พรรคการเมืองประสานเสียง ล้างมรดกเผด็จการ-ไม่เอานายกฯ คนนอก

ตัวแทนพรรคการเมืองสี่พรรค ได้แก่ ปิยบุตร แสงกนกกุล พรรคอนาคตใหม่, สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคเพื่อไทย, พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พรรคเสรีรวมไทย และ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคประชาธิปัตย์ ต่างก็ประสานเสียงโชว์วิสัยทัศน์ บนเวที “The Move We Decide ก้าวที่เลือกได้” ที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในกิจกรรมวันที่ 20 พฤษภาคม 2561 เนื่องในโอกาสครบรอบสี่ปีของ คสช. โดยคนจากทุกพรรคการเมืองยืนยันพร้อมกันว่า หลังการเลือกตั้งปีหน้า ต้อง “แก้กติกาล้างมรดกเผด็จการพร้อมยืนยันไม่เอานายกฯ คนนอก”
ปิยบุตร: การเมืองไทยไม่ปกติมา 12 ปีแล้ว ต้อง ’ล้างมรดกคสช.’ เริ่มต้นกันใหม่
ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เป็นเวลาสี่ปีที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกได้ประกาศกฎอัยการศึก หลังจากนั้นก็มีการรัฐประหาร ในนามของ คสช. แต่ถ้านับตั้งแต่การทำรัฐประหารในปี 2549 จนวันนี้ก็ 12 ปีแล้วที่เรามีชีวิตอยู่ในระบบการเมืองที่ผิดปกติ เด็กที่อายุระหว่าง 18 ถึง 25 ปี มีภาพของการเมืองไทยที่ไม่ปกติมาครึ่งชีวิตของพวกเขา
การเข้ามาของ คสช. ผมเรียกว่าการรัฐประหารซ่อม เพราะรัฐประหารปี 49 ทำรัฐประหารไม่สำเร็จเด็ดขาด ก็เลยต้องซ่อม เหตุที่ต้องซ่อมก็เพื่อทำให้สิ่งที่ผิดปกติตั้งแต่ปี 2549 ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ ทุกวันนี้จะเห็นได้เลยว่า มันมีหลายสิ่งที่ผิดปกติ แต่เกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็น บรรดาประกาศ-คำสั่ง คสช. ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิเสรีภาพ มีคนโดนจับกุมคุมขังเต็มไปหมด แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ โดยอ้างว่าเป็น ‘กฎหมาย’
ความผิดปกติทุกวันนี้ ถูกทำให้อยู่ในรูปของรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศ-คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 แผนปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งหลายทั้งปวง ผมเรียกสิ่งนี้รวมๆ ว่า  ‘มรดกคสช.’ สิ่งเหล่านี้เป็นมรดกบาป เป็นพินัยกรรมที่เราไม่พึ่งปรารถนา
ถ้าถามว่า แล้วภายใต้กฎกติกาพวกนี้เราจะทำอย่างไร ทางออกมีทางเดียวคือ ‘ต้องจัดการมรดกคสช.ทิ้งให้หมด’
ส่วนวิธีการทำ อย่างแรก ต้องจับบรรดาประกาศ-คำสั่ง และคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งหมด มาพิจารณาใหม่ แล้วแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง คือ กลุ่มประกาศและคำสั่งที่มีเนื้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อความยุติธรรมอย่างร้ายแรง กลุ่มนี้ต้องยกเลิกในทันที และบรรดาผู้เสียหายจากประกาศและคำสั่งเหล่านี้ต้องได้รับการเยียวยาทดแทน กลุ่มที่สอง คือ คำสั่งที่ใช้การบริหารราชการแผ่นดินปกติ คำสั่งพวกนี้อาจจะต้องเปลี่ยนให้ไปอยู่ในรูปของพระราชบัญญัติหรือกฎหมายลำดับรอง
สิ่งที่ต้องทำ อย่างที่สอง ก็คือ บรรดาคดีความที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 การดำเนินคดีต่อคนที่ออกมาประท้วง หรือวิพากษ์วิจารณ์ หรือถูกเรียกรายงานตัว จากการใช้อำนาจของ คสช. ต้องยุติการดำเนินคดี ใครที่ต้องรับโทษก็ต้องได้รับการนิรโทษกรรม
