สัมภาษณ์ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ในวันที่ กฟผ. ไล่ฟ้องคนค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

16 ตุลาคม 2560 ประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.บางกรวย จังหวัดนนทบุรี ในคดีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวหาเขาในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามมาตรา 328 ของประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 2 คดี จากการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 และ 13 มกราคม 2560 หลังจากการรายงานตัวประสิทธิ์ชัยได้นัดส่งคำให้การเป็นการลายลักษณ์อักษรอีกครั้งในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 
 
ก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม 2560 เคยมีรายงานข่าวว่า กฟผ. เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนรวม 15 คดี ในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งประสิทธิ์ชัยเป็นคนแรกที่ตำรวจเรียกไปรายงานตัว ตามการแจ้งความของกฟผ.
 
ไอลอว์ชวนสัมภาษณ์ประสิทธิ์ชัย เรื่องการเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในยุคที่ประชาชนต้องร่วมจ่ายความมั่นคงทางพลังงานด้วยเสรีภาพ
 
 
 
oo ที่มาที่ไปของการมาร่วมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
 
หลังเรียนจบ ผมได้ทำงานเรื่องประมงและการอนุรักษ์ทะเลที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วงสามสี่ปีที่แล้วมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอท่าศาลาและหัวไทร เราก็ต่อสู้เรื่องดังกล่าวเรื่อยมา จนกระทั่งมีโครงการโรงไฟฟ้าเกิดที่จังหวัดกระบี่ ชาวบ้านก็ขอให้มาช่วยรณรงค์คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นั่น หลังจากนั้นก็คือยาวเลย แต่ช่วงที่ช่วยรณรงค์ที่จังหวัดกระบี่จะแตกต่างกับตอนที่สู้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรงที่เรามีการค้นคว้าเพิ่มขึ้นและนำไปเผยแพร่ในพื้นที่ออนไลน์มากขึ้น
 
 
oo ทำไมถึงต้องคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน
 
เหตุผลที่ค้านหลัก คือ มลพิษจากถ่านหิน ถ้าไม่มีเรื่องมลพิษเราจะไม่คัดค้าน การใช้ถ่านหินมีผลกระทบปรากฏแล้วทั่วโลกจึงไม่ควรจะสร้างอีก อัตราการใช้ถ่านหินของโลกลดลง หลายประเทศประกาศปิดโรงงานพลังงานถ่านหินถาวร แต่ประเทศเราสัมปทานถ่านหินที่อินโดนีเซียไว้มาก ไม่รู้จะเอาถ่านหินไประบายที่ไหน รวมทั้งพื้นที่กระบี่มีไฟฟ้าเหลือใช้อยู่แล้ว ยิ่งไม่จำเป็นต้องสร้างเพิ่มในช่วงระหว่างสิบปีนี้ หรือถ้าหากจะต้องสร้างเพิ่มก็ใช้พลังงานอย่างอื่นได้ 
 
 
oo เคยบอกเรื่องพลังงานหมุนเวียนทางเลือกแก่ผู้ที่สนับสนุนการใช้พลังงานถ่านหินไหม
 
ช่วงเดือนกรกฎาคม 2558 หลังจากที่คัดค้านด้วยการอดข้าวและประท้วงบริเวณทำเนียบรัฐบาล รัฐบาลและกฟผ.ได้เจรจาให้ยุติการประท้วง จากนั้นรัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อร่วมกันศึกษาว่า การผลิตไฟฟ้าในจังหวัดกระบี่มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ สนช. กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและภาคประชาชน เถียงกันอยู่เกือบเก้าเดือน สรุปได้ว่า จังหวัดกระบี่ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 1,700 เมกะวัตต์ แต่ใช้แค่ 100 เมกะวัตต์ และสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทางเลือกได้ แต่ท้ายที่สุดกรรมการชุดนี้ก็ล้มโต๊ะไม่เอาผลการศึกษาไปทำต่อ
 
โดยพลังงานหมุนเวียนทางเลือกของกระบี่ที่ผลิตในปัจจุบัน คือ การใช้น้ำเสียจากโรงงานปาล์ม ชาวบ้านนำน้ำเสียไปผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 40 เมกะวัตต์ อันที่จริงสามารถผลิตเพิ่มได้อีก แต่ปัญหาอยู่ที่รัฐบาลไม่รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ถ้ารับซื้อจะสามารถผลิตได้มากถึง 100 เมกะวัตต์ พลังงานทางเลือกอื่นๆ ก็มี เช่น โซลาเซลล์และลม เป็นต้น
 
 
oo คิดว่า เหตุผลของการไม่รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทางเลือกของรัฐคืออะไร
 
