กฎหมายฮาเฮ: ประกาศ/คำสั่ง คสช. แบบนี้ก็มีด้วยเหรอนี่!

นับตั้งแต่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงปลายปี 2560 คสช. ใช้อำนาจพิเศษของตัวเอง ทั้งในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุด และใช้อำนาจตาม "มาตรา 44" ออกประกาศ และคำสั่ง โดยตรงอย่างน้อย 500 ฉบับ ครอบคลุมไปแทบจะทุกเรื่องแล้ว 
ด้วยความรวดเร็วในการออก ปริมาณที่มหาศาล และกระบวนการจัดทำไม่มีส่วนร่วมจากใคร ทำให้ประกาศและคำสั่งหลายฉบับออกมาโดยที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ หรือไม่สนใจจะเรียนรู้ แต่หากมีโอกาสได้หยิบประกาศและคำสั่งบางฉบับมาวิเคราะห์กันละเอียดๆ อาจจะพบเรื่องราวน่าประหลาดใจได้ว่า มีประกาศและคำสั่งจำนวนมากที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นกฎหมายได้
ทำนองที่เมื่อรู้จะต้องอุทานว่า "กฎหมายแบบนี้ก็มีด้วยเหรอนี่!…."

 

 

คำสั่ง คสช. 4/2557 ประกาศเคอร์ฟิวแล้ว แต่รถขนเงินยังให้วิ่งได้
หลังรัฐประหาร คณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก ออกประกาศฉบับที่ 3/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เรื่อง ห้ามออกนอกเคหะสถาน สั่งห้ามมิให้บุคคลใดทั่วราชอาณาจักร ออกนอกเคหะสถาน ภายในเวลา 22.00 ถึง 05.00 หรือคือการ "ประกาศเคอร์ฟิว" นั่นเอง 
ประกาศเคอร์ฟิวทำให้ท้องถนนทุกสายเงียบสงัด เพราะทุกคนเข้าไปอยู่ในบ้านของตัวเองหมด หากใครฝ่าฝืนจะถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งตามกฎอัยการศึก และอาจถูกทหารเข้าควบคุมตัวไปขังไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน
แต่ความเงียบงันของท้องถนนเช่นนี้ หากปล่อยไว้นานเกินไปก็อาจจะมีธุรกิจหลายอย่างที่กระทบกระเทือนได้มาก จนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในที่สุด
กลุ่มแรก ก็คือ พนักงานขนส่งเงินของธนาคาร ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องพกพาอาวุธเสียด้วย
บริษัท จีโฟร์เอส แคช โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จํากัด ซึ่งดําเนินธุรกิจในการขนส่งทรัพย์สินของธนาคารและห้างร้านต่างๆ จึงไปขออนุญาตกับ คสช.  เพื่อมิให้ธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ และลูกค้าหยุดชะงัก และส่งผลกระทบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และมิให้ประชาชนเดือดร้อน คสช. จึงออกคำสั่งที่ 4/2557 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ให้พนักงานขนส่งทรัพย์สินของธนาคาร ของบริษัทนี้และบริษัทอื่นสามารถเดินทางตอนกลางคืนได้ รวมทั้งพกพาอาวุธได้ด้วย
กลุ่มที่สอง ก็คือ พนักงานขนส่งสินค้าทั่วไป
เนื่องจาก ตามกฎหมายปกติรถขนส่งสินค้าจะเดินทางบนถนนในเมืองได้ภายในเวลาที่จำกัดอยู่แล้ว การขนส่งส่วนใหญ่จึงต้องเดินทางช่วงกลางคืน คสช. จึงออกคำสั่งที่ 17/2557 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 อนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าทางบกสามารถขนส่งสินค้าในห้วงเวลาที่ประกาศเคอร์ฟิวได้ แต่ต้องยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนสินค้าที่ขนส่งได้  
จนกระทั่งวันที่ 13 มิถุนายน 2557 คสช. ออกประกาศที่ 64/2557 ยกเลิกการประกาศเคอร์ฟิวในส่วนที่เหลือทั่วราชอาณาจักร รวมระยะเวลาทั้งสิ้นที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้เคอร์ฟิว 22 วัน
