วงเสวนา มอง ระบบอุปถัมภ์ทำผู้เสียหายไร้อำนาจต่อรอง ไม่สามารถเอาผิดผู้ล่วงละเมิดทางเพศได้

วงเสวนาดังกล่าวได้สะท้อนปัญหาว่า ที่ปัญหาของการล่วงละเมิดทางเพศยังดำรงอยู่ ส่วนหนึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดของสังคมที่มุ่งกล่าวโทษว่าผู้ถูกกระทำเป็นต้นเหตุให้เกิดการล่วงละเมิดขึ้น เมื่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศออกมาร้องเรียนหรือเปิดเผยการถูกกระทำ ซึ่งภาวะดังกล่าวสะท้อนระบบวิธีคิด 'ชายเป็นใหญ่' อีกทั้ง ขั้นตอนในการนำคนผิดมาลงโทษยังเปิดไปอย่างเชื่องช้า นอกจากนี้ ในวงเสวนายังมองอีกว่า การลุกขึ้นมาเปิดเผยเรื่องราวการล่วงละเมิดทางเพศนั้นจะช่วยให้สังคมมองเห็นปัญหาและออกมาปกป้องผู้ถูกกระทำ
สังคมยังเข้าใจผิดเรื่องนิยาม "การข่มขืน" ทั้งที่กฎหมายแก้ไขแล้ว
วราภรณ์ แช่มสนิท จากแผนงานสุขภาพผู้หญิง ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า ถ้าพูดถึงความรุนแรงทางเพศที่ปรากฏในกฎหมายนั้นมี 2 อย่างคือ การข่มขืน และ อนาจาร ซึ่งการข่มขืนถูกให้นิยามไว้ว่า เป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการสอดใส่อวัยวะเพศในอวัยวะเพศ รวมถึงการสอดใส่ทางทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น แต่ไม่ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับ อนาจารไว้ เพียงแต่กล่าวไว้ว่าเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดความอับอายต่อหน้า ธารกำนัล เท่านั้น 
แต่ดูเหมือนนิยามของกฎหมายกับสังคมจะยังไม่ตรงกัน ธารารัตน์ ปัญญา หนึ่งในผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดทางเพศ สะท้อนให้ฟังว่า สังคมไทยยังมีความเข้าใจผิด มองการข่มขืนจะต้องมีการสอดใส่อวัยวะสำเร็จเท่านั้น แถมยังมองว่าการกระทำอื่นๆ เป็นเพียงการลวนลาม หรือเป็นเพียงแค่ความมือไวของผู้ชาย อีกทั้งยังกดทับผู้เสียหายด้วยการกล่าวโทษว่า ผู้เสียหายเป็นคนผิด แต่งตัวโป๊ เมา หรือพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเอง 
กฎหมายเป็นเพียงเสือกระดาษ เพราะบังคับใช้ไม่ได้จริง
ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ยังสะท้อนมุมมองต่อปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศอีกว่า ที่ผ่านมา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศของไทยใช้ไม่ได้จริง โดยมีปัจจัยหลักๆ อยู่ด้วยกัน 4 ประการ คือ
หนึ่ง ระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย เมื่อเกิดเหตุกาณ์ล่วงละเมิดทางเพศขึ้นในหน่วยงาน ผู้ถูกกระทำมักไม่กล่าออกมาร้องเรียน เพราะเกรงกลัวอิทธิพลของผู้กระทำที่มีผู้ใหญ่หนุนหลัง ดังที่ปรากฏในข่าวว่า ข้าราชการซีหกของกระทรวงสาธารณุขล่วงละเมิดทางเพศต่อพนักงานหญิงเป็นระยะเวลานาน
