คสช. คืออะไร?

เมื่อพูดถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เราจะนึกถึงอะไร? ภาพของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. น่าจะเป็นภาพแรกที่เรานึกถึง หรืออาจจะเป็นภาพพี่ใหญ่อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมทั้งบรรดานายพลต่างๆ นอกจากนี้มาตรา 44 จากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ถูกใช้ออกคำสั่งจำนวนมหาศาลก็เป็นอีกสิ่งที่ทำให้เรานึกถึง คสช. อีกเช่นกัน
นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ กองทัพ และประกาศกับคำสั่งจำนวนมหาศาล ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนจะเข้าสู่ปีที่สี่ เรารู้จักอะไรเกี่ยวกับ คสช. อีกบ้าง เช่น คสช. เข้ามายึดอำนาจด้วยเหตุผลอะไร มีอำนาจอย่างไร อยู่ในอำนาจยังไง คสช.มีใครบ้าง มีโครงสร้างการทำงานอย่างไร ฯลฯ สิ่งนี้ยังคงเป็นสิ่งที่เรายังไม่รู้หรือมองข้ามไป
งานชิ้นนี้รวบรวมประกาศและคำสั่ง ที่จะแสดงให้เห็นว่า คสช. คืออะไร คือใคร และทำงานอย่างไร?
ยึดอำนาจเพื่อปฏิรูปประเทศ และสร้างความสามัคคีในชาติ
ย้อนกลับไป วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช. เข้ามาบริหารประเทศด้วยการยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 1/2557 เรื่องควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ซึ่งอธิบายการยึดอำนาจครั้งนี้ว่า
“เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคีเช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวก ทุกฝ่าย”
โดยการยึดอำนาจครั้งนี้ คือ การรวมตัวกันของกองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทำในนามของ คสช. โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า
อำนาจเบ็ดเสร็จเหนือสภา รัฐบาล และศาล
หลังจากยึดอำนาจ คสช. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 นับจากนั้นจนถึง 22 กรกฎาคม 2557 ที่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เป็นเวลาประมาณสองเดือนที่ประเทศไทยไม่มีรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้อำนาจในทางบริหารที่เป็นของนายกรัฐมนตรี และอำนาจในทางนิติบัญญัติที่เป็นของรัฐสภา อยู่ในมือของหัวหน้า คสช. แต่เพียงผู้เดียว
สำหรับอำนาจในทางตุลาการ คสช. ก็สั่งให้ “ศาลทั้งหลาย คงมีอํานาจดําเนินการพิจารณาและพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” แต่ในขณะเดียวกัน คสช. ก็ออกประกาศบังคับใช้ศาลทหารซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กำกับของกระทรวงกลาโหมกับพลเรือนที่ฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคสช. หรือคดีที่เป็นภัยความมั่นคง เช่น การชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร นั้นทำให้อำนาจตุลาการบางส่วนถูกโอนย้ายมาอยู่ในมือคสช.
แม้จะมีรัฐธรรมนูญบังคับใช้แล้วก็ตามอำนาจเบ็ดเสร็จที่เรียกว่า “อำนาจรัฐฏาธิปัตย์” ของ คสช. ก็ยังคงอยู่โดยถูกสภาพให้เป็นลายลักษณ์อักษรในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว และยังคงอยู่ในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งอำนาจนี้จะหมดไปเมื่อมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง
คสช. คือกองทัพไทย
ในช่วงต้นของการยึดอำนาจ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช. คือ การรวมตัวกันของผู้บัญชาการทหารเหล่าทัพต่างๆ และผู้บัญชาการตำรวจ ในขณะนั้นซึ่งประกอบด้วย
๐ ผู้บัญชาการทหารบก คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น หัวหน้า คสช.
๐ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด คือ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เป็น รองหัวหน้า คสช.
๐ ผู้บัญชาการทหารเรือ คือ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็น รองหัวหน้า คสช.
๐ ผู้บัญชาการทหารอากาศ คือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็น รองหัวหน้า คสช.
๐ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คือ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็น รองหัวหน้า คสช.
๐ รองผู้บัญชาการทหารบก คือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เป็น เลขาธิการคสช.