ประกาศ คสช. ที่ 46/2557 ห้ามทวงหนี้ชาวนาอย่างไม่เป็นธรรม แต่ไม่ห้ามทวงชาวสวน ชาวไร่
เนื่องจากสถานการณ์เมื่อช่วงปี 2557 เกิดวิกฤติหนี้สินของชาวนาจนทำให้เกิดการฆ่าตัวตายของชาวนาในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย ซึ่งหนึ่งในสาเหตุหลักเกิดจากการเป็นหนี้ แล้วไม่มีหนทางในการหาเงินมาชดใช้ได้ อีกทั้งยังถูกเจ้าหนี้ติดตามทวงหนี้ ทั้งวิธีตามกฎหมายและนอกกฎหมาย 
หลังการเข้ายึดอำนาจไม่นาน เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 คสช.ออกประกาศ ฉบับที่ 46/2557 เรื่อง ความผิดเกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้ ขึ้นมาเป็นพิเศษ
โดยประกาศฉบับนี้กำหนดความผิดโดยเฉพาะเพื่อจัดการการทวงหนี้ต่อชาวนา โดยบัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดข่มขืนใจชาวนาให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กําลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทําอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือ ทรัพย์สินของชาวนาหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ" ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายมีโทษทางอาญาต่อผู้ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว
คำถามที่ตามมาก็คือ คำว่า "ชาวนา" ที่ประกาศฉบับนี้คุ้มครอง จะครอบคลุมแค่ไหน 
ตามประกาศฉบับนี้ และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ไม่ได้ให้ความหมายของคำว่า "ชาวนา" เอาไว้เป็นการเฉพาะ
ตามความหมายทั่วไปแล้ว เข้าใจกันว่า ชาวนา คือ ผู้ที่ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม ในประเทศไทยมักมีความหมาย ถึงผู้ประกอบอาชีพปลูกข้าวเป็นหลัก ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่าแล้วเกษตรกรอื่นๆ ที่ปลูกพืชชนิทอื่นที่ไม่ใช่ข้าว อย่างเช่น ชาวสวนยางพารา ชาวสวนผลไม้ ชาวไร่ข้าวโพด ชาวไร่มันสำปะหลัง แล้วมีหนี้สินที่ค้างชำระ เจ้าหนี้ก็ยังสามารถทวงหนี้โดยวิธีนอกกฎหมายหรือรุนแรงได้ใช่หรือไม่ และเกษตรกรจำนวนมากยังไม่ได้ปลูกพืชชนิดเดียว แต่ปลูกทั้งข้าวและพืชชนิดอื่นผสมกันไป หรือผลัดเปลี่ยนกันไปตามฤดูกาล เช่นนี้ หากมีหนี้สินค้างชำระจะได้รับความคุ้มครองด้วยหรือไม่
เพราะสำหรับวันนี้ ประกาศ คสช. ยังให้ความคุ้มครองพิเศษเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกข้าวเท่านั้น

 

ประกาศคสช. 74/2557 ให้การประชุมออนไลน์มีผลทางกฎหมายและได้เบี้ยประชุมด้วย
ในโลกยุคที่การสื่อสารก้าวหน้าเช่นนี้ การประชุมผ่านทางเครื่องมือสื่อสารดูจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะลดต้นทุนค่าเดินทางของผู้เข้าร่วมเพียงเพื่อมานั่งอยู่ในห้องเดียวกันแล้วยังช่วยประหยัดเวลาที่เสียไปในการเดินทางได้ด้วย
การใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ สไกป์ แฮงเอ้าท์ หรือแอพลิเคชันอื่นๆ เป็นเครื่องมือเชื่อมต่อเพื่อประชุมเป็นสิ่งที่องค์กรเอกชนที่มีสาขาในหลายๆ จังหวัดหรือหลายประเทศปฏิบัติกันเป็นปกติอยู่แล้วในยุคนี้ แต่ราชการไทยอาจจะยังไม่ได้ปฏิบัติกันนัก เพราะก่อนหน้านี้กฎหมายไทยอาจยังไม่พัฒนาทันเทคโนโลยี จึงมีปัญหาการนับสถานะทางกฎหมายของการประชุมที่ผู้เข้าร่วมบางส่วนไม่ได้มานั่งอยู่ในที่ประชุมจริงๆ จึงไม่ชัดเจนว่า จะนับว่ามีผู้เข้าร่วมประชุมครบองค์ประชุมได้หรือไม่ และนับว่า การลงมติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เพื่อแก้ปัญหานี้ หลังการเข้ายึดอำนาจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อาศัยอำนาจในฐานะ 'รัฏฐาธิปัตย์' ออกประกาศฉบับที่ 74/2557 เรื่องการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 27 มิถุนายน 2557 เพื่อรับรองสถานะการประชุมของโลกดิจิทัลให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย
สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ได้แก่ 
1. การประชุมที่ผู้เข้าร่วมบางส่วนร่วมประชุมผ่านทางสื่ออิเล็กทรอร์นิกส์ ให้ถือเป็นการประชุมที่ชอบด้วยกฎหมายได้ โดยมีข้อแม้ว่าผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดจะต้องอยู่ภายในราชอาณาจักร และมีผู้เข้าร่วมประชุมอย่างน้อยหนึ่งในสามขององค์ประชุมอยู่ในสถานที่เดียวกัน 
ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่องค์ประชุมมีเก้าคนจะต้องมีผู้เข้าร่วมอย่างน้อยสามคนนั่งอยู่ในห้องเดียวกัน ส่วนผู้ที่เข้าร่วมผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือแอพลิเคชันจะนั่งอยู่ที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย แต่ไม่สามารถร่วมประชุมโดยที่ตัวอยู่ต่างประเทศได้ 
2. เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสามารถทำเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ได้ตามข้อ 5 ของประกาศ รวมทั้งรับรองในข้อ 8 ว่าในกรณีที่เกิดคดีความ ศาลจะปฏิเสธการรับฟังพยานหลักฐานของการประชุมที่ชอบตามประกาศฉบับนี้เพียงเพราะเป็นพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้
3. ข้อ 7 ของประกาศยังระบุให้สามารถจ่ายเบี้ยประชุมให้กับที่ผู้เข้าประชุมผ่านสื่ออิเล็กทอร์นิกส์ได้ด้วย 
อย่างไรก็ตามไม่ใช่การประชุมทุกประเภทจะสามารถทำผ่านสื่ออิเล็กทอร์นิกส์ได้ เพราะข้อ 2 ของประกาศกำหนดว่า การประชุมสภาฯ การประชุมเพื่อทำคำพิพากษาของศาลหรือการประชุมเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และการประชุมอื่นๆ ที่ครม.กำหนด ไม่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศฉบับนี้
การออกประกาศคสช.ฉบับที่ 74/2557 อาจเป็นเจตนาดีของ คสช. ที่ต้องการทำให้กฎหมายไทยทันสมัยและรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจก็มีอยู่ว่า การใช้อำนาจในฐานะ 'รัฎฐาธิปัตย์' ออกประกาศฉบับนี้มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน เพราะในวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 หรือเดือนเศษหลังมีประกาศฉบับนี้ คสช. ก็แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่ออกกฎหมาย  ซึ่งหากพิจารณาตามความจำเป็นแล้ว การออกกฎหมายเพื่อรับรองสถานะทางกฎหมายของการประชุมผ่านการใช้เครื่องมืออิเล็กทอร์นิกส์ไม่น่าจะมีความจำเป็นเร่งด่วนถึงขั้นจะรอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สภา 'ปกติ' ให้มาดำเนินการไม่ได้ 
ประกาศ คสช. 81/2557 ค่าครองชีพสูง ขอเพิ่มเงินค่าครองชีพให้กับอดีตทหาร
ช่วงนี้ดูข่าวเศรษฐกิจจากทีวี ฟังวิทยุ หรืออ่านหนังสือพิมพ์ มองไปช่องทางไหนก็พบคำตอบคล้ายๆ กันว่า เศรษฐกิจช่วงนี้ไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ขาย ชาวนา ชาวไร่ ฯลฯ กระทบกันทั่วหน้าแบบว่าเงินในกระเป๋าชักหน้าไปถึงหลังกันเลยทีเดียว
