รวมปาฐกถาวันสตรีสากล ทำไมผู้หญิงนักปกป้องสิทธิต้องเผชิญความท้าทายกว่าผู้ชาย

 

7 มีนาคม 2561 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดงานเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนขึ้น เนื่องในวันสตรีสากลประจำปี 2561 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีการมอบประกาศเกียรติคุณแก่นักปกป้องสิทธิสตรีและปิดท้ายด้วยวงเสวนาในประเด็น "ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน บทบาทในการเคลื่อนไหวทางสังคม ความเสี่ยงภัยคุกคามและข้อเสนอเพื่อการคุ้มครอง"
ภาพจากแฟ้มภาพ
ผู้หญิงนักสู้ต้องเผชิญการดูถูก-อันตราย กรรมการสิทธิร้องรัฐสร้างมาตรการคุ้มครอง
อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี กล่าวปาฐกถาเปิดงานในหัวข้อ “บทบาทผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ปัจจุบัน” ว่า วันสตรีสากลปีนี้ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง จากการที่ผู้หญิงทั่วโลกได้ร่วมกันรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงทางเพศ มีการเรียกร้องเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของทุกคนในสังคมว่า ผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่เหยื่อที่จะต้องหลบหนีจากสังคม แต่สังคมต้องโอบกอดให้กำลังใจ และร่วมต่อสู้เพื่อให้เกิดการรับผิด ผู้เสียหายต้องได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม 
นอกจากนั้น ปีนี้ยังเป็นปีครบรอบ 20 ปี ปฎิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ยืนยันว่า ทุกคนมีสิทธิโดยลำพังหรือร่วมกับผู้อื่นในการส่งเสริมและต่อสู้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองและตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ประเทศไทยปัจจุบันนี้ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวนมากกำลังเผชิญกับการถูกคุกคาม แม้ว่ารายงานเรื่องการทำร้าย การอุ้มฆ่าหรือการสังหารดูจะลดลง แต่ยังพบว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีต่อนักสิทธิมนุษยชนกลับเพิ่มขึ้น ในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีคุกคามนักปกป้องสิทธิฯ ทั้งองค์กรและบุคคลมากกว่า 20 กรณี พบว่าคนที่ออกมาปกป้องสิทธิมนุษยชนที่อายุน้อยที่สุดนั้นยังเป็นเยาวชน และที่อายุมากสุดคือ 68 ปี 
ส่วนกรณีของการคุกคามด้วยการทำร้าย การสังหาร หรือการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ พบว่าไม่มีกรณีใดเลยที่เจ้าหน้าที่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้ และแม้รัฐบาลจะประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็ยังพบว่า การละเมิดสิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชนยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักปกป้องสิทธิจำนวนไม่น้อยถูกจำกัด เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการชุมนุมสาธารณะ และการปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม 
สำหรับนักปกป้องสิทธิที่เป็นผู้หญิง พวกเธอถูกคุกคามไม่น้อยไปกว่านักปกป้องสิทธิที่เป็นผู้ชาย พวกเธอยังต้องเผชิญกับการคุกคามทางเพศ ด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชาย ทำให้การทำงานของนักปกป้องสิทธิฯ ผู้หญิงเป็นการท้าทายความเชื่อดั้งเดิมต่อบทบาทของผู้หญิงในสังคม หลายครั้งผู้หญิงต้องถูกสังคมประณาม ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้นำชุมชน หลายครั้งที่พวกเธอถูกใช้เพศเป็นเครื่องมือในการลดทอนความน่าเชื่อถือ ปัจจุบันพบว่า ผู้หญิงทั่วโลกมีบทบาทมากขึ้นในการปกป้องสิทธิมนุษยชน และการที่ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น พวกเธอจึงกลายเป็นเป้าหมายของการโจมตีมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้เพศเป็นเครื่องมือดูหมิ่นเหยียดหยามและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเพศหญิง ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก พบว่า ผู้ชายอาจย้ายถิ่นไปยังที่ที่ปลอดภัยได้ แต่ผู้หญิงทำไม่ได้ เพราะพวกเธอส่วนมากมีครอบครัว มีลูกที่ยังเล็ก มีพ่อแม่ที่ต้องดูแล การอพยพย้ายถิ่นของผู้หญิงในสถานการณ์ความเสี่ยงต่ออันตรายเป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก
ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในชนบทจึงมักรู้สึกโดดเดี่ยวและขาดกำลังใจ ในการทำงาน เผชิญความลำเอียง การถูกกีดกัน การทำให้หวาดกลัว มากกว่าที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชายต้องเผชิญ ซึ่งความท้าทายเหล่านี้สังคมจำเป็นที่จะต้องใส่ใจเพื่อให้เกิดกลไกในการปกป้องและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ 
อังคณา กล่าวด้วยว่า ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความกังวลใจอย่างยิ่งต่อการใช้กลไกทางกฎหมายเป็นเครื่องมือยุติบทบาทของนักปกป้องสิทธิ กฎหมายต้องคุ้มครองประชาชนทุกคน กฎหมายต้องไม่ทำให้ประชาชนรู้สึกหวาดกลัวในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การสมาคม หรือการชุมนุมสาธารณะโดยสุจริต เพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ปัจจุบันนักปกป้องสิทธิถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมากขึ้น หลายคนถูกดำเนินคดีหลายข้อหา ต้องเผชิญปัญหาเรื่องหลักทรัพย์ในการประกันตัวและค่าใช้จ่ายในการสู้คดี ขณะที่พวกเธอต้องขาดรายได้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อยุติการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อปิดปากหรือเพื่อคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ หามาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิจากการถูกทำร้ายและคุกคาม และการล่วงละเมิดทางเพศ 
ห่วง กฎหมายยังเปิดช่องสร้างปัญหา การแสดงออกถูกจำกัดด้วยเหตุความมั่นคง
ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ อดีตผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านการป้องกันความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ (SOGI) สหประชาชาติ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “บทบาทผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ปัจจุบัน” ว่าสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีความอลเวงอยู่ ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสิทธิสตรีกับความมั่นคงแห่งรัฐ อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย เรื่องสิทธิหลายๆ อย่างเกี่ยวกับสตรีก็ดีขึ้น เช่น มีการปฎิรูปกฎหมายครอบครัวให้มีความเท่าเทียมกัน ในกรณีฟ้องหย่า เป็นต้น กฎหมายและการปฎิบัติหลายชนิดก็เปลี่ยนไปแล้วแต่ยังน่าเป็นห่วงในหลายเรื่อง เช่น พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่ยังมีจุดอ่อน คือ มีข้อยกเว้น 2 ข้อที่นำมาจำกัดสิทธิ คือ 1) ความมั่นคงแห่งรัฐ และ 2) ศาสนา 
กฎหมายอีกฉบับ ที่น่าเป็นห่วงคือ พ.ร.บ.คุ้มครองผุ้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ที่ในทางปฎิบัติยังหละหลวม มีการยอมให้ประนอมข้อพิพาทมากเกินไป ในสายตาต่างชาติต้องการให้มีการลงโทษต่อผู้ปฎิบัติไม่ดีต่อสตรีและเด็กให้มากขึ้น ทั้งที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีงานวิจัยออกมาหลายเล่มที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ประทุษร้ายต่อเด็กและสตรีมากที่สุดคือ บุรุษในสภาพที่เมามาย 
ยังมีกฎหมายและ การปฎิบัติ ที่กระทบต่อสิทธิสตรีมากมาย เช่น 1) แม้จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่ระบุถึงความเท่าเทียมทางเพศ แต่มีการใช้กฎหมายว่าด้วยความมั่นคงแห่งรัฐมากเกินไป รวมถึงการใช้กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าวเปิดช่องให้สามารถกักตัวคนได้นานถึง 37 วัน โดยไม่นำตัวขึ้นศาล ถึงเวลาแล้วที่เราต้องลดการใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้ และมุ่งสู่หลักนิติธรรม ที่เอื้อต่อกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส 2) มีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ล่าสุดมีการใช้มาตรา 116 อ้างและกล่าวหาคนว่าทำลายความมั่นคงของรัฐ นอกจากนั้นยังมีคำสั่งทั้งหลายออกมาจากผู้มีอำนาจ และยังมีกระบวนการอื่นๆ ที่กระทบถึงสิทธิสตรีโดยตรงและอ้อม เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 