ต่อมาเมื่อ 15 กันยายน 2557 หัวหน้า คสช. จึงประกาศเพิ่มจำนวนสมาชิก คสช. อีกเก้าคน ซึ่งเป็นผลมาจากผู้บัญชาเหล่าทัพ และผู้บัญชาตำรวจชุดยึดอำนาจได้เกษียณอายุราชการลง ทำให้มีการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารและตำรวจชุดใหม่ และเพิ่มปลัดกระทรวงกลาโหมเข้ามาเป็นสมาชิก คสช. รวมทั้งมีรายชื่อพลเรือน คือ มีชัย ฤชุพันธ์ (มือกฎหมาย) และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (มือเศรษฐกิจ) เพิ่มเข้ามาอีกสองคน
หลังจากนั้นทุกปีในเดือนกันยายนหลังฤดูการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ก็จะมีการประกาศรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. โดยมีจำนวน 6 คน ที่เป็น คสช.ชุดแรก ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องทุกปี รวมทั้งมีชัย ฤชุพันธ์ ที่ได้ถูกแต่งตั้งอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในขณะที่ผู้บัญชาการทหารบกจะถูกแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ คสช. โดยตำแหน่งทุกปี
จากการแต่งตั้งครั้งที่สองเป็นต้นมา ดูเหมือนว่าผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. จะลงตัวอยู่ที่ 15 คน โดยแบ่งสัดส่วนหลักสามส่วน ประกอบ ส่วนแรกคือ “อดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพและตำรวจที่ร่วมกันรัฐประหาร รวม  5 คน” “รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม รวม 2 คน” “ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ตำรวจ และปลัดกระทรวงกลาโหม รวม 6 คน” และ “มือกฎหมาย 1 คน”
มีข้อสังเกตว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งใน คสช. จะควบตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้งนี้ อาจเพื่อคอยควบคุมทิศทางการบริหารประเทศทั้งในด้านนโยบาย การออกกฎหมาย และการร่างรัฐธรรมนูญ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารและตำรวจ เป็นสมาชิก สนช. และ มีชัย เป็นประธาน กรธ. ทั้งนี้ผู้ดำรงตำแหน่งในคสช. มีเงินเดือนประจำตำแหน่ง และหากไปนั่งในตำแหน่งอื่นก็ยังมีเงินประจำตำแหน่งอีกเช่นกัน
ทีมงาน คสช. 
22 กรกฎาคม 2557 หนึ่งเดือนหลังการรัฐประหาร คสช.ได้กำหนดอัตราตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานใน คสช. จำนวน 43 ตำแหน่ง โดยมีเงินเดือนประจำเหมือนกับข้าราชการการเมือง สำหรับตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานใน คสช. อาจแบ่งง่ายๆ เป็นสองประเภท คือ
ประเภทที่แรก ที่ปรึกษาของผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. เช่น ตำแหน่งรองเลขาธิการประจำผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. กับที่ปรึกษาประจำผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. ในประเภทนี้เราอาจคุ้นเคยกับกรณีที่มีชัย ฤชุพันธ์ หนึ่งในสมาชิก คสช. และประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งแต่งตั้ง มยุระ ช่วงโชติ บุตรสาวเป็น “รองเลขาธิการฯ”
ประเภทที่สอง ผู้ที่ปฏิบัติงานใน คสช. เช่น โฆษกประจำ คสช. กับ ประจำ คสช. ในกรณีนี้เราอาจคุ้นเคยกับชื่อของ พันเอก วินธัย สุวารี หรือ พลตรี ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ที่มีบทบาทในการประชาสัมพันธ์และตอบคำถามต่างๆ ในนามของ คสช. อยู่เป็นประจำตามหน้าสื่อต่างๆ
สำหรับตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานใน คสช. ส่วนใหญ่จะเป็นทหาร โดยหลายคนยังคงรับราชการอยู่ เช่น พันเอก วินธัย พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง และ พลตรี ปิยพงศ์ ซึ่งทั้งหมดรับราชการที่กองทัพบก นอกจากบางคนก็มีตำแหน่งใน สนช. และ กรธ. เช่น พล.อ.วลิต โรจนภักดี (สมาชิก สนช.) ณัชฐานันท์ รูปขจร (ผู้ช่วยเลขานุการประธาน สนช.) และพลตรี วิระ โรจนวาศ (กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ)
โครงสร้างและหน้าที่ คสช.
