤชุพันธ์ บุคคล ที่คสช. ให้ความไว้วางใจและแต่งตั้งมากับมือ
หน้าที่ของ กรธ. นอกจากจะร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้วแล้ว กรธ. ยังวางบทบาทของตัวเองไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 อีกว่า ให้ตัวเองเป็นผู้จัดทำ 'กฎหมายลูก' หรือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสิบฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560
กฎหมายลูกที่ กรธ. เป็นคนร่าง ได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวน กกต. จาก 5 คน เป็น 7 คน และการกำหนดวิธีการสรรหาใหม่ โดยให้คณะกรรมการสรรหามาจากฝ่ายตุลาการ 2 คน ฝ่ายการเมือง 1 คน และตัวแทนองค์กรอิสระ องค์กรละ 1 คน ซึ่งรวมแล้วจะมีตัวแทนจากองค์กรอิสระทั้งหมดเป็น 5 คน และเป็นเสียงข้างมากในคณะกรรมการสรรหา ขณะที่ตัวแทนฝ่ายการเมืองปัจจุบันยังไม่มี จึงเป็นพรเพชร วิชิตชลชัย อีกหนึ่งมือกฎหมายของ คสช. ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมทำหน้าที่สรรหา กกต. ด้วย
นอกจากนี้ กฎหมายฉบับใหม่ยังเพิ่มอำนาจใหม่ให้กับ กกต. เช่น การแจก 'ใบส้ม' หรือ การระงับสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครไว้เป็นการชั่วคราว (ไม่เกิน 1 ปี) ทั้งนี้ นักการเมืองที่ถูก กกต. แจกใบส้มจะไม่สามารถสมัครรับลงเลือกตั้งใหม่ได้ หาก กกต. จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ นั่นเท่ากับว่า ผู้สมัครรายนั้นต้องออกจากสนามการเลือกตั้งทั้งที่ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่ากระทำความผิดจริงหรือไม่ และอำนาจดังกล่าวของ กกต. ยังให้ถือเป็นที่สุด
สอง สนช. รับลูก แก้กฎหมายให้ 'เซ็ตซีโร่' สรรหา กกต. ใหม่ 
เมื่อ กรธ. ร่างกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้ สนช. ซึ่งเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. เป็นผู้พิจารณากฎหมาย อีกทั้ง สนช. ยังมีอำนาจในการแก้ไขกฎหมายที่ กรธ. เป็นคนเสนอมาได้อีกด้วย
เมื่อ สนช. รับกฎหมาย กกต. จาก กรธ. มาพิจารณาจึงมีการแก้ไขบางประเด็น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการ "เซ็ตซีโร่" ให้กรรมการ กกต. ชุดเดิมพ้นจากตำแหน่ง ซึ่ง พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว อธิบายว่า เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ กกต. มากขึ้น คุณสมบัติจึงเข้มข้นตามมาด้วย จึงควรเริ่มดำเนินการเลยเพื่อให้ได้ กกต. ชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่
นอกจากนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาทำงานแบบปลาสองน้ำ รวมทั้งการเพิ่มจำนวนกรรมการ กกต. จาก 5 มาเป็น 7 คน ทำให้โครงสร้าง กกต. เปลี่ยนไป 
สาม สนช. ลงมติไม่เห็นชอบ ผู้สมัคร กกต. ชุดแรก
บทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 กำหนดให้กรรมการ กกต. ชุดเก่าต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่แล้ว ยังกำหนดให้มีกระบวนการสรรหา กกต. ชุดใหม่ ภายใน 110 วัน หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 สนช. ได้นัดประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบผู้สมัคร กกต. ชุดใหม่ ทั้ง 7 คน ได้แก่ เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ, ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ที่ปรึกษากฎหมายบริษัท วรวิสิฏฐ์, ประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย, ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา และ ปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา 
แต่ทว่า สนช. กลับมีมติไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อแม้แต่คนเดียว โดยเหตุผลที่ สนช. ไม่เห็นชอบนั้น คาดว่ามาจากคุณสมบัติและความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้สมัคร อีกทั้ง ผู้สมัคร กกต. ที่มาจากการการคัดเลือกโดยศาลฎีกา ก็มีปัญหาเรื่องกระบวนการสรรหาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะไม่ได้ลงคะแนนเลือกกันโดยเปิดเผย และความเป็นไปได้สุดท้าย คือ สนช. ได้รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจให้ไม่เห็นชอบทั้ง 7 คน 
อย่างไรก็ดี ภายหลังการลงมติของ สนช. ได้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาว่าจะเปิดเผยรายงานการประชุมครั้งดังกล่าวต่อสาธารณะหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่า จะไม่เปิดเผยรายงานบันทึกการประชุมในวาระดังกล่าว 
สี่ คสช. ใช้ ม.44 ปลด กกต. หลังวิจารณ์เลื่อนเลือกตั้ง  
ภายหลัง สนช. มีมติคว่ำผู้สมัคร กกต. ยกชุดไม่นาน วันที่ 20 มีนาคม 2561 หัวหน้า คสช. ก็ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 4/2561 สั่งให้ สมชัย ศรีสุทธิยากร หยุดปฏิบัติหน้าที่กรรมการการเลือกตั้ง
โดยคำสั่งระบุเหตุผลว่า มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในกรณีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการและกําหนดการการเลือกตั้ง และสมชัยสมัครเข้าเป็นเลขาธิการ กกต. ชุดใหม่ โดยไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งก่อน ซึ่งถือเป็นการกระทําที่เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และยังถือโอกาสในการออกคำสั่งครั้งนี้แถมข้อกำหนดด้วยว่า หากกรรมการที่เหลืออยู่อีกสี่คนอายุครบเจ็ดสิบปี ก็ให้อยู่ในตำแหน่งไปก่อนจนกว่าจะได้ชุดใหม่เข้าทำหน้าที่แทน
ซึ่งสอดคล้องกับการแสดงความคิดเห็นของ สมชัย บนโลกออนไลน์ ที่ตั้งคำถามถึงการตัดสินใจยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายลูก ส.ว. ที่อาจจะทำให้โรดแมปการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก