ร่าง พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ: ห้ามวิจารณ์และให้อำนาจแก้ ‘เดดล็อคทางการเมือง’

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านการพิจารณาวาระรับหลักการในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 โดยมีมติเอกฉันท์จากที่ประชุมสนช. 
‘หลักการ’ ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีบัญญัติอยู่แล้วในหมวด 11 เรื่องศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 200-214) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่รัฐธรรมนูญได้บังคับให้มี พ.ร.ป ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญขึ้นอีกเพื่อกำหนด ‘รายละเอียด’ และกฎเกณฑ์ที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ
ร่างนี้บัญญัติรายละเอียดสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ที่มาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ​ และอำนาจวินิจฉัยคดีทั้งหมดที่ศาลรัฐธรรมนูญมี แต่สิ่งที่น่าสนใจในร่างกฎหมายนี้ คือ “อำนาจใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ” อันได้แก่ หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการให้คำปรึกษาเพื่อยุติข้อโต้แย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ สอง ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพยื่นร้องต่อศาลได้โดยตรง และ สาม บทบัญญัติห้ามละเมิดอำนาจศาล ห้ามวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เคยกล่าวไว้ว่า กฎหมายฉบับนี้(พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ)สำคัญที่สุดต่อบ้านเมือง เพราะถ้าเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญเหมือน ‘ขื่อแป’ แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญคือ ‘เสาหลัก’ ที่คำยันบ้านเมืองให้เป็นรูปเป็นร่าง หากไม่มีเสาค้ำไว้ ขื่อแปอาจบิดเบี้ยว 
ศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน มีผู้ทรงคุณวุฒิจากฝ่ายข้าราชการและนักวิชาการอย่างละ 2 คน
ตามมาตรา 8 ของร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ตุลการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 คน ซึ่งประกอบไปด้วย 
ตุลาการ 3 คน มาจาก ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
ตุลาการ 2 คน มาจาก ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
ตุลาการ 1 คน มาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 
ตุลาการ 1 คน มาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์
ตุลาการ 2 คน มาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้รับหรือเคยรับราชการ
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี และมีวาระการดำรงตำแหน่งได้เพียววาระเดียว (มาตรา 17) ซึ่งเมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้วจะได้รับบำเหน็จ (ต้องดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่า 1 ปี) ตอบแทนเป็นเงินครั้งเดียวโดยคิดจากเงินเดือนคูณด้วยจำนวนปีที่ดำรงตำแหน่ง (มาตรา 26)
คณะกรรมการสรรหามีตัวแทนจากฝ่ายข้าราชการ 7 คน ฝ่ายการเมือง 2 คน 
สำหรับตำแหน่ง 'ผู้ทรงคุณวุฒิ' จากสายข้าราชการกับสายวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ให้มาจากการสรรหาหาโดยคณะกรรมการสรรหา ตามมาตรา 11 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 9 คน มาจาก ฝ่ายข้าราชการ 7 คน ได้แก่ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และ องค์กรอิสระอีกองค์กรละ 1 คน ได้แก่ ตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผผ.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ค.ต.ง.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)  ส่วนฝ่ายการเมืองมีเพียงแค่ 2 คน ได้แก่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน
ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ 'วินิจฉัยกฎหมาย-ตัดสินคุณสมบัตินักการเมือง'
อำนาจวินิจฉัยคดีทั้งหมดซึ่งเป็นหน้าที่หลักของศาลรัฐธรรมนูญปรากฎอยู่ในมาตรา 7 ของร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยมีอำนาจหน้าที่หลักๆ ได้แก่ วินิจฉัยคดีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย คดีหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือ องค์กรอิสระ และคดีการสิ้นสุดสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือความเป็นรัฐมนตรี ส่วนบทบัญญัติใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้นมา ได้แก่ อำนาจวินิจฉัยคดีผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ
หากเกิดปัญหาระหว่างรัฐบาลและองค์กรอิสระ ให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน
ในคดีเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือองค์กรอิสระ ที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรืออาจเป็นปัญหาขัดกันระหว่างองค์กรเหล่านี้ มาตรา 44 ของร่างกฎหมายฉบับนี้ นอกจากให้อำนาจศาลพิจารณาคดี “ปัญหาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว” มาตรา 44 ยังให้ศาลมีอำนาจให้คำปรึกษา “ปัญหาโต้เเย้งระหว่างหน่วยงาน” ได้ด้วย โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีสิทธิยื่นหนังสือเพื่อขอให้ศาลพิจารณาวินิฉัยได้
อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. อธิบายว่า การให้คำปรึกษาข้อสงสัยต่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญได้ก่อนจะเกิดข้อพิพาทคือสิ่งใหม่ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาระหว่างองค์กร ก่อนที่ปัญหาที่เกิดขึ้นจะบานปลายเหมือนเช่นในอดีต กรณีมีความเห็นต่างกันระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในเรื่องการเลื่อนวันเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 
ประชาชนฟ้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องใช้ช่องทางอื่นให้ครบก่อน
ในคดีผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ มาตรา 45 ของร่างกฎหมายฉบับนี้ให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพมีสิทธิยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง แต่มีข้อยกเว้นตามมาตรา 46 ว่าการใช้สิทธิยื่นคำร้อง หากรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นได้กำหนดกระบวนการ ขั้นตอนหรือวิธีการร้องไว้แล้ว ต้องดำเนินการตามนั้นให้ครบถ้วนเสียก่อนจึงจะมาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง อีกทั้ง ยังยกเว้นในกรณีที่อำนาจการวินิจฉัยอยู่ใต้อำนาจของศาลอื่นแล้ว
ส่วนขั้นตอนในการยื่นคำร้องนั้น ให้ยื่นคำร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน โดยให้แจ้งผลให้ผู้ร้องทราบภายใน 10 วันหลังครบกำหนดเวลาดังกล่าว ดังนั้น ผู้ร้องจะต้องทราบผลภายใน 70 วัน แต่ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องหรือไม่ทำตามเวลาที่กำหนด ผู้ละเมิดมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลได้โดยตรง
วิจารณ์คำวินิจฉัยศาลฯ เสี่ยงคุก 1 เดือน ปรับ 50,000 บาท
การห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏอยู่ในมาตรา 38 ของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดี ในส่วนที่บุคคลเข้ามาในบริเวณที่ทำการศาล โดยศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลกระทำหรืองดกระทำเพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการห้ามละเมิดอำนาจศาลของศาลทั่วไป
นอกจากนั้น มาตรา 38 วรรคสอง ยังกำหนดไม่ให้ "วิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" ที่กระทำด้วยความไม่สุจริต และใช้ถ้อยคำหรือความหมายที่หยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย ให้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วย
ในส่วนนี้ อุดม รัฐอมฤต ให้ความเห็นว่า การป้องกันการวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่สุจริตนั้นให้ครอบคลุมการใช้สื่อและสังคมออนไลน์ และรวมถึงการปลุกระดมมวลชนที่มาล้อมกดดันศาลด้วย
การละเมิดอำนาจศาลมีบทลงโทษตามมาตรา 39 ตั้งเเต่ การตักเตือน การไล่ออกจากบริเวณศาล ไปจนถึงการลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บทเฉพาะกาลสั่งไม่เซ็ตซีโร่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ บทเฉพาะกาลได้บัญญัติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ปัจจุบันสามารถดำรงเเหน่งต่อไปได้จนครบวาระ แต่เร่งให้องค์กรอิสระเเต่งตั้งผู้เเทนในคณะกรรมการสรรหาภายใน 15 วัน โดยในกรณีนี้ยังไม่มีผู้นำฝ่ายค้านก็ให้คณะกรรมการสรรหาปฏิบัติงานต่อไปก่อน และให้คณะกรรมการสรรหาสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ครบภายใน 30 วัน