เจาะเทคนิคเขียนรัฐธรรมนูญ “ซ่อนแอบ” แบบมีชัย อ่านไม่เข้าใจแต่แฝงกลไกกินรวบอำนาจ

ในวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้แล้ว หลายคนก็คงยังไม่มีโอกาสได้อ่าน หรืออาจจะอ่านแล้วแต่ก็ยากเหลือเกินกว่าจะเข้าใจ ต้องยอมรับว่า การเขียนกฎหมายให้อ่านง่ายๆ เอาจริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องยาก แต่สำหรับรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เมื่อพิจารณาละเอียดๆ กลับพบว่า ความอ่านยากส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพราะผู้อ่านไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายหรือไม่ตั้งใจอ่านมากพอเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ "เทคนิค" ของคนร่างกฎหมายเองด้วย
กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ชุดที่เขียนรัฐธรรมนูญให้อ่านยากๆ มีกรรมการ 21 คน มาจากการแต่งตั้งจาก คสช. ทั้งหมด โดย มีชัย ฤชุพันธุ์ หนึ่งในสมาชิก คสช. และมือกฎหมายระดับปรมาจารย์ นั่งเป็นประธาน ขณะที่กรรมการที่เหลืออีก 20 คน ก็ไม่ได้มีเพียงแค่นักกฎหมายเท่านั้น คนกลุ่มนี้เขียนรัฐธรรมนูญออกมา 279 มาตรา ยาว 90 หน้า แบ่งออกเป็น 17 หมวด รวมบทเฉพาะกาล แต่ก็ไม่ได้เขียนเพื่อให้ทุกคนภายประเทศอ่านรัฐธรรมนูญแล้วมองเห็นภาพโครงสร้างประเทศอย่างเข้าใจง่ายๆ 
การจะลงมืออ่านรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้วเข้าใจอย่างท่องแท้คงต้องใช้เวลาอ่านกันหลายรอบ และเมื่อได้ลองอ่านกลับไปกลับมาหลายรอบเราก็จะเห็นแง่มุมหนึ่งจากรัฐธรรมนูญ คือ การใช้กลวิธีเขียนกฎหมายแบบ "ซ่อนแอบ" ของคนร่างที่นำโดย "มีชัย"
เขียนสร้างขั้นตอนซับซ้อน ให้อ่านยาก ปลายทางรวบอำนาจให้ตัวเอง
เทคนิคหนึ่ง ที่เห็นใช้อยู่หลายแห่งในรัฐธรรมนูญ 2560 คือ การเขียนวางขั้นตอนการทำงานต่างๆ ให้ซับซ้อน หลายชั้น การเขียนแบบนี้กว่าคนอ่านจะเข้าใจได้ต้องอดทนพอสมควร เพราะต้องเปิดหลายกฎหมายหลายมาตราวางข้างๆ แล้วอ่านประกอบๆ กัน บวกกับการใช้พื้นที่ในการเขียนยาวๆ ทำให้คนที่เปิดอ่านครั้งแรกเห็นแล้วตาลายก็อาจจะอ่านข้ามๆ ไปก่อน แต่ถ้าใช้สมาธินั่งแกะๆ พร้อมกระดาษทดในมือไปจนถึงตอนสุดท้ายของแต่ละเรื่อง ก็จะพบว่าขั้นตอนที่ยุ่งยากแทบไม่มีความหมายอะไร เพราะที่เขียนมาก็เพื่อให้คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ดี
ตัวอย่างแรก มาตรา 269 กำหนดเรื่องที่มาของวุฒิสภาชุดแรก เป็นมาตราเดียวที่ใช้เนื้อที่ไปประมาณ 1 หน้าครึ่ง แบ่งขั้นตอนออกเป็น 6 อนุมาตรา (1) (2) (3) (4) (5) (6) และยังมี (ก) (ข) (ค) ให้ซับซ้อนขึ้นมาอีก แม้จะกำหนดที่มาของวุฒิสภาชุดแรกให้มีคณะกรรมการสรรหาก็ดี ให้เลือกโดยการแบ่งกลุ่มก็ดี ให้มีกลุ่มอาชีพหลากหลายเพื่อปราศจากการครอบงำจากพรรคเมืองก็ดี แต่ขั้นตอนสุดท้ายคนที่จะตัดสินว่าใครจะเป็นวุฒิสภาก็ คือ คสช. แต่เพียงผู้เดียว
อีกตัวอย่าง คือ วิธีการแบ่งที่นั่ง ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่ง กรธ. ออกแบบระบบใหม่ขึ้นมา พร้อมคิดชื่อเองว่า "ระบบจัดสรรปันส่วนผสม" หรือ MMA (ฟังแค่ชื่อก็ปวดหัวแล้ว) หากลองอ่านมาตรา 91 ก็จะพบว่า ต้องกุมขมับอ่านอย่างน้อยสามรอบถึงจะค่อยๆ แกะ แงะ คุ้ย เงื่อนไขต่างๆ ออกมาให้เห็นภาพได้ ระบบเลือกตั้งที่ซับซ้อนนี่เอง ก็เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้มีพรรคการเมืองใดได้ที่นั่ง ส.ส.จำนวนมาก จนสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ และจะทำให้ ส.ว. ที่แต่งตั้งกันมาเองจะได้กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่สุดในสภา 
ตัวอย่างสุดท้าย คลาสสิกที่สุด คือ ความพยายามที่จะคงอำนาจเบ็ดเสร็จสารพัดนึก ของ คสช. ตามมาตรา 44 ให้อยู่ต่อไป แต่จะเขียนตรงๆ ก็คงอาย กรธ.เลยเขียนยาวๆ ให้คนอ่านมึนกันหน่อย ว่า 
          "มาตรา ๒๖๕  ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
          ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๕๘ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๕๙ และให้ถือว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป
           ให้นำความในมาตรา ๒๖๓ วรรคเจ็ด มาใช้บังคับแก่การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วยโดยอนุโลม"
เขียนยืดยาวมาสามย่อหน้าหลายบรรทัดขนาดนี้ หากเราจะลองเขียนใหม่สั้นๆ ก็จะได้ความว่า "ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ต่อไปจนกว่า คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จะเข้ารับตำแหน่ง" แค่นี้ก็ได้เนื้อความไม่ต่างกัน แต่สงสัย กรธ. กลัวประชาชนจะเข้าใจเร็วเกินไป เลยเลือกเอาแบบยาวๆ ดีกว่า
เขียนเหมือนเปิดกว้างรับฟังทุกฝ่าย แต่ใส่บทเฉพาะกาล "ตีเช็คเปล่า" ให้ คสช. เติมอะไรตามใจ
คสช. และคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ มี "จุดอ่อน" อยู่ที่ความชอบธรรมของที่มาตั้งแต่ต้น จึงต้องพยายามสร้างภาพ "การมีส่วนร่วม" จากหลายฝ่าย แม้จริงๆ จะไม่ต้องการก็ตาม ดังนั้น รัฐธรรมนูญ 2560 หลายส่วนจึงเขียนแบบเปิดใจกว้างให้องค์กรต่างๆ สถาบันทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งประชาชนทั่วไป มีพื้นที่ต่อรองและมีโอกาสสร้างอนาคตร่วมกัน แต่พออ่านไปถึงส่วนท้ายตรง "บทเฉพาะกาล" กลับพบว่า ที่เขียนไว้สวยหรูนั้นจริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างที่ฝัน ยังไงเสีย อนาคตของเรา คสช. ก็จะขอเป็นผู้กำหนดเองอยู่ดี
ตัวอย่างแรก "ยุทธศาสตร์ชาติ" เครื่องมือใหม่เอี่ยมที่รัฐธรรมนูญนี้เขียนให้รัฐ "มีหน้าที่" ต้องจัดทำขึ้นเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว เมื่ออ่านไปถึงบทเฉพาะกาลก็จะพบว่า ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีเป็นผู้จัดทำ และยังสั่งให้จัดทำให้เสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งหากในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้นี้ "คณะรัฐมนตรี" ที่ว่า ก็คือรัฐบาลของ คสช. 