ล่าสุด คณะกรรมการสหประชาชาติตามอนุสัญญา CEDAW ได้ฝากไว้ถึงบางประเด็นที่เกี่ยวกับความมั่นคงที่กระทบต่อสตรี มีข้อเสนอแนะต่อไทยในปีที่ผ่านมาว่า 1) เป็นห่วงเรื่องสตรีทางภาคใต้ที่อยู่ในสถานการณ์ความรุนแรง เป็นห่วงแม่ม่ายที่ถูกกระทบในเรื่องการขาดความช่วยเหลือเรื่องกินอยู่ 2) ขอให้ยกเลิกการบังคับเก็บ DNA ในภาคใต้ 3) ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิทั่วไป ไม่ว่าจะบุรุษหรือสตรีต้องให้มีการสืบสวนสอบสวน นำไปสู่การลงโทษบุคคลที่เกี่ยวข้อง 4) ต้องมีการเยียวยาให้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนการชดใช้ 5) เรื่องความขัดแย้งในภาคใต้ต้องมีการสนับสนุนบทบาทสตรีในการสร้างสันติภาพมากยิ่งขึ้น 
สิ่งที่ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต อยากจะฝากก็คือ เรามีปฎิญญาสากลเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิโดยตรง ที่เน้นว่าต้องเคารพคุ้มครองบริบทของทุกคนรวมทั้งสตรีด้วย ไม่ประทุษร้าย ต้องเปิดพื้นที่ในการแสดงออก ต้องเปิดพื้นที่ในการชุมนุมอย่างสันติ ต้องเปิดพื้นที่ในการเยียวยา เมื่อถูกละเมิด และที่น่าสังเกตคือ ปฎิญญานี้ บอกว่า กลุ่มทั้งหลายมีสิทธิที่จะขอเงินจากต่างประเทศและไม่ควรถูกมองว่าเอาเงินจากต่างประเทศมาปั่นป่วนให้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เงินจากต่างประเทศเป็นการแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของการร่วมรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน
มติสหประชาชาติให้รัฐต้องเคารพนักปกป้องสิทธิ ให้ทำงานอย่างปลอดภัย
จากนั้น คาเทีย ชิลิซซี รองผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (UN OHCHR) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “20 ปี ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ว่าสำนักงานสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ และนักปกป้องสิทธิที่เป็น LGBTI บุคคลเหล่านี้ต้องเผชิญกับความท้าทายทางเพศสภาพเฉพาะและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการถูกละเมิดสิทธิในบางรูปแบบ เช่น อคติทางเพศ การถูกกีดกัน การตีตรา 
เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายที่เป็นนักปกป้องสิทธิแล้ว ผู้หญิงต้องเผชิญอุปสรรคมากกว่า จากข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้หญิงถูกมองว่า สิ่งที่พวกเธอกำลังทำนั้น กำลังท้ายทายวิถีสังคมประเพณีและวัฒนธรรม มุมมองที่เกี่ยวกับผู้หญิง และการเหมารวมถึงบทบาทและสถานภาพของผู้หญิงในสังคม นักปกป้องสิทธิผู้หญิงและ LGBTI มักถูกตีตราจากผู้นำชุมชน จากกลุ่มศาสนาต่างๆ จากครอบครัวและชุมชน ผู้ซึ่งคิดว่า การทำงานของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิและ LGBTI จะเป็นภัยคุกคามต่อศาสนา เกียรติยศ และวัฒนธรรม
ในเดือนธันวาคม 2541 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้มีฉันทามติให้มีปฎิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคลและองค์กรของสังคม ในการส่งเสริมและคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ในปฎิญญาฉบับนี้ได้พูดถึงหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเคารพความสำคัญของการทำงานของนักปกป้องสิทธิที่นักปกป้องสิทธิ และทำให้มั่นใจว่า นักปกป้องสิทธิจะสามารถทำงานในสภาวะที่มีอิสระและมีความปลอดภัย เลขาธิการสหประชาชาติได้ตั้งข้อมติเฉพาะให้มีผู้เชี่ยวชาญอิสระในการตรวจสอบสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิ และรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิทั่วโลก 
ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิอยู่ในแถวหน้าของการเรียกร้องให้มีการปกป้องสิทธิทางการเมืองและการปกป้องนักกิจกรรมที่เป็นนักศึกษา การปกป้องสิทธิของคนที่เป็น LGBTI ต่อสู้การเลือกปฎิบัติและความอยุติธรรมในสังคม ท้าทายประเด็นการยึดครองที่ดินและการทำลายสิ่งแวดล้อม ติดตามและรายงานการกระทำที่ถือว่าเป็นการทรมาน การปฎิบัติด้วยความโหดเหี้ยม รวมไปถึงการสังหารและการบังคับให้สูญหาย ตลอดจนสร้างศักยภาพของชุมชนในการสร้างสิทธิ 
ในประเทศไทยนั้น ตั้งแต่ปี 2557 มีนักปกป้องสิทธิอย่างน้อย 60 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิง ถูกการใช้กระบวนการยุติธรรมทำร้ายหรือคุกคาม รวมถึงนักปกป้องสิทธิที่ทำงานในประเด็นเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การป้องกันการทรมาน เรื่องสิทธิชุมชนและที่ดิน มีนักปกป้องสิทธิผู้หญิงอย่างน้อย 2 คน ถูกฆ่า ทำให้เห็นชัดถึงความเสี่ยงที่นักปกป้องสิทธิต้องเผชิญในแต่ละวัน แต่พวกเธอก็ยังคงทำงานต่อไป แม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการทำงานอันท้าทาย