อย่างที่สาม คือ ยกเลิกมาตรา 279 หรือมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญทิ้ง ซึ่งเป็นมาตราที่กำหนดให้ทุกการกระทำของ คสช. ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด เพราะเป็นมาตราที่ทำให้รัฐธรรมนูญมาตราอื่นไม่มีความหมาย นี่คือมาตราสุดท้ายใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ดังนั้น ต้องแก้เพื่อให้คนได้โต้แย้งต่อประกาศและคำสั่งของ คสช. ว่ามันขัดรัฐธรรมนูญ มันขัดต่อกฎหมาย
อย่างสุดท้าย คือ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แก้เพียงหนึ่งมาตราเพื่อให้ประชาชนได้ออกเสียงทำประชามติว่า จะตัดสินใจทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยกันหรือไม่
ส่วนทำได้จริงหรือไม่ ผมคิดว่า ภารกิจแรกเมื่อเข้าสภาไปแล้วสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ควรเก็บเอาไว้ทีหลัง และควรทำทุกครั้งที่มีโอกาส เมื่อทำไม่สำเร็จ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มันมีปัญหา มันต้องไปสู่จุดที่ทั้งประเทศบอกว่า ไม่เอากับรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันจะเกิดขึ้นได้จริง ต่อให้ตัวบทมันทำได้ยาก แต่ถ้าสังคมเห็นว่าทำได้ มันก็ต้องทำได้
สุดารัตน์: รัฐบาลชุดหน้าต้องไม่เดินตามคสช. ต้องแก้กติกา-คืนประชาธิปไตย
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทยเก่า ที่ปัจจุบันยังไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ส่วนตัวฝันว่า อยากเห็นคนเข้ามาทำงาน ทำตรงข้ามกับที่รัฐบาลชุดนี้ทำ ถามว่าทำตรงข้ามยังไง คือ หนึ่ง ต้องปกครองในระบอบประชาธิปไตย เราต้องเป็นรัฐบาลของประชาชน คนต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก ต้องมีเสรีที่จะคิด เสรีที่เราจะพูด ผู้มีอำนาจต้องฟังเสียงและเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
เราไม่ได้ยึดติดอยู่แค่ว่าเพราะมันเป็นประชาธิปไตย เราจึงต้องทำตาม แต่เรายอมรับว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ให้โอกาสคนทุกคนได้ใกล้เคียงกัน เป็นระบอบที่ดีที่สุดเท่าที่โลกนี้คิดได้ ถ้าเราเชื่อว่าระบอบนี้ดีต่อประเทศ และ คสช. ก็สัญญาเองว่า จะคืนประชาธิปไตยให้ มันก็ต้องเป็นประชาธิปไตยจริงๆ
เงื่อนไขต่างๆ ที่มองเห็นขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น แผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปฯ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูก ล้วนแล้วแต่แสดงออกถึงเจตนาของ คสช. สิ่งเหล่านี้อาจจะเรียกได้ว่า ‘โรดแมป’ เหมือนกัน แต่เป็นโรดแมปที่ประกันการเข้ามาสู่อำนาจของ คสช. ในรูปแบบต่างๆ
ผู้มีอำนาจขณะนี้พยายามสร้างคำว่า ‘ประชานิยม’ ขึ้นมา โดยเหมารวมนโยบายที่รัฐส่งไปสู่พี่น้องประชาชนที่เป็นรากหญ้าว่า เป็นเรื่องที่เลวร้าย เป็นเรื่องที่ผิดวินัยการเงินการคลัง เป็นเรื่องที่ทุจริต เมื่อมีความคิดอย่างนี้เลยเข้าใจว่า การที่พรรคการเมืองได้คะแนนเพราะไปหลอกประชาชนด้วยประชานิยม แต่ดิฉันเชื่อว่า พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะคนรากหญ้า คนยากคนจน เกษตรกร เขาจะทราบว่าอะไรเป็นผลดีกับเขา มันถึงเกิดคำว่าประชาธิปไตยกินได้ขึ้นมา
ทุกพรรคการเมืองอยากได้คะแนนเสียงจากคนทุกระดับ เพราะเราเป็นตัวแทนของประชาชน เพียงแต่ต้องไม่โกหกตัวเองและเห็นความจริงของประเทศนี้ว่า ตราบใดที่ไม่ทำให้คนยากคนจน เกษตรกร มีรายได้ที่ดีขึ้น ก็ไม่สามารถยกระดับรายได้ของคนทั้งประเทศได้
หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ผู้แทนประชาชนจะทำอะไรได้ยากมากๆ แม้แต่ คสช. เอง ถ้าจะกลับมาเป็นรัฐบาลโดยไม่มีมาตรา 44 ก็ยาก ดังนั้น ดิฉันจึงเห็นด้วยว่า กลไกของเรามีปัญหา เมื่อกลไกเป็นปัญหาก็ไม่สามารถเป็นกลไกหรือเป็นระบอบที่เอื้ออำนวยต่อประชาชน ต่อปากท้องประชาชนที่จะทำมาหากินได้
เมื่อกลไกไม่อำนวยการทำงานของผู้แทนราษฎรที่จะเข้าไปแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ ก็ต้องกลับไปแก้ที่จุดปัญหา คือ แก้ที่กติกา แต่กติกาก็แก้ยาก ไม่รู้จะแก้ได้หรือเปล่า แค่ประกาศ แค่คิด ก็อาจจะติดคุกกัน แต่ส่วนตัวเชื่อว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ หากเป็นความต้องการประชาชน
เสรีพิศุทธ์: พรรคการเมืองต้องแสดงวิสัยทัศน์ปราบเผด็จการ-ปฏิรูปกองทัพ
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ผู้ก่อตั้งพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน เพราะพรรคการเมืองต้องเสนอชื่อคนเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างน้อยไม่เกิน 3 คน ซึ่งทุกพรรคก็พร้อมเสนอ แต่ในขณะเดียวกัน พรรคที่แฝงตัวเข้ามาในรูปแบบของพรรคทหาร ตัวหัวที่อยากเข้ามาทำงานจริงไม่กล้าเสนอตัวเข้ามา แต่อยากจะมาเป็น ‘อีแอบ’ ทีหลัง
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบแปลกๆ แทนที่ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันจะใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ แต่ทำให้มั่วไปหมด ผมอยากเรียนพี่น้องประชาชนทั้งประเทศว่า เมื่อเขาให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีแล้ว ท่านไม่ต้องไปดูชื่อผู้สมัครเขตเลยว่าเขตนี้ใครลงเลือกตั้ง ท่านดูเลยว่าพรรคนี้เสนอชื่อใครเป็นนายกฯ ก็พอแล้ว เลือกคนนั้นไปเลย ถ้าท่านอยากให้ผมเป็นนายกฯ ท่านก็เลือกพรรคเสรีรวมไทย
สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าต้องถามว่า คุณชอบเผด็จการหรือเปล่า ไอ้ผมไม่เอาแม่งแน่ ถ้าสี่พรรค (ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย) จับมือกันนะ รับรองชนะแน่ เผด็จการมาไม่ได้แน่ๆ
ที่สำคัญ บรรดาหัวหน้าพรรคทั้งหลายต้องแสดงวิสัยทัศน์ให้ประจักษ์ชัดว่า จะเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศชาติให้ได้ เพราะยุคนี้เผด็จการมันยิ่งใหญ่เหลือเกิน นายกฯ ต้องแสดงวิสัยทัศน์ที่จะปราบเผด็จการให้ได้ด้วย ถ้าปราบเผด็จการไม่ได้ ก็ไม่สมควรเป็น เราเป็นรัฐบาลโดยชอบด้วยกฎหมาย ทหารหรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรีจะมายึดอำนาจกันแบบคราวที่แล้วไม่ได้ เพราะผมรู้ไส้รู้พุงพวกนี้หมด
ถ้าเรามาดูโครงสร้างการบริหารราชการกองทัพซึ่งมีการแก้ไขกฎหมายตอนรัฐประหารปี 2549 จะเห็นว่า โครงสร้างมีรัฐมนตรีกลาโหมฯ เป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยกลาโหมฯ ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นกรรมการ เท่ากับว่า เวลาประชุมมีฝ่ายการเมืองเพียงแค่ 2 คน จะไปสู้เสียงที่เหลือ 5 คนได้ยังไง เวลาโหวตก็แพ้ตลอด สุดท้ายนายกรัฐมนตรีหรือฝ่ายการเมืองก็ย้ายบรรดาผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่ได้เพราะเสียงน้อยกว่า เราต้องแก้ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ไม่งั้นเกิดศึกสงคราม นายกฯ สั่งการ ผบ.เหล่าทัพไม่ได้ แล้วอยากย้ายก็ย้ายไม่ได้
