พ.ร.บ.ขายตรงฯ แก้ไขใหม่ ขายของผ่านเว็บต้องจดทะเบียน-ต้องวางหลักประกัน

กำหนดคำนิยาม "ตลาดแบบตรง" ใหม่ ชัดเจนขึ้น 
คำว่า "ตลาดแบบตรง" ในบทนิยามของ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า เป็นการทำสินค้าหรือการบริการในลักษณะขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายซื้อขายสินค้าหรือบริการจากธุรกิจประเภทนี้ ถ้าเรียกง่ายๆ ธุรกิจประเภทนี้หมายถึง การขายสินค้าหรือบริการผ่านเว็บไซต์ และรวมไปถึงสื่ออื่นๆ เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์ 
โดย เฟซบุ๊กเพจ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง เคยอธิบายไว้ว่า "ตลาดแบบตรง" ไม่รวมถึงการขายสินค้าผ่านอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก และไม่รวมถึงการไปฝากขายของบนเว็บกลางสำหรับการซื้อขาย 
จากคำนิยามดังกล่าวที่ไม่ได้รวมอินสตาแกรมกับเฟซบุ๊กเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจตลาดแบบตรง พ.ร.บ.ขายตรงฯ (ฉบับที่ 3) จึงแก้ไขโดยเพิ่มถ้อยคำว่า "ส่วนการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง" ซึ่งเห็นได้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เพียงแค่เปิดช่องทางให้หลังจากนี้มีการออกกฎกระทรวงควบคุมการขายสินค้าผ่านอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กตามมา และเนื้อหาจะเป็นอย่างไรยังต้องติดตามดูต่อไป
กำหนดคุณสมบัติผู้ขอยื่นจดทะเบียนใหม่
พ.ร.บ.ขายตรงฯ ฉบับนี้ กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการยื่นจดทะเบียนธุรกิจทั้งแบบขายตรงและตลาดแบบตรง โดย
ผู้ที่สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ต้องเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกับคุณสมบัติดังต่อไปนี้ คือ
1. ผู้ที่ขอยื่นจดทะเบียนต้องไม่เคยถูกเพิกถอนทะเบียนมาก่อนภายใน 5 ปี
2. ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท ถ้าเป็นบริษัทต้องมีทุนจดทะเบียนและชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท 
3. หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบดำเนินการต้องไม่มีลักษณะข้อห้ามดังต่อไปนี้ 
3.1 ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
3.2 ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
3.3 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่โทษที่กระทำความผิดโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
3.4 มีหุ้นส่วนอยู่ในห้างหุ้นส่วนอื่นหรือบริษัทอื่น
3.5 เคยเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนหรือบรษัทที่เคยถูกเพิกถอนทะเบียนในระยะ 5 ปี ก่อนวันยื่นจดทะเบียน 
4. ต้องวางหลักประกันแก่นายทะเบียน เป็นเงินสด หรือพันธบัตร ตามจำนวนที่จะกำหนดต่อไปในกฎกระทรวง
เมื่อผู้ขอยื่นจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำเร็จแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงมีหน้าที่จัดส่งรายงานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจให้ สคบ. ทราบ เมื่อมีการย้ายสำนักงานก็ต้องแจ้งให้ สคบ. ทราบเช่นกัน 
สำหรับธุรกิจขายตรงใดไม่ดำเนินการจดทะเบียนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้ายังฝ่าฝืนไม่จดทะเบียนอีกก็จะปรับเพิ่มอีกวันละ 20,000 บาทจนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน 
ส่วนธุรกิจตลาดแบบตรงต้องระวางโทษปรับและโทษจำคุกเท่ากับธุรกิจขายตรง แต่ค่าปรับจากการฝ่าฝืนไม่จดทะเบียนให้ปรับเพิ่มวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน
ปรับหนักผู้ประกอบการ เพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภค
กฎหมายฉบับนี้ได้เพิ่มความคุ้มครองให้กับผู้บริโภค อีกทั้งยังเพิ่มหน้าที่และภาระรับผิดชอบให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง และตลาดแบบตรงมากขึ้น โดยกำหนดให้เจ้าของธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงจะต้องจัดทำเอกสารการซื้อขาย โดยมอบเอกสารให้แก่ผู้จำหน่ายอิสระ หรือตัวแทนขายตรงเพื่อนำไปมอบให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือการบริการ เอกสารนั้นจะต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่อ่านเข้าใจง่าย ระบุชื่อผู้ซื้อและผู้ขาย วันที่ซื้อขายและวันที่ส่งมอบให้ชัดเจน รวมทั้งสิทธิในการบอกเลิกสัญญา ซึ่งข้อความเรื่องสิทธิในการบอกเลิกสัญญาต้องเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป
สำหรับโทษของเจ้าของธุรกิจที่ไม่จัดทำเอกสาร หรือผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรงไม่ส่งมอบเอกสารดังกล่าวให้จะต้องจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ถ้าหากเจ้าของธุรกิจจัดเอกสารการซื้อขายสินค้าอันเป็นเท็จจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
ในกรณีที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากเจ้าของธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง ให้ สคบ. ดำเนินการตรวจสอบ ถ้าหากการตรวจสอบพบว่า เป็นความเสียหายที่เกิดจากเจ้าของธุรกิจจริง สคบ. จะจ่ายค่าชดเชยโดยใช้เงินจากหลักประกันที่เจ้าของธุรกิจวางหลักประกันไว้ตั้งแต่แรกเริ่มขอจดทะเบียน แต่ถ้าหากเงินประกันไม่เพียงพอ สคบ. ก็สามารถสั่งให้เจ้าของธุรกิจเพิ่มวงเงินประกันจนเพียงพอภายใน 15 วัน ได้ ถ้าหากเจ้าของธุรกิจไม่ดำเนินการเพิ่มวงเงิน สคบ. ก็สามารถเพิกถอนใบอนุญาตได้เช่นกัน
เมื่อเจ้าของธุรกิจต้องการเลิกกิจการ เจ้าของธุรกิจมีหน้าที่ส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือสื่อสารข้อมูลทางด้านอื่นๆ ให้ผู้บริโภคที่มีสินค้าหรือการบริการอยู่ในประกันทราบถึงการเลิกกิจการ และยังต้องจัดให้มีผู้รับผิดชอบในการดูแลซ่อมแซมสินค้าจนกว่าจะหมดประกันด้วย
สำหรับธุรกิจขายตรงห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการสมัคร ค่าฝึกอบรม ค่าวัสดุอุปกรณ์ส่งเสริมการขายหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ ถ้าฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
ไฟล์แนบ