หนึ่งวันหลังการรัฐประหาร วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 คสช. ออก “ประกาศคสช. ฉบับ 22/2557 เรื่อง การจัดส่วนงาน การกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ของคสช.” โดยแบ่งเป็นสามระดับ คือ
1. ระดับนโยบาย ประกอบด้วย
             1.1 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีหน้าที่กําหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนโยบายเฉพาะหน้า และนโยบายระยะยาว เพื่อให้ส่วนงานระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และระดับปฏิบัติ นําไปดําเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่กําหนดไว้
             1.2 คณะที่ปรึกษาและประสานงานด้านความมั่นคง มีหน้าที่ให้คําแนะนําต่อ คสช. ตามที่ คสช. ร้องขอ หรือที่ริเริ่มขึ้นเอง สำหรับคณะที่ปรึกษามี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดาเป็น รองประธาน
             1.3 สํานักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เลขาธิการ คสช. เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด รับผิดชอบหน่วยงาน/ส่วนราชการ ที่ขึ้นตรงต่อหัวหน้า คสช. และหน่วยงาน/ส่วนราชการที่มิได้กําหนดไว้ในประกาศฉบับนี้ รวมทั้งกํากับดูแลการปฏิบัติงานทั้งหมดของ คสช. ทั้งนี้สำหรับตำแหน่งเลขาธิการฯ จะปรับเปลี่ยนทุกครั้งมีเปลี่ยนผู้บัญชาการทหารบก
2. ระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ แบ่งเป็นหกฝ่าย มีหน้าที่ อํานวยการ ควบคุม กํากับดูแลการปฏิบัติราชการของกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องตามความรับผิดชอบ ให้เป็นไปตามนโยบายที่ คสช.กําหนด โดยแต่ละฝ่ายจากมีรองหัวหน้า คสช. และสมาชิก คสช. คอยกำกับ ได้แก่
             2.1 ฝ่ายความมั่นคง มีหน่วยงาน/ส่วนราชการในความรับผิดชอบ รวม สี่หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงการต่างประเทศ
             2.2 ฝ่ายเศรษฐกิจ มีหน่วยงาน/ส่วนราชการในความรับผิดชอบ รวม เจ็ดหน่วยงาน เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
           2.3 ฝ่ายสังคมจิตวิทยา มีหน่วยงาน/ส่วนราชการในความรับผิดชอบรวม เจ็ดหน่วยงาน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
           2.4 ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีหน่วยงาน/ส่วนราชการในความรับผิดชอบ จํานวน สาม หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม สํานักงานอัยการสูงสุด และสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
           2.5 ฝ่ายกิจการพิเศษ มีหน่วยงานและส่วนราชการ ในความรับผิดชอบจํานวน 20 หน่วยงาน เช่น  สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) สํานักพระราชวัง สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา
           2.6 ส่วนงานขึ้นตรง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หน่วยงาน/ส่วนราชการในความรับผิดชอบรวม ห้าหน่วยงาน กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สํานักงานตํารวจแห่งชาติ สํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สํานักข่าวกรองแห่งชาติ และสํานักงบประมาณ
3.ระดับปฏิบัติ มีหน้าที่ ปฏิบัติราชการ ตามนโยบายที่ คสช.กําหนด โดยแบ่งเป็นสองส่วน คือ
           3.1 กระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการ ที่ขึ้นตรงต่อ หัวหน้า คสช.
           3.2 กองกําลังรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ กอ.รส. มีแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้บัญชาการกองกําลังรักษาความสงบเรียบร้อย ทั้งนี้ กอ.รส. ถูกต้องขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ตามประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 2 / 2557 โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อำนวยการ กอ.รส. คำสั้งนี้ถูกประกาศหลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ  ทั้งนี้หลังจากยึดอำนาจ คสช. ก็ตั้ง กอ.รส. เป็นหน่วยงานดูแลความสงบเรียบร้อยภายในประเทศภายใต้การนำของกองทัพบก
ในช่วงต้นของการยึดอำนาจโครงสร้างเช่นนี้ทำให้สมาชิก คสช. แต่ละคนที่เข้าไปควบคุมกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ เปรียบเหมือนกับรัฐมนตรีในการจัดการกระทรวงนั้น อย่างไรก็ตามแม้จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และตั้งคณะรัฐมนตรี แต่ประกาศ คสช. เรื่อง การจัดส่วนงาน การกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ของ คสช. ก็ยังไม่ได้ถูกยกเลิก ทำให้ดูเหมือนรัฐมนตรีที่ควบคุมกระทรวงนั้น มี คสช.คุมอีกต่อหนึ่ง ซึ่ง คสช.และครม. มีผู้นำคนเดียวกันคือ พล.อ.ประยุทธ์ มีรองผู้นำคนเดียวกัน คือ พล.อ.ประวิตร และมีสมาชิกคนสำคัญร่วมกัน คือ พล.อ.อนุพงษ์ ทั้งนี้ประชุม ครม. และคสช. จะเกิดขึ้นในวันอังคารของทุกสัปดาห์