คนจนจะไม่หมดไป ตราบใดที่ความยากจนทางอำนาจยังดำรงอยู่

ในงาน’รำลึก วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ : 10 ปีที่จากไป’ จัดโดยสมัชชาคนจนและองค์กรเครือข่าย ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาลัยเชียงใหม่ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญใช่บุญทำ ความทุกข์ยากใช่กรรมแต่ง” โดยเนื้อหาพอจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเด็นหลักด้วยกัน คือ เรื่องเเรก ‘ความทุกข์ยาก เวรกรรมและโครงสร้าง’ และเรื่องที่สอง ‘รัฐธรรมนูญที่กินไม่ได้แต่ทำให้ท้องอิ่ม’
รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า เขาไม่เห็นด้วยนักเมื่อได้ฟังหลายคนอวยพรให้สมัชชาคนจนอยู่คู่สังคมไทยไปอีกยาวนาน เพราะคำอวยพรนี้หมายความว่า คนจนจะมีอยู่ไปเรื่อยๆ จึงเห็นว่าปีหน้าไม่ควรจะมีสมัชชาคนจนแล้ว เพราะน่าจะบรรลุภารกิจทั้งหมดแล้ว เนื่องจาก เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ‘คนจนต้องหมดไปภายในปี 2561’ ซึ่งถ้าคนจนหมดไปสมัชชาคนจนจะย่อมอยู่ไม่ได้ ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลอยากให้คนจนหมดไป แต่กลับพบว่าภายใน 2-3 ปีที่ผ่านมา คนจนกลับขยายตัวมากขึ้น
ความยากจนไม่ใช่เรื่องของเวรกรรมหรือเรื่องของปัจเจก
ในหัวข้อเรื่อง ‘ความทุกข์ยาก เวรกรรมและโครงสร้าง’ รศ. สมชาย อ้างอิงคำกล่าวของ มด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ที่ว่า ความทุกข์ยากไม่ใช่เวรกรรม ความทุกข์ยากไม่ใช่ความยากจน เราอาจจะยากจนเเต่ไม่ทุกข์ยาก เพราะความทุกข์ยากเกิดขึ้นเมื่อเรามีปัจจัยสี่หรือปัจจัยพื้นฐานไม่เพียงพอแก่การดำรงชีวิต 
“เมื่อเราเห็นคนรวยหรือคนจน เรามักจะเชื่อว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม บุญพาวาสนาส่ง แล้วเเต่เวรแล้วแต่กรรม ความเข้าใจเรื่องเวรกรรมทำให้เราผลักเรื่องความเป็นไปของเเต่ละบุคคลเป็นเรื่องของปัจเจก เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสถาบันหรือโครงสร้างใดๆ” รศ.สมชาย กล่าว
รศ. สมชาย เล่าว่า รัฐไทยเคยเผยเเพร่ค่านิยมชนิดหนึ่ง คือ ‘ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน” ซึ่งหมายความว่า คนที่จนคือคนที่ขี้เกียจ นี่คือการมองความยากจนด้วยการผลักให้เป็นเรื่องของปัจเจก จนถึงปัจจุบันค่านิยัมนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปมากเท่าไร โฆษณาโทรทัศน์ บอกว่า ‘จน เครียด กินเหล้า’ ดังนั้น วิธีเเก้ความจนคือ เลิกกินเหล้า ทำงาน และทำบัญชีครัวเรือน แล้วความจนจะหายไป สังคมเราเลยคิดว่าความจนเป็นเรื่องเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องความโง่ ความฉลาด ความขยัน ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล กฎหมาย หรือนโยบายของรัฐ
ความยากจนเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐ
รศ. สมชาย เสนอว่า ต้องมองความจนใหม่ว่า ความจนไม่ได้เป็นเรื่องของปัจเจกเเต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของรัฐ เป็นผลมาจากกฎหมาย นโยบายและทิศทางการพัฒนาของรัฐ 
สังคมไทยเราคุ้นเคยกับความยากจนที่เป็นผลมาจากกฎหมายเป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น ในภาคเหนือ เมื่อมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ชาวบ้านก็ถูกผลักออกจากพื้นที่ป่า ให้เข้ามาในพื้นที่เมืองซึ่งมีงานและทางเลือกให้น้อยมาก ในภาคอีสานก็มีเขื่อนปากมูลซึ่งเป็นนโยบายรัฐที่ทำให้คนที่เคยมีอาชีพกับผืนน้ำต้องกลายเป็นคนตกงาน ภาคใต้เราก็เห็นรัฐกำลังนำโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลงไปเเละชาวบ้านเทพาก็ไม่เห็นด้วย
ขณะที่ภาคกลาง สาเหตุที่น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ นั้นไม่ใช่เพราะกรุงเทพฯ อยู่บนพื้นที่สูง แต่เป็นเพราะนโยบายของรัฐที่กรุงเทพจะเป็นพื้นที่สุดท้ายที่จะท่วมได้ นโยบายของรัฐจึงเอาน้ำไปทิ้งไว้ที่ที่ราบภาคกลาง เช่น จังหวัดอยุธยา อ่างทอง ให้น้ำท่วม
“ความทุกข์ยากเช่นนี้แหละครับ เราจะเห็นว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม คนจนในสังคมและคนจำนวนมากถูกบังคับให้เสียสละ ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพราะต้องเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนร่วม ต้องเอาคนออกจากพื้นที่ป่า เพราะต้องรักษาพื้นที่ป่าของประเทศเอาไว้ คนจำนวนมากจึงต้องออกมา ทำไมกรุงเทพถึงน้ำไม่ท่วมเพราะกรุงเทพเป็นเมืองที่สำคัญ แต่ที่อื่นๆ น้ำท่วมได้”