เศรษฐกิจแบบนี้บวกกับค่าครองชีพที่สูง ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดในช่วงเข้าขวบปีที่สี่ของรัฐบาล คสช. หลักฐานที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไม่นาน วันที่ 10 กรกฎาคม 2557 คสช. ก็ออก “ประกาศ คสช. ฉบับที่ 81/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ.2521
ประกาศฉบับนี้เป็นการปรับปรุง “เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ” โดยกำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ ต่ำกว่าเดือนละ 9,000 บาท ให้ได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มอีกในอัตราเดือนละเท่ากับส่วนต่างของจำนวนเงิน 9,000 บาท หักด้วยจำนวนเบี้ยหวัดหรือบำนาญทุกประเภท และเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับ
พูดง่ายๆ อีกอย่างก็คือ ใครที่เคยได้รับไม่ถึง 9,000 บาท ก็ให้ได้รับเป็น 9,000 บาท
ประกาศฉบับนี้เป็นการแก้ไขเกณฑ์จำนวนเงินขั้นต่ำ ที่เดิมกำหนดไว้ เดือนละ 6,000 บาท ซึ่งเป็นการกำหนดตั้งแต่ปี 2552 หรือ 8 ปีที่แล้ว ทั้งนี้การปรับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มอีกก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในการครองชีพ
สำหรับผู้ที่ได้รับเบี้ยหวัด คือ บรรดาทหารผู้ชาย ซึ่งออกจากราชการเป็นทหารกองหนุน โดยจะได้รับเบี้ยหวัดทุกเดือน
ต่อมา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 รัฐบาลคสช. เพิ่มเติม พ.ร.ฎ.เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เข้าไปอีก โดยกำหนดผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัด ให้ได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มขึ้นอีกในอัตราเดือนละร้อยละสี่
เรียกว่าในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองแบบนี้รัฐบาลของนายพลได้ใจนายทหารนอกราชการไปเต็มๆ คาดว่าตัวเลขผู้ได้รับประโยชน์อยู่ที่ 533,328 คน โดยจะใช้งบกลางเพิ่มขึ้นอีก 3,855 ล้านบาท ในยุคเศรษฐกิจแบบนี้เงินจำนวนนี้แม้จะไม่มากมายแต่ก็ช่วยทำให้ผู้ได้รับประโยชน์ใช้จ่ายได้คล่องมือขึ้น
เป็นเรื่องที่ต้องยกนิ้วให้รัฐบาลคสช. แต่เพื่อให้ไปในแนวทางเดียวกับเบี้ยยังชีพคนชรา ถ้าคสช. จะทำโครงการให้อดีตทหารสละสิทธิเงินส่วนนี้บ้างน่าจะมีเงินเหลือเข้าคลังไม่ใช่น้อย ว่าแต่คงต้องทำเหรียญเชิดชูเกียรติแจกให้ในฐานะผู้ทำความดีด้วย จะได้ไม่น้อยหน้ากัน
ประกาศ คสช. 83/2557 ให้ทหารยึดตู้ม้า ตู้เกม เพื่อทำลาย ยึดไว้ก่อนดูใบอนุญาตทีหลัง
ตามพ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 กำหนดให้การเล่นการพนันด้วยเกมส์คอมพิวเตอร์เช่น ตู้ม้า ตู้เกมส์อื่นๆ เป็นการพนันในบัญชี ข. ข้อ 28. ที่ระบุว่า
"28. เครื่องเล่นซึ่งใช้เครื่องกล พลังไฟฟ้า พลังแสงสว่าง หรือพลังอื่นใดที่ใช้เล่นโดยวิธีสัมผัส เลื่อน กด ดีด ดึง ดัน ยิง โยน โยก หมุน หรือวิธีอื่นใดซึ่งสามารถทำให้แพ้ชนะกันได้ ไม่ว่าจะโดยมีการนับแต้มหรือเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่ก็ตาม"
ซึ่งการพนันในบัญชี ข. ซึ่งเป็นการพนันที่อาจขอใบอนุญาตในการเล่นได้ หากผู้ใดจัดให้มีการเล่นโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การพนัน และเมื่อศาลตัดสินในกรณีไหนว่า เป็นความผิดแล้ว ศาลก็อาจสั่งให้ริบเครื่องมือที่ใช้ในการเล่น อย่างตู้เกมทั้งหลายได้ด้วย
แต่ข้อกำหนดในกฎหมายเพียงเท่านี้ยังไม่พอใจสำหรับ คสช. 
