เสวนา “ละเมิดอำนาจศาล” จำเลยชี้ ศาลใช้ดุลยพินิจกว้างเกินไป งานศึกษา ป.โท เผยศาลใช้อำนาจ ‘วันสต็อปเซอร์วิส’

สุดสงวน หรือ อาจารย์ตุ้ม ผู้เคยถูกพิพากษาจากคดีละเมิดอำนาจศาล ชี้ ศาลใช้ดุลยพินิจในคดีละเมิดอำนาจศาลกว้างเกินไป ด้าน นศ.ป.โท เปิดงานวิจัย คำพิพากษาศาลฎีกาปี 2475-2555”  พบฎีกา การกระทำประพฤติตนไม่เรียบร้อยใน-นอกบริเวณศาล แบบไหนที่ถือเป็นความผิดหลายการกระทำ ชี้ ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลคล้ายวันสต็อปเซอร์วิส (one stop service) ศาลเห็นเอง พิจารณาเอง พิพากษาเองได้
ศาลใช้ดุลยพินิจพิพากษาคดีละเมิดอำนาจศาลกว้างเกินไป
19 มีนาคม 2560 ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนา “คำพิพากศาล” โดยในการเสวนาหัวข้อย่อย “การละเมิดอำนาจศาล ดูหมิ่นศาล หมิ่นประมาทศาล” มีวิทยากรคือ สุดสงวน สุธีสร อดีตอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สรชา สัตติรัตน์ นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สุดสงวนเป็นผู้ที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกเป็นเวลาหนึ่งเดือนในคดีละเมิดอำนาจศาลเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 จากกรณีนำกลุ่มมวลชนกว่าร้อยคนวางพวงหรีดและชูป้ายข้อความแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีที่ กปปส. ฟ้องเพิกถอนการออกประกาศตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (อ่านการต่อสู้คดีได้ คลิกที่นี่)
หลังจากสุดสงวนถูกปล่อยตัวมาแล้ว เธอตั้งข้อสงสัยต่อคำพิพากษาดังกล่าวว่า การใช้ดุลยพินิจที่กว้างขวางของศาลเป็นอันตรายต่อบุคคลที่อยู่ภายใต้อำนาจศาลใช่หรือไม่ เพราะตามกฎหมายบอกว่าจะเป็นความผิดต้องเป็น กรณีที่ศาลออกข้อกำหนดต่อบุคคลที่อยู่ “ต่อหน้าศาล” หรือการประพฤติตัวไม่เรียบร้อย “ในบริเวณศาล” แต่ข้อกล่าวหาของเธออยู่ด้านหน้าของอาคารศาลแพ่ง
สุดสงวนเล่าเหตุการณ์ที่ทำให้เธอต้องติดคุกว่า ใน CCTV ไม่ได้ปรากฏภาพเคลื่อนไหวที่สุดสงวนเป็นคนโห่ร้อง และทำอึกทึกครึกโครม เธอเป็นคนห้ามคนอื่นด้วยซ้ำว่าอะไรบ้างที่ไม่ควรทำ สุดสงวนสงสัยกับเหตุการณ์ดังกล่าวว่า กรณีของเธอเป็นการกระทำความผิดเพียงครั้งแรก เธอเป็นบุคคลที่ไม่มีประวัติอาชญากร อีกทั้งเป็นอาจารย์ผลิตงานวิชาการ ผลิตบัณฑิตสู่สังคม แต่ทำไมศาลอุทธรณ์พิพากษากักขังเป็นเวลาหนึ่งเดือน และสุดสงวนก็สู้คดีจนถึงชั้นฎีกา จนกระทั่งศาลฎีกาพิพากษาจำคุกเป็นเวลาหนึ่งเดือน
“ไม่อยากให้คนอื่นต้องโดนเหตุการณ์เดียวกับเรา ตัวบทกฎหมายเป็นอย่างไร? และเราทำผิดตามนั้นจริงหรือไม่? ถ้าจริง ประชาชนก็จะไม่มีการข้องใจ และยังศรัทธาศาลอยู่ตลอด แต่เมื่อไรที่สิ่งที่พิพากษาออกมานั้นขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้น จะทำให้ความเลื่อมใสของประชาชนหายไป” สุดสงวนกล่าว
ศาลเห็นเอง พิจารณาเอง พิพากษาเองได้ อำนาจพิเศษโดยไม่ต้องมีทนายความ
ด้านสรชา สัตติรัตน์ นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ทำงานวิจัยเรื่อง “คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีละเมิดอำนาจศาลปี 2475-2555”  กล่าวว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเกิดจากแนวคิดที่ว่าศาลทำงานภายใต้พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ โดยศาลต้องมีอำนาจควบคุมห้องพิจารณาคดีให้เรียบร้อยและสงบ เป็นความผิดที่ไม่มีพื้นฐานทฤษฎีและขอบเขตที่แน่นอน และเป็นความผิดพิเศษที่ให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำความผิดได้โดยไม่ต้องมีใครฟ้องร้อง จะลงโทษคนที่ไม่ใช่คู่ความในคดีก็ได้
จากการศึกษา สรชา พบว่า การเขียนคำพิพากษาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ผู้พิพากษาจะค่อนข้างระมัดระวังตัวเองก่อนที่จะพิจารณาคดีออกไป ผู้พิพากษาต้องปรึกษาองค์คณะ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ก่อนที่จะออกคำพิพากษา
สรชา ยังอธิบายหลักการพื้นฐานของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นความผิดต่อศาลโดยตรง ที่ศาลเป็นผู้เสียหาย มีวิธีการพิจารณาคดีเป็นพิเศษของตัวเอง ผู้ถูกกล่าวหาจะไม่มีสิทธิต่อสู้คดี เนื่องจากว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไม่จำเป็นต้องมีทนายความ ไม่ต้องดำเนินการตามกระบวนการประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“ละเมิดอำนาจศาลจะคล้าย วันสต็อปเซอร์วิส (one stop service) ศาลเห็นเอง พิจารณาเอง พิพากษาเองได้ เพราะเป็นอำนาจพิเศษของศาล หากเป็นการกระทำที่ไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาล ศาลสามารถไปค้นหา ไต่สวนข้อเท็จจริงลับหลังจำเลยได้ ในการโต้แย้งพยานหลักฐาน ก็ไม่จำเป็นต้องมีทนาย เป็นดุลยพินิจของศาลที่เห็นว่าการกระทำแบบนี้เป็นการกระทำไม่เรียบร้อย” สรชากล่าว
สรชา เล่าถึงงานวิจัยของเธอว่า จากการศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกา สามารถยกตัวอย่างพฤติกรรมที่ถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลได้ดังนี้ การใช้รองเท้าตีกัน ในเวลาศาลที่เปิดทำการ, การทำร้ายพยานโจทก์บริเวณข้างฝานอกห้องพิจารณา, การทะเลาะวิวาทกันภายหลังจากศาลพิจารณา, การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนหรือเปลี่ยนตัวจำเลยในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดีอยู่, การยื่นคำร้องขอคัดค้านองค์คณะผู้พิพากษาว่า ศาลไม่ดำเนินการพิจาณาไปโดยเที่ยงธรรม เพราะมีอคติ ฯลฯ 
"ทุกขั้นตอนของกระบวนการพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาล ขึ้นอยู่กับดุลพินิจหมดเลย เท่าที่ศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาก็ยังไม่สามารถสรุปหลักอะไรได้เลย หากเราเป็นจำเลยในคดีนี้ก็จะคาดเดาค่อนข้างยากว่าจะทำอย่างไรต่อไป แนวทางการต่อสู้คดีแทบจะวางไม่ได้" สรชา กล่าวสรุปทิ้งท้าย
ติดตามการเสวนาฉบับเต็มได้ที่
ภาคผนวกท้ายรายงานข่าว
ตารางที่ 1 คำพิพากษาศาลฎีกา: การประพฤติตนไม่เรียบร้อย "ใน" บริเวณศาล
ฎีกาที่ การกระทำ
9134/2551 นำยาบ้าเข้าไปที่หน้าห้องควบคุมผู้ต้องขังของศาล
4479/2549
เรียกรับเงินจากจำเลยเพื่อให้จำเลยทั้งสามไม่ต้องถูกนำตัวเข้าห้องควบคุม 
โดยผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเป็นผู้ให้ เจ้าหน้าที่ศาลเป็นผู้รายงานความผิด
7333/2544 อ้างตนเองว่าเป็นอัยการ หลอกลวงผู้กล่าวหาและเรียกรับเงินกัน
ที่โรงอาหารที่อยู่บริเวณศาลชั้นต้น
      5100/2543       พกพาอาวุธปืนบรรจุกระสุนเข้ามาในบริเวณศาล ตรวจพบจุดตรวจอาวุธหน้าศาล
6444/2540 เรียกและรับเงินโดยแอบอ้างว่าจะนำไปวิ่งเต้นคดีกับผู้พิพากษาหัวหน้าศาล
บริเวณโต๊ะหินม้านั่งภายในบริเวณศาลชั้นต้น
2977/2540 ถือไม้ไผ่ยาวหนึ่งเมตร กว้างสองเซนติเมตร เข้าไปในห้องควบคุมผู้ต้องขัง
ซึ่งอยู่ในบริเวณศาลชั้นต้นแล้วใช้ไม้ตีถูกผู้ถูกกล่าวที่สองจำนวนสามที
และเงื้อจะตีผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่ง ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งได้รับบาดเจ็บ
3815/2537
ทะเลาะวิวาทกัน ภายหลังจากศาลพักการพิจารณา
824/2537 เรียกร้องเอาเงินจากผู้กล่าวหา ในการดำเนินการขอหลักทรัพย์คืนเร็วกว่าปกติ
และเพื่อติดสินบนเจ้าพนักงานที่ หน้าห้องควบคุมผู้ต้องหาและร้านขายอาหาร
ซึ่งอยู่ในรั้วเดียวกับศาลชั้นต้น
861/2503
ทำร้ายพยานโจทก์ บริเวณข้างฝานอกห้องพิจารณาบนศาล
256/2483 ใช้รองเท้าตีนเป็นแผลโนที่คิ้ว โลหิตออกทางจมูกที่บริเวณศาล ในเวลาศาลเปิดทำการ
ตารางที่ 2 คำพิพากษาศาลฎีกา: การประพฤติตนไม่เรียบร้อย "นอก" บริเวณศาล
ฎีกาที่ การกระทำ
635/2559  โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหา ศาลดำเนินคดีไม่เป็นธรรม และถ่ายรูปในบริเวณศาลนำมาลงประกอบ
     5801/2550     
เรียกเงินจากผู้กล่าวหาที่อื่นแล้วไปทวงถามอีกในศาล
12413/2547 เรียกและรับเงินที่บ้านของผู้ร้องเรียน
7-8/2543
เปลี่ยนตัวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน
4113/2532 เรียกและรับเงินกันที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ และในวันที่มีการฟ้องก็ได้ไปติดต่อผู้พิพากษา
ขอให้รอการลงโทษ