เครื่องมือใหม่อีกอย่างหนึ่งในรัฐธรรมนูญนี้ คือ "มาตรฐานทางจริยธรรม" ที่จะมาบังคับนักการเมืองให้อยู่ในกรอบ แม้มาตรา 219 จะกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันเขียนขึ้น โดยรับฟังความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย แต่มาตรา 276 ในบทเฉพาะกาล กลับสั่งให้ทำให้เสร็จภายใน 1 ปี และเหมือนเดิม ระยะเวลาที่ว่านี้ "คณะรัฐมนตรี" ก็คือรัฐบาลของ คสช. ส่วน "สภาผู้แทนราษฎร" และ "วุฒิสภา" ยังไม่มี จึงเป็น "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" ที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ไปแทนก่อน สุดท้ายก็ไม่ได้รับฟังความเห็นของใครจริงจัง เป็นแค่การพูดคุยของพวกกันเองว่าจะจัดการนักเลือกตั้งยังไงดีมากกว่า
อีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่ออ่านรัฐธรรมนูญ จะพบว่า ศาลยุติธรรม, ศาลปกครอง และอัยการ ถูกเขียนให้มีอิสระในการบริหารงานบุคคล และในบทเฉพาะกาล มาตรา 277 ก็กำหนดให้ "คณะรัฐมนตรี" จัดทำ กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานศาลยุติธรรม ตามมาตรา 196 กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานศาลปกครอง ตามมาตรา 198 และ กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานอัยการ ตามมาตรา 248 และเสนอต่อ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" ภายใน 1 ปี อีกแล้ว 
ตัวอย่างสุดท้าย เมื่ออ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 จะพบว่า รัฐต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนดำเนินโครงการใดๆ โดยต้องจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน เมื่ออ่านมาตรา 62 จะพบว่า รัฐต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับวินัยทางการเงินการคลัง และเมื่ออ่านมาตรา 63 ก็จะพบว่า รัฐต้องออกกฎหมายคุ้มครองประชาชนที่ชี้เบาะแสการทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่โดยหลักการแล้วก็น่าจะเร่งทำให้เกิดประโยชน์ แต่ก็เช่นเคย คนเขียนรัฐธรรมนูญใช้วิธีการเช่นเดิม คือ เขียนบทเฉพาะกาล มาตรา 278 ให้ "คณะรัฐมตรี" จัดทำกฎหมายทั้งสามเรื่องนี้ และเสนอต่อ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" ภายในระยะเวลาเดิม คือ 1 ปี เรียกได้ว่า อยากจะทำอะไรก็เขียนรัฐธรรมนูญสั่งให้ตัวเองทำเสียเลย 
ทั้งที่ ภายใต้รัฐบาล คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ว่าก็ออกกฎหมายอย่างรวดเร็วมากกว่า 200 ฉบับ ไปแล้ว โดยคะแนนเสียงการลงมติก็แทบจะเป็นเอกฉันท์ตลอดอยู่แล้ว หาก คสช. อยากออกกฎหมายใดก็สามารถใช้สภาแห่งนี้ออกกฎหมายได้อยู่แล้ว การเขียนกำหนดเวลา 1 ปี ชัดเจนเช่นนี้ จึงเห็นได้ชัดว่า อำนาจการออกกฎหมายตามธรรมดายังไม่พอใจ คสช. แต่ต้องการเงื่อนไขที่ชัดเจนแน่นอน เอาให้ชัวร์สุดๆ ไปเลยว่า กฎหมายทั้งหลายที่อยากจะออกก็จะต้องออกให้ครบด้วยมือของตัวเองระหว่างที่ยังอยู่ในอำนาจเท่านั้น
เขียนบางอย่างไว้ดูดี แต่เดี๋ยวก่อน! รอดูกฎหมายลูกที่จะตามมาเสียก่อน 