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 คสช. จึงออกคำสั่ง ฉบับที่ 24/2557 ให้ กองกําลังรักษาความสงบเรียบร้อย กระทรวงมหาดไทย และ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ เพิ่มมาตรการและความเข้มข้นในการกำกับดูแลการพนันผิดกฎหมาย โดยเฉพาะตู้ม้า สลากกินรวบ ให้รายงานผลต่อ คสช. อย่างต่อเนื่อง และหากพบข้าราชการผู้ใดเกี่ยวข้องจะต้องถูกลงโทษทั้งทางวินัยและคดีอาญา
แต่คำสั่งฉบับนี้ก็อาจจะยังไม่พอใจ เพราะยังไม่มีผลในทางปฏิบัติเท่าที่ควร
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 คสช. จึงออกประกาศ ฉบับที่ 83/2557 เรื่อง การดําเนินการเกี่ยวกับเครื่องเล่นเกมที่สามารถใช้หรือนํามาประกอบเพื่อใช้เล่นการพนัน เพื่อมาควบคุม "เครื่องเล่นเกม"
"เครื่องเล่นเกม" ที่ประกาศนี้จะควบคุม หมายถึง สล็อทแมชชีน ตู้ม้า ปาชิงโกะ รูเล็ท รวมทั้งเครื่องเล่นต่างๆ ที่เมื่อผู้เล่นชนะแล้วจะมีเงิน ไม่ว่าจะเป็นเหรียญ ธนบัตร หรือชิพ ออกมาให้
ประกาศ ฉบับที่ 83/2557 กำหนดให้ ทหารกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กระทรวงมหาดไทย และตำรวจ ยึดเครื่องเล่นเกมที่มีลักษณะใช้เล่นการพนันได้ให้เครื่องเล่นเกมตกเป็นของแผ่นดิน และให้หัวหน้าหน่วยราชการที่ตรวจยึดมีอำนาจอนุมัติให้ทำลายเครื่องเล่นเกมที่ยึดไว้ได้ เว้นแต่จะใช้เพื่อเป็นหลักฐานในชั้นศาล
นอกจากนี้ เนื่องจากเครื่องเล่นเกมลักษณะนี้เป็นการพนันในบัญชี ข. ที่อาจออกใบอนุญาตได้ ประกาศ คสช. ดังกล่าวจึงกำหนดว่า ให้เครื่องเล่นเกมที่ถูกยึดนั้นตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าของกรรมสิทธิ์ได้แสดงตนและสามารถแสดงหลักฐานว่าเครื่องเล่นเกมที่ถูกยึดนั้นมีไว้โดยชอบด้วยกฎหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ถูกยึด
และในประกาศ ข้อ 3. ก็กำหนดว่า เครื่องเล่นเกมที่ได้ถูกยึดไว้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หรือตั้งแต่ คสช. เข้ายึดอำนาจ จนถึงวันที่ออกประกาศนี้ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าของกรรมสิทธิ์ได้แสดงตนและสามารถแสดงหลักฐานว่าเครื่องเล่นเกมที่ถูกยึดนั้นมีไว้โดยชอบด้วยกฎหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ 
แสดงให้เห็นว่า มีการยึดตู้เกมกันไปแล้วตั้งแต่ก่อนจะออกประกาศฉบับนี้เสียอีก และเป็นการยึดเอาไว้ก่อนโดยเจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบกับทางราชการว่า เครื่องที่ยึดนั้นได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามพ.ร.บ.การพนันหรือไม่ เป็นหน้าที่ของเจ้าของเครื่องเล่นที่ได้รับใบอนุญาตที่มีหน้าที่ต้องเอาใบอนุญาตมาแสดงด้วยตัวเองภายในสามสิบวัน หากไม่อยากให้เครื่องเล่นของตัวเองถูกทำลาย
คำสั่งหัวหน้า คสช. 60/2559 ภายในมีนาคมปี 60 ถ้าเจ้าของไม่นําช้างไปตรวจ DNA  ให้ช้างตกเป็นของแผ่นดิน !
