ใครออกกฎหมาย? 2: ส่องสนช. ‘สภาอาวุโส’ วัยหลังเกษียณ 75% พบแก่สุด 92 ปี อ่อนสุด 51 ปี

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.2553 ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากร รวม 65,981,659 คน มีเพศหญิงมากกว่าเพศชาย คือ เพศหญิง 33,626,627 คน และเพศชาย 32,355,032 คน ขณะที่คนส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วงวัยทำงาน อายุ 25-59 หรือ 53.9% โดยหากแบ่งช่วงอายุช่วงละห้าปี ช่วงอายุที่มีประชากรมากที่สุด คือ 40-44 ปี มีประชากรคิดเป็น 8.6% ส่วนช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีประชากรรวมกันคิดเป็น 12.8% เท่านั้น 
ปัจจุบันอำนาจในการพิจารณาและออกกฎหมาย มาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีจำนวนสมาชิก 250 คน เข้ามาใช้อำนาจนิติบัญญัติ แทนสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.) รวมถึงประชาชน คุณสมบัติด้านอายุของ สนช.ตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 มาตรา 6 ระบุว่า ให้สมาชิก สนช. มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับคุณสมบัติของ ส.ส. และ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และส.ว.มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี 
จากอายุของสมาชิก สนช. ทั้งหมด 249 คน (ยกเว้นพลโท ธนเกียรติ ชอบชื่นชม ค้นไม่พบวันเกิด) พบว่าค่าเฉลี่ยอายุทั้งสภาอยู่ 64 ปี ขณะที่คนวัยเกษียณ หรืออายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 185 คน หรือคิดเป็น 75% ของทั้งสภา สำหรับปีที่สมาชิก สนช.เกิดมากที่สุดคือปี 2499 ซึ่งตอนนี้อายุ 61 ปี มีจำนวน 25 คน เช่น พลเอกปรีชา จันทร์โอชา พลเรือเอกณะ อารีนิจ ฯลฯ หากแบ่งตามเพศกำเนิด เป็นเพศชาย 238 คน และเพศหญิง 12 คน เรียกว่าผู้ชายครอบครองพื้นที่ของสภาถึง 95% 
สมาชิก สนช. ที่มีอายุน้อยที่สุด คือ สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อายุ 51 ปี ขณะเดียวกันคนที่อายุมากที่สุดคือ สมพร เทพสิทธา อดีตรองปลัดกระทรวงเศรษฐการ อายุ 92 ปี ดังนั้น ช่วงอายุของสนช.อยู่ระหว่าง 51 – 92 ปี โดยหากแบ่งตามแต่ละช่วงปีและยุคสมัย จะเป็นดังนี้
Generation X
ปี 2511 – 2520 หรืออายุ 40 – 49 ปี จำนวน 0 คน
Generation B (Baby Boomer)
ปี 2506 – 2510 หรืออายุ 50 – 54 ปี จำนวน 7 คน
ปี 2501 – 2505 หรืออายุ 55 – 59 ปี จำนวน 40 คน
ปี 2496 – 2500 หรืออายุ 60 – 64 ปี จำนวน 106 คน
ปี 2491 – 2495 หรืออายุ 65 – 69 ปี จำนวน 55 คน
ปี 2486 – 2490 หรืออายุ 70 – 74 ปี จำนวน 27 คน
ปี 2481 – 2485 หรืออายุ 75 – 79 ปี จำนวน 10 คน
Silent Generation
ปี 2476 – 2480 หรืออายุ 80 – 84 ปี จำนวน 1 คน
ปี 2471 – 2475 หรืออายุ 85 – 90 ปี จำนวน 2 คน
ปี 2466 – 2470 หรืออายุ 91 – 95 ปี จำนวน 1 คน
ปี 2461 – 2465 หรืออายุ 96 – 100 ปี จำนวน 0 คน