รัฐธรรมนูญ ในฐานะกฎหมายสูงสุด ไม่ควรจะลงรายละเอียดมากจนเกินไป หลายๆ เรื่องจึงต้องใช้วิธีเขียนให้ไปออก "กฎหมายลูก" หรือที่เรียกว่า "พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ" ต่อกันเอง แต่เรื่องที่เป็นหลักการสำคัญๆ เช่น สิทธิหน้าที่ รัฐธรรมนูญก็ควรจะต้องเขียนให้ชัดไว้เลย
ตัวอย่าง มาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ เขียนให้ ที่มาของวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่างๆ โดยในการแบ่งกลุ่มต้องให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ 
การเขียนเช่นนี้อาจจะดูดี แต่การแบ่งกลุ่มจะทำอย่างไร แต่ละกลุ่มจะมีใครบ้างนั้น ไม่ระบุชัดเจน เพราะให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เท่ากับว่า เรื่องที่มา ส.ว.รัฐธรรมนูญยังไม่ได้กำหนดไว้ ให้ไปคิดกันต่อในกฎหมายลูก และในบทเฉพาะกาล มาตรา 267 ก็กำหนดให้คนเขียนกฎหมายลูก ก็คือ กรธ. คนที่เขียนรัฐธรรมนูญ 
ซึ่งหากผู้ร่างรัฐธรรมนูญคิดออกแล้วว่าจะแบ่งกลุ่มเพื่อเลือกสมาชิกวุฒิสภาอย่างไร ก็น่าจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเลย การให้อำนาจตัวเองเป็นคนไปเขียนในกฎหมายลูกอีกทีหนึ่ง จึงทำให้กฎหมายลูกอาจจะสำคัญกว่ารัฐธรรมนูญเสียด้วยซ้ำ และจะน่าจับตาอย่างมากว่า กฎหมายลูกจะสร้างระบบการแบ่งกลุ่มได้ออกมาดีจริงอย่างที่โม้ไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือเปล่า
อีกตัวอย่าง การจัดทำ "ยุทธศาสตร์ชาติ" รัฐธรรมนูญมาตรา 65 เป็นอีกเรื่องที่เขียนไว้อย่างดีว่า ต้องออกกฎหมายกำหนดการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง ซึ่งก็ดูเหมือนจะเปิดกว้างรับฟังทุกฝ่าย แต่เท่าที่ ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เปิดเผยออกมาให้เห็นหน้าตา ก็พบว่า นอกจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะมีแต่ทหารและผู้ที่ คสช. แต่งตั้งเองแล้ว ยังไม่ได้กำหนดวิธีการรับฟังความคิดเห็นให้ชัดเจนขึ้นเลย และยังมีมาตรา 28(3) ที่บอกอีกว่า การรับฟังความคิดเห็นที่ได้ทำไปก่อนหน้านี้แล้ว (ซึ่งไม่รู้เมื่อไร และอย่างไร) ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับฟังไปแล้วด้วย 
ส่วน การ "ปฏิรูปประเทศ" รัฐธรรมนูญมาตรา 259 เขียนไว้อย่างดีว่า ต้องออกกฎหมายมากำหนดการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเท่าที่ ร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ เปิดเผยออกมาให้เห็นหน้าตา ก็พบลักษณะคล้ายๆ กันอีกว่า มาตรา 32 ระบุว่า การรับฟังความคิดเห็นที่จัดทำไปแล้วโดย คสช., สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.), กระทรวงกลาโหม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้วย 
เท่ากับว่า ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูป ที่จะต้องผูกผันกับประชาชนชาวไทยไปอีกอย่างน้อย 20 ปี มีกฎหมายที่ออกตามมาสร้างเงื่อนไขใหม่ ที่ทำให้อาจจะไม่ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มอีกเลย ก็ยังเป็นไปได้
เขียนคำใหญ่โต "ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา" ซึ่งจริงๆ หมายถึง ให้อำนาจ คสช.