จากงานศึกษาวิจัย ‘แนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับช้างเลี้ยงและช้างป่าในประเทศไทย’ พอจะสรุปได้ว่า ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับช้างถึง 18 ฉบับ แต่มีเพียง 2 ฉบับที่เนื้อหาเกี่ยวกับช้างโดยตรง ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ยังไม่ส่งผลให้การคุ้มครองเกิดขึ้นจริง เพราะ กฎหมายที่ออกมาเนนให้ความสำคัญกับช้างที่อยู่ในป่า แต่มองข้ามความเป็นอยู่ของช้างบ้าน 
โดยเฉพาะปัญหา ‘การสวมสิทธิช้าง’ หรือ การนำช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้าน กฎหมายก็ยังมีช่องโหว่ เนื่องจาก ระบบการจดทะเบียนช้างยังล้าสมัย ยกตัวอย่างเช่น กำหนดอายุขั้นต่ำของช้างที่ต้องขึ้นทะเบียนกำหนดอายุไว้ที่ 8 ปี แต่มีกรณีที่คนลักลอบนําช้างป่าที่จับได้อายุตั้งแต่ 2-7 ปี มาฝึกให้เชื่องและทําการตีทะเบียนเมื่อมีอายุย่างเข้า 8 ปี อีกทั้ง วิธีการตีทะเบียนด้วยการฝั่งไมโครชิพในตัวช้างก็ยังไม่มีการควบคุม จึงมีการปลอมแปลงช้างด้วยการฝังไมโครชิพให้ช้างบางเชือกถึง 3-4 เบอร์ เป็นต้น
ด้วยอํานาจตาม มาตรา 44 เมื่อวันท่ี่ 28 กันยายน 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 60/2559 เรื่องมาตรการป้องกันการนําช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้าน มาแก้ไขปัญหาทั้งหลาย
โดยคำสั่งดังกล่าว สั่งให้เจ้าของช้างนําช้างที่อยู่ในความครอบครองทั้งที่ได้จดทะเบียนแล้ว และยังไม่ได้จดทะเบียน ไปทําการเก็บตัวอย่างเลือดสําหรับตรวจสอบรหัสพันธุกรรม (DNA) และให้นายทะเบียนออกหนังสือรับรองให้แก่เจ้าของช้างเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าได้นําช้างมาเก็บตัวอย่างเลือดแล้ว ให้หน่วยงานรัฐจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่างเลือด และจัดทําเครื่องหมายประจําตัวช้าง ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และให้กรมการปกครองนําไปบันทึกในทะเบียน ตั๋วรูปพรรณช้างภายใน 360 วันนับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ
หากเจ้าของช้าง ไม่นําช้างมาเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจสอบรหัสพันธุกรรม (DNA) ภายใน 180 วันนับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ซึ่งก็คือ ภายในวันที่ 26 มีนนาคม 2560 ให้ถือว่าช้างเชือกนั้นเป็น "ช้างป่า" ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และให้ตกเป็นของแผ่นดิน เจ้าของหรือผู้ครอบครองช้าง ต้องส่งมอบช้างให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือ
หรือกรณีที่ตรวจ DNA ของช้างแล้วพบว่า ช้างเชือกใด ไม่ใช่ช้างที่สืบพันธุ์มาจากช้างบ้าน ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายสัตว์พาหนะ หรือสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นช้างป่าที่จับมาและฝึกให้เป็นช้างบ้านภายหลัง ก็ให้ช้างนั้นตกเป็นของแผ่นดินอีกเช่นกัน