ส่วนสำคัญเพราะรัฐได้รับบทเรียนว่า การกระจายพลังงานให้ประชาชนผลิตจะทำให้บริษัทไฟฟ้าขาดทุนย่อยยับเลย เราต้องไม่ลืมว่า ร้อยละ 60 ของการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยนั้นมีเอกชนเป็นผู้ผลิต ในยุโรปมีตัวเลขมาตั้งแต่ปี 2008-2013 ระบุว่า บริษัทใหญ่ขาดทุนย่อยยับจากการกระจายการผลิตพลังงานให้แก่ประชาชน เขาจะตายก็เลยต้องออกมาตรการมาในการกีดกัน นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่พลังงานหมุนเวียนมันไม่โต การที่เรื่องพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยยังเป็นไปไม่ได้เป็นเรื่องกฎหมายและนโยบาย ไม่ใช่เรื่องศักยภาพ 
 
 
oo มองว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร
 
จริงๆ แล้วเป็นจังหวะที่รัฐและนายทุนมาผนวกรวมกันอย่างที่รัฐบาลเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยทำไม่ได้ พอเป็นแบบนี้ เมื่อทุนต้องการจะฟันธงว่าต้องได้อะไร จะเห็นว่า อำนาจรัฐไปรับใช้ในทางใดทางหนึ่งอยู่เสมอ กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จะเห็นว่า ทางฝ่ายปกครองพยายามช่วยเหลือให้เกิดการระดมมวลชนในการสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน อันนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า รัฐกับทุนผนวกรวมตัวอย่างเข้มแข็งเพื่อที่จะขับเคลื่อนกิจการที่กลุ่มทุนต้องการ
 
 
oo ความแตกต่างในการปกป้องสิ่งแวดล้อมในยุคประชาธิปไตยและยุคคสช.
 
ถ้าจำไม่ผิด ช่วงที่จัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ยังไม่ได้รัฐประหาร แต่ช่วงที่จัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 เป็นรัฐบาลทหารแล้ว ซึ่งในช่วงนี้ก็ลำบากเพราะมีทหาร ตำรวจ หลายร้อยคนมาที่สถานที่จัดฟังรับฟังความคิดเห็น มาพร้อมอาวุธครบมือ พยายามจะกันไม่ให้กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้าห้องประชุมร่วมพูดคุย ซึ่งวันนั้นเราก็ไม่ได้เข้า นั่งตากแดดอยู่ที่หน้าห้องประชุม ครั้งนั้นมีการนำคนมาจากที่ไหนไม่รู้มาเข้าร่วมงาน
 
เห็นได้ชัดเจนว่า กระบวนการมีส่วนร่วมถูกกีดกันจากฝ่ายความมั่นคง เป็นความยากลำบากอย่างหนึ่งของประชาชนในการมีส่วนร่วมในกฎหมาย ในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต่อให้ประชาชนมีความคิดเห็นต่างกัน แต่ทั้งสองฝ่ายก็สามารถเข้าร่วมกันได้ในเวทีรับฟังความคิดเห็น ตำรวจเข้ามาอยู่ระหว่างกลางความขัดแย้ง แต่ไม่สามารถกีดกันผู้เห็นต่างออกไปได้ อย่างดีที่สุดคือเข้ามาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย ต่างกับในยุครัฐบาลทหาร ประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐจะไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้เลย เพราะว่ารัฐใช้กำลังทหารหรือเจ้าหน้าที่มากีดกันผู้ที่เห็นต่าง
 
 
 
 
oo ทำงานเคลื่อนไหวปกป้องสิ่งแวดล้อม รู้สึกอย่างไรที่ต้องถูกฟ้องหมิ่นประมาท
 
คิดว่า มันเป็นโอกาสที่เราค้นคว้าข้อมูลเพิ่มขึ้นในสิ่งที่บอกว่า ไม่จริง เราจะได้พิสูจน์มัน และเป็นโอกาสที่เราจะได้ทำงานกับสาธารณะด้วยว่า ข้อเท็จจริงคืออะไร ทำให้ประเด็นอยู่ในความสนใจมากขึ้น ส่วนกระบวนการที่จะถูกลงโทษคงต้องว่ากันไป ผมคิดว่า กระบวนการทางสังคมน่าสนใจกว่า คือ มันสะท้อนให้เห็นว่า รัฐกับทุนพยายามจัดการคนเห็นต่าง ภาคประชาชนต้องพยายามรื้อออกมาว่ารัฐและทุนรวมหัวกันคดโกงเอาเปรียบประชาชนอย่างไร
 
ในส่วนของคดี ผมไม่มีข้อเรียกร้องใด ขอให้ว่ากันไปตามกระบวนการ ลองดูว่า ใครจริงกว่าใคร เรื่องราวเหล่านี้เมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะแล้วสาธารณะก็จะตัดสินเองว่า สุดท้ายแล้ว กฟผ.หรือประชาชนสร้างเรื่องโกหก
 
 
มองว่า กฎหมายที่บังคับใช้อยู่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานไหม
 
การสื่อสารที่จะทำให้ประชาชนรับรู้ข่าวสารเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับกระบวนการพัฒนาประเทศ ถ้ากระบวนการทางกฎหมายมาจำกัดสิทธิการเผยแพร่ข้อมูลใดๆ ก็ตามที่เป็นประโยชน์สาธารณะ มันก็จะกลายเป็นอุปสรรคของกระบวนการรักษาสิ่งแวดล้อมและการกำหนดอนาคตการพัฒนาที่ดี 
 
เรื่องที่ซีเรียสมาก คือ เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่หายไปในกระบวนการกำหนดอนาคตพัฒนา หลายฝ่ายควรจะพูดกันดังๆว่า มันไม่ควรเป็นอย่างนี้ในประเทศนี้