เมื่อแบ่ง สนช.ออกเป็นช่วงอายุ จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นคน Gen B ซึ่งเป็นคนที่เกิดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวปี 2489 – 2507 โดยบทความของโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ในมติชนรายวันปี 2552 ระบุว่า คนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาด้วยความยากลำบาก เป็นคนที่มีชีวิตเพื่อการทำงาน เคารพกฎเกณฑ์ กติกา อดทน อีกทั้งยังมีแนวคิดที่จะทำงานหนักเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว ทุ่มเทกับการทำงานและองค์กรมาก นอกจากนี้ คน Gen B ยังมีทัศนคติแบบอนุรักษ์นิยม ยึดถือการทำงานแบบชนชั้น เชื่อมั่นในตนเองว่าสามารถกำหนดทุกอย่างได้ รู้สึกว่าตนมีประสบการณ์สูง กระทั่งเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดของคน generation อื่น
สังคมไทยประกอบไปด้วยคนหลาย Generation ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ บอกกับเราว่าคนไทยที่ยังมีชีวิตอยู่ส่วนใหญ่ เกิดหลัง Gen B แม้เกณฑ์การจำแนกตามปีเกิดอาจไม่ได้บอกคุณลักษณะ บุคลิก ตัวตนหรือความคิดความอ่านของแต่ละบุคคลได้ทุกประการ แต่ด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง การศึกษา สภาพแวดล้อมของการเติบโต ตลอดทัศนคติต่างๆ ทำให้เกิดลักษณะบุคลิกซึ่งเป็นจุดร่วมของคนที่เกิดในรุ่นราวคราวเดียวกันบางประการ 
ลักษณะของคนแต่ละ Generation
Gen Z  กลุ่มที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เกิดตั้งแต่ปี 2540 ขึ้นไป โดยปกติแล้วจะเกิดและเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี ชอบความรวดเร็ว มีแนวโน้มที่จะเปิดกว้างทางความคิด วัฒนธรรม และไม่แบ่งแยกชนชั้น ศาสนา สีผิว เพราะระบบเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้คล้ายคลึงกัน 
Gen Y อายุ 20 – 37 ปี เกิดระหว่างปี 2523 – 2540) เป็นกลุ่มที่เต็มไปด้วยความหลากหลายอย่างมาก มีทั้งกลุ่มคนวัยเรียนและวัยทำงาน จากการเติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงระหว่างวัฒนธรรมรุ่นปู่ย่าตายายและรุ่นพ่อแม่ ความเป็นสมัยเก่าและสมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็ได้ซึมซับเทคโนโลยี ต้องการการสื่อสาร ไม่ชอบอยู่ในเงื่อนไขและระบบมากนัก
Gen X  อายุ 38 – 52 ปี เกิดระหว่างปี 2508 – 2522) เป็นกลุ่มที่มักจะทำงานหนัก มุ่งมั่นเพื่อความก้าวหน้าทางอาชีพ ไม่ชอบพึ่งพาใคร เป็นตัวของตัวเองสูง คนกลุ่มนี้ค่อยๆ ปรับตัวทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป เริ่มตั้งคำถามต่อสังคม ไม่ค่อยเชื่อเรื่องศาสนา และไม่ได้ยึดขนบธรรมเนียมประเพณีมากนัก
Gen B  อายุ 53 – 71 ปี เกิดระหว่างปี 2489 – 2507 กลุ่มนี้เกิดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแต่ละประเทศต้องการแรงงานจำนวนมากเพือฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาประเทศชาติ จึงมีชีวิตเพื่อการทำงาน เคารพกฎเกณฑ์ ทุ่มเทกับการทำงานแบบองค์กร ยึดถือการทำงานแบบชนชั้น รู้สึกว่าตนมีประสบการณ์สูง บางครั้งกลุ่มนี้ถูกมองว่ามีฐานคิดแบบอนุรักษ์นิยม 
Silent Generation  อายุ 72 – 92 ปี เกิดระหว่างปี 2468 – 2488 กลุ่มนี้เกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนยุคนี้ใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก ทำงานหนัก คนกลุ่มนี้เคร่งครัดต่อระเบียบแบบแผน เคารพกฎเกณฑ์และจงรักภักดีต่อประเทศชาติ
Greatest Generation และ Lost Generation  เกิดก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ตามลำดับ ทั้งสองนี้มีลักษณะที่ไม่ต่างจากคนที่เป็น Silent Generation มากนัก 
ไฟล์แนบ