‘รัฐธรรมนูญกินไม่ได้’ แต่ทำให้ประชาชนมีอำนาจต่อรองและแก้ไขปัญหาอย่างอารยะ
"สิ่งที่ต้องถามต่อ คือ รัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องอะไร? รัฐธรรมนูญทำให้คนท้องอิ่มหรือเปล่า ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญจะตายกันหรือเปล่า ไม่มีรัฐธรรมนูญแล้วจะไม่มีข้าวจะกินหรอ ก็ไม่ใช่ โดยทั่วไปรัฐธรรมนูญไม่ทำให้คนท้องอิ่ม รัฐธรรมนูญกินไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญในสังคมที่เป็นเสรีประชาธิไตย รัฐธรรมนูญคือตัวเปลี่ยนความสัมพันธ์ของผู้คนภายในรัฐ”
รศ. สมชาย ชี้ว่า รัฐธรรมนูญทำให้ทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ เพราะรัฐหรือสังคมไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ของคณะรัฐประหาร สังคมนี้เป็นของเราทุกคน ประชาชนจึงต้องสามารถเเสดงความเห็นและมีส่วนในการกำหนดชะตากรรมของประเทศ และทำให้เกิดการพูด การถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล รวมทั้งการชุมนุมเพื่อเเสดงความต้องการของตนเอง ประชาชนย่อมมีสิทธิเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับทิศทางการพัฒนาของรัฐ ไม่มีใครมีสิทธิผูกขาดการตัดสินใจไว้ได้
อีกทั้ง รัฐธรรมนูญมีความสำคัญเพราะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างอารยะ ทำให้การแก้ไขปัญหามีความชอบธรรมและมีการตรวจสอบ ความพยายามสร้างกลไกในการตรวจสอบอำนาจรัฐ คือ ความพยายามในการทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างอารยะ เช่น รายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ คือเครื่องมือที่ทำให้เราเห็นว่าเมื่อเกิดโครงการต่างๆ แล้วจะมีผลดีหรือไม่มีดีอย่างไร และจะเอื้อให้เกิดประโยชน์หรือจะสร้างความเสียหายอะไร นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังทำให้ผู้คนมีอำนาจที่จะไปต่อรองกับอำนาจรัฐ และแสดงความคิดเห็นเเละร่วมตัดสินใจกับชะตากรรมของประเทศได้
รัฐธรรมนูญต้องเป็นความหวังให้กับประชาชน 
รศ. สมชาย ตั้งคำถามสุดท้ายว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 จะช่วยให้ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจได้มากน้อยเเค่ไหน ซึ่งเวลาเริ่มใช้รัฐธรรมนูญ ประชาชนต้องรู้สึกว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้าไปอย่างมีความหวัง ตัวอย่างเช่น ตอนเริ่มใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 สิ่งที่เห็น คือ สังคมไทยกำลังเดินทางไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง แต่สำหรับรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันนี้ มีใครรู้สึกเช่นนั้นบ้าง?
ความเห็นร่วมกันของผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญปี 2560 คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ลดทอนเสียง ความหมาย และความสำคัญของผู้คนให้น้อยลง กรณีของชาวบ้านเทพาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ที่แม้ภายใต้รัฐธรรมนูญจะเขียนว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และเขียนว่าการจำกัดเสรีภาพจะกระทำมิได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นเต็มไปหมด ซึ่งสุดท้ายชาวบ้านก็ถูกดำเนินคดี การเคลื่อนไหวของประชาชนทุกกลุ่มเผชิญกับปัญหานี้หมด ทั้งการพูดไม่ได้ ถูกจับตามอง และถูกดำเนินคดี 
รศ. สมชายไม่คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นเส้นทางไปสู่อนาคตที่ดีของประเทศไทย เพราะเมื่อเริ่มต้นใช้ก็เห็นเเล้วว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเท่าไร่นัก และคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะอยู่ไม่ยืนยาวแน่นอน ซึ่งโดยอายุเฉลี่ยของรัฐธรรมนูญไทยคือ 4 ปี แต่ รศ. สมชาย คาดการ์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีอายุน้อยกว่าอายุเฉลี่ยของรัฐธรรมนูญไทย
“ความทุกข์ยากไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม ความทุกข์ยากสัมพันธ์กับกฎหมายและนโยบายของรัฐ รัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องมืออันนึงในการปรับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนเเละส่วนต่างๆ และกับรัฐได้ ความยากจนและความทุกข์ยากเกิดจากการที่ผู้คนในสังคมขาดไร้ซึ่งอำนาจ รัฐบาลบอกว่าภายในปี 2561 ความยากจนจะหมดไป ผมคิดว่าความยากจนจะไม่หมดไปจากสังคมไทย ตราบใดที่ความยากจนทางอำนาจยังดำรงอยู่” รศ. สมชายกล่าวทิ้งท้าย