สอง การไร้ซึ่งอำนาจในการต่อรองของผู้กระทำ เมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผู้กระทำมักไม่กล้าเอาผิดกับผู้กระทำ เพราะมีอำนาจน้อยกว่าผู้กระทำ หรือเมื่อต้องการดำเนินการเอาผิดก็มักจะถูกกลั่นแกล้งจากคนรอบข้างของผู้กระทำ ประกอบกับคำบอกเล่า ของยงค์ ฉิมพลี สหภาพแรงงาน ขสมก. สะท้อนให้เห็นสาเหตุของปัญหานี้เป็นอย่างดี คือเมื่อกรณีของพนักงานเก็บค่าโดยสารถูกเจ้าหน้าที่ตำแหน่งที่สูงกว่าส่งคลิปโป๊ให้ หรือ กรณีของเจ้าหน้าชายของ ขสมก. ล่วงละเมิดเจ้าหน้าที่ธุรการหญิง เมื่อเกิดการร้้องเรียนขึ้น ผู้ถูกกระทำจะถูกกลั่นแกล้งจากคนรอบตัว และในขณะเดียวกันผู้กระทำก็ใช้เส้นสายเพื่อให้หลุดพ้นจากการถูกลงโทษ หรือลงโทษในระดับเบา 
สาม วิธีคิดกล่าวโทษผู้ถูกกระทำในสังคมไทย โดยมองว่าผู้ถูกกระทำทางเพศเป็นคนไม่ดี แต่ไม่มองหรือตั้งคำถามกับผู้กระทำ จึงทำให้ผู้เสียหายหลายคนไม่กล้าที่จะออกมาพูด แต่ถ้าผู้เสียหายกล้าที่จะออกมาเปิดเผยกับสังคมบ่อย ๆ ก็จะทำให้ผู้กระทำเริ่มตระหนักและไม่กล้าคุกคามทางเพศอีก และสังคมมีหน้าที่จะต้องปกป้องผู้ถูกกระทำ และต้องให้คุณค่าและความหมายใหม่ต่อผู้ถูกกระทำ 
สี่ ขั้นตอนการสอบสวนแบบระบบราชการ ใช้เวลานาน ผู้บังคับบัญชาแทรกแซงกระบวนการสอบสวน ผู้กระทำสามารถอุทธรณ์ได้ จึงมองว่า กฎหมายนี้เป็นเพียงเสือกระดาษ และพิธีกรรมทางกฎหมายที่มีไว้เพื่อความอุ่นใจ และไม่แน่ใจว่ากฎหมายนี้จะปกป้องประชาชนได้ 
ร้อยละ 90 ของผู้กระทำความผิด เป็นคนใกล้ตัวไม่ใช่คนแปลกหน้า
อังคณา อินทสา ตัวแทนมูลนิธิหญิงไทยก้าวไกล กล่าวว่า กรณีการล่วงละเมิดทางเพศที่มูลนิธีให้ความช่วยเหลือมากที่สุดคือกรณีข่มขืน ประมาณ 30-40 รายต่อปี ซึ่งจำนวนสอดคล้องกับข่าวการข่มขืนที่ปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้ ผู้กระทำร้อยละ 90 เป็นบุคคลใกล้ตัวของเหยื่อ เช่น หัวหน้างาน เจ้านาย รุ่นพี่ จึงทำให้ผู้หญิงเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วยความไว้ใจ 
อังคณา กล่าวต่อว่า สังคมไทยยังมองเรื่องการถูกข่มขืนนั้นเป็นความผิดของเหยื่อเองที่ไม่ระวังตัว แต่งตัวโป๊ หรือเมา ซึ่งการตั้งคำถามในลักษณะนี้ทำให้ผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่กล้าเล่าให้ครอบครัวฟัง ส่วนการกระทำอนาจารนั้นมีน้อยกว่า เนื่องมาจากหาหลักฐานยาก ผู้กระทำมักกระทำในที่ลับตาไม่มีคนเหตุ เมื่อผู้ถูกกระทำจะเอาผิดต้องมีหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ว่าถูกกระทำจริง ซึ่งเป็นการผลักภาระให้กับผู้กระทำ และหลายคนยังมองว่าเรื่องการคุกคามทางเพศนั้นเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือมองว่าเป็นการจีบกัน  ซึ่งการกระทำเหล่านี้สะท้อนแนวคิดชายเป็นใหญ่ที่แสดงให้เห็นว่าเพศชายมีอำนาจเหนือเพศหญิง 
มาตราการป้องกันการคุกคามทางเพศ บังคับใช้ไม่ได้จริง 