อรรถวิชช์: รัฐธรรมนูญถ้าอยากแก้ต้องแก้ได้-ยืนยันไม่เอานายกฯ คนนอก
อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมา 80 กว่าปี เราเสียเวลาร่างรัฐธรรมนูญ เสียเวลาคิดแก้รัฐธรรมนูญ มากกว่าเวลาใช้มัน เรามีรัฐธรรมนูญกว่า 20 ฉบับ แก้อีกนับไม่ถ้วน เรากำลังครุ่นคิดอยู่กับวิธีการว่า อยากให้รัฐธรรมนูญเป็นแบบไหน แบบนี้ไม่ดี ทหารมาฉีกทิ้ง แล้วก็เอาใหม่ หรือว่า ทหารร่างไม่ดี ฉีกทิ้งเอาใหม่ มันก็จะสาละวนกันอยู่แบบนี้
ผมเชิญชวนให้คิดแบบนี้ ถ้าเราเห็นว่ารัฐธรรมนูญต้องแก้ มันก็แก้ได้ ต่อให้เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนให้แก้ยากสุดๆ ผมว่า แก้ได้ ยุทธศาสตร์ชาติบอกว่าแก้ไม่ได้ ก็ไม่จริง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนไว้ว่า มันเป็นเรื่องข้อแนะนำที่รัฐพึงกระทำ ไม่ใช่หน้าที่ ดังนั้น ถ้าถามว่าแก้ได้ไหม ผมว่าแก้ได้อีก แต่อยู่ที่ว่าเราคิดและตกผลึกร่วมกันว่าอะไรคือจุดโหว่ของมัน
ผมไม่ติดยึดว่า เมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วต้องฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะผมเป็นพลเรือนไม่ถนัดเรื่องฉีกรัฐธรรมนูญ อย่าเพิ่งไปรังเกียจมัน ผมว่าเราลองใช้ แต่ถ้าไม่ดี แก้แน่ แล้วต้องยืนยันว่าไม่มีอะไรที่แก้ไม่ได้
ทีนี้มาดูเรื่องอื่นๆ ว่าจะติดขัดอะไรบ้าง สำหรับผม การดำเนินนโยบายของพรรคการเมืองไม่น่าจะติดขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนการต้านเผด็จการ ต้องยองรับว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความแปลกประหลายอยู่หนึ่งเรื่อง คือ ให้ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง เลือก นายกรัฐมนตรีได้ แบบนี้ก็จะเกิดอาการหวยล็อคว่า  ทางทหารไม่จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองก็สามารถเลือกนายกฯ ได้ จึงเกิดนายกฯ ได้สองแบบ คือ นายกฯ คนใน กับ นายกฯ คนนอก
นายกฯ คนใน คือ นายกฯ ที่มาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองอย่างน้อย 3 ชื่อ และพรรคการเมืองนั้นต้องได้เสียงอย่างน้อย 25 เสียง หมายความว่า ถ้ามีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้น เขาจะต้องมี ส.ส. ในมือ 25 คน ไม่อยากนั้นไม่มีสิทธิเสนอชื่อคนเป็นนายกฯ นี่คือบริบทของนายกฯ คนใน ดังนั้น ท่านจึงจะเห็นอาการ ‘ดูด’ มหาศาล ดูดเหล้าเก่าเข้าขวดใหม่ เพื่อให้เสียงมันครบ
อีกบริบทหนึ่ง คือ นายกฯ คนนอก เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส.ส. ได้เสียงเกินครึ่งสภาก็ไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ ต้องเอาเสียงของ ส.ว. มาด้วย ท่านจะเห็นว่า กลไกแบบนี้อาจจะทำให้เกิดเด๊ดล็อคกลางอากาศ ต่อให้จับขั้วได้เรียบร้อย มีเสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรแต่เลือกนายกฯ ไม่ได้ เพราะ ส.ว. รับคำสั่งจาก คสช. ถ้าติดเด๊ดล็อคแบบนี้บ้านเมืองจะวุ่นวาย ดังนั้น ผมขอยืนยันเลยว่า หนทางการเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ไม่รับเด็ดขาด
ในทางกลับกัน ถ้าทหาร ใช้สิทธิในความเป็นพลเรือนในการเข้าสู่การเมือง ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ เพราะในอดีตทหารก็เคยชนะการเลือกตั้ง ถ้าประชาชนไม่ระแวงทหาร ทหารไม่ระแวงประชาชน แบบนี้โอกาสมีการเลือกตั้งสูง
You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์