คำว่า "ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา" โดยปกติแล้วหมายถึง สภาผู้แทนราษฎรรวมรวมกับวุฒิสภา ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2560 สภาผู้แทนราษฎร  500 คนมาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภา 200 คน มาจากการเลือกสรรผ่านขั้นตอนต่างๆ (วุฒิสภาชุดนี้จะเกิดขึ้นอีกห้าปีหลังเลือกตั้ง) จึงเป็นสถาบันที่มีความชอบธรรมมากที่สุด ที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจออกกฎหมาย หรือเป็นตัวแทนของประชาชนตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ ได้
แต่เมื่ออ่านรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วเจอคำนี้ อย่าเพิ่งสบายใจไปว่าตัวแทนของประชาชนจะมีอำนาจตัดสินใจแทนเรา เพราะยังต้องพิจารณาความซับซ้อนของคำๆ นี้ อีกหลายตลบด้วย เพราะ
1) ก่อนจะมีการเลือกตั้งยังไม่มีทั้ง สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา อะไรก็ตามที่เป็นหน้าที่ของ "ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา" จริงๆ แล้วคือเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ประกอบไปด้วยบรรดานายพลเกินครึ่งของสภา และมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งหมด  
2) แม้จะมีการเลือกตั้งแล้ว วุฒิสภาชุดแรก ก็ใช่คนอื่นไกลที่ไหน แต่คือกลุ่มคนที่คสช. แต่งตั้งมาทั้งหมด 250 คน และจะเป็นกลุ่มการเมืองที่ใหญ่ที่สุดใน "ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา" หาก คสช. กระดิกนิ้วให้คนกลุ่มนี้ยกมือพร้อมกัน 250 คน แทบจะตัดสินใจยังไงก็ได้ตามใจ
ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ แม้จะเขียนให้ "ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา" มีอำนาจพิจารณา แต่เนื่องจากมาตรา 267 กำหนดให้ กรธ. ร่างเสร็จภายใน 8 เดือน ดังนั้นผู้จะพิจารณากฎหมายลูก ก็ไม่ใช่ใคร แต่เป็น สภานิติบัติญญัติแห่งชาติ เจ้าเก่า
จุดที่โดดเด่นที่สุด เมื่อคำว่า "ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา" โผล่ขึ้นมา ก็คือ ใน "คำถามพ่วง" ที่ให้ประชาชนทุกคนลงประชามติ และสุดท้ายถูกใส่ไว้เป็นมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญว่า ให้ "ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา" เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี โดยที่กลุ่มคนที่น่าจะมีเสียงมากที่สุดก็คือ "ส.ว.แต่งตั้ง" การเขียนเช่นนี้จึงเป็น "เทคนิค" สำคัญที่หากอ่านผ่านๆ คงไม่ได้คิดอะไรมาก แต่หากเรียบเรียง มาตรา 272 ใหม่ เอาแบบไม่ต้องซ่อนแอบอะไร ก็คือเขียนว่า ให้ส.ว.ที่ คสช. แต่งตั้งมา ตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรี นั่นเอง
เขียนภาพฝันไว้สวยเกินจริง แล้วโยนให้คนอื่นทำ 
แม้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 จะมีหลายเรื่องที่คนร่าง ตั้งใจเขียนด้วย "เทคนิค" พิเศษ ที่สุดท้ายแล้วเอาอำนาจให้อยู่ในมือตัวเอง แต่ก็มีเรื่องหนึ่งที่ตั้งใจเขียนให้ ภาระอันหนักอึ้งอยู่ในมือของคนอื่น ก็คือ ความฝันในการ "ปฏิรูปประเทศ" ในหมวดที่ 16 มาตรา 257-261 ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ ชูเป็นจุดขายมาตลอดนั่นเอง
แนวทางการปฏิรูปในรัฐธรรมนูญก็เต็มไปด้วยสิ่งสวยงามที่ยังไม่รู้จะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร เช่น ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, ให้การดําเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้, ปรับปรุงระบบภาษีอากรให้มีความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ํา เพิ่มพูนรายได้ของรัฐด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ 
และเนื่องจาก คสช. อยู่ในอำนาจมา 3 ปี แล้ว ก็ยังปฏิรูปประเทศตามแนวทางนี้ได้ไม่สำเร็จ แม้จะตั้งสภาปฏิรูปมาสองชุดแล้วก็ตาม ดังนั้นภารกิจการปฏิรูปครั้งใหญ่ตามรัฐธรรมนูญนี้ จึงเขียนไว้อีกใน มาตรา 259 ว่า ต้องเริ่มลงมือปฏิรูปภายใน 1 ปี ซึ่ง รัฐบาลของ คสช. จะเป็นคนเริ่มเอง ส่วนผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังจะบรรลุกำหนดเวลาให้ 5 ปี หรือ คาดหมายว่าจะไปสำเร็จได้ในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เขียนขนาดนี้แล้ว ถ้ายังทำไม่ได้ก็ไม่ใช่ความผิดของ คสช. แล้วล่ะ
ภารกิจอะไรที่คนอื่นอยากมีส่วนร่วม ก็รวบไว้ทำคนเดียว แต่ภารกิจที่ตอนเข้ามาประกาศว่าจะทำ ผ่านไปหลายปี เขียนรัฐธรรมนูญให้คนอื่นทำซะงั้น …