ด้าน สมร ศิริชัย กองกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวของกระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์  ให้รายละเอียดว่า พม.เองได้จัดทำระเบียบ ก.พ. เพื่อเป็นมาตรการในการป้องกันการคุกคามทางเพศในหน่วยงานราชการทุกหน่วยงาน และขอความร่วมมือภาคเอกชนในการดำเนินการ โดยในแต่ละปีหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานจะต้องส่งรายงาน การดำเนินงานการป้องกันการคุกคามทางเพศกลับมาที่ พม. ตัวอย่างการดำเนินงานที่หน่วยงานรัฐส่งมา เช่น ได้มีการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงาน หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์การคุกคามทางเพศขึ้นก็จะแจ้งให้ผู้บังคัญชาทราบเพื่อดำเนินการ และเมื่อถามว่าหน่วยงานแต่ละหน่วยต้องการให้มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านนี้ในส่วนกลางหรือไม่ แต่ละหน่วยงานให้คำตอบกลับมาว่าต้องการเป็นผู้ดำเนินการร้องเรียน ไม่จำเป็นต้องจัดให้มีหน่วยงานส่วนกลาง 
แต่ทว่า ยงค์ ฉิมพลี สหภาพแรงงาน ขสมก. สะท้อนว่า ถึงแม้จะมีมาตรการหรือแนวนโยบายในการป้องกันการคุกคามทางเพศ แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นไปอย่างยากลำบาก เธอ เล่าว่า ในส่วนของ ขสมก.นั้นไม่สามารถพึ่งพาองค์กรข้างนอกได้ จึงมีการรวมตัวของเจ้าหน้าทีผู้หญิง เพื่อผลักดันให้มีมาตรการปกป้องการคุกคามทางเพศ  ในช่วงแรกที่ดำเนินการ หลายฝ่ายในองค์กรกลับมองว่า การคุกคามทางเพศนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ยงค์ก็พยายามผลักดันให้เกิดแนวนโยบายการปฏิบัติการคุกคามทางเพศจนสำเร็จ แต่ถึงอย่างนั้นการคุกคามทางเพศในองค์กรก็ยังคงมีอยู่เรื่อยๆ และเมื่อเหยื่อร้องเรียนก็มักจะถูกกลั่นแกล้ง เพราะผู้กระทำความผิดมีอำนาจที่เหนือกว่า อีกทั้ง ผู้ใหญ่ในองค์กรเริ่มไม่ให้การสนับสนุนและอยากให้ยกเลิกนโยบายนี้ 
เมื่อกล่าวถึงกระบวนการในการร้องเรียน ธารารัตน์ หนึ่งในผู้เสียหาย ได้สะท้อนปัญหาของกระบวนนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์แล้ว เธอไม่ทราบว่าจะต้องไปร้องเรียนกับหน่วยงานไหนในมหาวิทยาลัย และเมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้ว เธอยังต้องเป็นผู้ติดตามความคืบหน้าของการสอบสวนด้วยตนเอง หลายครั้งที่สอบถามไปก็ได้รับคำตอบว่า ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน กว่าจะจบกระบวนถึงขั้นการลงโทษผู้กระทำผิดก็ใช้เวลานานหลายเดือน เธอยังกล่าวถึงสาเหตุที่ตัดสินใจร้องเรียนเรื่องดังกล่าว เพราะต้องการสะท้อนให้เห็นว่าการล่วงละเมิดทางเพศนั้นยังคงเป็นปัญหา ในส่วนประเด็นของการแจ้งความดำเนินการตามกฎหมาย เธอเล่าว่า เธอไม่มั่นใจในกระบวนการสอบสวนของรัฐที่ใช้ระยะเวลายาวนาน และต้องมีการพิสูจน์ว่าถูกล่วงละเมิดจริงหรือไม่ด้วยการตรวจร่างกาย จึงเลือกที่จะร้องเรียนไปทางยังมหาวิทยาลัยแทนเพราะยังมีความเชื่อมั่นในอาจารย์ของมหาวิทยาลัยอยู่